วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พัฒนา"ข้าวไทย"ด้วย"สนามไฟฟ้า"

วันที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11441 มติชนรายวัน


พัฒนา"ข้าวไทย"ด้วย"สนามไฟฟ้า"




มีผู้รู้ทำนายไว้ว่า ในอนาคตวิกฤตด้านอาหาร จะเป็นวิกฤตที่สำคัญของมนุษยชาติ

เมืองไทยถือเป็นประเทศเกษตรกรรม ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว และข้าวไทยก็เป็นสินค้าส่งออกในอันดับต้นๆ ของโลก และนี่จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัย "การศึกษาผลกระตุ้นเมล็ดข้าวด้วยสนามไฟฟ้า" โดยเด็กไทยจากแดนใต้

นายพงศ์พล เชยชม - มายด์ นักเรียนมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา ในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชื่นชอบวิทยาศาสตร์ด้านเคมี มองว่า วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญกับชีวิตมนุษย์ ฉะนั้นการเรียนวิทยาศาสตร์จึงทำให้เขาเท่าทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก และมีพื้นฐานที่ดีในการนำความรู้ต่างๆ ไปพัฒนาประเทศชาติ


เช่นเดียวกับการคิดโครงงานวิจัยประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย ให้มีกำลังการผลิตสูงขึ้น เพียงพอต่อความต้องการบริโภค "การศึกษาผลกระตุ้นเมล็ดข้าวด้วยสนามไฟฟ้า" ของมายด์ ในการศึกษาการงอกของรากต้นข้าว ภายใต้สนามไฟฟ้าที่ต่างกันในช่วงเวลาหนึ่ง โดยศึกษาเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของรากต้นข้าว กับเมล็ดข้าวชุดควบคุม

นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์คนนี้ เริ่มกำหนดตัวแปรจากการนำเมล็ดข้าวที่ผ่านการแช่น้ำเป็นเวลา 2 วัดมาวัดความยาวราก แล้วกระตุ้นเมล็ดข้าวด้วยสนามไฟฟ้าในระยะเวลาต่างกัน และวัดความยาวของรากอีกครั้งหนึ่ง ผ่านการกระตุ้นเทียบกับเมล็ดข้าวชุดควบคุม ก่อนนำไปปลูกเป็นเวลา 7 วัน

พงศ์พล เชยชม


ผลทดลองนี้ พบว่าเมล็ดข้าวที่ผ่านการกระตุ้นสนามไฟฟ้า มีความยาวเฉลี่ยของรากและลำต้นมากกว่าเมล็ดข้าวชุดควบคุมที่ไม่ผ่านการกระตุ้น และความยาวเฉลี่ยของราก-ลำต้นแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อกระตุ้นภายใต้สนามไฟฟ้าที่มีความเข้มมากขึ้น ด้วยระยะเวลาที่นานขึ้นด้วย

มายด์เห็นว่าถ้าได้พัฒนางานวิจัยชิ้นนี้ต่อ ยอดต่อไป อาจเป็นแนวทางหนึ่งช่วยให้ผลผลิตการเกษตรไทยมีปริมาณ และคุณภาพเพิ่มขึ้น เพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการ เกษตร จากที่เขาได้ทดลองหลายต่อหลายครั้ง เผชิญกับอุปสรรค ปัญหาจนกลายเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติมจากสิ่งที่พบเจอนี่เอง

"การเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว เมื่อเก็บไว้ระยะหนึ่งจะมีมอดมากิน ทำให้เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ไม่สามารถนำมาปลูกได้ ผมจึงค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม และสอบถามผู้รู้ถึงวิธีการป้องกันมอด โดยการโรยปูนขาวไว้ที่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อป้องกันไม่ให้มอดมากิน" นี่คือความรู้เพิ่มเติมที่นักเรียนมัธยม 6 ผู้นี้ได้จากโครงการวิจัยนี้ ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่า ทำให้รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น รวมถึงการฝึกความอดทน ไม่ย่อท้อ

อาชีพนักวิทยาศาสตร์ จึงเป็นฝันที่ท้าทายมายด์อย่างมาก เพราะต้องกระตือรือร้น เพื่อจะค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ๆ การทดลองทำให้เรียนรู้และเข้าใจง่าย จดจำได้ไม่ยาก นี่คือเคล็ดลับที่มายด์เรียนรู้จากชีวิต

หน้า 26

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01epe01070752&sectionid=0147&day=2009-07-07

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น