วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

โมนาลิซ่าแบบไทยๆ/นรา

โมนาลิซ่าแบบไทยๆ/นรา
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 พฤษภาคม 2552 11:34 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น



ผมเขียนต้นฉบับชิ้นนี้หลังวันวิสาขบูชา หวังว่าคงยังไม่ล่าช้าเกินไปที่จะกล่าว "เมอร์รีพุทธมาส" กับท่านผู้อ่านนะครับ
       
        แรกเริ่มที่ผมหันเหเปลี่ยนความสนใจจาก "ดูหนัง" มาเป็น "ดูผนัง" (ควบคู่ไปกับนั่งหลับ "ดูหนังตาด้านใน" ของตัวผมเองบนรถเมล์) ผมมีรายชื่อสถานจิตรกรรมไทยระดับมาสเตอร์พีซ ที่ "ต้องดูก่อนแก่ ดูก่อนเบื่อ และดูก่อนตาย" ราวๆ 50-60 วัดทั่วราชอาณาจักร
       
        ข่าวดีก็คือ ตอนนี้ผมตระเวนดูไปแล้ว ประมาณ 20 แห่ง
       
        ข่าวดีกว่านั้น ผมเจอข้อมูลเพิ่มเติมว่า วัดที่มีจิตรกรรมฝาผนังเข้าขั้นน่าสนใจ งอกเงยกลายเป็นร่วมๆ ร้อยแห่ง
       
        ส่วนข่าวร้าย ผมเพิ่งจะเขียนถึงไปได้แค่ 2 วัดเท่านั้นเอง
       
        ระหว่างหมกมุ่นกับกิจกรรมเหล่านี้ พฤติกรรมบางด้านของผมก็เปลี่ยนไป เริ่มจากสมุดจดเบอร์โทรศัพท์ของผม ค่อยๆ สะสมเบอร์ของวัดวาอารามต่างๆ ทีละน้อย
       
        รู้ตัวอีกที ผมก็พบว่า ได้สะสมเบอร์โทรของวัด มากกว่าเบอร์โทรศัพท์สาวๆ ไปเรียบร้อยแล้ว
       
        อย่างไรก็ตาม ผมเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง คือ กลัวการพูดคุยสนทนาทางโทรศัพท์ จึงได้แต่นั่งท่องเบอร์เลขหมายเล่นๆ โดยไม่เคยทดลองปฏิบัติจริง
       
        ผมไม่มีหลักเกณฑ์ในการเลือกดูจิตรกรรมฝาผนัง ว่าจะต้องเรียงลำดับจากในกรุงเทพฯ ก่อน แล้วค่อยออกต่างจังหวัด และไม่ได้คำนึงถึงความเก่าแก่ของผลงาน แต่ใช้วิธีมั่วๆ จากความรู้สึกและสัญชาติญาณ
       
        กล่าวคือ ทุกเช้าที่มีเวลาว่างจะออกท่องบู๊ลิ้ม เมื่อตื่นมานั่งทำตาปรือ หลับตา ถอนหายใจเฮือกใหญ่ เพื่อรวบรวมขวัญและกำลังใจ วัดไหนแว่บผ่านเข้ามาในความคิด ผมก็ตัดสินใจไปวัดนั้น
       
        เช้าวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันพระ ระหว่างที่กำลังนั่งงัวเงีย วางแผนว่าจะไปไหนดี วัดชมภูเวกก็ส่งสัญญาณกวักมือเรียกมาชัดๆ จนเกินจะหักห้ามใจ
       
        ผมจึงทดลองใช้วิธีโทรศัพท์ไปที่วัดเป็นครั้งแรก ด้วยใจเต้นรัวระทึก เป็นความกลัวสองเด้ง คือ ทั้งกลัวการคุยโทรศัพท์ และกลัวพระสงฆ์
       
        หลวงพ่อองค์หนึ่งรับสาย ผมเรียนท่านว่า อยากจะขออนุญาตเข้าไปถ่ายรูปจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ
       
        ท่านตอบว่า คงยากนะโยม หลังๆ ทางวัดไม่ค่อยอนุญาตให้มีการถ่ายรูปในโบสถ์ เพราะเกรงว่าอาจทำให้ภาพจิตรกรรมเสียหาย
       
        ผมถามท่านต่อไปว่า ปกติพระอุโบสถเปิดให้เข้าชมบ้างหรือไม่
       
        ท่านตอบว่า ไม่ค่อยจะเปิดเช่นกัน เนื่องจากเกรงว่าจะมีพวกมือบอนซุกซนเข้าไปขีดเขียนผนังเล่น
       
        ผมจึงถามทิ้งท้ายว่า หากกระผมจะขอเข้าไปชมดูเฉยๆ จะได้หรือไม่?
       
        ท่านตอบว่า ได้สิ โยมมาได้เลย
       
        ผมถามท่านอีกตามประสาคนซอกแซกว่า ต้องขออนุญาตจากพระคุณเจ้าท่านใด
       
        ท่านตอบว่า จากเจ้าอาวาส กุญแจทั้งหมดอยู่ที่ท่านเจ้าอาวาส
       
        ผมจึงสอบถามถึงตำแหน่งที่ตั้ง และวิธีเดินทางไปยังตัววัด ซึ่งท่านก็บอกเล่าอธิบาย จนกระทั่งกระจ่าง
       
        ตอนที่ตัดสินใจเข้าสู่วงการ "ดูจิตรกรรมฝาผนัง" ผมใช้วิธีโบราณ ด้วยการดิ่งตรงไปยังกรมแผนที่ทหาร เพื่อซื้อแผนที่ขนาดใหญ่ละเอียดยิบของกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง (เพื่อค้นหาทำเลที่ตั้งของวัดต่างๆ)
       
        การซื้อแผนที่ของผมเข้าขั้นเอิกเกริกมาก จนดูน่าสงสัยว่า อาจเป็นสายลับสอดแนมหรือพวกก่อวินาศกรรม ต้องมีการกรอกแบบฟอร์มติดต่อขอซื้อ มีขั้นตอนเอาจริงเอาจังพอสมควร (อย่างไรก็ตาม ผมยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติมาก ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีโอกาสทำธุรกรรมกับกระทรวงกลาโหม)
       
        ตำแหน่งที่ตั้งของวัดชมภูเวกซึ่งปรากฎบนแผนที่ ทำเอาผมแทบถอดใจเลยทีเดียว คือ เลยสะพานพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรีไปอีกพอสมควร
       
        ไม่ใช่แค่อยู่ไกลมากจากบ้านอย่างเดียวนะครับ แต่ยังเป็นบริเวณที่ผมไม่คุ้นอย่างยิ่ง ประมาณว่าตลอดทั้งชีวิตเฉียดผ่านไปยังละแวกนั้นน้อยมาก ผมจึงเกิดอาการ "ไปไม่เป็น" อย่างแรง กระทั่งต้องสอบถามทางโทรศัพท์จากพระ
       
        หลวงพ่อท่านบอกว่า อยู่ห่างจากท่าน้ำนนท์ประมาณ 8 กิโลเมตร ผมจึงใช้วิธีนั่งเรือด่วนไปลงที่นั่น และเดินโซซัดโซเซไปอีกราวๆ 100 เมตร จนเจอคิวรถสองแถวสีน้ำเงิน ซึ่งหมดระยะใกล้ๆ วัดชมภูเวก
       
        จะว่าไปแล้ว ความประทับใจที่ผมมีต่อวัดชมภูเวก เปรียบเสมือน "รักแรกพบ" กล่าวคือ เริ่มต้นจากที่ผมไปเห็นรูปถ่ายขาว-ดำเก่าๆ ของพระอุโบสถในหนังสือ และทราบว่าภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง (แต่ไม่เห็นรูปเขียนข้างใน ไม่ทราบว่าวาดภาพอะไร และสวยแค่ไหน)
       
        เห็นตัวโบสถ์แล้วก็ชอบทันที รู้สึกว่าสวยแปลกตา และเต็มไปด้วยบรรยากาศขรึมขลังคลาสสิกเหลือเกิน
       
        ถัดจากนั้นอีกเล็กน้อย ผมจึงรู้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วัดชมภูเวกเป็น 1 ใน 2 แห่งของจังหวัดนี้ ที่มีงานจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างนนทบุรีอันโดดเด่น (อีกแห่งหนึ่งคือ วัดปราสาท ซึ่งผมได้เบอร์โทรฯ มาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สบโอกาสเหมาะในการเดินทางไปเยี่ยมชม)
       
        ถัดมาของถัดมาอีกหลายสัปดาห์ ผมก็อ่านเจอในตำราหลายๆ เล่ม ระบุว่าที่วัดชมภูเวก มีภาพแม่พระธรณี ซึ่งยกย่องกันว่า สวยงามที่สุดในสยามประเทศ (บางแห่งถึงขั้นฟันธงว่า สวยที่สุดในโลก)
       
        ตอนนั้น ผมเห็นภาพถ่ายแม่พระธรณีดังกล่าวในหนังสือแล้วนะครับ รู้แค่ว่าสวย แต่โนไอเดียว่างามถึงขั้นที่สุดได้อย่างไร?
       
        ผมจึงตระเวนดูวัดอื่นๆ ไปก่อน (รวมทั้งเปิดหนังสือจิตรกรรมฝาผนังในห้องสมุดหลายๆ เล่ม) เพื่อพินิจพิจารณาภาพแม่พระธรณีหลายๆ แห่งเป็นการเปรียบเทียบ
       
        ดูบ่อยๆ เข้า ผมก็เริ่มจะเห็นพ้องคล้อยตามสิ้นข้อสงสัย
       
        การดูจิตรกรรมฝาผนังของไทยให้เห็นซึ้งถึงความงาม สามารถจำแนกแยกแยะได้ว่า ภาพใดเป็นงานชิ้นเอก ภาพใดเป็นฝีมือระดับรองๆ จำเป็นมากนะครับ ที่จะต้องหาภาพเรื่องราวเหตุการณ์เดียวกัน หลายๆ แห่ง มาดูเทียบเคียงเป็นการฝึกสายตา
       
        ยิ่งดูผมก็ยิ่งหลงใหลในภาพแม่พระธรณีดังกล่าว และรู้สึกตามประสาผมเองว่า เป็นผลงานชิ้นเอก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า โดดเด่นและมีคุณค่าทางศิลปะคล้ายๆ กับภาพโมนาลิซ่าของลีโอนาร์โด ดา วินชี
       
        ผมจึงยึดถือของผมเองว่า ภาพแม่พระธรณีที่วัดชมภูเวก เป็นภาพโมนาลิซ่าแบบไทยๆ
       
        พอคิดเล่นๆ เช่นนี้ ผมก็เลยเดินทางไปยังวัดชมภูเวก ด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ ราวกับกำลังมุ่งหน้าสู่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ที่ปารีส ยังไงยังงั้นเชียว
       
        วัดชมภูเวกอยู่ใกล้ๆ สนามบินน้ำ เดิมทีด้านหน้าอุโบสถกับวิหารอยู่ติดคลองท่าทราย ซึ่งเป็นคลองใหญ่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันตื้นเขินกลายเป็นลำคูเล็กๆ
       
        สันนิษฐานว่า วัดนี้น่าจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2300 ครั้งนั้นชาวมอญถูกพม่ารุกราน ได้อพยพหลบหนีเข้ามายังแถบจังหวัดนนทบุรี บริเวณตัววัด
       
        จนถึงช่วงฤดูฝน เมื่อฝนตกลงมา วัวควายได้เหยียบย่ำเนินดิน ทำให้เห็นเนินอิฐโผล่ขึ้นมา ท่านหัวหน้าชาวมอญผู้อพยพเชื่อว่า ฐานเนินอิฐแห่งนี้ คงจะต้องเคยเป็นซากโบราณสถานมาก่อน และถือว่าเป็นพื้นที่อันนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล จึงได้ร่วมกันสร้างเจดีย์ทรงมอญ หรือที่เรียกกันว่าพระมุเตา ขึ้น ณ เนินแห่งนี้ (ต่อมาในปีพ.ศ. 2460 มีพระสงฆ์จากมอญเดินทางมาบูรณะ เพิ่มความสูงใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และทำมงกุฏสวมที่ยอดพระมุเตา พร้อมกับสร้างเจดีย์ขึ้นที่มุมฐานทั้ง 4 ทิศ) รวมทั้งใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาจากเมืองมอญ เพื่อให้เป็นสถานที่สักการะบูชา และค่อยๆ มีสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติม จนกลายเป็นวัดชื่อ "ชมภูวิเวก" มีความหมายว่า ขอสรรเสริญบริเวณที่เป็นเนินสูง และมีความสงบวิเวก
       
        ภายหลังคำเรียกชื่อวัดจึงค่อยๆ กร่อนหายกลายเป็น "ชมภูเวก" แต่บรรยากาศอันเงียบสงบและวิเวก ก็ยังคงมีอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
       
        ภาพแรกที่ผมเห็นวัดชมภูเวกนั้น ชวนให้ประทับใจทันที พื้นที่กว้างขวาง ร่มรื่น และสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบ
       
        ที่ผมชอบมากก็คือ ใกล้ๆ กำแพงวัด มีบอร์ดเรียงราย บอกเล่าอธิบายให้ความรู้ข้อมูลต่างๆ ทั้งประวัติความเป็นมาและโบราณวัตถุที่น่าสนใจภายในวัด (พร้อมทั้งภาพประกอบ)
       
        เช่นเดียวกัน ในพระอุโบสถก็กั้นเชือก เพื่อรักษาระยะของผู้ชมกับจิตรกรรมฝาผนัง และมีบอร์ดบอกเล่าอธิบายให้ทราบว่า ผนังไหนเขียนรูปเรื่องอะไร (พร้อมทั้งภาพประกอบและเรื่องย่อ)
       
        เป็นแบบและวิธีซึ่งผมคิดว่า วัดที่มีจิตรกรรมฝาผนังและงานศิลปะสถาปัตยกรรมเด่นๆ แห่งอื่น น่าจะจดจำนำไปใช้ เพราะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างยิ่ง
       
        ถึงวัดแล้วผมก็ตรงดิ่งไปสอบถามเพื่อขอพบท่านเจ้าอาวาส (ขอสารภาพว่าตื่นเต้นมาก เพราะเป็นครั้งแรกในชีวิตของ "นราน้อยกลอยใจ" ที่ขอเข้าพบพระระดับเจ้าอาวาส)
       
        อย่างไรก็ตาม ผมนั้นห่างไกลจากการเป็นบุคคลจำพวก "วาสนาแน่น" อยู่เยอะ ค่อนข้างไปทาง "อาภัพเพียบ" เสียมากกว่า จึงไม่ได้พบท่านเจ้าอาวาส และได้เจอแค่เด็กวัด
       
        คุณน้องเด็กวัด เป็นวัยรุ่นหนุ่ม ซึ่งทำให้ผมประทับใจมาก นอกจากจะต้อนรับขับสู้สอบถามด้วยความสุภาพเรียบร้อยแล้ว พอรู้ความประสงค์ของผม คุณน้องยังช่วยเป็นธุระจัดแจงให้อย่างแข็งขันเอาการเอางาน และบอกให้ผมไปรอที่หน้าพระอุโบสถได้เลย คุณน้องเขาจะขอกุญแจมาเปิดให้
       
        ผมยืนรออยู่ไม่ถึงห้านาที คุณน้องก็ขี่จักรยานมาบอกว่า กุญแจนั้นไม่ได้ล็อค แค่คล้องโซ่ไว้ที่หน้าประตู สามารถเปิดเข้าไปได้เลย
       
        ว่าแล้วคุณน้องก็เปิดประตูโบสถ์ เปิดไฟต่างๆ ให้เสร็จสรรพ และบอกผมว่า เชิญตามสบายนะครับ ตอนจะกลับรบกวนแค่ช่วยปิดไฟก็พอ
       
        ช่วงระหว่างที่ยืนรอ ผมก็ถือโอกาสพินิจพิจารณารูปทรงภายนอกของพระอุโบสถ ซึ่งบูรณะซ่อมแซมใหม่จนมีสภาพมั่นคงแข็งแรงดี
       
        โบสถ์วัดชมภูเวกนั้น ตำราหลายแห่งระบุว่า เป็นโบสถ์แบบมหาอุด คือมีประตูทางเข้าแค่เพียงหนึ่งเดียว ด้านหลังเป็นผนังทึบตัน
       
        อันนี้ค่อนข้างต่างจากที่ผมเคยรู้มา (จากข้อมูลคนละแหล่ง) ว่า โบสถ์มหาอุด มีประตูทางเข้าด้านเดียว (จะกี่บานก็ได้) ส่วนผนังด้านข้างทึบตันไม่มีหน้าต่าง และด้านหลังทึบตันไม่มีประตู
       
        อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อมูลบอกว่าเป็นมหาอุด ผมก็เชื่อตามประสาคนว่าง่ายนะครับ
       
        ผนังแบบมหาอุด (ซึ่งเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมตามวัดวาอารามที่หาดูได้ยาก) ถือและเชื่อกันว่า เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง แล้วจะมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง
       
        นอกจากลักษณะแบบมหาอุดแล้ว โบสถ์วัดชมภูเวก ยังเป็นรูปทรงที่เรียกกันว่า แบบวิลันดา (คือรับอิทธิพลจากฮอลแลนด์) คือ จะตัวอาคารจะไม่ตรงตั้งฉากกับพื้นดินเสียทีเดียว แต่จะเอียงสอบเข้าหากันเล็กน้อย
       
        ที่น่าสนใจและควรแวะไปดูชมอย่างยิ่งอีกประการก็คือ บริเวณหน้าบัน ซึ่งประดับด้วยเครื่องถ้วยลายครามและเบญจรงค์ เป็นลวดลายแบบศิลปะโรโคโคของยุโรป
       
        คราวหน้าเราจะเข้าไปในโบสถ์ เพื่อดูภาพพระแม่ธรณีที่ถือกันว่า งามเลิศในปฐพีนะครับ

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9520000052707

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น