วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ตลาดน้ำ ความต้องการของคนใน


 

ตลาดน้ำ ความต้องการของคนใน

เหมือนพิมพ์ สุวรรณกาศ

ยากนักที่จะเกิดตลาดน้ำขึ้นในท้องถิ่นหนึ่งๆ

แต่ยากยิ่งกว่าถ้าตลาดน้ำนั้นดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยาวนาน …

ตลอดปี ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้เดินทางไปยังตลาดน้ำหลายแห่งที่มีขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และละแวกจังหวัดใกล้เคียง จึงเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า ความสามัคคีและความเข้าใจในท้องถิ่นย่อมผลักดันให้ “ ตลาดน้ำ ” ยังคงอยู่

ตลาดน้ำในไทย ส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคกลางที่มีแม่น้ำลำคลองมาบรรจบกัน ถือเป็นวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมน้ำและเปรียบเสมือนสายใยให้ผู้คนในพื้นที่และชุมชนที่อยู่ห่างไกลได้มาแลกเปลี่ยนผลิตผลการเกษตรตามฤดูกาล โดยอาศัยเรือเป็นพาหนะ

จากข้างต้นสภาพภูมินิเวศในเขตกรุงเทพมหานคร ตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียงที่มีลำคลองหลายสายประสานกันอย่างทั่วถึงในอดีต ทำให้เกิดตลาดน้ำขึ้น เช่นที่เขตตลิ่งชัน เมื่อวันวานบริเวณปากคลองบางระมาดได้มีตลาดน้ำเกิดขึ้น แต่เลิกราไปราว ๔๐ ปีมาแล้ว เนื่องจากการคมนาคมทางบกเป็นเหตุ

หากย้อนกลับมาดูในปัจจุบัน ผู้คนต่างโหยหาอดีตและวิถีชีวิตแบบเก่าๆ กอปรกับการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงคนในพื้นที่ ตลาดน้ำในเขตตลิ่งชันจึงกลับมาเติมเต็มให้ชาวกรุงอีกครั้ง

ปัจจุบันในเขตตลิ่งชันมีการเกิดขึ้นของตลาดน้ำ ๓ แห่งด้วยกัน คือ ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดน้ำคลองลัดมะยม และตลาดน้ำวัดสะพาน ซึ่งแต่ละที่ต่างมีที่มาและการดำเนินงานที่ต่างกัน ตามสภาพนิเวศและความต้องการของคนใน

ตลาดน้ำตลิ่งชัน : ความร่วมมือและต้องการที่ไม่บางเบา

บริเวณโดยรอบตลาดน้ำตลิ่งชัน ริมคลองชักพระ

ตลาดน้ำตลิ่งชัน ริมคลองชักพระ ถูกตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ตามนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยตามนโยบายของรัฐ ขณะเดียวกัน สภาพพื้นที่ของตลิ่งชันที่มีแม่น้ำลำคลองเชื่อมหลายสาย การเกิดขึ้นของเรือสินค้าที่จะนำผลิตผลมาค้าขายจึงไม่ใช่เรื่องยาก จุดเริ่มแรกของตลาดน้ำแห่งนี้ เริ่มจากแพไม้ไผ่หรือแพลูกบวบ พื้นแพปูด้วยไม้กระดานเรียงเชื่อมกันจำนวน ๕ แพ พ่อค้าแม่ขายพายเรือรอบโป๊ะ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมและซื้อสินค้าบนแพ ส่วนพื้นที่ถนนหน้าสำนักงานเขตยังถูกจัดให้วางสินค้าจำหน่ายสำหรับชาวบ้านที่ไม่มีเรืออย่างเป็นระเบียบ ต่อมาชาวบ้านที่มาค้าขายได้รวมตัวกันสร้างแพเพิ่มขึ้น

จากอดีตที่เริ่มก่อตั้งจนปัจจุบัน ตลาดน้ำตลิ่งชันประสบปัญหาต่างๆ นานาตามสภาวะสังคมและคนที่เข้ามาดูแลตลาดน้ำ กระทั่งปี ๒๕๔๑ ผู้บริหารสำนักงานเขตเห็นว่า ตลาดน้ำเป็นของคนตลิ่งชัน ชาวบ้านที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าควรมีส่วนในการดูแลรักษาและพัฒนามากกว่า และทางสำนักงานเขตไม่มีงบประมาณที่จะมาสนับสนุน จึงเกิดการรวมกลุ่มเป็น “ ประชาคมตลาดน้ำตลิ่งชัน ” เพื่อดูแลและรักษาความเรียบร้อยเรื่อยมา

ในปี ๒๕๔๑ - ๒๕๔๒ เป็นปี Amazing Thailand ทางกลุ่มตลาดน้ำจึงขยายความสำคัญของตลาดน้ำที่ไม่ใช่แค่เพื่อทำการซื้อขายสินค้า แต่ยังเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสถึงธรรมชาติแบบสวน และยังเข้าใจวิถีชีวิตของคนริมคลอง จึงเกิดกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำที่เรียกว่า “ ตลิ่งชันทัวร์ ” ขึ้น

ตลอดระยะเวลากว่า ๒๐ ปี ตลาดน้ำตลิ่งชันสามารถดำรงอยู่ได้ ปัจจัยสำคัญหนึ่งก็คือ ความสามัคคีของพ่อค้าแม่ขายที่ต้องการให้ตลาดเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว แต่ไม่ทำลายความเป็นนิเวศต่างๆ ทั้งของตลาดน้ำและท้องถิ่นตลิ่งชัน

ตลาดน้ำคลองลัดมะยม : ท้องถิ่นแห่งการเรียนรู้

ตลาดน้ำคลองลัดมะยม

ตลาดน้ำคลองลัดมะยมก่อตั้งเป็นเวลาเพียง ๔ ปี โดยความพยายามของลุงชวน ชูจันทร์ ผู้นำชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถและมีบทบาทในเชิงอนุรักษ์ท้องถิ่น กับชาวบ้านคลองลัดมะยม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นชีวิตของแม่น้ำคูคลอง ทั้งยังต้องการให้ตลาดน้ำเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของคนบ้านสวน และที่สำคัญเพื่อให้ชุมชนได้หวนกลับมามีกิจกรรมร่วมกันอีกครั้ง เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นลัดมะยมต่อไป

ตลาดน้ำคลองลัดมะยมเดิมอยู่ที่ด้านใต้ของถนนบางระมาด ก่อตั้งในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๙ ได้ย้ายมาอยู่ทางด้านเหนือของถนนบางระมาดแทน แต่ยังติดคลองลัดมะยมเช่นเดิม ซึ่งอยู่ในบริเวณสวนดั้งเดิมของนายบุญช่วย ปานพรหม ที่ยังยืนหยัดรักษาสวนไม่ยอมขาย แต่กลับนำมาใช้ประโยชน์เพื่อท้องถิ่นแทน

ที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมเป็นตลาดของชาวบ้านอย่างแท้จริง ชาวบ้านจะนำสินค้ามาจำหน่ายมากมายหลายประเภท ทั้งขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ ขนมเบื้องญวน กุยช่าย ข้าวเกรียบปากหม้อ ฯลฯ หรือจะเป็นผลผลิตจากสวนที่มีในชุมชน เช่น ผักผลไม้ปลอดสารพิษ มีให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อหากันอย่างมาก และที่ขาดไม่ได้คือไอศกรีมโบราณที่ขึ้นชื่อนัก

นอกจากนี้บริเวณข้างตลาดคลองลัดมะยมยังมี “ สวนเจียมตน ” เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสานซึ่งใช้เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ภายในสวนมีเรือพายให้นักท่องเที่ยวได้ลองพายเล่น ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปนั่งพักผ่อนและหาอ่านหนังสือต่างๆ ได้ที่นี่ เพราะในสวนเจียมตนแห่งนี้มีทั้งศาลาอเนกประสงค์ ห้องสมุด ที่สามารถจัดเสวนาและอบรมความรู้สู่ชุมชนและสาธารณชนต่อไปได้

สวนเจียมตน ส่วนหนึ่งของพื้นที่การเรียนรู้ท้องถิ่น

ตรงข้ามกับตลาดน้ำคลองลัดมะยมมี “ บ้านหัตถกรรม พิพิธภัณฑ์เรือจำลอง ” ของคุณสุรชัย รุณบุญรอด ผู้มีความสามารถ รอบรู้ เชี่ยวชาญการทำเรือจำลองขนาดเล็ก มีการจัดห้องแสดงรูปเรือแบบต่างๆ และอุปกรณ์วิถีชีวิตแบบชาวคลองชาวสวน ให้ความรู้ทั้งชาวบ้านและผู้เยี่ยมชมได้อย่างดี

ไม่เพียงเท่านี้ ที่ตลาดน้ำแห่งนี้ยังมีการทัศนาจรเรียนรู้วิถีชีวิตสังคมลุ่มน้ำลำคลองอีกด้วย โดย “ มะยมทัวร์ ” ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวทางน้ำแบบสบายๆ ด้วยเรือขนาด ๕ - ๑๐ คน ทางด้านเส้นทางมีให้เลือกหลายเส้นทางทั้งเที่ยวชมตามคลองและสวน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นพูนบำเพ็ญ บ้านพิพิธภัณฑ์ของคุณอเนก นาวิกมูล สวนผลไม้และไม้ดัดย่านทวีวัฒนา โดยมีลุงเสริฐและลุงชวนเป็นทั้งผู้ขับเรือและมัคคุเทศก์ที่ให้ข้อมูลชุมชนได้ดีที่สุด ปัจจุบันลุงชวนและชาวบ้านได้เริ่มกันทำโครงการ Home Stay ขึ้น เพื่อต้องการให้ตลาดและพื้นที่คลองลัดมะยมเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้วิถีชีวิตและท้องถิ่นลุ่มน้ำลำคลองอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างให้ความร่วมมือและสนับสนุนกันอย่างดียิ่ง

ตลาดน้ำวัดสะพาน : ความต้องการจากคนนอกถึงคนใน

บรรยากาศตลาดน้ำวัดสะพาน ริมคลองบางน้อย

เมื่อประมาณปี ๒๕๔๘ บริเวณวัดสะพานหรือวัดตะพาน ริมคลองบางน้อย วัดที่สำคัญแห่งหนึ่งในเขตตลิ่งชัน เนื่องด้วยเป็นวัดโบราณ มีพระพุทธรูปหินทรายอายุประมาณปลายอยุธยาเป็นจำนวนมาก วิหารขนาดเก้าห้องภายในประดิษฐาน หลวงพ่อดำ หลวงพ่อกลาง และหลวงพ่อโต ได้มีการตั้งตลาดน้ำขึ้นชื่อว่า ตลาดน้ำวัดสะพาน ตลาดน้ำแห่งนี้เกิดขึ้นครั้งแรกจากความคิดที่ต้องการพัฒนาชุมชนของนายตำรวจผู้หนึ่งที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ ทั้งต้องการที่จะเห็นบริเวณโดยรอบของชุมชนให้เป็นส่วนหนึ่งของตลาดน้ำ จึงร่วมมือกับชาวบ้านจัดตั้งตลาดน้ำขึ้น พร้อมทั้งขออนุญาตจากทางวัดสะพาน เพราะต้องการที่จะจัดสร้างตลาดน้ำภายในวัด ริมคลองบางน้อย ที่ตั้งของตลาดน้ำแห่งนี้ไม่เพียงสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเท่านั้น วัดสะพานยังเกิดรายได้จากจุดนี้ด้วย กล่าวคือ วัดเกิดรายได้จากการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาทำบุญและนมัสการหลวงพ่อดำ หลวงพ่อกลางและหลวงพ่อโตนั่นเอง

การเกิดขึ้นของตลาดน้ำในช่วง ๓ ปีแรกดำเนินไปได้ด้วยดี ชาวบ้านผู้ขายให้ความร่วมมือดี หากแต่สินค้าที่นำมาขายไม่ใช่สินค้าในพื้นที่และมีจำนวนน้อย ในทุกครั้งที่มีการค้าขายตลาดวัดสะพานจึงวายอย่างรวดเร็ว กระทั่งเดือนเมษายน ๒๕๕๑ ตลาดน้ำวัดสะพานปิดตัวลงชั่วคราว เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องการขึ้นค่าเช่า แต่สุดท้ายตลาดน้ำดังกล่าวก็ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมซื้อสินค้าบริเวณริมคลองบางน้อย และนมัสการพระสำคัญในวัดสะพานปัจจุบันตลาดน้ำดังกล่าวได้มีแกนนำของชุมชนมาดูแลจัดการตลาดสานต่อความคิดและความต้องการของนายตำรวจที่ริเริ่มขึ้น โดยมีวัดเป็นผู้ให้การสนับสนุน

ตลาดน้ำแห่งนี้หากชาวบ้านไม่เห็นด้วยและไม่มีความสามัคคีในกลุ่มชุมชน เชื่อแน่ว่าตลาดคงปิดตัวลงอย่างถาวร เพราะจุดเริ่มต้นของที่นี่มาจากคนนอกพื้นที่นั่นเอง

ทั้ง ๓ ตลาดที่กล่าวมาล้วนอยู่ในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ทั้งนี้ตลาดน้ำในจังหวัดใกล้เคียงก็มีอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ เช่น

ตลาดน้ำท่าค้า : การคงอยู่อย่างมั่นคง

บรรยากาศตลาดน้ำท่าคา

ที่จ.สมุทรสงครามไม่ได้ขึ้นชื่อเฉพาะตลาดน้ำที่อัมพวาเท่านั้น แต่ที่บ้านท่าคา ต.ท่าคา อ.อัมพวา เรายังคงเห็นวิถีชีวิตการค้าริมน้ำแบบเก่าที่มีเสน่ห์อีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ ตลาดน้ำท่าคา

การกำเนิดของตลาดน้ำท่าคานั้นยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ใด แต่จากหลักฐานส่วนใหญ่ที่สันนิษฐานตามๆกันระบุว่าตลาดแห่งนี้ถือกำเนิดมา ๑๐๐ กว่าปีแล้ว

แต่เดิมตลาดน้ำท่าคาเป็นตลาดบก ชาวบ้านนัดขายของกันที่สันเขื่อน หมู่ ๕ ใกล้ปากอ่าว สมัยนั้นชาวเรือกับชาวสวนจะนำของมาขายแลกเปลี่ยนกัน ชาวเรือก็มีพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ส่วนชาวสวนก็เป็นพวกผักผลไม้ เมื่อเริ่มเป็นตลาดขึ้นมาก็มีพ่อค้าแม่ค้านำสินค้าอื่นๆ มาขายด้วย แต่ปัญหาอยู่ตรงที่จุดขายของที่เป็นสันเขื่อนนั้นขึ้น - ลงลำบาก เมื่อสถานที่ค้าขายไม่สะดวก คนสมัยนั้นก็เลยเปลี่ยนมาซื้อขายกันในน้ำแทน เกิดเป็นตลาดน้ำขึ้น แล้วก็มีการเปลี่ยนสถานที่ขายร่นเข้ามาเรื่อยๆจากปากอ่าวมาจนถึงสถานที่ปัจจุบัน

สีสันและการดึงดูดนักท่องเที่ยวคงจะเป็นเรื่องนัดที่ไม่ธรรมดา กล่าวคือ พ่อค้าแม่ค้าไม่ได้นัดกันตามปฏิทินหรือวัดหยุดราชการ แต่จะนัดกันตามข้างขึ้นข้างแรมแบบโบราณ คือมีเฉพาะขึ้นและแรม ๒ ค่ำ ๗ ค่ำ และ ๑๒ ค่ำ หรือประมาณทุกๆ ๕ วัน ชาวบ้านจะเริ่มขายของประมา ๐๗.๐๐ - ๑๒.๐๐ น . เท่านั้น

สิ่งดึงดูดในตลาดน้ำท่าคาอีกอย่างหนึ่ง คงจะเป็นรอยยิ้มของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ค่อนข้างสูงวัยแทบทุกคน พวกเขาพายเรือค้าขายเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยหนุ่มสาวแล้ว และสินค้าที่นำมาขายก็จะเป็นของที่มีในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ตามฤดูกาล อาหาร ขนม ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือสินค้าแปรรูปจากมะพร้าว เพราะที่ท่าคามีการปลูกมะพร้าวเป็นจำนวนมาก จึงนำมาทำเป็นสินค้าหลากชนิด ทั้งไอศกรีม น้ำตาลมะพร้าว ฯลฯ

หากเราไปเที่ยวตลาดน้ำท่าคายังสามารถแวะชมแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย โดยการนั่งเรือพายชมคลองและธรรมชาติ ชมเรือกสวนนานาชนิด บ้านเรือนไทยแบบเก่า หรือจะแวะชมการทำน้ำตาลมะพร้าว ศาลเจ้าโรงเจ หรือแม้กระทั่งบ้านหมื่นปฏิคมคุณวัติหรือกำนันจัน ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จเยือนเมื่อคราวเสด็จประพาสต้น พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นต้น ซึ่งสภาพนิเวศเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดการเป็นตลาดน้ำท่าคาที่สมบูรณ์แบบทั้งสิ้น

การนัดของตลาดน้ำท่าคายังคงความเป็นอมตะไม่เสื่อมคลาย ส่วนที่ไม่คงความอมตะก็คือสภาพพื้นที่ของชุมชนที่หลังจากมีการตัดถนนผ่านในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ตลาดน้ำท่าคาที่เคยคึกคักก็เริ่มซบเซาลง แต่ว่าก็ยังไม่สิ้นลมหายใจ แถมยังยืนหยัดต้านกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันได้อย่างน่าชื่นชม

เมื่อชาวบ้านพร้อมที่จะเรียนรู้ท้องถิ่นของตนเอง ความมั่นคงต่างๆ ล้วนตามมา ตลาดน้ำก็เช่นกัน หากคนในไม่ต้องการไม่สนใจ ตลาดคงไม่เกิดขึ้นและมีให้เป็นรูปธรรมเช่นนี้

                                                       http://www.lek-prapai.org/web%20lek-prapai/bangkok/bangkok-taradnam.htm
--
Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.thaiyogainstitute.com
http://www.thaihof.org
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://www.pdc.go.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://www.biz652.com
http://dbd-52.hi5.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น