วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เวลา 23:09:39 น. มติชนออนไลน์ พลิกปูมหลัง-เปิดคะแนน 7 กรรมการสิทธิมนุษยชนชุดใหม่ ที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม มี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ลงคะแนนด้วยวิธีลับ เห็นชอบให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จำนวน 7 คน เป็น กสม. ได้แก่ 1.ศ.อมรา พงศาพิชญ์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นชอบ 131 เสียง ไม่ลงคะแนน 6 เสียง 2.นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เห็นชอบ 128 ต่อ 2 คะแนน ไม่ลงคะแนน 7 เสียง 3.นางวิสา เบ็ญจะมโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เห็นชอบ 126 ต่อ 6 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง 4.นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 123 ต่อ 6 เสียง ไม่ลงคะแนน 9 เสียง 5.พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เห็นชอบ 122 ต่อ 6 เสียง ไม่ลงคะแนน 9 เสียง 6.นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี และประธานมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต เห็นชอบ 109 ต่อ 20 เสียง ไม่ลงคะแนน 8 เสียง 7.นายปริญญา ศิริสารการ อดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.นครราชสีมา เห็นชอบ 76 ต่อ 42 เสียง ไม่ลงคะแนน 18 เสียง ที่ประชุมถกเถียงกันมากถึงคุณสมบัติของนายปริญญา เนื่องจาก กมธ.ตรวจประวัติฯได้รับข้อมูลร้องเรียนจาก กสม.ชุดปัจจุบันว่า เคยมีกรณีพิพาทกับชุมชนเกี่ยวกับการทำเหมืองเกลือ ส.ว.สายเอ็นจีโอยังติดใจและอภิปรายคัดค้านการให้ความเห็นชอบเพราะเห็นว่ามีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนโดยตรง ทำให้ผลการลงคะแนน นายปริญญา ได้คะแนนเสียงไม่เห็นชอบมากกว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อคนอื่นๆ อย่างไรก็ดี นายปริญญาได้แรงสนับสนุนจาก ส.ว.บางคนที่เคยเป็นอดีต ส.ส.ร. 50 ทำให้มีคะแนนเพียงพอที่ได้รับการรับรองเป็น กสม. สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ผู้ได้รับการรับรองจากวุฒิสภา จะประชุมกันเพื่อเลือกประธาน แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ จากนั้นประธานวุฒิสภาจะนำรายชื่อกราบบังคมทูลเพื่อทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป โดยขอนำประวัติของ กสม.ใหม่ 7 คน มานำเสนอโดยเรียงตามลำดับคะแนนเห็นชอบจากมากสุดไปหาน้อยสุด ดังนี้ ศ.อมรา พงศาพิชญ์
เกิดวันที่ 3 พฤศจิกายน 2488 การศึกษา B.A.(Anthropology) University of California, Davis, California พ.ศ.2510 M.A. (Anthropology) University of Washington, Seattle, Washington พ.ศ.2512 Ph.D.(Anthropology) University of Washington, Seattle, Washington พ.ศ.2517 อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2536-2539 อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2540-2545 อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545-2549 ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.แท้จริง ศิริพานิช
เกิดวันที่ 29 มิถุนายน 2496 การศึกษา แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัย Southwestern University สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ พ.ศ.2523 การจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ.2550 อดีตจักษุแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี ปี 2525-2535 อดีตผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2535-2545 ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากลุ่มงานควบคุมป้องกันการบาดเจ็บ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ริเริ่มโครงการเมาไม่ขับ วิสา เบ็ญจะมะโน
เกิดวันที่ 23 พฤษภาคม 2490 การศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2513 พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต ทางพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ.2539 อดีตผู้อำนวยการกองเด็กและบุคคลวัยรุ่น อดีตผู้ตรวจราชการ กรมประชาสงเคราะห์ ปี 2542-2545 อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ อดีตผู้ตรวจราชการและหัวหน้าผู้ตรวจราชการ และโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2544-2550 ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์
เกิดวันที่ 21 มิถุนายน 2499 การศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2520 นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การเมือง การปกครอง) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2548 ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน พ.ศ.2545 อดีตผู้อำนวยการกองกรรมาธิการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปี 2535-2542 รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2542-2547 อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ปัจจุบันเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด
เกิดวันที่ 14 มีนาคม 2492 การศึกษารัฐศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ.2516 สังคมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2523 นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2526 เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2527 นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2532 อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ระหว่างปี 2540-2542 รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ปี 2542-2545 ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2545-2547 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปี 2547-2551 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา สบ10 หัวหน้าที่ปรึกษาด้านความมั่นคงเทียบเท่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
เกิดวันที่ 20 ตุลาคม 2494 การศึกษา แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2520 วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สาขาอายุรศาสตร์ พ.ศ.2525 อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ปี 2521-2523 อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประจำสถาบันราชภัฏสงขลา ปี 2545-2548 อดีต ส.ว.อุบลราชธานี ปี 2543-2549 ปริญญา ศิริสารการ
เกิดวันที่ 23 กรกฎาคม 2494 การศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2518 วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2539 พฤติกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต Newport University (USA) พ.ศ.2548 อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2551 ปัจจุบันเป็นกรรมการ (กต.ตร.) สถานีตำรวจภูธรอำเภอโนนไทย จ.นครราชสีมา ----------------------- อำนาจหน้าที่ กสม. ------------------------ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 257 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป (2) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วย รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (3) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มี ผู้ร้องเรียนว่า กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหา เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (4) ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย เมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ (5) เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และกฎ ต่อรัฐสภา หรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (6) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน (7) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน (8) จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ และเสนอต่อรัฐสภา (9) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง จากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ รวมทั้งมีอำนาจอื่นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ |
บ้านอนุรักษ์ธรรมชาติ
-
แม้ว่าสภาวะโลกร้อนจะเป็นวิกฤตการณ์ที่ทวีความร้ายแรงขึ้นทุกวัน
แต่เราทุกคนสามารถช่วยเหลือโลก เพื่อประหยัดพลังงานได้อย่างง่าย ๆ
ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แล...
17 ปีที่ผ่านมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น