วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

มโหสถชาดก ขึ้นเว็บไซต์ศรีมโหสถ?

วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11400 มติชนรายวัน


มโหสถชาดก ขึ้นเว็บไซต์ศรีมโหสถ?


คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



สังคมในตระกูลไทย-ลาวให้ความสำคัญสูงสุดในชาดกเรื่องเวสสันดร ตามนโยบายของราชสำนักโบราณ รองไปคือพระมโหสถ จึงพบภาพสลักและภาพเขียนเล่าเรื่องพระมโหสถมากมายหลายแห่งอย่างไม่น่าเชื่อ

ชาดกเล่ากำเนิดพระมโหสถว่า ยังมีเศรษฐีนามว่าสิริวัฒกะ มีภรรยานามว่า นางสุมนาเทวี นางคลอดบุตรออกมาในเวลาที่พระราชาทรงสุบิน ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาแต่ไม่มีผู้ใดเห็น เอาแท่งโอสถมาใส่ในมือทารกน้อย

ครั้นมารดาเห็นของในมือทารก ก็อุทานว่า พ่อได้อะไรมา กุมารน้อยยื่นโอสถนั้นให้มารดา แล้วตอบว่า โอสถ ข้าแต่แม่ท่านจงให้โอสถนี้แก่เหล่าคนเจ็บป่วยทั้งหลาย

สิริวัฒกะเศรษฐีนำโอสถนั้นมาฝนหินหน่อยหนึ่ง แล้วทาบนหน้าผาก อาการปวดหัวมาตลอด 7 ปี ของตนก็หายเป็นปลิดทิ้ง ดุจน้ำหายไปจากใบบัว ความทั้งหมดก็รู้กันทั่ว คนเจ็บป่วยพากันมาหาเศรษฐี เศรษฐีก็ฝนโอสถหน่อยหนึ่งละลายน้ำแจกกันทั่ว คนเหล่านั้นก็หายป่วย มหาเศรษฐีจึงตั้งชื่อกุมารว่า มโหสถกุมาร อันเป็นคำสองคำผสมกันคือมหากับโอสถ มีความหมายว่า กุมารแห่งยาอันมีความยิ่งใหญ่

โดยได้รับอนุญาตจาก นิดดา หงษ์วิวัฒน์ ให้ขึ้นเว็บไซต์ศรีมโหสถ www.sujitwongthes.com/srimahosot


ชาดกเรื่องพระมโหสถแสดงการบำเพ็ญปัญญาบารมี รูปเขียนเล่าเรื่องลักษณะต่างๆก็วาดให้เห็นปัญญาบารมีของพระมโหสถ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือพระโพธิสัตว์มีโอสถแท่งที่สามารถรักษาใครๆให้หายจากโรคภัยก็เป็นบุญบารมีอย่างหนึ่ง ดังมีตัวอย่างการรักษาโรคช่วยชีวิตมนุษย์ของจักรพรรดิราชในอดีต เช่น พระเจ้าอโศก, ชัยวรมันที่ 7, ฯลฯ ล้วนสร้างโรงพยาบาลรักษาโรคให้ราษฎรเพื่อแสดงบารมี ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 3 ทำตำรายาไว้ที่วัดราชโอรสกับวัดโพธิ์

ลาวพวนที่อำเภอศรีมหาโพธิกับอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี มีเขตติดต่อกันก็มีเมืองโบราณ ให้ชื่อว่า เมืองมโหสถ มีนิทานพระมโหสถ ดังนี้

พระมโหสถครองเมืองมโหสถที่บ้านโคกวัด(ปัจจุบันอยู่ในอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี) ได้จัดให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอนางอมรเทวีซึ่งอยู่ที่เมืองโคกขวาง(ปัจจุบันอยู่บ้านโคกขวางในอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี)เพื่ออภิเษกสมรส

ฝ่ายนางอมรเทวีมีเงื่อนไขให้พระมโหสถจัดการสร้างถนนมาจาก เมืองมโหสถ ส่วนนางก็จะสร้างถนนจากเมืองของนางให้เข้าหากัน และให้ถนนทั้งสองสายนี้เชื่อมต่อกันพอดีก่อนดาวรุ่งขึ้น หากเป็นไปตามนี้จึงจะยินยอมแต่งงานด้วย ถ้าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขก็ไม่ตกลง

ในที่สุดต่างฝ่ายจองถนนจากเมืองของตน เมื่อถนนจะถึงกันนั้น นางอมรเทวีทำอุบายเอาโคมขึ้นแขวนบนยอดไม้ ทำนองว่าดาวรุ่งขึ้นแล้ว ถนนก็ไม่เชื่อมกัน ซ้ำแนวถนนยังไม่ตรงกันอีกด้วย

พระมโหสถเสียใจเป็นอันมาก จึงเอาขนมขันหมากซึ่งจัดเตรียมไว้นั้นสาดทิ้งเสีย ณ หนองน้ำแห่งนั้น ปัจจุบันเรียกหนองขันหมาก อยู่กลางทุ่งหน้าหมู่บ้านเกาะสมอ(ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี)

แต่คนทั่วไปจนถึงครูนักเรียนไม่รู้จักชาดกเรื่องพระมโหสถแล้ว เพราะระบบการศึกษาไทยในโลกการตลาดมองชาดกอย่างเหยียดๆ เลยไม่เฉียดเข้าใกล้ ห้องสมุดประชาชนฯควรมีหนังสือและนิทรรศการเรื่องนี้

คุณนิดดา หงษ์วิวัฒน์ สำนักพิมพ์แสงแดด ให้ความสำคัญนิทานทศชาติชาดก เลยพิมพ์เป็นเล่ม 4 สี ทั้ง 10 ชาติ ตั้งแต่ 2548 พร้อมภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดต่างๆประกอบมากที่สุด นับเป็นบุญบารมีของคุณนิดดา

เพื่อแบ่งปันความรู้เรื่องพระมโหสถ คุณนิดดาอนุญาตให้เอามโหสถชาดกขึ้นเว็บไซต์ศรีมโหสถ www.sujitwongthes.com/srimahosot เรียบร้อยหลายวันแล้ว เชิญอ่านตามสะดวก

หน้า 20
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra03270552&sectionid=0131&day=2009-05-27

Invite your mail contacts to join your friends list with Windows Live Spaces. It's easy! Try it!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น