วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ลูกปัดปริศนา ตรีรัตนะ (๒) หรือเพียงแค่ "แมงมุมทอง" ของชาวบ้าน

วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11390 มติชนรายวัน


ลูกปัดปริศนา ตรีรัตนะ (๒) หรือเพียงแค่ "แมงมุมทอง" ของชาวบ้าน


คอลัมน์ แกะ(รอย)ลูกปัด

โดย บัญชา พงษ์พานิช plearnstan@gmail.com




ลูกปัดปริศนา ตรีรัตนะที่พบบนแผ่นดินไทยนั้นนอกจากที่ทำด้วยหินสีมีค่าต่างๆ แล้วนั้น ยังพบที่ทำด้วยทองคำอีกด้วย

"ลูกปัดตรีรัตนะทองคำ" ตัวหนึ่งซึ่งร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณระบุไว้ชัดเจนในหนังสือ "ทุ่งตึก เมืองท่าการค้าโบราณ" ว่าคือไตรรัตนะนั้น ชาวบ้านที่ภูเขาทอง จังหวัดระนองไม่เคยคิดหรือรับรู้ด้วย เพราะดูอย่างไรก็ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้นอกจาก "ตัวแมงมุมทองคำ" ที่มีตัวกลมโตพร้อมหนวดยุ่มย่ามกับสองดวงตากลมและงวงปากอยู่ตรงกลาง โดยมีขาโค้งยงโย่ยงหยกอยู่สองข้าง วางคว่ำปลายเท้าแผ่อยู่บนพื้น

ในการตามรอยของผม ในหนังสือ "Early Indian Symbols:Numismatic Evidence" ว่าด้วยสัญลักษณ์โบราณของอินเดียจากหลักฐานบนเหรียญตราของ Dr. Savita Sharma ตีพิมพ์ที่กรุงเดลีเมื่อปี พ.ศ.2533 ระบุว่า

ตราอย่างนี้ รูปทรงอย่างนี้ คือ ""นนทิบาท หรือ ตรีรัตนะ หรือ ทอรีน" (Nandipada/Triratna/Taurine)" เชื่อว่าวิวัฒน์มาจากรอยเท้าของโคนนทิอันเป็นเทพพาหนะของพระศิวะโดยรูปนนทิบาทนี้นิยมแพร่หลายมากในสมัยคัมภีร์พระเวทและปุราณะก่อนที่จะนำมาวิวัฒน์ปรับใช้ต่อในพุทธศาสนาและศาสนาไชนนะหรือเชน (หรือนิครนท์ที่ไทยเราชอบเรียกว่าพวกชีเปลือยนุ่งลมห่มฟ้าเนื่องจากมีศีลอันกล้าในเรื่องการนุ่งห่มและดื่มกิน)

Dr.Savita Sharma ระบุว่า รูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์นนทิบาทหรือตรีรัตนะนี้นับเป็นส่วนประดับอันสำคัญในศิลปะและสถาปัตยกรรมอินเดียโบราณ โดยมีความเกี่ยวเนื่องกับแทบทุกศาสนาหลักจนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายไม่แพ้ "สัญลักษณ์ศรีวัตสะและสวัสดิกะ" ดังที่พบเป็นรอยตราทั้งบนเหรียญตรา และอนุสาวรีย์มากมาย

รวมทั้งน่าจะเกี่ยวพันอยู่กับ "การคิดประดิษฐ์อักขระ" และ "สัญลักษณ์ Taurine" หรือ "Taurus" อันเป็นสัญลักษณ์แห่งราศีที่ 2 หรือพฤษภในสิบสองราศีของชนชาวกรีกโบราณอีกด้วย

เธอบอกว่าลอร์ดคันนิ่งแฮม (Cunningham)เรียกสัญลักษณ์นี้ว่า ""the disc and the crescent", "the triple jems", or "Triratna"" พร้อมระบุว่าลอร์ดคันนิ่งแฮมสรุปอย่างมั่นเหมาะว่า ตรีรัตนะนี้เป็นสัญลักษณ์ในพระพุทธศาสนาอย่างไม่ต้องสงสัย

ในขณะที่พรินเซ็ป (Prinsep) เรียกสัญลักษณ์นี้ในทรงตั้งหงายว่า ""the Buddhist monogram"" และในทรงคว่ำว่า ""the Buddhist Chaitya"" โดยวิลสันและผู้การไซคส์ (Wilson and Colonel Sykes) บอกว่าคือ ""Buddhist triad : Buddha, Dhamma and Sangha""

ขณะที่ไมเซย์ (Maisey) เห็นตามลอร์ดคันนิงแฮมว่าคือ ""disc and crescent""

ที่สำคัญเธอระบุว่าสัญลักษณ์นี้มีการใช้อย่างยิ่งยวดและสมบูรณ์แบบที่ "มหาสถูปสาญจี" แห่งพระพุทธศาสนา ณ จุดต่างๆ เต็มไปหมด ไม่ว่าจะตรงโค้งซุ้มประตู บนยอดเสา ภายใต้ฉัตร ประดับบนด้ามกระบี่ ที่จี้ห้อยกรองศอหรือสายสร้อยมงคล จนกระทั่งบนยอดเสาธงทิวทั้งหลาย และยังพบได้ที่สถูปสมัย "ภารหุต อมราวดี" จนกระทั่งที่ "สารนาถ มถุรา" ซึ่งมีธรรมจักรประดับอยู่ระหว่างสองขาของตรีรัตนะอีกด้วย

ส่วนที่เป็นหลักฐานชิ้นเล็กๆ นั้น เธอระบุว่ามีทั้งที่เป็นหัวแหวน ยอดปิ่นปักผม หัวเข็มขัด ตราประทับ รูปสลักบนฐานสถูป รอยจำหลักบนเศษภาชนะ จนแม้กระทั่งภาพฝาผนังถ้ำ และที่สำคัญคือพบมากบนเหรียญตราจาก "ตักสิลา โกสัมพี พาราณสี อโยธยา" และอีกหลายเมืองโบราณเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 3-5

""ตรีรัตนะทองคำ"" ของร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ หรือ ""แมงมุมทองคำ"" ของชาวบ้านตัวนี้ เท่าที่ผมเทียบจากตารางภาพของ Dr.Savita Sharma เหมือนทั้ง ""นนทิบาท"" หรือ ""ตรีรัตนะ"" และ ""ทอรีน"" หรือ ""ทอรัส"" ซึ่งขอชวนแกะรอยต่อในตอนหน้า

ส่วนท่านใดอยากได้เห็นโดยประจักษ์กับตรีรัตนะบนสถูปสาญจี อมราวดีและภารหุต ขอเชิญไปพบกันในงานอาจาริยบูชาท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ที่สวนโมกขพลาราม วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคมนี้ ช่วงบ่ายซึ่งผมจะนำชมโดยละเอียดที่นั่น

หน้า 21
 
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun02170552&sectionid=0120&day=2009-05-17


Hotmail® goes with you. Get it on your BlackBerry or iPhone.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น