วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วัดไชยวัฒนาราม ความงามหลังฝนซา

วันที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11439 มติชนรายวัน


วัดไชยวัฒนาราม ความงามหลังฝนซา


คอลัมน์ บันทึกเดินทาง

โดย วีระพงศ์ มีสถาน




หลังฝนซาแล้ว ฟ้าก็แจ้งดังเดิม และที่ช่วยขับบรรยากาศของท้องทุ่งเมืองอยุธยาได้มากโข คือเสียงเจื้อยแจ้วของนกบ้านนา ไม่ว่าจะเป็นนกเอี้ยงสาลิกา นกเอี้ยงหงอน และนกพิราบ นกเอี้ยงสาลิกานั้น ที่ตัว อก และหลังออกสีน้ำตาล ส่วนนกเอี้ยงหงอน เธอมีขนหัวชี้แต่ลู่ไปด้านหลัง ทำให้นึกถึงวัยรุ่นเมื่อไม่นานปีมานี้ ที่ชอบทาเยลบนขนหัว แล้วหวีโหย่งๆ ให้ชี้กระโดกกระเดก นกเอี้ยงหงอนไม่ได้ใช้อะไรทาหัว แต่ก็ขนชี้ดูดีตามประสานก

นิวาสสถานของบรรดานกเหล่านี้ก็แสนจะง่ายดาย เพราะใช้โพรงที่มีอยู่มากมายตามช่องอิฐหักของพระปรางค์หรือเจดีย์ในวัดไชยวัฒนารามเป็นหอรัก ใช้เป็นที่ออกไข่ ฟักลูกแผ่หลานสืบพงศ์พันธุ์

เคยคิดอย่างบาปๆ ว่า ถ้าเผื่อมีใครสั่งให้นำยาเบื่อมาเบื่อนกเหล่านี้ ให้ปราศเร้นไปจากท้องฟ้าละแวกวัด หรือนำตาข่ายมาขึงล้อมวัด เพียงเพื่อไม่ต้องการให้บรรดานกต่างๆ เข้ามาทำรัง วัดคงเงียบเหงาและวังเวง ขาดชีวิตชีวาไปมากทีเดียว

การมาเที่ยววัดร้างในอยุธยา ไม่ได้หมายเพียงว่ามาถ่ายรูปตัวเองคู่กับซากปรักหักพังของพระพุทธรูปหรือเจดีย์ แต่ตั้งใจมาดูความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ และพลังศรัทธาต่อศาสนาหรือแนวทางที่ตนเองนับถือ

วัดไชยวัฒนารามนั้นเป็นวัดคู่บุญของพระเจ้า ปราสาททอง เมื่อขึ้นครองราชย์ไม่นานปี ก็โปรดฯให้สร้างวัดนี้ ดังปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหมอบรัดเลย์ว่า

"...พระเจ้าอยู่หัวให้สถาปนาสร้างพระมหาเจดีย์มีพระระเบียงรอบ แลมุมพระระเบียงนั้นกระทำเป็นเมรุทิศ เมรุรายอันจรนา แลกอปรด้วยประอุโบสถ พระวิหารการเปรียญแลสร้างกุฎีถวายพระสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จแล้วให้นามชื่อ วัดไชยวัฒนาราม. เจ้าอธิการนั้นถวายพระนามชื่อพระอชิตเถร ราชาคณะฝ่ายอรัญวาสีทรงพระราโชทิศถวายนิจภัตพระกัลปนาเป็นนิรันดรมิได้ขาด.."



ดูอาณาบริเวณของวัดโดยคร่าว นับว่าเป็นวัดที่มีพื้นที่กว้างขวางแห่งหนึ่งในอยุธยา ตรงกลางวัดนั้นมีพระปรางค์ประธานตั้งเด่นเหมือนดังที่กล่าวไว้ในพงศาวดาร คิดเอาว่า หากได้มองในระดับเดียวกันกับยอดพระปรางค์ ก็คงจะแลเห็นพื้นที่เกาะเมืองเบื้องตะวันออก และบริเวณโดยรอบได้ไกลสุดลูกหูลูกตาทีเดียว

"นี่ๆ พวกเธอมาดูนี่" เสียงเฉียบๆ แว่วมาทางเบื้องหลังจนอดที่จะเหลียวไปมองไม่ได้ เจ้าของเสียงเป็นหญิงสาว คะเนว่าอายุคงสามสิบต้นๆ และมีเด็กวัยประถมปลายอีก 2 คนในชุดนักเรียน เดินตามหลังขึ้นมาสู่ชั้นบนซึ่งเป็นชั้นฐานของพระปรางค์องค์ประธาน ก่อนหน้านี้คงมีการบอกเล่าอะไรกันมาแล้วพอควร จึงได้ยินเสียงเล่าต่อไปอีกว่า

"อย่างพระที่นั่งเป็นแถวอยู่นี้ แต่ก่อนหุ้มด้วยทองทั้งนั้น พวกพม่ามันมาตี ลอกเอาทอง แล้วตัดหัวเอาไปหมด" ผู้เล่าชี้นิ้วกราดไปตามพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยหรือปางสมาธิ ที่ประดิษฐานอยู่เรียงรายตามระเบียงคด ส่วนใหญ่เหลือแต่แท่น พระเพลาหรือตัก กับองค์ ส่วนเศียร กับพาหา (แขน) บางส่วนนั้นหักพังและสูญไปแล้ว

"นี่ๆ มาดูนี่อีก เนี่ย พวกพม่าเอาไฟเผาแล้วลอกเอาทอง ดูนั่น ยังเหลือคราบเขม่าไฟดำๆ อยู่เลย"

บทสนทนาและคำบอกเล่า (และสอน) ทางประวัติ ศาสตร์ ทั้งในและนอกตำราเรียนว่าด้วยราชธานีสมัยกรุงศรีอยุธยา มักเป็นไปทำนองนี้ แม้จนถึง พ.ศ.2552 แล้วก็ตาม

หากจะฉุกคิดกันเสียบ้างว่า การจะเอาทองมาหุ้มพระทั้งองค์นั้น มิใช่ของง่าย คือมิใช่จะกอบทองเหลวๆ แล้วนำมาไล้ไปบนพระปูนเหมือนกับที่นำปูนมาฉาบกำแพง จริงอยู่ที่ว่า อยุธยานั้นเป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นเมืองท่าค้าขาย สร้างรายได้ให้แก่ราชธานีเป็นจำนวนมาก จนมีเรื่องเล่าว่า มีการนำทองมาหุ้มพระพุทธรูป แต่ก็น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนองค์พระพุทธรูปที่มีอยู่อย่างดาษดื่นในพระนครศรีอยุธยา

ถ้าแผ่เนื้อทองให้บางเหมือนสังกะสีแผ่นเรียบ แล้วหุ้มองค์พระทั้งองค์ ลองคิดเล่นๆ เอาเถิดว่า จะต้องใช้ทองสักกี่บาท กว่าจะหุ้มได้ทั้งองค์ และถ้าคูณด้วยจำนวนพระพุทธรูปที่มีอยู่ตามระเบียงคดของวัดไชยวัฒนารามที่มีจำนวนถึง 120 องค์ จะสิ้นทองไปเท่าใด

อุปมาข้อนี้ชวนให้คิดว่า การหุ้มทองพระนั้น มิใช่จะหุ้มกันให้เกลื่อน แต่โบราณท่านมีกรรมวิธีทำพระให้งามอร่ามเรืองด้วยทอง คือทาน้ำรักและปิดทองคำเปลว หรือเรียกว่าลงรักปิดทอง ซึ่งน้ำรักนี้จะมีสีดำ มีคุณสมบัติสมานเนื้อวัสดุที่ทา (คล้ายกับน้ำมันชักเงาที่ช่างไม้นำมาทาไม้) เมื่อทาไม้ก็รักษาเนื้อไม้ให้คงทน ทาปูนก็รักษาเนื้อปูนให้เกาะสมานกันอยู่นานๆ มิหลุดล่อนโดยง่าย เมื่อต้องการให้พระเป็นองค์สีทอง ก็สามารถนำทองคำเปลวมาปิดทับน้ำรักที่ทาเอาไว้

การที่องค์พระมีสีดำ มิใช่เกิดจากเขม่าไฟจากกอง ทัพพม่าเผาคลอกไว้เมื่อ 242 ปีที่แล้ว เพราะเขม่าไฟมิได้ติดแน่นทนนานมาจนถึงปี พ.ศ.2552 หากแต่เกิดจากการทาน้ำรักของช่าง เพื่อมิให้ปูนล่อนหลุดไปมากกว่าที่เป็นอยู่

การเผาทำลายและปล้นสะดมเอาสมบัติที่เกิดจากน้ำมือของทหารพม่า เป็นไปชั่วระยะเวลาอันสั้น มิได้อยู่เนิ่นนานเป็นสิบหรือยี่สิบปี การทำลายโบราณสถานหรือโบราณวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นการขุดค้นหาสมบัติที่ฝังอยู่ใต้ ฐานพระปรางค์หรือเจดีย์ การลักลอบตัดเศียรพระไปจำหน่ายให้กับนักสะสมของโบราณ ก็ล้วนแต่เกิดจากฝีมือคนไทยทั้งนั้น

เราคนรุ่นใหม่อาจรู้สึกชาชินกับการได้เห็นแต่เศียรพระประดิษฐานตามเรือนคหบดี หรือในพิพิธภัณฑ์ แต่ถ้าย้อนความคิดและจินตนาการไปสักนิดก็จะเข้าใจได้โดยไม่ยากว่า คนโบราณท่านสร้างพระ ต้องสร้างทั้งองค์ จะทำด้วยไม้ ดิน ปูน หรือทองคำ ก็ต้องทำให้ครบส่วน จะทำแต่เศียรอย่างเดียวไม่ได้

ดังนั้น เศียรพระ (เก่า) ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าในกรุงเทพมหานคร หรือเมืองใหญ่ๆ ในต่างประเทศ ก็ล้วนเคยมีองค์อยู่ที่ใดที่หนึ่งแน่นอน แต่เหตุที่เศียรต้องพรากจากองค์ก็เพราะมีคนไปลักลอบตัด แล้วนำไปขาย ก็เท่านั้นเอง ส่วนที่เกิดจากพม่าข้าศึก คาดว่าน้อยเต็มทีเมื่อเทียบสัดส่วนกับที่คนไทยลักลอบทำลาย

ทุกวันนี้เรามองพระพุทธรูปหนักไปทางศิลปะ มองอย่างแยกส่วน จึงเกิดมีการทำเศียรพระเลียนของเก่า ทั้งการวาด ปั้น หรือหล่อ จนกลายเป็นสินค้า คนชั้นหลานเหลนอย่างเราๆ ก็เกิดความคุ้นเคย

บทสนทนาที่แว่วเข้าหู และภาพเหตุการณ์ที่หญิงวัยสามสิบต้นๆ ชี้ชวนและบอกกล่าวเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้กับเยาวชน ลับหายไปหลังกำแพง แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า เราจะมาสร้างความเป็นปึกแผ่นให้คนไทยรักชาติด้วยประโยคที่ยุแยงให้รังเกียจเพื่อนบ้านมิตรประเทศอย่างนั้นหรือ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องบอกความสมจริงของเหตุการณ์ทางประวัติ ศาสตร์ และความเป็นจริงของสังคมให้กับเยาวชน

การไปเที่ยวอยุธยา ไม่จำเป็นต้องชังพม่าก็ได้ ไปดูความยิ่งใหญ่โอฬารของบ้านเมือง วัดวาอาราม ไปดูแนวคิด วิธีประดิษฐ์สร้างทางสถาปัตยกรรม ตามซอกพระปรางค์ยังเหลือลายปูนปั้นฝีมือประณีตให้เหลือไว้สานจินตนาการต่อ

หากวิญญาณผีปู่ทวดย่าเทียดที่สิงสถิตอยู่ตามปรางค์และเจดีย์ ล่องหนหรือเหินฟ้าอย่างมวลหมู่นก ได้แลเห็นลูกหลานมาเที่ยวชมฝีมือเชิงช่าง ที่กระทำขึ้นด้วยจิตศรัทธา ท่านก็คงกระหยิ่มยิ้มย่องอยู่ไม่น้อย


หน้า 23
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01tra01050752&sectionid=0139&day=2009-07-05






แบ่งปันรูปถ่ายกันอย่างง่ายดายด้วย Windows Live™ Photos ลากแล้วปล่อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น