วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

คลองคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตก เหลือฐานะแค่ " ท่อระบายน้ำ "


 

คลองคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตก เหลือฐานะแค่ “ ท่อระบายน้ำ ”

ภาณุพงษ์ ไชยคง

แผนที่คลองคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตก

“ กรุงธนบุรียังไม่มีกำแพงเป็นที่มั่น จะได้ป้องกันราชศัตรูหมู่ปัจจามิตร ยังหาเป็นภูมิราชธานีไม่ ... ให้เกณฑ์ไพร่พลในกรุง พลหัวเมือง มาระดมกันทำค่ายฟากตะวันตก ตั้งแต่มุมกำแพงเมืองเก่าที่ตั้งเป็นพระราชวัง แล้วให้ขุดคลองหลังเมือง แต่คลองบางกอกน้อยมาออกคลองบางกอกใหญ่ เอามูลดินขึ้นถมเป็นเชิงเทินข้างในทั้งสามด้าน ”

จากข้อความใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อครั้งทรงพัฒนาเมืองธนบุรีให้เหมาะต่อการเป็นที่มั่นอันแข็งแรงปลอดภัย สมกับการเป็นราชธานีแห่งใหม่ต่อจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการดำเนินการครั้งนั้นเกิดขึ้นในปี พ . ศ . ๒๓๑๔ โดยเริ่มจากการสร้างกำแพงและขุดคลองเป็นแนวเขตจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณริมคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของเมืองธนบุรีที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ขึ้นไปจนถึงบริเวณคลองบางกอกน้อย แล้วข้ามไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ทำให้กรุงธนบุรีกลายเป็น “ เมืองอกแตก ” ที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมืองดังที่รับรู้กัน

จนถึงวันนี้ล่วงเลยมาถึง ๒๓๘ ปี แม้ว่าแนวกำแพงกรุงธนบุรีจะไม่หลงเหลือสภาพให้พบเห็นอีก แต่ร่องรอยของแนวกำแพงเก่ากลับถูกขุดพบใกล้กับอนุสาวรีย์หมู ริมคลองหลอดหรือคลองคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันออก ที่ปัจจุบันถูกเรียกขานว่า “ คลองคูเมืองเดิม ” ซึ่งมีความยาวตั้งแต่ปากคลองโรงไหม ใต้สะพานพระปิ่นเกล้าทางทิศเหนือ ไปจนถึงทางออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด ทางทิศใต้ คลองดังกล่าวได้กลายเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างพื้นที่ชั้นในกับชั้นนอกของกรุงรัตนโกสินทร์ ตามนโยบายการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ของทางราชการหลังปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ทำให้คลองสายนี้ได้รับการอนุรักษ์ให้คงสภาพความเป็นคลองคูเมืองอย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน

ถ้าเป็นเช่นนั้น คลองคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตกอยู่ที่ไหน ? และมีสภาพเป็นอย่างไรในปัจจุบัน ?

แกะรอยตามสายน้ำ คลองคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตก

ด้วยเหตุนี้การตามรอยคลองคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตกจึงเกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากริมคลองบางกอกใหญ่ ณ จุดที่พงศาวดารกล่าวไว้ว่า เคยเป็นมุมกำแพงเมืองเก่า มีมาก่อนการสร้างกรุงธนบุรี บริเวณนี้ปัจจุบันก็คือพื้นที่หลังป้อมวิชัยประสิทธิ์ลงมาถึงบริเวณเชิงสะพานอนุทินสวัสดิ์ ซึ่งหากสังเกตให้ดีจะพบว่าใต้สะพานแห่งนี้มีช่องให้น้ำไหลออกได้เล็กน้อย

จากแนวถนนกลับรถใต้สะพานอนุทินสวัสดิ์ไปยังถนนอรุณอมรินทร์ ตรงจุดนี้เองคือปากคลองคูเมืองธนบุรีที่เชื่อมกับคลองบางกอกใหญ่ และเมื่อหันหน้าเข้าหาแนวปากคลองจะพบว่า ด้านซ้ายมือเป็นมัสยิดต้นสน ส่วนขวามือเป็นวัดโมลีโลกยารามหรือวัดท้ายตลาด ซึ่งมีอายุเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งคู่ โดยเฉพาะวัดท้ายตลาดสมัยกรุงธนบุรีได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชฐานด้านทิศใต้ ริมคลองบางกอกใหญ่ แนวคลองคูเมืองช่วงนี้จึงเรียกสืบต่อกันมาว่า “ คลองวัดท้ายตลาด ” หรือ “ คลองวัดโมลีโลกย์ ” และเมื่อเดินเลาะไปตามลำคลองสายนี้ซึ่งมีสภาพเหมือนคูน้ำคอนกรีตจากใต้สะพานถึงบริเวณริมถนนเชิงสะพานจะพบว่า มีการสร้างคานคอนกรีตขวางคลองเป็นระยะ ๆ และทั้งสองฟากของลำคลองมีบ้านเรือนประชาชนตั้งหันหลังเป็นแนวยาวให้กับลำคลอง จนถึงบริเวณถนนหน้าวัดอรุณราชวราราม จะพบแนวตัดของคลองคูเมืองกับคลองนครบาล ที่ทำประตูน้ำกั้นไว้ คลองนครบาลนี้ชาวบ้านบริเวณนั้นมักเรียกว่าว่า คลองวัดอรุณหรือคลองวัดแจ้ง ซึ่งในสมัยกรุงธนบุรีมีสภาพเป็นคูพระราชวังทางทิศเหนือที่เชื่อมไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาได้

ปากทางออกคลองคูเมืองที่คลองบางกอกใหญ่และสภาพคานคอนกรีตขวางลำคลอง

เมื่อเลยจากจุดนี้ไป แนวของคลองคูเมืองลอดใต้ถนนอรุณอมรินทร์เลียบไปหลังแนวบ้านเรือนของประชาชน สภาพคลองนั้นไม่ต่างไปจากบริเวณที่เพิ่งผ่านมา เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรียกจากคลองวัดท้ายตลาด เป็น “ คลองบ้านหม้อ ” เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวมอญมาแต่สมัยอยุธยา และชื่อบ้านหม้อนี้น่าจะเกิดจากการเป็นย่านทำหม้อดินเผาของชาวมอญที่มาตั้งรกรากอยู่ใกล้กับคลองมอญ ซึ่งเป็นคลองสายใหญ่ที่ถูกตัดผ่านแนวคลองบ้านหม้อเข้ามาจากแม่น้ำเจ้าพระยา สันนิษฐานว่าจะน่าเกิดขึ้นหลังการขุดคลองลัดบางกอกแล้ว ตรงบริเวณปากคลองบ้านหม้อไปออกคลองมอญด้านซ้ายมือเป็นที่ตั้งของวัดนาคกลาง และขวามือคือวัดเครือวัลย์ ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา

หากข้ามสะพานตรงคลองมอญไปแล้ว จะพบแนวคลองคูเมืองที่ตัดทะลุมาจากบ้านหม้อผ่านคลองมอญ ซึ่งคลองฝั่งนี้มีชื่อเรียกว่า “ คลองบ้านขมิ้น ” เป็นแนวเลียบหลังบ้านเรือนประชาชนตั้งแต่ตรอกมะตูมผ่านหน้าวัดพระยาทำวรวิหาร ซึ่งเดิมชื่อวัดนาค สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย และถัดขึ้นมาเป็นย่านชุมชนทำขมิ้นและดินสอพอง อันเป็นที่มาของชื่อเรียกคลองนี้ ย่านดังกล่าวมีชาวจีนอาศัยอยู่มาก เห็นได้จากศาลเจ้าพ่อบ้านขมิ้นที่ตั้งทำมุมระหว่างแนวคลองคูเมืองด้านหลังกับคลองวัดระฆังที่ตัดเข้ามาจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านซ้ายมือของศาลเจ้า

ลุงโลม ชายชราวัย ๗๐ กว่าปี ผู้ดูแลศาลเจ้าพ่อบ้านขมิ้นเล่าถึงประวัติของแนวคลองคูเมืองในบริเวณนี้ว่า “ ตรงถนนหน้าศาลเจ้าเป็นแนวกำแพงเมือง เคยมีการขุดเจออิฐเก่า ” นอกจากนี้ลุงโลมยังเล่าถึงวิถีชีวิตเมื่อก่อนที่ยังมีการใช้เรือเดินทางในลำคลองและแม่น้ำเจ้าพระยาว่า “ แต่ก่อนเวลาเดินทางใช้เรือหมด ขึ้นล่องไปออกคลองมอญได้ ขึ้นไปได้ถึงวัดวิเศษฯ แต่พอมีประตูน้ำ เรือหางยาวก็เข้าไม่ได้แล้ว ”

สภาพปัจจุบันเป็นดังที่ลุงโลมเล่า ด้วยมีประตูน้ำกั้นเรือที่จะเข้ามาจากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองวัดระฆัง ส่วนคลองบ้านขมิ้นด้านหลังศาลเจ้านั้นมีสภาพตื้นเขิน ต้นไม้ขึ้นรกทึบเป็นบางช่วง แม้จะล่องเรือไปได้ แต่ก็ติดคานคอนกรีตตามคลองที่ผ่านมาอยู่ดี จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเรือสัญจรเข้าออกในคลองนี้ได้อีกแล้ว

ศาลเจ้าพ่อขมิ้นและประตูน้ำปากคลองวัดระฆัง

เมื่อข้ามถนนตรงศาลเจ้าพ่อบ้านขมิ้น ใต้แนวถนนเส้นนี้เป็นคลองวัดระฆังที่มีแนวคลองคูเมืองตัดผ่าน ซึ่งชาวบ้านเรียกคลองคูเมืองบริเวณนี้ว่า “ คลองบ้านช่างหล่อ ” เพราะแนวคลองตัดผ่านย่านหล่อพระพุทธรูป ซึ่งเหนือแนวคลองหน้าวัดวิเศษการมีสะพานปูนข้ามคลอง หากสังเกตราวสะพานจะพบตัวอักษรระบุชื่อผู้สร้างไว้ว่า “ นายอู๊ด ช่างหล่อ ยี่ห้อฮั้วอัน สร้าง พ.ศ. ๒๔๖๕ ” ข้างสะพานมีซอยบ้านช่างหล่อ บ่งบอกว่าย่านนี้เคยเป็นแหล่งหล่อพระพุทธรูป แม้ปัจจุบันจะไม่มีการหล่อพระเหมือนในอดีต แต่ยังคงหลงเหลือบ้านช่างรับงานอยู่ประปราย

สภาพคลองที่ถูกรุกล้ำและตื้นเขินกลายเป็นท่อระบายน้ำออกสู่คลองบางกอกน้อย

สภาพคลองคูเมืองตั้งแต่บริเวณนี้เป็นต้นไป เล็กและแคบลงเรื่อยๆ บางช่วงถูกรุกล้ำโดยบ้านเรือนประชาชนที่สร้างคร่อมทับแนวคลอง บ้างมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น และเมื่อมาถึงบริเวณใกล้ถนนริมสถานีรถไฟธนบุรี คลองคูเมืองก็แห้งสนิทและถูกถมทับด้วยถนนริมสถานีรถไฟธนบุรีนั้นเอง นับเป็นจุดสิ้นสุดของคลองคูเมืองธนบุรีที่ได้กลายเป็นท่อระบายน้ำเล็ก ๆ ลอดใต้สถานีรถไฟธนบุรีไปออกสู่คลองบางกอกน้อยใกล้กับสะพานอรุณอมรินทร์ บริเวณด้านหลังวัดอมรินทรารามหรือวัดบางหว้าน้อย ซึ่งเป็นวัดเก่าแต่ครั้งอยุธยา

จากสภาพของคลองคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตก ที่มีความแตกต่างจากคลองคูเมืองเดิมฝั่งตะวันออกอย่างสิ้นเชิง ทั้ง ๆ ที่เป็นคลองสายสำคัญซึ่งต้องอนุรักษ์ไว้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๐ กลับมีสภาพตื้นเขิน น้ำเน่าเสีย จากการปลูกสร้างทับถมต่อเติมที่อยู่อาศัยของประชาชนลงไปในแนวคูคลอง ซ้ำยังเป็นที่ทิ้งขยะและน้ำเสียจากบ้านเรือน รวมถึงมีการปิดกั้นทางน้ำด้วยประตูระบายน้ำตามนโยบายป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครในช่วง ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมา การปิดหัวปิดท้ายแนวคลองคูเมืองด้วยการถมคลองเปลี่ยนเป็นแนวถนนและสะพาน ทั้งช่วงกลางของคลองคูเมืองยังมีการสร้างคานคอนกรีตกั้นระหว่างแนวคลองเป็นระยะ ๆ ก็ส่งผลให้สภาพวิถีชีวิตริมฝั่งคลองแปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เรือไม่สามารถสัญจรเข้ามาในเขตคลองคูเมืองได้อย่างถาวร

คลองคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตกจึงเป็นภาพสะท้อนของสายน้ำคูคลองอีกหลายสายในบางกอก ที่กำลังถูกทำลายโดยการขาดความรู้ความเข้าใจ จนทำให้ภาพความเป็นเวนิสตะวันออกหรือนครแห่งแม่น้ำลำคลอง อันเป็นวิถีชีวิตของคนบางกอกในอดีตกำลังจะค่อยๆ เลือนหายไป

วันนี้... หากเราหวนกลับมาใส่ใจคลองหลังบ้านหรือหน้าบ้านสักนิด เราอาจช่วยให้มันกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งก็เป็นได้

                                               http://www.lek-prapai.org/web%20lek-prapai/bangkok/bangkok-thonburi.htm
--
Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.thaiyogainstitute.com
http://www.thaihof.org
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://www.pdc.go.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://www.biz652.com
http://dbd-52.hi5.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น