วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กบข. กองทุนเบียดเบียนข้าราชการ ?


กบข. กองทุนเบียดเบียนข้าราชการ ?
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 1 กรกฎาคม 2552 22:58 น.


คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น






ในสมัยหนึ่ง ‘ข้าราชการ’ คืออาชีพสุดปรารถนาของผู้คนในสังคมไทย ค่าที่ว่า หากใครได้เป็นข้าราชการ ก็เสมือนมีหลักประกันที่มั่นคงให้กับตนเองและครอบครัว
       
       ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล และบำเหน็จบำนาญที่เป็นรายได้ในยามแก่เฒ่า เป็นสิ่งหอมหวานเย้ายวน ถึงแม้ว่าการทำราชการจะไม่สามารถไต่เต้าขึ้นเป็นมหาเศรษฐี แต่กระนั้นก็ไม่มีวันอดตายหรือตกยากอนาถาเพราะว่ามีสวัสดิการเหล่านี้รองรับ
       
       แต่การมาถึงของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. กลับทำให้ข้าราชการส่วนหนึ่งเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต เพราะผลประกอบการที่ผ่านมาของกองทุนมีสภาพติดลบ ส่งผลถึงรายรับของบรรดาข้าราชการ นั่นทำให้บรรดาสมาชิกกองทุนถึงขั้นต้องออกโรงมาประท้วงกันที่หน้าทำเนียบ
       

       ทั่งที่ในโมงยามแรกพบนั้น กบข. ได้พกพาเสน่ห์มายวนใจข้าราชการไทยจนหลายคนตกหลุมรัก
       
       รางวัลแด่คนช่างฝัน
       
       “ข้าราชการส่วนใหญ่เป็นสมาชิก กบข. เกือบทั้งหมด มีแค่บางส่วนที่อยู่ระบบเก่า” ขรรค์ชัย เอกา ข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง กบข. ว่าในระยะแรกที่ กบข .เริ่มตั้งกองทุนขึ้นมา ก็มีนโยบายที่จะพยายามจูงใจข้าราชการ โดยมีตัวเลขเงินก้อนที่จะได้หากเข้ากองทุนเป็นสิ่งจูงใจ
       
       “ข้าราชการเราเงินเดือนน้อย พอเราทำงานไประยะหนึ่งก็จะมีทางเลือกให้พวกเราสองทาง คือ หนึ่งรับเป็นบำเหน็จหรือเป็นเงินก้อน สองคือบำนาญที่จะรับเป็นเงินเดือนตามอายุราชการ แต่ทีนี้กบข.เป็นทางเลือกทางหนึ่งสำหรับพวกเราก็คือว่า ได้ทั้งเงินก้อนและบำนาญ ถึงบำนาญจะลด แต่ก็จะได้เงินก้อนหนึ่งเหมือนได้บำเหน็จพอบรรเทาไปใช้จ่ายในช่วงที่เกษียณไป เขาก็จะมีตารางเป็นสูตรโปรแกรมคำนวณขึ้น เราเงินเดือนเท่าไหร่ รับไปปีเท่าไหร่ ผลตอบแทนเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ มันเป็นตัวจูงใจให้กับข้าราชการเข้าโครงการ”
       
       เช่นตัวเขาเอง หากนำอายุราชการและเงินเดือนคำนวณออกมาแล้ว หากเข้ากองทุน กบข. และทำงานไปจนถึงเกษียณอายุ 60 ปี จะได้เงินถึงประมาณ 3 ล้านบาท รวมถึงทางเจ้าหน้าที่ยังคำนวณผ่านโปรแกรมให้เห็นเสร็จสรรพว่า สมาชิกจะได้ผลตอบแทนปีละกี่เปอร์เซ็นต์
       
       “พวกเราเห็นตัวเลขอย่างนั้น เราก็ดีใจว่าเราจะได้เห็นเงินล้าน แทนที่เราจะรอบำเหน็จ รับก้อนเดียว ถ้าเกิดว่าเราอายุอยู่ถึง 80 ปี รับบำเหน็จก้อนเดียวเราก็จะใช้หมดแล้ว แต่ถ้าหากรับบำนาญ ถ้าอายุ 61-62 ตาย มันก็ไม่คุ้ม”
       
       ซึ่งผลการดำเนินงานของกองทุน กบข. กว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมา ก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจสำหรับข้าราชการที่เป็นสมาชิกอย่างเขา เพราะแม้ตัวเลขผลการลงทุนจะไม่สูงมาก แต่ข้าราชการที่เกษียณอายุไปหลายคนก็ได้เงินเป็นหลักแสน ทำให้สมาชิกที่เหลือพออุ่นใจ จนกระทั่งถึงปี 2551 ที่เจอพิษเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นโลกผันผวนรุนแรง ทำให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือ กบข. ถูกผลกระทบบริหารงานขาดทุนติดลบเป็นปีแรก
       
       “คิดว่า กบข. ดีสำหรับการเริ่มต้นโดยระบบของมัน แต่เมื่อทำๆ ไปแล้วมันมีปัญหา พอเกิดการติดลบ เราก็เริ่มรู้สึกไม่ดี ทีนี้มันก็ประมาณว่าเกิดกระแสความไม่ไว้วางใจในการนำเงินของเราไปลงทุน แต่ในความคิดของผมก็คิดว่า การบริหารอยู่ที่ กบข. มันก็เป็นไปตามกลไกตลาด ตามกระแสของเศรษฐกิจโลก การลงทุนส่วนใหญ่มันก็เป็นการกระจายความเสี่ยง แต่กองทุนต่างประเทศที่ทางกบข.ไปลงทุนมันเจ๊ง การลงทุนที่อาจจะได้ค่าตอบแทนสูง ก็มีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าหากว่าไม่เอาความเสี่ยงเลย อย่างซื้อพันธบัตรหรือฝากประจำธนาคาร ผลตอบแทนก็อาจจะไม่เกิน 1-2 เปอร์เซ็นต์ เหมือนอย่างที่เราเคยเจอ บางปีอัตราดอกเบี้ยมันก็สูง บางปีอัตราดอกเบี้ยมันก็ต่ำ มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะหวังค่าตอบแทนสูง โดยไม่มีความเสี่ยงเลย”
       
       ขรรค์ชัยเองยืนยันว่า เขายังเชื่อมั่นในระบบของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือ กบข. โดยคิดว่า “ระบบ” ของ กบข. เองนั้นดี เพราะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้ข้าราชการมีทางเลือกได้มากขึ้นกว่าการที่จะเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ก็มีเพื่อนข้าราชการบางกลุ่ม อย่างเช่นทหาร หรือข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่ไม่เข้าร่วมกองทุนกบข. เพราะจะทำให้เสียสิทธิประโยชน์บางอย่าง อาทิเช่น อายุราชการที่ปรับเพิ่มขึ้น ในการคำนวณเงินบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณ
       
       นอกจากอายุราชการแล้ว เงินเดือนที่เพิ่งปรับเพิ่มขึ้นก็ไม่สามารถนำมาคิดคำนวณได้ เพราะหลักการคำนวณบำนาญเดือนสุดท้ายของระบบ กบข. จะเอาฐานเงินเดือน 5 ปีสุดท้ายมาเป็นตัวเฉลี่ย แต่ในระบบข้าราชการที่ไม่เข้า กบข. จะไม่นำมาเฉลี่ย หากจะใช้ฐานเงินเดือนเดือนสุดท้ายเต็มที่ ทำให้ข้าราชการบางส่วนในระยะแรกเลือกที่จะไม่เข้าร่วมโครงการกับ กบข.
       
       “แต่ข้าราชการบางส่วนอย่างเช่นพวกเรามองว่า มันได้เงินก้อน มันเห็นที่คำนวณออกมา พอเราป้อนตัวเลขเข้าไปว่าข้าราชการเงินเดือนเท่านี้ มันก็คำนวณออกมา เราปรินต์ออกมาแล้วก็เก็บอันนั้นแหละมานั่งดู พอเราเอาขึ้นมาดูทีไร ก็เออ..ถ้าอยู่ถึง 60 ปี เราก็เห็นเงิน 3 ล้าน มันเป็นความหวัง” เสียงสะท้อนจากข้าราชการผู้หนึ่งกล่าว
       
       สวรรค์ล่ม
       
       แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้าราชการส่วนหนึ่งรู้สึกอกหักกับการบริหารงานของกองทุน กบข. จนทำให้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา สมาชิกของ "องค์กรเครือข่ายสมาชิก กบข. แห่งประเทศไทย" จำนวนหลายร้อยคน ได้พร้อมใจกันสวมชุดดำเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการขาดทุนของกบข. และดำเนินคดีกับนายวิสิฐ ตันติสุนทร อดีตเลขาธิการกบข. ที่ลาออกไป เนื่องจากเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผลประกอบการปี 2551 ขาดทุน นอกเหนือจากนั้น ทางผู้ชุมนุมยังมีข้อเรียกร้องอื่นๆ อีกด้วย
       
       เกิดอะไรขึ้น กับระบบของกองทุน กบข. ที่ครั้งหนึ่งเป็นเสมือนแสงหวังอันเรืองรองของข้าราชการไทย
       
       “การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมของ องค์กรเครือข่ายสมาชิก กบข. แห่งประเทศไทย วาระหลักคือการชุมนุมเพื่อขับเคลื่อนการแก้กฏหมาย ซึ่งเราคิดกันว่าไม่มีความเป็นธรรมกับสมาชิก ซึ่งนั่นและการตั้งคำถามกับการบริหารกองทุนโดยบอร์ดของ กบข. ซึ่งเราคิดว่าไม่โปร่งใส”
       
       อร กาจกระโทก โฆษกองค์กรเครือข่ายสมาชิก กบข. แห่งประเทศไทยกล่าวถึงสาเหตุของการชุมนุม
       
       “เรารู้ข่าวจากท่านธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ว่าการบริหารกองทุน กบข. นั้นขาดทุนเป็นหมื่นล้าน และก็มีข่าวว่า นายวิสิฐ ตันติสุนทร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไปซื้อหุ้นที่ราคาตกแล้วของบริษัทแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นก็นำเงินกองทุนของ กบข. ไปช้อนซื้ออีกรอบ ทำให้เกิดผลประโยชน์แก่กลุ่มตนเอง”
       
       แต่การที่เหล่าข้าราชการรุ่นก่อนก้าวเดินเข้าไปในเงื้อมเงาของ กบข. นั้น ส่วนหนึ่งมาจากความสมัครใจไม่ใช่หรือ แล้วเหตุใดวันนี้ ถึงกลับไม่ยอมรับผลของการตัดสินใจด้วยตัวเอง?
       
       “ในตอนแรกนั้น ทางกบข. เขาให้เลือกสมัครใจเข้า สำหรับคนที่รับราชการก่อนปี 2540 ซึ่งตอนนั้นกรมบัญชีกลางได้ส่งคนเข้ามาประชาสัมพันธ์กับข้าราชการทุกหน่วย เพื่อชักชวนให้เข้ากองทุน กบข. ทว่าในครั้งนั้นไม่มีการชี้แจงถึงรายละเอียดกฏหมายให้เหล่าข้าราชการดูหรือรับรู้เลย ลักษณะการขายก็เหมือนคนขายประกันชีวิต บอกแต่ว่าถ้าคุณเกษียน ก็จะได้เงินเท่านู้นเท่านี้ ข้าราชการจึงตัดสินใจเข้าร่วมกับ กบข. ตามๆ กัน เนื่องจากอยากได้เงินหลังเกษียณอายุเป็นเงินก้อน ซึ่งเขาตั้งเอาไว้เป็นล้านสองล้าน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้ กรมบัญชีกลางอ้างว่าในตอนนั้นไม่มีงบประมานที่จะพิมพ์เอกสารออกไปประชาสัมพันธ์ถึงเรื่องข้อกฎหมาย
       
       “ถ้าคิดตามที่เห็น การคิดบำเหน็จบำนาญโดยใช้สูตรของปี 2494 จะให้ผลประโยชน์มากกว่าคนที่เป็นสมาชิก กบข. เสียอีก เพราะถ้า กบข. บริหารแล้วขาดทุน คนที่รับภาระก็คือคนที่เป็นสมาชิกทุกคน ซึ่งข้อนี้นั้น พวกเราไม่รู้เลยว่าเขาจะเอาเงินเราไปทำอะไร พูดแต่ว่าจะเอาเงินหลักล้านมาให้เราตอนเกษียน”
       
       “พวกเราเข้าใจ ว่าการที่มีกองทุน กบข. ขึ้นมา เพราะประเทศอยากลดภาระของการจ่ายบำนาญภาครัฐ และที่เรายอมสมัครกัน ก็เพราะเชื่อมั่นว่าอะไรก็ตามที่ดำเนินกาโดยรัฐย่อมมั่นคง ซึ่งนี่มันเป็นพื้นฐานจิตสำนึกของข้าราชการที่เชื่อมั่นในรัฐ แต่พอเอาคนที่เป็นสมาชิก กับไม่เป็นมาเปรียบเทียบรายได้กัน คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. นั้นกลับมีรายได้มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด”
       
       
จากที่เคยมุ่งมาดปรารถนาว่าจะมีชีวิตบั้นปลายที่มั่นคง จากการดูแลของ กบข. กลับต้องมาใจเต้นผิดจังหวะเพราะมัวแต่ลุ้นว่าเดือนนี้จะชักหน้าถึงหลังหรือไม่ ทำให้ข้าราชการหลายๆ คน พร้อมที่จะลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่
       
       “เวลาคำนวณเงินที่ได้รับ จะใช้สูตรมาตรา 63 ของ กบข. มันเขียนเอาไว้ว่า ใช้เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณอายุราชการ หารด้วย 50 และการรับบำนาญจะต้องไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนหารเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ตัวอย่างเช่นคนเงินเดือน 33000 ถ้าไม่เป็นสมาชิก กบข. จะรับกันอยู่ที่ประมาน 29000 – 30000 แต่คนที่เป็นสมาชิก กบข. จะรับอยู่ 18000 – 19000 ประมาณนี้
       
       “ตั้งแต่มี กบข. ขึ้นมา ไม่มีสมาชิกสักคนได้เงินเท่าที่แจ้งไว้ตอนต้นเลย"
       
       เป็นพ่อค้าดีกว่าพระยาเลี้ยง
       
       ในสมัยก่อนมักจะได้ยินคำสั่งสอนของรุ่นพ่อรุ่นแม่ว่า ‘จงเรียนให้สูงๆ จบมาได้รับราชการ ไปเป็นเจ้าคนนายคน’ จนคนรุ่นก่อนมีความเชื่อฝังหัวว่าอาชีพข้าราชการเป็นอาชีพที่ดีที่สุด เพราะถึงอย่างไรก็จะมีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต
       
       แต่ในยุคข้าราชการต้องเข้า กบข. แบบยุคนี้ จะยังมีคนคิดแบบนั้นหรือไม่ ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัย
       
       “ไม่เคยอยากให้ลูกเป็นข้าราชการเลย เรามันเป็นคนซื่อ ระบบราชการมันต้องมีเส้นมีสายถึงจะก้าวหน้า เราเลยไม่อยากให้ลูกเข้าไปทำ ไม่ชอบแบบนั้น ทำการค้าน่าจะดีกว่า เป็นเถ้าแก่ เป็นตัวของตัวเอง สมัยก่อนพระยาเลี้ยงอาจจะดีกว่าการเป็นพ่อค้า แต่สมัยนี้เป็นพ่อค้าย่อมดีกว่า"
       
       ผกา กาศยปนันทน์ เจ้าของกิจการ นนท์ เบเกอรี่ คนรุ่นแม่ ที่ไม่เชื่อในการทำงานราชการกล่าวถึงเหตุผลที่อยากให้ลูกๆ ค้าขายเป็นอาชีพ
       
       “ดูอย่างน้องสาวฉันเป็นข้าราชการซี 8 อยู่ 10 กว่าปี แต่สุดท้ายก็เกษียณออกมาอยู่บ้านเพราะเบื่อ ทำแล้วไม่เติบโต งานราชการอาจจะมีเกียรติ แต่เงินไม่พอใช้ สู้การค้าขายไม่ได้ เริ่มต้นอาจจะลำบาก แต่หลังจากนั้นก็จะสบาย เตี่ยฉันเคยสอนไว้ว่า จงเป็นเถ้าแก่เองตั้งแต่ยังเล็กๆ ถึงจะขายน้ำเต้าหู้ เต้าฮวย ดูไม่มีเกียรติ แต่เราก็ยังเป็นตัวของตัวเอง มันยังมีโอกาสโตได้”
       
       ไม่ใช่เฉพาะคนค้าขายเท่านั้น ที่ไม่อยากให้ลูกเข้ารับราชการ ข้าราชการแท้ๆ บางคน ที่พ่อแม่สอนให้ใฝ่ฝันถึงอาชีพข้าราชการมาตลอด มาถึงวันนี้ก็ยังยอมรับว่า ไม่อยากให้ลูกเป็นข้าราชการเหมือนตัวเอง
       
       ข้าราชการกระทรวงการคลังคนหนึ่งถึงกับกล่าวว่า อย่างไรก็ไม่อยากให้ลูกเข้ารับราชการเหมือนตน
       
       “ไม่อยากให้ลูกเป็นข้าราชการ เพราะถึงแม้ว่าระบบราชการนั้นจะมีการปฏิรูปอย่างไร มันก็ยังไม่ได้ ความพร้อมไม่มี เครื่องมือเครื่องไม้ก็ไม่มี ทำงานยาก แต่คนรุ่นก่อนจะโดนปลูกฝังมาให้อยากเป็นข้าราชการ พ่อดิฉันก็บอกว่าอาชีพข้าราชการ เป็นเหมือนน้ำซึมบ่อทราย อย่างไรก็มีกินมีใช้ไปจนตาย แต่พอเรามาเป็นเอง กลับรู้สึกว่าถ้าไปทำอาชีพอื่น สัก 5 ปี 10 ปี เราอาจจะตั้งหลักได้แล้ว แต่ตอนนี้จะลาออกก็ออกไม่ได้ เป็นหนี้กันหมด ข้าราชการทุกคนเป็นหนี้ อันนี้เป็นเรื่องจริง
       
       “ส่วนเรื่องของการช่วยค่าเทอมลูก ค่ารักษาพยาบาลก็มีอยู่บ้าง แต่มันก็ไม่ได้ทั้งหมด ถ้าเราป่วยนอนห้อง 2,000 บาท รัฐก็ช่วยได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น ค่าเทอมลูกเทอมละ 15,000 ก็เบิกได้แค่ 2,000 ดังนั้น เมื่อเงินไม่พอก็ต้องเป็นหนี้
       
       “เงินจากข้าราชการมันไม่พอใช้ รายได้มันวิ่งไม่ทันค่าใช้จ่าย ปรับเงินเดือนที ปรับกันแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ ของมันขึ้นไปมากกว่านั้นแล้ว ปรับองค์กรอย่างไรก็ช่างแต่ก็ในความเห็น ดิฉันว่า การทำอาชีพข้าราชการไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างสบายเท่าที่ควรในบั้นปลายชีวิต”
       
       ***********
       

       กบข. คืออะไร?
       
       ระบบบำเหน็จบำนาญ คือรางวัลชีวิตของข้าราชการไว้ใช้จ่ายในบั้นปลายชีวิตหลังเกษียณ โดยก่อตั้งมาเมื่อรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีการจ่ายเบี้ยบำนาญขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พุทธศักราช 2444 เรียกว่า พระราชบัญญัติเบี้ยบำนาญรัตนโกสินทร์ศก 120 ซึ่งภายหลังได้มีการปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมตลอดมา
       
       ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการให้เป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central provident fund) โดยให้ใช้หลักการคำนวณมิให้ข้าราชการเสียสิทธิ และในที่สุดผลของการศึกษาก็ออกมาเป็นการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.7)
       
       รัฐจำเป็นต้องหาแนวทางที่จะสร้างหลักประกันให้แก่ข้าราชการ เมื่อออกจากราชการและเพื่อให้สามารถวางแผนเชิงบริหารการคลังในระยะยาวได้ จึงได้เริ่มแนวคิดให้มีการปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญโดยให้จัดตั้งในรูปแบบของกองทุน นอกจากนี้ยังต้องการมุ่งหวังให้กองทุนเป็นสถาบันเงินออมที่สำคัญและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ ของประเทศด้วย
       
       ในระยะแรกของการศึกษาเพื่อจัดตั้ง กบข. กระทรวงการคลังได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้งเป็นกองทุนบำเหน็จกลาง โดยในหลักการจะออกเป็นพระราชบัญญัติเป็นการเฉพาะขึ้นใหม่ ให้กองทุนมีสถานะเป็นนิติบุคคล มีคณะกรรมการกองทุนเป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหาร และว่าจ้างเอกชนให้บริหารเงิน ข้าราชการและลูกจ้างประจำทุกคนต้องเป็นสมาชิก ซึ่งต้องสะสมเงินเข้ากองทุนโดยรัฐบาลจะจ่ายสมทบให้เป็นประจำทุกเดือนเมื่อข้าราชการออกจากราชการจะได้รับเงินบำเหน็จเท่านั้น ยกเว้นข้าราชการที่รับราชการอยู่ก่อนการจัดตั้งกองทุน ซึ่งอาจจะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญจากงบประมาณอีกส่วนหนึ่งด้วย
       
       อย่างไรก็ดี เมื่อนำร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้มีข้อสังเกตและให้กลับไปทบทวนอีกครั้ง โดยเกรงว่าอาจจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้นระหว่างข้าราชการ ที่บรรจุก่อน และหลังวันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้
       
       ต่อมากระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อศึกษาการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จกลางอีกครั้ง โดยในการศึกษาของคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้นำข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรี และข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ระหว่างประเทศ ( International Monetary Fund หรือ IMF) มาพิจารณา และในที่สุดได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนการออกกฎหมายเป็นลำดับ จนในที่สุดได้ตราเป็นพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2539
        
       กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000074644

--
Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://www.pdc.go.th
http://www.biz652.com
http://dbd-52.hi5.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น