วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ชุมชนเข้มแข็ง เข้มแข็งจริงหรือ?

วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11457 มติชนรายวัน


ชุมชนเข้มแข็ง เข้มแข็งจริงหรือ?


โดย ระพี สาคริก



บทนำ

เธอที่รักของฉัน ภาษิตโบราณบทหนึ่งได้ชี้ให้รู้ความจริงแล้วว่า "สัญชาติคางคก ถ้ายางหัวไม่ตกก็คงไม่รู้จักจำ" ความจริงแล้วภาษิตบทนี้มีเหตุมีผลสอดคล้องกันกับหลักธรรมอีกบทหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ว่า

"เพราะมีเหตุนั้น จึงมีเหตุนี้"

ดังนั้น สิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดควรจะสอนให้รู้ว่า "ถ้ารากฐานจิตใจคนในสังคมยุคนี้ไม่อ่อนแอจนกระทั่งก่อความเดือดร้อนอย่างหนัก เราก็คงไม่คิดที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นเช่นปัจจุบัน"

อนึ่ง เรื่องนี้ตามที่กระบวนการจัดการศึกษาของไทยได้เขียนเอาไว้ว่า "ผลจากการจัดการศึกษาควรจะสร้างความเป็นมนุษย์ให้กับคนในสังคมท้องถิ่น" แท้จริงแล้วความเป็นมนุษย์นั้นเกิดจากรากฐานจิตใจที่อิสระทำให้ความคิดและปฏิบัติมีความเป็นไทแก่ตนเอง ซึ่งหมายถึงผลจากเรื่องนี้ควรจะสร้างคนให้มีคุณสมบัติ "ซื่อสัตย์แก่ตนเองอย่างธรรมชาติ"

แต่ในปัจจุบัน ผลจากการจัดการศึกษากลับทำให้คนส่วนใหญ่หลงยึดติดอยู่กับตำแหน่งและอำนาจรวมทั้งการมีเงินมากๆ และมีความสะดวกสบายทางวัตถุ ซึ่งเกิดจากรากฐานจิตใจที่ขาดอิสรภาพ ทำให้คนเห็นแก่ตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ดังตัวอย่างเช่นปัญหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นภายในสังคมไทยยุคนี้ แม้แต่การแสดงออกที่ไม่อยู่กับร่องรอย คงคิดแต่จะเอาตัวรอดถ่ายเดียว ไม่ว่าจะเจาะลงไปที่ไหนมักพบได้อย่างกว้างขวาง จนกระทั่งถึงกับนำเอาแผ่นดินถิ่นเกิดของตัวเองอันถือว่าเป็นพื้นฐานความเป็นชาติอย่างสำคัญที่สุด ซึ่งควรจะรักษาไว้อย่างสุดชีวิตไปขายให้กับคนชาติอื่น แม้คนไทยที่มีทรัพย์สินเงินทองซึ่งอยู่เหนือกว่า โดยที่เส้นทางสายนี้นำไปสู่ผลประโยชน์ของคนชาติอื่น

ซึ่งประเด็นนี้น่าจะทำให้กลุ่มบุคคลผู้มีหน้าที่ในการจัดการศึกษามาแล้วรู้สึกเฉลียวใจว่า "เป็นเพราะเหตุใดผลจากการจัดการศึกษาซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่เกี่ยวกับความเป็นความตายของสังคม ถึงได้ทำให้คนมีรูปลักษณะปรากฏออกมาบนแนวทางที่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษา"

นอกจากนั้นในอีกด้านหนึ่ง คนส่วนใหญ่ที่ควรจะมีจิตใจรับผิดชอบต่อผลได้ผลเสียของชาติอย่างสำคัญ แต่กลับมีนิสัยที่เรียกกันว่า "นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น" แทนที่จะเป็นคนตื่นอยู่เสมอ แม้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ตัวฉันเองแม้จะมีอายุ 87 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังลุกขึ้นยืนพูดอย่างเปิดอกถึง "เหตุที่อยู่ในรากฐานจิตใจคน"

ซึ่งทำให้คนในสังคมยุคนี้แม้จะมีอายุในระดับสูง ส่วนใหญ่ก็ยังขาดจิตใต้สำนึกที่ควรจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งตนมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ

เหตุแห่งปัญหาที่ผู้มีอำนาจยังเข้าไม่ถึง

สิ่งที่กล่าวมาแล้วหรือมิใช่ ที่ทำให้ตัวฉันเองจำต้องนำความคิดของตนมาค้นหาความจริงอย่างหนักว่า "เหตุแห่งปัญหาที่แท้จริงนั้นคืออะไรและอยู่ที่ไหน" ซึ่งทุกคนถ้าไม่อยู่อย่างหลงตัวเอง ประเด็นนี้ย่อมค้นหาได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ

อนึ่ง ในปัจจุบันแม้อำนาจรัฐจะได้กำหนดจัดทำโครงการ "สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น" ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็ยังหลงอยู่กับการออกกฎระเบียบเพื่อใช้เงินทองสนับสนุนสิ่งที่มีอยู่แล้ว แทนที่จะคิดค้นหาเหตุอันเป็นที่มาของปัญหาดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้เกิดชุมชนท้องถิ่นขึ้นภายในสังคมอย่างเป็นธรรมชาติให้ได้เสียก่อน เช่นนี้แล้วเราจะเรียกว่าเป็นการปฏิบัติอย่างมีสติได้ยังไง นอกจากทำตามกระแสที่สร้างปัญหาให้แก่สังคมอย่างที่เรียกกันว่า "แบบชุบมือเปิบ"

นอกจากนั้นสิ่งที่กลุ่มบุคคลภายในอำนาจรัฐคิดจะแก้ไขความอ่อนแอของรากฐานชุมชนท้องถิ่น ถ้าพิจารณาจากรากฐานจิตใจที่อิสระย่อมเห็นได้ว่า พฤติกรรมดังกล่าว บริการจากภาครัฐก็ยังหลงอยู่กับผลสำเร็จรูป ดังเช่นชุมชนที่เกิดขึ้นแล้วในสังคม ตนจะให้การสนับสนุนเรื่องการจัดตั้งกองทุนเป็นต้น แทนที่จะหวนกลับมาพิจารณาค้นหาเหตุและผลให้ได้เสียก่อนว่า "การเกิดชุมชนนั้นมีเงื่อนไขมาจากอะไรรวมทั้งมีความเป็นมาอย่างไร เพื่อใช้เป็นพื้นฐานการพิจารณาถึงความอ่อนแอที่ควรจะได้รับการแก้ไข"

จึงสรุปได้ว่าแม้กลุ่มบุคคลในภาครัฐก็ยังไม่ใช่เป็นผู้รู้จริง นอกจากหลงอยู่กับผลสำเร็จรูป แล้วจะไปแก้ปัญหาเรื่องชุมชนเข้มแข็งได้อย่างไร นอกจากเข้าไปสานปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

ประเด็นนี้ทำให้นึกถึงคำพูดของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งท่านได้กล่าวฝากเอาไว้ว่า "การจัดการศึกษาของไทยเท่าที่เป็นมาแล้วนั้นเหมือนกับหมาหางด้วน"

ประเด็นนี้ แม้แต่การคิดแก้ปัญหาเรื่องความอ่อนแอภายในรากฐานคนในชุมชนท้องถิ่น ผู้มีอำนาจก็ยังไม่คิดที่จะแก้ไขปัญหาซึ่งอยู่ในการจัดการศึกษา หากกลับไปคิดถึงเรื่องการให้ทรัพย์สินเงินทองดังเช่นการให้ทุนรอน ซึ่งแท้จริงแล้วการใช้วัตถุที่ให้ความสะดวกสบายแก่จิตใจคนเป็นเครื่องมือ ย่อมยิ่งส่งผลทำให้เกิดภาวะเสพติดอันมีผลทำลายความเข้มแข็งให้เสียหายหนักมากยิ่งขึ้นไปอีก

จากตัวฉันเองถ้าจะมองในด้านดีก็คงกล่าวว่า "ถ้าตนไม่ได้รับโอกาสให้เข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยอำนาจรัฐ ก็คงไม่มีโอกาสรู้ความจริงเรื่องนี้เพื่อนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงระดับพื้นฐานซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญของชาติ"

แต่หลังจากมีการประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็น ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันลงมือทำ เราก็สะท้อนภาพให้เห็นเป็นประจักษ์พยานตั้งแต่เริ่มแรกแล้วว่า "คนในภาครัฐส่วนใหญ่ยังคิดใช้อิทธิพลทางวัตถุและเงินตราล่อให้คนยึดติด ซึ่งมีผลทำลายรากฐานจิตใจที่ควรจะเป็นไทแก่ตนเอง"

ทำให้เห็นความจริงได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า "ยิ่งพยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น ก็ยิ่งมีผลทำลายรากฐานจิตใจคนท้องถิ่น ซึ่งควรจะลุกขึ้นยืนหยัดแสดงความรับผิดชอบต่อแผ่นดินถิ่นเกิดของตนอย่างเป็นธรรมชาติ"

20 กรกฎาคม 2552


หน้า 7
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01230752&sectionid=0130&day=2009-07-23


--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
www.patani-conference.net
http://www.thaihof.org
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://elibrary.nfe.go.th
http://dbd-52.hi5.com
http://www.thaisara.com
http://www.rmutr.ac.th
http://www.bedo.or.th/default.aspx
www.chula.ac.th/visitors/thai/calendar.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น