วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

รอยอดีตในเชียงตุง(1)

รอยอดีตในเชียงตุง(1)/จิปาถะวัฒนธรรม
สมโขติ อ๋องสกุล2/5/2552

จิปาถะวัฒนธรรม

สมโชติ อ๋องสกุล

 

รอยอดีตในเชียงตุง(1)

 

คอลัมน์นี้ตลอดเดือนพฤษภาคม นำเสนอประวัติศาสตร์บอกเล่า "รอยอดีตในเชียงตุง" ของผู้เขียน รศ.สมโชติ อ๋องสกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เดินทางไปในตามพระนิพนธ์ "จดหมายเหตุทัพเชียงตุง" เมื่อวันที่ 31 มีนาคม -2 เมษายน 2552 ภายใต้การนำของผู้แทนราชสกุลสนิทวงศ์ฯ ทายาทของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิท แม่ทัพหลวงสมัยรัชกาลที่ 4 และกระทรวงวัฒนธรรม ทำให้ได้แลเห็น "รอยอดีต" ของเชียงตุง อย่างไรก็ดีเนื้อความเป็นเพียงคัดย่อมาเท่านั้น เชิญรจนา

เส้นทางการเดินทางเลียบเชิงเขา และริมแม่น้ำอันคดเคี้ยวตลอดเส้นทาง ไต่ระดับขึ้นดอยจนถึงแอ่งเชียงตุง ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มน้ำเขินที่มีภูเขารายรอบ ในอดีตต้องผ่านเขตป่าทึบที่อุดมด้วย "เชื้อไข้ป่า" ฤดูฝนฝนตกชุก กระแสน้ำป่าไหลแรง ฯลฯ การเดินทัพซึ่งมีกำลังคนจำนวนมากต้องเดินเรียงแถวตามเส้นทางแคบ และคดเคี้ยวง่ายต่อการถูกซุ้มโจมตีจากกองทัพพม่า และกลุ่มชาติพันธ์ในพื้นที่ซึ่งทำงานให้กองทัพพม่า

สมัยก่อน (พ.ศ.2396) การเดินทางจากเชียงใหม่ไปเชียงตุงต้องใช้เวลา 21 คืน จากเชียงรายไปเชียงตุงใช้เวลา 14 คืน และจากน่านไปเชียงตุงต้องใช้เวลา 21 คืน ทั้งนี้ยังไม่นับการเดินทางจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาทางเมืองเหนือต้องใช้เวลาอีกแรมเดือน บนเส้นทางที่ยากลำบากทั้งทางบกทางน้ำเป็นเรื่องต้องเข้าใจเป็นเบื้องแรก แม้ปัจจุบันใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์จากแม่สายไปเชียงตุงเพียงประมาณ 5 ชั่วโมงก็ตาม

อย่างไรก็ดีเส้นทางที่เลียบริมแม่น้ำและเชิงดอยเส้นนี้ในอดีต ทางน้ำริมถนนคือเส้นทางล่องไม้ซุงจากเชียงตุงและเมืองต่างๆ ลงสู่แม่น้ำสาละวินหรือแม่คง ของบริษัทป่าไม้ของอังกฤษ เช่น บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ภูเขาหรือดอยที่เห็นในปัจจุบันจึงหมดสภาพป่าแล้ว

ขณะที่ทางบก คือถนนเลียบริมน้ำ ก็เป็นเส้นทางของกองคาราวานพ่อค้าวัวต่าง เดินทางค้าขายระหว่างเมืองต่างๆ เป็นเ้นทางการค้าทางบกสายสำคัญสายหนึ่ง และต้องผ่านด่านเมืองเชียงตุง โดยสินค้ามีทั้งในและนอกระบบเศรษฐกิจทั้งในอดีตและปัจจุบัน

กำแพงเมืองของเชียงตุง ยิ่งใหญ่กว่ากำแพงเชียงแสน กำแพงเชียงใหม่ กำแพงเชียงของ กำแพงเมืองน่าน กำแพงเมืองลำพูน ฯลฯ ในเขตสยาม ตั้งเด่นบนชัยภูมิเนินเขา มีคูเมืองขนาดกว้างประมาณ 30 เมตร มีน้ำลึกยากต่อการบุกเข้าโจมตี

ในอดีตมีประตูเมือง12 ประตู เรียงตามทิศดังนี้ ทิศเหนือประตูหนองผา ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประ ตูยางปึ่ง ทิศตะวันออกมี 3 ประตู คือประตูน้ำอ้อย ประูม่าน ประตูป่าแดง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ประตูงามฟ้า ทิศใต้ประตูเชียงลาน ทิศตะวันตกเฉียงใต้ประตูผาหยั่ง ประตูเจนเมือง ทิศตะวันตกประตูยางคำ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือมี 2 ประตู คือประตูหนองเหล็ก และ "ประตูไก่ไห้" (ดู อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว เล่าเรื่องเมืองเชียงตุง)

ความสูงของกำแพงและความกว้างของคูเมืองขนาด "ไก่" ยัง "ไห้" (ร้องไห้) แม้กระทั่งกระสุนปืนใหญ่ที่กองทัพสยามยิงเข้าไปยังแทบไม่ถึงเป้าหมาย บวกกับการเตรียมการของกองทัพพม่าอย่างเข็มแข็งในเมืองเชียงตุง การส่งกองสอดแนมฟังข่าวสารตลอดเส้นทาง กองทัพสยามที่เดินทางมาไกล ไม่ชำนาญพื้นที่จึงยากยิ่งที่จะฝ่ากำแพงเมืองเชียงตุงได้   

 
http://www.siamrath.co.th/uifont/Articledetail.aspx?nid=3230&acid=3230


Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น