วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ความท้อแท้ของผู้ก่อการร้ายย้อนยุค/นรา

ความท้อแท้ของผู้ก่อการร้ายย้อนยุค/นรา
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 พฤษภาคม 2552 15:24 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น





ปักหลักยืดเยื้อไม่ยอมไปไหนอยู่ที่วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี มาร่วมๆ สองเดือน จนเพื่อนปากร้ายของผมบางคนค่อนขอดเหน็บแนมว่า "จะเขียนยาวๆ แข่งกับนิยาย 'เพชรพระอุมา' หรือไง?" ในที่สุดผมก็คืบและคลานช้าๆ มาถึงบทสรุปส่งท้าย (เสียที)
       
        จิตรกรรมฝาผนัง 4 รูปสุดท้ายที่เหลือ บนผนังด้านซ้ายมือขององค์พระประธาน ยังคงทิ้งปริศนาข้อสงสัยให้บรรดาผู้รู้ต้องขบคิดอีกเช่นเคยนะครับ
       
        ภาพที่ 4 เป็นเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่ 5 เมื่อพระพุทธเจ้าประทับ ณ ภายใต้ไม้อชปาลนิโครธ หรือต้นไทรอันเป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะ (ด้วยเหตุนี้ทางด้านล่างของภาพ จึงวาดรูปแพะไว้สามตัว) เหตุการณ์ตอนเดียวกันนี้ ในพระปฐมสมโพธิกถา ยังเล่าเรื่องโลดโผนเพิ่มเติมไปอีกว่า ขณะประทับอยู่ที่ใต้ต้นไทร พญามารซึ่งเฝ้าติดตามตั้งแต่ยังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทว่าไม่อาจทำร้ายพระองค์ได้สำเร็จสักครั้ง
       
        หนนี้พญามารจึงมานั่งอยู่ที่ทาง 4 แพร่ง ไม่ห่างไกลจากต้นไทรมากนัก พร้อมทั้งครุ่นคิดว่าตนเอง ได้ "ก่อการร้าย" ต่อเจ้าชายสิทธัตถะอย่างไตร่ตรองรัดกุม ปราศจากช่องโหว่ แต่ก็ "ล้มเหลวแหลก" ไปเสียทุกครั้ง
       
        แล้วก็จินตนาการสืบหาสาเหตุได้ 16 ข้อ พร้อมๆ กับขีดผืนดินเป็น 16 รอย
       
        10 ข้อแรกก็คือ พญามารมิได้บำเพ็ญทศบารมี จึงไม่อาจตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าดุจดังเจ้าชายสิทธัตถะ และมิได้ตรัสรู้ในอสาธารณญาณทั้ง 6 คือ อินทรียปโรปริยัตตญาณ, อาสยานุสยญาณ, มหากรุณาสมาบัติญาณ, ยมกปาฏิหาริยญาณ, อนาวรณญาณ, สัพพัญญุตัญญาณ
       
        ขณะเดียวกันนั้น ธิดามารทั้งสามคือ นางราคา, นางอรดี, นางตัณหา ไม่พบเห็นบิดาปรากฎในวิมาน จึงออกติดตามค้นหา และพบว่าประทับอยู่ ณ ทางสี่แพร่ง จึงทูลถามจนทราบความ และอาสาจะไปช่วยกันยั่วยวนให้พระพุทธองค์เกิดความลุ่มหลงพ่ายแพ้เสียที เพื่อจะตกอยู่ใต้อำนาจของพระยามาร
       
        ผลสุดท้ายพระพุทธเจ้าก็ใช้ธรรมะสยบขับไล่ธิดามารทั้งสาม แล้วทรงสงบอยู่เป็นปกติ
       
        ภาพ "อชปาลนิโครธ" ในจิตรกรรมฝาผนังหลายๆ แห่ง มักจะนิยมวาดเหตุการณ์ "ธิดาพญามาร" เข้าไปด้วย แต่ที่วัดเกาะฯ คงเป็นเพราะพื้นที่มีจำกัด ครูช่างจึงวาดออกมาในลักษณะเรียบง่าย พอให้ผู้ชมจับความได้ว่าเป็นเรื่องราวตอนใดเท่านั้น
       
        ถัดมาคือภาพลำดับที่ 5 บนผนัง อันนี้แหละครับ คือ ปัญหา และเป็น "ภาพที่เกินมา" ของจริง
       
        ภาพดังกล่าววาดเป็นเทพพนมสององค์ นั่งชันเข่าหันหน้าเข้าหากันใต้ร่มฉัตร ปราศจากรูปของพระพุทธเจ้า
       
        อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นตอนที่เทพยาดาเนรมิตเรือนแก้วถวายพระพุทธองค์ (ในภาพของสัปดาห์ที่ 4) และครูช่างที่วาด อาจต้องการแสดงความงดงามของภาพเทพยาดาคู่ให้เด่นชัดขึ้น จึงแยกมาเขียนเป็นการเฉพาะ
       
        กระนั้นบทความของคุณศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ก็กล่าวถึงภาพเดียวกัน โดยระบุว่า หนังสือพุทธประวัติหลายฉบับที่แต่งขึ้นในไทย ไม่เคยกล่าวถึงเทวดาผู้เนรมิตเรือนแก้วดังกล่าวเลย และได้ตั้งข้อสังเกตว่า ภาพเทพพนมที่ปรากฎ น่าจะเขียนแทรกเข้ามา เพื่อปิดช่องว่างที่เหลืออยู่ แทนภาพของสัปดาห์แรกหลังตรัสรู้ที่หายไป ภาพนี้ยัง "โดด" มาก ตรงที่ "ไม่ได้เล่าเรื่อง" ใดๆ เลย รวมทั้งวาดเทวดาทั้งสององค์ให้มีขนาดใหญ่กว่าตัวบุคคลในภาพอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
       
        ภาพที่ 6 เป็นภาพที่ผมชอบมากสุด กล่าวถึงตอนพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังต้นมุจลินทร (หรือไม้จิก) และเกิดพายุซัดกระหน่ำฝนตกต่อเนื่องเจ็ดวันเจ็ดคืนไม่ยอมหยุด พญานาคมุจลินทร์ซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียง จึงผุดขึ้นมาแผ่พังพานปกเบื้องบนพระเกศา มิให้ฝนตกต้องพระกายของพระพุทธองค์
       
        เหตุการณ์ตอนนี้นี่เอง เป็นต้นตอบ่อเกิดของพระพุทธรูปปาง "นาคปรก" (ซึ่งถือกันว่าเป็นพระประจำวันเสาร์ คนที่เกิดวันเสาร์จึงมักจะบูชาพระปางนี้ หรือถือเป็นพระประจำตัว)
       
        ภาพนี้ที่วัดเกาะฯ หากดูของจริงจะสวยมากนะครับ โดยเฉพาะตรงลำตัวพญานาคที่พันไขว้ไปมาเป็นบัลลังก์ให้พระพุทธเจ้านั่งประทับ (ส่วนใหญ่ที่ผมเคยเห็น มักจะม้วนวนตรงๆ เป็นชั้นๆ คล้ายขดเชือกธรรมดา) มิหนำซ้ำทางด้านล่างยังเขียนลายเส้นตัดเป็นริ้วคลื่นโค้งซ้อนๆ กัน มีปลาผุดโผล่ดำว่ายแทรกอยู่ ขณะที่ตอนบนข้างเศียรพญานาคทั้ง 7 ยังประดับด้วยกิ่งก้านต้นไม้แก้ปัญหาพื้นที่ว่างได้อย่างสวยงาม
       
        ภาพวาด "นาคปรก" ส่วนใหญ่ที่ผมเคยผ่านตา มักจะนิยมวาดพระพุทธเจ้านั่งประทับ และประดิดประดอยเศียรพญานาคให้วิจิตรพิสดาร แต่ไม่ค่อยจะเน้นเหตุการณ์ฝนตกน้ำท่วม ทำให้ดูแล้วไม่ทราบถึงที่มาที่ไป
       
        แต่ภาพ "นาคปรก" ที่วัดเกาะ นอกจากจะวาดสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว ยังเป็นภาพที่วาดอย่างประณีตมาก ผมเชื่อสนิทใจว่า ครูช่างที่วาดภาพนี้ เก่งและฝีมือดีกว่าท่านอื่นๆ ที่วาดในห้องเคียงข้างใกล้ๆ กัน
       
        น่าเสียดายที่ภาพจากกล้องถ่ายรูป ไม่สามารถถ่ายทอดความงามของภาพนี้ออกมาได้ตรงกับของจริง นั่นคือ ความสวยงามในการใช้สี โดยเฉพาะสีเขียวของลำตัวพญานาค ภาพจริงนั้นสดใสคมชัดสะดุดตาเหลือเกิน
       
        ภาพนี้มีขนาดไม่ใหญ่นัก เส้นและลวดลายต่างๆ จึงพลอยเล็กถี่ยิบตามไปด้วย แต่ครูช่างท่านก็เก็บรายละเอียดทุกเม็ด ชนิดแม่นยำมาก และไม่มีพลาดเลย
       
        ที่ผมชอบมากอีกอย่างก็คือ ภาพส่วนใหญ่ (บริเวณที่เล่าเรื่องพุทธประวัติ) ที่วัดเกาะ มีลักษณะโน้มเอียงไปทางภาพนิ่ง แต่ภาพ "นาคปรก" กลับมีความเคลื่อนไหวเยอะสุด ใช้เส้นโค้งต่างๆ ชักนำสายตาของผู้ชม ไล่เรียงจากจุดหนึ่งไปสู่บริเวณอื่นๆ ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
       
        ภาพสุดท้ายบนผนัง เป็นเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่ 7 เสด็จประทับ ณ ใต้ต้นราชายตนะ (ไม้เกต) พระอินทร์ได้ถวายไม้สีพระทนต์และผลสมอ จากนั้นก็มีพ่อค้าสองคนพี่น้องชื่อนายตปุสสะและนายภัลลิกะ เดินทางผ่านมาและได้ถวายข้าวสัตตู แต่ทรงไม่มีบาตรรับ ท้าวจตุโลกบาล ผู้รักษาทิศทั้งสี่ จึงเหาะลงมาถวายบาตรโดยมิได้นัดหมายกัน ทรงดำริว่าบรรพชิตไม่พึงมีบาตรมากกว่า 1 ใบ จึงอธิษฐานรวมบาตรทั้ง 4 เข้าด้วยกัน แล้วรับข้าวสัตตูนั้น
       
        ภาพนี้มีจารึกอักษรเหมือนคำบรรยายรูป ขณะที่ด้านล่างนั้นปล่อยพื้นว่างเปล่า ซึ่งค่อนข้างจะแปลกอยู่เหมือนกัน
       
        จุดน่าสนใจของภาพนี้ ตอนที่ผมดูโดยไม่ทราบเรื่องราว มองเผินๆ ก็เหมือนมีเทวดาสององค์ถวายบาตรทางซ้ายและขวา จนเมื่อมาค้นข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาเรื่องราวและย้อนกลับไปดูอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง จึงพบว่าแท้จริงแล้ว ครูช่างท่านวาดท้าวจตุโลกบาลครบจำนวนทั้งสี่องค์ โดยสององค์ที่อยู่มุมสุดซ้ายขวา เห็นแบบหลุดเฟรม
       
        ผมแจกแจงภาพบนฝาผนังด้านซ้ายและขวาขององค์พระประธาน ครบถ้วนหมดแล้วนะครับ แต่จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกาะฯ ก็ยังไม่หมดสิ้นเพียงเท่านี้ เหนือขึ้นไปติดเพดาน มีภาพนักสิทธิ์ วิทยาธร คนธรรพ์ เหาะเหินเดินอากาศเต็มไปหมด และเป็นภาพขนาดใหญ่ (เข้าใจว่า เนื่องจากวาดเอาไว้ในที่สูง ค่อนข้างไกลตา จึงต้องเน้นให้มีขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้ชมมองเห็นถนัด)
       
        บรรดาบุคคลเหล่านี้ ผมขอเรียกรวมๆ กันว่า วิทยาธร(แปลตามศัพท์ได้ว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งวิชา)
       
        โบราณจารย์บางท่านกล่าวไว้ว่า วิทยาธรเป็นเทวดาชั้นต่ำ อยู่ระหว่างเทวโลกกับมนุษยโลก นัยว่าเป็นผู้มีน้ำใจดี (แต่บางแหล่งข้อมูลระบุว่าที่ "ร้าย" ก็มีเหมือนกัน)
       
        ส่วนใหญ่แล้วภาพวิทยาธรมักจะปรากฎให้เห็นในภาพ "เทพชุมนุม" อยู่แถวบนสุด เหนือเส้นหยักสินเทา เพื่อสะท้อนถึงความเป็นพวก "นอกรีต" (แต่ก็ยังมีศรัทธาในพระพุทธเจ้า จนร่วมเข้าเฝ้าแสดงความยินดีต่อการตรัสรู้ของพระองค์)
       
        นักสิทธิ์ วิทยาธร ส่วนใหญ่มักจะวาดเป็นหน้ายักษ์ ฤาษี หรือหน้าคนตามปกติ แต่ที่วัดเกาะพิเศษตรงที่วาดเป็นชาวต่างชาติแบบนานาชาติ (มีทั้งแขก ฝรั่ง จีน ฯลฯ และอีกหลายสัญชาติเต็มไปหมด) แปลกพิเศษกว่าจิตรกรรมฝาผนังที่อื่นๆ
       
        ภาพของชาวต่างชาติในจิตรกรรมฝาผนังไทย มีปรากฎให้เห็นอยู่แทบทุกแห่ง แต่ก็ไม่น่าจะมีที่ไหนคับคั่งหนาแน่นเยอะแยะและหลากหลายเทียบเท่ากับที่วัดเกาะฯ อีกแล้วนะครับ
       
        เยอะถึงขนาดสามารถเขียนวิทยานิพนธ์หัวข้อนี้โดยตรงได้เลย (และมีคนหยิบจับประเด็นนี้มาทำแล้วจริงๆ)
       
        นอกจากความแปลกในแง่เชื้อชาติแล้ว วิทยาธรที่วัดเกาะฯ ยังวาดในท่วงท่าเหาะเหินที่โลดโผนไม่ซ้ำกันเลย และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ภาพส่วนใหญ่ที่แลดูนิ่ง เกิดความเคลื่อนไหวขึ้นมาถ่วงดุลย์กัน
       
        ยังมีภาพสำคัญอีก 4 ภาพ อยู่ทางตอนบนมุมสุดของผนังด้านหน้าและหลังของโบสถ์
       
        ทางด้านหน้า มุมขวาบนเป็นภาพพุทธประวัติตอนเทวทูตทั้งสี่ (ซึ่งผมยังค้นข้อมูลไม่เจอว่ามีรายละเอียดเช่นไร) ภาพนี้เด่นตรงที่การสอดแทรกรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ลักษณะกำแพงเมือง การเดินทางของขุนนาง และการสัญจรพายเรือไปมาตามลำน้ำ
       
        มุมซ้ายบนสุดของด้านหน้า เป็นภาพพุทธประวัติตอนโทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
       
        ภาพนี้เด่นมากตรงรายละเอียดเกี่ยวกับงานฉลองพระบรมธาตุ ซึ่งมีมหาสพและการละเล่นแบบโบราณเยอะแยะมากมาย เช่น ญวนหก, ไม้สูง ฯลฯ
       
        ส่วนบริเวณเดียวกันบนผนังด้านหลังองค์พระประธาน เป็นภาพรอยพระพุทธบาทสองรอย
       
        ถึงตรงนี้ ผมก็นึกเพิ่มเติมได้อีกว่า โบสถ์ที่วัดเกาะฯ มีขนาดเล็กประมาณเท่าห้องแถวปกติที่เราพำนักอาศัย แต่กลับมีการวาดภาพต่างๆ เอาไว้เยอะแยะมากมาย และใช้สอยเนื้อที่ทุกตารางนิ้วอย่างคุ้มค่า
       
        ประการสำคัญคือ บรรยากาศอันพิเศษไม่มีที่ไหนเหมือน ช่องทางแหล่งแสงในโบสถ์มีจำกัด ปราศจากหน้าต่าง ทำให้กลายเป็นห้องแสดงงานศิลปะที่คลาสสิกอย่างยิ่ง พลันที่เข้าไปก็เหมือนย้อนยุคหมุนเข็มเวลาถอยหลังกลับสู่อดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน
       
        เป็นสถานจิตรกรรมฝาผนังแห่งหนึ่ง ซึ่งผมได้ไปเยือนแล้วก็หลงใหลประทับใจมาก และสามารถไปดูซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ไม่รู้เบื่อ
       
        ผมอยากทิ้งท้ายไว้ว่า ท่านใดก็ตาม ที่มีแผนจะไปชมจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกาะฯ เมื่อดื่มด่ำชื่นชมภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านต่างๆ จนอิ่มเอมใจแล้ว
       
        อย่าลืมแหงนหน้ามองขึ้นไปที่เพดานนะครับ ตรงนั้นมีภาพเขียนบนแผ่นไม้ที่ไม่ควรพลาดชม
       
        สวยแค่ไหนและเป็นรูปอะไรนั้น ขอรบกวนทุกท่านเดินทางไปดูของจริงด้วยตนเองเป็นขวัญตา
       
        จะตำหนิว่าผมจบแบบหักมุมใจร้ายก็ยอมรับล่ะครับ

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9520000049842

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น