| วันที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11375 มติชนรายวัน
ทางออกจากวิกฤต: ทางเลือกที่เราเลือกได้
คอลัมน์ จิตวิวัฒน์
โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน www.thaissf.org, http://twitter.com/jitwiwat แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
การเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า ขอเพียงอย่ายึดติด
การพยายามหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นช่วยให้เราเข้าใจ ความเป็นมาของปัญหา ยิ่งสามารถหาสาเหตุได้ครบถ้วนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสเข้าใจปัญหาได้มากขึ้น หากไม่ขาดสติและรู้เท่าทันว่าสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง และสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง
เราต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของเราในการเข้าถึงสาเหตุทั้งหมดของปัญหา ต้องตระหนักถึงการรับรู้และการตีความของเราว่ามันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเรา (ซึ่งอาจไม่เหมือนคนอื่น) และขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับว่าถูกต้อง เป็นจริง ครบถ้วนหรือไม่
กรุณาหยุดพิจารณาด้วยใจอย่างใคร่ครวญกับข้อความที่กล่าวไว้สักครู่...
กรุณาอย่ารีบด่วนสรุปว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ช่วยห้อยแขวนการตัดสินใจไว้สักพัก...
โปรดอ่าน (ในใจ) ข้อความต่อไปนี้ อีกครั้งหนึ่ง แล้วกรุณาฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ฟังด้วยใจอย่างใคร่ครวญ อย่างมีสติ
การเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า ขอเพียงอย่ายึดติด
การพยายามหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นช่วยให้เราเข้าใจ ความเป็นมาของปัญหา ยิ่งสามารถหาสาเหตุได้ครบถ้วนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสเข้าใจปัญหาได้มากขึ้น หากไม่ขาดสติและรู้เท่าทันว่าสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง และสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง
เราต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของเราในการเข้าถึงสาเหตุทั้งหมดของปัญหา ต้องตระหนักถึงการรับรู้และการตีความของเราว่ามันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเรา (ซึ่งอาจไม่เหมือนคนอื่น) และขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับว่าถูกต้อง เป็นจริง ครบถ้วนหรือไม่
เราควรเปลี่ยนวิธีคิดของเราในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นดีหรือไม่ เพราะมีผู้รู้เตือนสติว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบเดิมที่ทำให้ปัญหานั้นเกิด...
โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง...
เราควรเปลี่ยนวิธีคิดของเราในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นดีหรือไม่ เพราะมีผู้รู้เตือนสติว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบเดิมที่ทำให้ปัญหานั้นเกิด...
กรุณาหยุดพิจารณาด้วยใจอย่างใคร่ครวญกับข้อความที่กล่าวไว้สักครู่...
กรุณาอย่ารีบด่วนสรุปว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ช่วยห้อยแขวนการตัดสินใจไว้สักพัก...
นักจิตวิทยาบอกว่า การรับรู้ (Perception) และการตีความ (Interpretation) ของมนุษย์ จะถูกต้องหรือบิดเบือนไป ขึ้นอยู่กับตัวการที่สำคัญอย่างน้อยสองประการคือ ประสบการณ์เดิมของแต่ละคนซึ่งอาจจะไม่เหมือนกัน และข้อมูลที่ได้รับและข้อมูลใหม่ ที่สำคัญการรับรู้ของมนุษย์มีลักษณะพิเศษคือ เป็นกระบวนการใส่ใจและเลือกสรร (Attentive and Selective Process) เพราะฉะนั้น เราจึงต้องตระหนัก และรู้เท่าทันธรรมชาติของการรับรู้ของมนุษย์ทั้งสองประการดังกล่าว เพื่อจะได้ไม่ติดกับ กับการรับรู้และการตีความของตนเองแบบถอนตัวไม่ออก เพื่อจะได้รับฟังการรับรู้และการตีความของคนอื่นอย่างมีสติ ด้วยการห้อยแขวนการตัดสิน (Judgment Suspension)
เราควรเปลี่ยนคำถามในลักษณะ ...Where are you? คุณอยู่ (หายไป) ไหน (เน้นอดีต) และ Are you OK? คุณสบายดีหรือ (เน้นปัจจุบัน) มาเป็น Where should WE go? เราจะไปที่ไหนกันดี (เน้นปัจจุบันสู่อนาคตร่วมกัน) จะดีกว่าไหม
เรามารวมหัว ร่วมมือ ร่วมใจกันสร้างและพัฒนาอนาคตที่พึงประสงค์ร่วมกัน ไม่ดีกว่าหรือ
การตั้งคำถามที่ถูกต้อง ที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์สุขร่วมกัน น่าจะมีคุณค่ามากกว่าการพยายามหาคำตอบต่อคำถามที่ผิดๆ ไม่ใช่หรือ
อย่ารีบด่วนหาคำตอบสุดท้ายให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ควรหันหน้ามาช่วยกันตั้งคำถามที่ถูกต้อง ที่ดีงาม และเป็นประโยชน์สุขให้กับคนไทย และประเทศชาติโดยรวม ไม่ดีกว่าหรือ
หยุดพิจารณาด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เพื่อทำความเข้าใจวิกฤตการณ์หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยการพยายามเข้าถึงความแตกต่างทางความคิด และความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ปัญหาอย่างเป็นองค์รวม ด้วยการฟังซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง ฟังอย่างลึกซึ้ง ไม่รีบด่วนตัดสิน ไม่ตอบโต้ ไม่โต้แย้ง ฟังอย่างไม่ตัดสิน ฟังด้วยความเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ฟังเพื่อเข้าใจ เพื่อจะได้ร่วมกันพัฒนาทางเลือกที่ดีที่งาม เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ
เพราะมิฉะนั้น เราจะติดกับอยู่กับการรับรู้และการตีความของเราและของพวกเราอย่างขาดสติ ลองทบทวนและสังเกตดูสิครับ ทุกครั้งที่มีวิกฤต มีความขัดแย้งเกิดขึ้น คู่กรณีต่างเลือกรับรู้และตีความหรืออ้างว่าอีกฝ่ายผิด หรืออย่างน้อยก็มีเจตนาที่ไม่ดีกับฝ่ายของตัว ฝ่ายตัวถูกต้อง มีความชอบธรรม อีกฝ่ายผิด ไม่มีความชอบธรรม... ลองทบทวนใคร่ครวญดู
เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และ รู้รักสามัคคี เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติ ที่พ่อหลวงของปวงชาวไทย ได้พระราชทานให้เป็นแนวทาง ที่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าควรรับใส่เกล้านำไปปฏิบัติ
ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ที่มีประสบการณ์ในการทำวิจัยและขับเคลื่อนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวม โดยเฉพาะสุขภาวะด้านปัญญา (จิตวิญญาณ) เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ เป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนเรื่องจิตตปัญญาศึกษาในระบบการศึกษา เป็นวิทยากร และกระบวนกรเรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) การบริหารความขัดแย้ง การพัฒนาบุคลากร...ด้วยเจตนาบริสุทธิ์และปรารถนาดีต่อประเทศชาติ ผมจึงขออาสาทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์และพัฒนาความสามัคคีปรองดองและความสันติสุขให้กับประเทศชาติ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่นบทความนี้ และขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกคนช่วยกันเสนอทางเลือกที่เป็นทางออกที่ดี ที่งาม ที่เป็นประโยชน์สุขกับประชาชนทั่วไปและประเทศชาติโดยรวม โดยไม่จำแนกเพศ เชื้อชาติ ศาสนา สีผิวหรือสีเสื้อด้วยครับ
มาช่วยกันสร้างเหตุของความสุข ความสำเร็จ ความดี ความงามให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ดีกว่าการพยายามหาเหตุของความล้มเหลว/ปัญหาที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว
เราควรให้เวลากับการสร้างอนาคตร่วมกัน มากกว่าการติดกับอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่หรือ
อดีต/ประสบการณ์เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นบทเรียนที่ควรมีการทบทวนสะท้อนคิด (Reflection) หรือควรมีการทบทวนเพื่อถอดบทเรียน (After Action Review) เป็นระยะๆ เพื่อเรียนรู้ แต่อย่ายึดติด
ทางออกจากวิกฤตที่เป็นทางเลือกหนึ่งที่เราเลือกได้ คือการหันหน้ามาพูดคุยกัน ให้เวลากับการสร้างอนาคตที่พึงประสงค์ร่วมกัน มากกว่าการพยายามหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต
ที่ผิดก็ผิดไปแล้ว ก็ให้เป็นไปตามครรลองของกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายของประเทศ
การให้โอกาสแก่กันและกันในการร่วมคิดและทำสิ่งที่ดีงามให้กับตนเอง ผู้อื่น และประเทศชาติ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลที่มนุษย์สามารถจะมอบให้กันได้
มนุษย์ผิดพลาดได้ แต่ก็ต้องการโอกาสใหม่ที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง ดีงามเสมอ
มนุษย์เรียนรู้และพัฒนาได้ ถ้าได้รับโอกาส และให้โอกาสตนเอง
กรุณาหยุดพิจารณาด้วยใจอย่างใคร่ครวญกับข้อความที่กล่าวไว้สักครู่...
กรุณาอย่ารีบด่วนสรุปว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ช่วยห้อยแขวนการตัดสินใจไว้สักพัก...
กรุณาพิจารณาบทความนี้ทั้งหมดด้วยใจอย่างใคร่ครวญ อีกสักครั้ง...ขอบคุณครับ
หน้า 9
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น