| วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11383 มติชนรายวัน
ย้อนตำนาน พคท. ปลุกผีคอมมิวนิสต์ยุค 2009
คอลัมน์ ที่สุด
ภายหลังแกนนำคนเสื้อแดงประกาศ "พักยก" หลัง "รบแพ้" ในจรยุทธ์รบกลางเมืองเมื่อเดือนเมษายน ผู้เฝ้ามองปรากฏการณ์นี้อย่างต่อเนื่องเห็นตรงกันว่า การถอยของแกนนำคนเสื้อแดงเป็นการ "ถอยชั่วคราว"
ถือเป็นการถอยที่สอดคล้องกับกระแสข่าวการเปลี่ยนยุทธวิธีจากเดินเกม "บนดิน" เป็นการ "มุดลงดิน" โดยเปลี่ยนพื้นที่ยุทธศาสตร์จาก "เมือง" เป็น "ชนบท" แล้วพลิกฟื้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพื่อเป็นจุดเกาะเกี่ยวในการโค่นล้มระบอบอมาตยาธิปไตย ซึ่งมีคนเดือนตุลาฯ ที่เป็นแกนนำพรรคไทยรักไทยผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยร่วมรบกับ พคท.เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันใน "นปช.รุ่นใหม่"
แม้ว่าข่าวลือนี้จะเป็นจริงมากน้อยเพียงใด แต่ความเป็นจริงแล้วพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ไม่เคยจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายมาก่อน แต่ก่อกำเนิดในเชิงกระบวนการและมีการเคลื่อนไหวจัดตั้งมวลชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีสหายโฮจิมินห์ ชาวเวียดนามที่ใช้นามแฝงว่า "สหายซุง" เป็นผู้ก่อตั้งผ่านการประชุมลับที่โรงแรมตุ้นกี่ (หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2473 มี "นายโงจิ๊งก๊วก" เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2485 จึงมีการประชุมสมัชชาพรรค เป็นครั้งแรก ที่ จ.นครสวรรค์ และมีสมาชิกก่อตั้งจำนวน 57 คน  เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์
|
หลังจากนั้น พคท.อาศัยปัจจัยที่ประชาชนในพื้นที่ชนบทถูกกดขี่จากอำนาจรัฐเป็นฐานในการขยายแนวร่วม รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้ใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 17 ดำเนินการปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู มีการบุกจับตรวจค้นอย่างไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ซึ่งถือเป็นการตอกลิ่มผลักให้ประชาชนเข้าเป็นแนวร่วม พคท.มากขึ้น
เมื่อจอมพลสฤษดิ์สิ้นอำนาจเมื่อปี 2506 กระบวนการกดขี่ประชาชนยังคงดำรงอยู่ พคท.จึงถือเหตุการณ์วันที่ 7 สิงหาคม 2508 เป็น "วันเสียงปืนแตก" เพราะถือเป็นวันที่ประชาชนจับอาวุธขึ้นสู้โจมตีกองกำลังของรัฐบาลเป็นครั้งแรกภายใต้ "กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.)" ที่บ้านนาบัว ต.เรณูนคร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
หลังจากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ขยายฐานแนวร่วมและเปิดประตูต้อนรับนักคิด นักศึกษา ปัญญาชนหัวก้าวหน้าเป็นแนวร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะก่อนและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาจำนวนไม่น้อยถูกผลักให้เข้าป่าเพื่อจับอาวุธขึ้นสู้ร่วมกับ พคท. ในจำนวนนั้นมี "ไขแสง สุกใส" "ทองปักษ์ เพียงเกษ" "ธีรยุทธ บุญมี" "ชัยวัฒน์ สุรวิชัย" "วิสา คัญทัพ" "เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์" "ภูมิธรรม เวชชยชัย" "ประสาร มฤคพิทักษ์" "สมาน เลิศวงศ์รัตน์" "จรัล ดิษฐาภิชัย" "นพ.เหวง โตจิราการ" รวมทั้งแกนนำนักศึกษาที่มีบทบาทในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อีกมากที่เดินหน้าสู่ป่าเขาเพื่อประกาศตัวสู้กับอำนาจรัฐร่วมกับ พคท.
ภายหลังเหตุการณ์สงบลงรัฐบาล "พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์" พยายามออกนโยบายให้นักศึกษากลับเมือง แต่ไม่สำเร็จ กระทั่ง "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" เป็นนายกรัฐมนตรี จึงออกนโยบาย 66/2523 และสามารถดึงนักศึกษาปัญญาชนกลับเมืองได้เป็นผลสำเร็จ
ปัจจุบัน พคท.ยังคงมีผู้สืบทอดแนวคิดแต่ไม่เป็นรูปธรรมนัก เนื่องจากแนวร่วมแตกกระสานซ่านเซ็นอยู่ในพื้นที่ต่างๆ อย่างหลวมๆ และเมื่อนักศึกษา ปัญญาชน กลับสู่เมืองต่างก็แยกย้ายเดินตามแนวทางของตัวเองและทิ้งพรรคไว้เป็นความทรงจำวันวาน
โดย "เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์" หรือ "สหายสัก" อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เดินหน้าสู่ป่าในแนวรบเขต A30 พื้นที่แขวงหลวงน้ำทา ฝั่งลาว ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพียงไม่นาน โดยเขาใช้เวลากว่า 6 ปีอยู่แนวหลัง ซึ่งภายหลังกลับสู่เมืองเขาเป็นหนึ่งที่ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และภายหลังเหตุการณ์เสื้อแดงสงบลงก็ถูกพาดพิงว่าเป็นผู้ร่วมปลุกกระแสคอมมิวนิสต์ร่วมกับเพื่อนเดือนตุลาฯ แต่เขากลับกล่าววิเคราะห์มองว่า แนวคิดของคอมมิวนิสต์ไม่สามารถอยู่คู่กับโลกยุคปัจจุบันได้ การฟื้นแนวคิดของ พคท.จึงเป็นเรื่องของคนแก่ที่โหยหาอดีต ซึ่งถือเป็นการโหยหาแบบหลงยุค เพราะ พคท.มันจบไปตั้งนานแล้ว ไม่มีทางจะฟื้นขึ้นมาได้
"วันนี้ลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ภัยคุกคามโลกอีกต่อไป ภัยคุกคามโลกแบบใหม่เป็นภัยที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษหรือวิกฤตโลกร้อน (Global Warming) ดังนั้น การจะท่องคาถาเพื่อปลุกผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมาจึงเป็นเรื่องล้าหลังมาก" เขากล่าวด้วยเสียงมั่นอกมั่นใจ
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ "เกรียงกมล" มองว่ารัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงสามารถทำให้แนวคิดนี้หายไปคือ การให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยไม่มีกระบวนการสองมาตรฐาน
แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
หน้า 11 http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pol01100552§ionid=0133&day=2009-05-10 | | | |
Windows Live™: Keep your life in sync.
Check it out.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น