วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"เพาะช่าง"แสดงงานศิลปกรรม รายได้ช่วยช้างไทย

วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11456 มติชนรายวัน


"เพาะช่าง"แสดงงานศิลปกรรม รายได้ช่วยช้างไทย


โดย เชตวัน เตือประโคน




ผลงานของ "สง่า อนุศิลป์"
สัตว์ขนฟู สีขาว-ดำ 2 ตัว นาม "ช่วงช่วง" กับ "หลินฮุ่ย" ซึ่งเป็นทูตสันถวไมตรีเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน เพิ่งให้กำเนิดลูกตัวน้อย สร้างความตื่นเต้น ยินดีปรีดา เป็นข่าวคราวครึกโครม มีรายงานผ่านสื่อมวลชนกระแสหลักทุกแขนง ไม่ว่าแพนดาน้อยจะทำอะไร มีวิวัฒนาการอย่างไร ผู้คนทั้งประเทศได้รับรู้ ชนิดเรียลไทม์-นาทีต่อนาที!

แตกต่างกับเจ้าสัตว์ตัวใหญ่สีดำ มีงา มีหู มีตา หางยาว!

ใช่แล้ว! หมายถึง ช้าง ช้าง ช้าง นั่นเอง!

"พังทองดี" ช้างไทยในประเทศออสเตรเลียก็ให้กำเนิดลูกตัวน้อยในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ถึงนาทีนี้ เรื่องราวของช้างในต่างแดนนั้นเงียบหายไปแล้ว แต่แพนดาในเมืองไทยยัง "เป็นข่าว"

มิหนำซ้ำ วังช้างอยุธยา ยังนำสีขาว-ดำ มาทาตัวช้างให้เหมือนหมีแพนดาเหมือนเป็นการประชด หลังจากนักท่องเที่ยวลดจำนวน

ปรากฏการณ์นี้บ่งบอกอะไรกับเรา?

ใช่ไหมว่า เราปล่อยให้สัตว์เอกลักษณ์ของชาติอย่างช้าง ต้องตกอยู่ในภาวะที่ไร้คนเหลียวแล แม้แต่ภาครัฐเองก็ปล่อยปละละเลย ไม่มีมาตรการที่ดีออกมาให้คนรักช้างได้ชื่นใจ

สภาพของช้างไทยในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์หรือการดำเนินชีวิต จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเมื่อครั้งอดีต จากความยิ่งใหญ่ อยู่คู่บ้านคู่เมือง กลายมาเป็นขอทาน น่าเวทนา ชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบากจนอยากจะร้อง แปร้น! แปร้น! ขาดใจตายเอาเสียให้ได้

ชีวิตเจ้าสัตว์ตัวโตวันนี้ยากลำบาก ป่าไม้ลดน้อย ประกอบกับควาญช้างก็ยากจนไม่สามารถเลี้ยงดูให้กินดีอยู่ดีตามธรรมชาติได้ จึงนำช้างเข้ามาเร่ร่อนในเมือง หาคนใจบุญซื้ออาหารเพื่อให้ช้างและตัวเองอยู่รอด กลายเป็นช่องทางหาเงินของคนที่หวังกอบโกยแต่ผลประโยชน์เข้าตัว ซื้อลูกช้างหรือช้างพิการ หรือมีลักษณะน่าสงสารให้คนเช่า เพื่อไปเร่ร่อนหาเงินอีกต่อหนึ่ง ทำให้ช้างเร่ร่อน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ

(ซ้าย-ขวาบน) ผลงานอื่นๆ ของอาจารย์วิทยาลัยเพาะช่าง และสำนักบริหารเพาะช่าง (ขวาล่าง) "กำลังจางหาย" ผลงานของ "บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส"


ท่ามกลางกระแส "แพนดาฟีเวอร์" จะมีใครบ้างไหมได้ยินเสียงช้าง!!!

บ่นเรื่องนี้มาได้พักหนึ่งแล้วก็ปะเข้าให้กับโครงการหนึ่งของ "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์" หรือ "เพาะช่าง"

ภายใต้ชื่อโครงการ "เพาะช่าง : ศิลปินเพื่อช้าง ครั้ง ที่ 3 ประจำปี 2552" ซึ่งขณะนี้ (ถึง 31 ก.ค.) ได้มีการจัดแสดงผลงานศิลปกรรมของอาจารย์วิทยาลัยเพราะช่าง และสำนักบริหารเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จำนวน 40 คน ที่ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

จำนวนงานที่แสดงกว่า 80 ชิ้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วนำเสนอเกี่ยวกับช้าง โดยรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายผลงานทั้งหมด จะนำไปใช้ในการสนับสนุนอนุรักษ์ช้างไทย โดยเฉพาะกับโครงการ "ช้างบำบัดออทิสติค" ซึ่งดำเนินการโดย ภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ใช้ช้างช่วยบำบัดเด็กอทิสติค ผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งให้ผลบำบัดออกมาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

เห็นมั้ยว่า ช้างใช่ทำได้แต่เพียงเร่ร่อนขอทานเท่านั้น แต่ยังช่วยคนด้านการแพทย์ก็ได้

รู้อย่างนี้ยังใจดำ ทอดทิ้ง ไม่เหลียวแลช้าง (เท่าแพนดา) ได้อีกหรือ?

ปราโมทย์ กิจจำนงค์พันธุ์ กรรมการกองทุน และผู้ริเริ่มโครงการ ศิลปินเพื่อช้าง บอกไว้ในบทความหนึ่งว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันมามองปัญหาช้าง เพราะถ้าไม่อย่างนั้น อนาคตช้างอาจต้องสูญพันธุ์ ลูกหลานจะไม่มีช้างให้เห็นอีกต่อไป เพราะช้างเกิดยากแต่ตายง่าย

(ซ้าย) "The Eye" ผลงานของ "ศราวุฒิ ศรีศักดิ์" (ขวา) ปราโมทย์ กิจจำนงค์พันธุ์


ดังที่ผู้รู้เกี่ยวกับช้างว่า...

1.ช้างผสมพันธุ์ยาก และเมื่อติดลูก ก็อาจเสียชีวิตระหว่างคลอด เพราะช้างที่อยู่ในเมืองจะไม่มีระบบการดูแลเหมือนโขลงช้างในธรรมชาติ 2.พื้นที่ป่าลดน้อย ทำให้ช้างไม่มีที่อยู่ อาหารไม่พอเพียง 3.เนื่องจากป่าลดน้อย ช้างไม่อาจเดินทางข้ามพื้นที่ ผสมข้ามสายพันธุ์ได้ จึงทำให้เกิดลักษณะด้อยเนื่องจากการผสมในสายพันธุ์เดียวกัน

4. มนุษย์เอาช้างมาเป็นเครื่องมือทำธุรกิจ ข้างใช้ชีวิตอยู่ในที่ไม่เหมาะสม 5.ช้างที่มาอยู่ในเมืองทำความเดือนร้อนให้กับผู้คนเนื่องจากอาการตกมันตามธรรมชาติ หรือขาดอาหารจนต้องไปกินของชาวบ้าน ทำให้ช้างถูกฆ่าตายอยู่บ่อยๆ และ 6.มีขบวนการซื้อขายช้าง ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีราคาค่าตัวสูงจูงใจให้มนุษย์นำช้างไปขายสร้างความร่ำรวยให้กับตนเอง

"ข่าวหมีแพนดา น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี และน่าจะทำให้เราตื่นตัวกับปัญหาช้างซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของเราเอง รัฐบาลจีนดูแลหมีแพนดาเป็นอย่างดีอย่างไร เราก็ควรดูแลช้างของเราอย่างนั้น

"ผมเชื่อว่าความพยายามของวังช้างอยุทธยาที่ระบายสีช้างให้ดูเหมือนหมีแพนดา...จะเป็นการสะท้อนให้คนไทยและรัฐบาลหันมาจริงจังกับปัญหาช้างเสียที อย่ามัวแต่รุมเห่อหมีแพนดาที่ไม่ได้เป็นของเรา ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าอีกไม่นานเราต้องส่งกลับคืนประเทศจีน เราควรหันมาดูแลช้างไทยให้อยู่กับประเทศไทยของเราตลอดไปจะดีกว่า" ปราโมทย์ว่า

"มีโอกาสได้แวะไปชมงานเพาะช่าง : ศิลปินเพื่อช้าง" ที่ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ตกใจกับงานหลายชิ้นที่ถ่ายทอดสภาพของช้างออกมาอย่างสมจริงเห็นแล้วน่าขนลุก ดังเช่นงานคอมพิวเตอร์กราฟิก ขนาด 30x40 เซนติเมตร ของ "ศราวุฒิ ศรีศักดิ์" ที่ชื่อ "The Eye" เป็นภาพระยะใกล้ เผยให้เห็นดวงตาของช้างที่ดูหม่นหมอง มีน้ำตาไหลออกมาด้วยราวกับกำลังบอกว่าช้างกำลังเศร้าใจในชะตาชีวิตของตัวเอง

หรืออย่างงานสีน้ำบนกระดาษ ขนาด 55x75 เซนติเมตร ชื่อ "กำลังจางหาย" ของ "บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส" แม้จำนำเสนอออกมาด้วยสีน้ำให้ความรู้สึกอ่อนโยน ประกอบกับภาพก็ออกโทนสีขาวบางเบา หากแต่รูปช้างที่เลือนรางกำลังจะจางหาย เหลือเพียง งวง ปาก และตาอย่างละนิดอย่างละหน่อยนั้น ให้ความรู้สึกว่าภาพนี้ "แรง"

นอกจาก 2 คนที่กล่าวมาแล้ว ยังมีศิลปินคนอื่นๆ อีกเพียบ...

อาทิ คำอ้าย เดชดวงตา, จรัสพัฒน์ วงศ์วิเศษ, ชลิดา ทรงประสิทธิ์, ชูศักดิ์ เครือสุวรรณ, ธง อุดมผล, ปราโมทย์ กิจจำนงค์พันธุ์, ไพโรจน์ วังบอน, สมยศ คำแสง, สุรัตน์ บญทรง, อุตสาห์ ไวยศรีแสง ฯลฯ

โดยก่อนหน้าที่จะสร้างผลงาน และจัดแสดงผลงานในครั้งนี้ เหล่าศิลปินได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาชีวิต ความเป็นอยู่ของช้างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเพณี และวัฒนธรรมเกี่ยวกับช้าง ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อช้างไทย ที่ จ.เชียงใหม่ และศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง

วันนี้ คงยังไม่สายเกินไป ถ้าเราจะลองหันมามองช้างบ้าง!

อนาคตจะได้ไม่ต้องมาร้องโอดครวญว่า "ช้างกูอยู่ไหน?"

หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra02220752&sectionid=0131&day=2009-07-22

--
ขอเชิญอ่าน  blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.thaiyogainstitute.com
http://www.thaihof.org
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://dbd-52.hi5.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น