วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

2012 : วันสิ้นโลก? (1)

รายงานโดย :วรเชษฐ์ บุญปลอด:
วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
แม้จะผิดพลาดมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่การทำนายวันสิ้นโลกก็มีมายาวนานนับพันปี ดาวเคราะห์เรียงตัวกันเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2000

ก็เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ซึ่งเคยถูกนำมาอ้างว่าจะทำให้โลกถึงกาลดับสลาย
คำทำนายครั้งใหม่ที่ดูเหมือนว่าจะแพร่หลายมากในอินเทอร์เน็ตขณะนี้ ก็คือการที่คนกลุ่มหนึ่งอ้างว่าจะเกิดหายนะขึ้นในวันที่ 21 ธ.ค. 2012 (พ.ศ. 2555) ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการที่ดวงอาทิตย์และโลกมาอยู่ในแนวเดียวกันกับระนาบดาราจักรทางช้างเผือก การมาเยือนของดาวเคราะห์ที่เรียกกันว่า "นิบิรุ" แม่เหล็กโลกกับดวงอาทิตย์สลับขั้ว และพายุสุริยะ

คนกลุ่มนี้อ้างว่าเหตุการณ์ทั้งหลายจะเป็นสาเหตุนำมาซึ่งภัยพิบัติต่างๆ และอาจถึงขั้นมีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ก่อให้เกิดความสงสัย ความกลัว หรือแม้กระทั่งตื่นตระหนก ในคนที่เชื่อเรื่องดังกล่าว ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีกำหนดเข้าฉายในปลายปี ก็สร้างขึ้นจากความสนใจในปรากฏการณ์นี้ บทความนี้ซึ่งแบ่งเป็นหลายตอน จะรวบรวมรายละเอียด อธิบายถึงความเป็นมาและมุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการทำนายดังกล่าว

ปฏิทินมายา

มายาเป็นอารยธรรมโบราณอารยธรรมหนึ่งในอเมริกากลาง มีศูนย์กลางอยู่บริเวณตอนใต้ของเม็กซิโก กัวเตมาลา และทางเหนือของเบลีซ มีสิ่งปลูกสร้างทำด้วยหิน พีระมิด อักษรภาพ มีการบูชาเทพเจ้าและพิธีกรรม แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมซึ่งถึงจุดสูงสุดเมื่อราวปี 250–900 ก่อนจะเสื่อมถอยลง

วันที่ 21 ธ.ค. 2012 ถูกยกขึ้นมาเป็นวันสิ้นโลก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะวันนั้นตรงกับวันสิ้นสุดปฏิทินรอบใหญ่ของชาวมายาที่เรียกว่า Long Count ปฏิทินชนิดนี้เป็นหนึ่งในปฏิทินหลายแบบของชาวมายา (แบบอื่นที่เคยกล่าวถึงมาแล้วคือแบบที่เกี่ยวกับวัฏจักรการเคลื่อนที่ของดาวศุกร์) พวกเขาใช้ตัวเลข 5 ตัว และเลขฐาน 20 เป็นหลักในระบบปฏิทินแบบ Long Count การเขียนจะใช้อักษรภาพแทนตัวเลข เรียงกันในแนวตั้ง โดยเริ่มนับที่ 0.0.0.0.0 ซึ่งพบว่าตรงกับวันที่ 11 ส.ค. 3,114 ปีก่อนคริสตกาล ตามปฏิทินเกรกอเรียน หรือ 6 ก.ย. ปีเดียวกัน ตามปฏิทินจูเลียน วันที่ 19 นับเป็น 0.0.0.0.19 จากนั้นเมื่อเข้าสู่วันที่ 20 จะนับเป็น 0.0.0.1.0

เลขหลักที่ 2 จากขวามือ ต่างกับหลักอื่นตรงที่จะใช้ตัวเลขสูงสุดถึงแค่ 18 ดังนั้น 0.0.1.0.0 จึงตรงกับวันที่ 360 (ประมาณ 1 ปี) 0.1.0.0.0 ตรงกับวันที่ 7,200 (ประมาณ 20 ปี) และ 1.0.0.0.0 ตรงกับวันที่ 144,000 (ประมาณ 394 ปี) การที่ชาวมายาใช้เลข 13 และ 20 เป็นรากฐานของระบบตัวเลข โดยปีหนึ่งมี 13 เดือน แต่ละเดือนยาวนาน 20 วัน จึงมีความเชื่อว่าปฏิทินแบบ Long Count นี้จะสิ้นสุดในวันที่ 13.0.0.0.0 ก่อนจะเริ่มรอบใหม่ วัฏจักร Long Count จึงยาวนาน 1,872,000 วัน (ผลลัพธ์ของ 13 x 20 x 20 x 18 x 20) หรือราว 5,125 ปี ซึ่งถ้านับมาจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 3,114 ปีก่อนคริสตกาล วันที่ 13.0.0.0.0 ในปฏิทินมายาจะตรงกับวันที่ 21 ธ.ค. 2012

การเรียงตัวของโลก ดวงอาทิตย์ และศูนย์กลางทางช้างเผือก

นอกจากการสิ้นสุดของปฏิทินมายาจะถูกนำมาเชื่อมโยงกับวันสิ้นโลก หรือบ้างก็ว่าเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว วันที่ 21 ธ.ค. ยังตรงกับวันเหมายัน (Winter Solstice) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาวสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในซีกโลกเหนือ และเป็นช่วงที่เวลากลางคืนยาวนานกว่าเวลากลางวันมากที่สุด เมื่อมองจากโลกจะเห็นดวงอาทิตย์โคจรมายังจุดที่เยื้องลงไปทางทิศใต้มากที่สุด

ระบบสุริยะของเราอยู่ในดาราจักรที่เรียกว่าดาราจักรทางช้างเผือก มีลักษณะเป็นจานแบน ป่องออกตรงกลาง ระนาบของจานคือเส้นศูนย์สูตรของทางช้างเผือก สุริยวิถีซึ่งเป็นเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ลากผ่านกลุ่มดาวจักรราศี อยู่คนละระนาบกับเส้นศูนย์สูตรของทางช้างเผือก แต่มีจุดตัดกัน 2 จุด จุดหนึ่งอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู ปัจจุบันอยู่ใกล้กับตำแหน่งของจุดเหมายัน อีกจุดหนึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มดาววัวกับกลุ่มดาวคนคู่

การคำนวณทางดาราศาสตร์พบว่า ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในวันเหมายันจะผ่านระนาบทางช้างเผือกในช่วงปี 1980–2016 โดยผ่านศูนย์กลางพอดีในปี 1998 เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกๆ ประมาณ 26,000 ปี ตามคาบการส่ายของแกนหมุนของโลก จอห์น เมเจอร์ เจนกินส์ นักเขียนคนหนึ่ง เรียกการเรียงตัวกันนี้ว่า Galactic Alignment เขาอ้างว่าชาวมายาล่วงรู้ถึงการเรียงตัวกันดังกล่าว โดยสังเกตจากแนวมืดในแถบทางช้างเผือก ซึ่งเกิดจากฝุ่นที่บดบังแสงจากดาวเบื้องหลัง และยังอ้างอีกว่าชาวมายากำหนดจุดสิ้นสุดของปฏิทินแบบ Long Count ให้ตรงกับเหตุการณ์นี้ ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มความโดดเด่นของวันที่ 21 ธ.ค. 2012 ให้มากขึ้นไปอีก

สัปดาห์หน้า เราจะไปทำความรู้จักกับดาวนิบิรุ และความเชื่อมโยงกับการพยากรณ์วันสิ้นโลกในปี 2012

ท้องฟ้าในรอบสัปดาห์ (17-24 พ.ค.)

ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวสิงโต มันอยู่สูงเหนือศีรษะในเวลา 19.30 น. และเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ หลังจากนั้น 6 ชั่วโมง ดาวเสาร์จะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก กล้องโทรทรรศน์ส่องเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ซึ่งขณะนี้แคบลงเนื่องจากเกือบอยู่ในแนวสายตา

ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีเป็นดาวสว่างในเวลาเช้ามืด เริ่มสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีได้ตั้งแต่เวลาประมาณตี 2 จากนั้นเวลาตี 4 น่าจะเริ่มสังเกตเห็นดาวศุกร์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าตะวันออก เวลาตี 5 ซึ่งท้องฟ้าเริ่มสว่าง ดาวพฤหัสบดีเคลื่อนสูงไปอยู่ที่มุมเงย 60 องศาทางทิศใต้ ดาวศุกร์มีมุมเงยเกือบ 30 องศาทางทิศตะวันออก ดาวอังคารซึ่งจางกว่าและมีสีค่อนไปทางแดงหรือชมพู อยู่ต่ำกว่าดาวศุกร์ประมาณ 5 องศา กล้องโทรทรรศน์ส่องเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยว ใกล้เคียงกับขนาดของดาวพฤหัสบดี ส่วนดาวอังคารเล็กกว่ามาก

ตลอดสัปดาห์นี้ ดวงจันทร์เป็นเสี้ยวอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด วันที่ 21-22 พ.ค. ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวศุกร์และดาวอังคาร วันเสาร์ที่ 23 พ.ค. น่าจะเป็นวันสุดท้ายที่เห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยวบางๆ ก่อนที่มันจะผ่านตำแหน่งจันทร์ดับในวันอาทิตย์ของสัปดาห์ถัดไป

กลางสัปดาห์ กรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05.50 น. ตกเวลา 18.39 น. เชียงใหม่ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05.48 น. ตกเวลา 18.53 น. ภูเก็ตดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 06.08 น. ตกเวลา 18.38 น. อุบลราชธานีดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05.31 น. ตกเวลา 18.24 น.
 
http://www.posttoday.com/lifestyle.php?id=47687



See all the ways you can stay connected to friends and family

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น