วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พลิกนิราศกวีเอก 'สุนทรภู่'

พลิกนิราศกวีเอก 'สุนทรภู่'

วันอาทิตย์ ที่ 28 มิถุนายน 2552 เวลา 0:00 น

  

'วิถีชีวิตแห่งบ้านแกลง' 'สานเสื่อ' ตำนานกว่า 200 ปี

“...ถึงบ้านแกลงลัดบ้านไปย่านกลาง
   
เห็นฝูงนาง สานเสื่อ นั้นเหลือใจ
   
แต่ปากพลอด สองมือสอด ขยุกขยิก
   
จนมือหงิก งอแง ไม่แบได้
   
เป็นส่วยบ้านสานส่งเข้ากรุงไกร
   
เด็กผู้ใหญ่ทำเป็นไม่เว้นคน...”
   
...นี่เป็นเนื้อความบางท่อนบางตอนจาก “นิราศเมืองแกลง” ของมหากวีแห่งสยาม “สุนทร ภู่” ผู้ซึ่งในปีนี้ทางจังหวัดระยองได้จัดงานฉลองยิ่งใหญ่ “223 ปี สุนทรภู่” ไปเมื่อ 26-27 มิ.ย. ณ อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ขณะที่เนื้อความจากนิราศนี้ก็สะท้อนถึง “วิถีชีวิต” ของชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็น “วิถีชีวิตคนสานเสื่อ”

ณ หมู่บ้านท่าเรือแกลง หมู่ 3 ตำบลแกลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ตั้งแต่ครั้งกวีเอกสุนทรภู่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้คน ณ หมู่บ้านแห่งนี้ โดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่ล้วนสาน “เสื่อ” กันเป็น ซึ่งกับเนื้อความในนิราศของสุนทรภู่ที่มีคำว่า “ส่วย” นั้น สันนิษฐานว่า ระยองเป็นหัวเมืองชั้นนอกในสมัยนั้น จะต้องส่งส่วยเพื่อแสดงความสวามิภักดิ์ต่อเมืองหลวง ขณะที่บ้านแกลงนั้นถือว่า “เสื่อ” เป็นเครื่องใช้เด่นของหมู่บ้าน จึงใช้สิ่งนี้
   
ทั้งนี้ ปัจจุบันชาวบ้านในย่านชุมชนนี้ก็ยังคงสืบทอดการสานเสื่ออยู่ โดยมีการส่งเสริมให้เกิดเป็น “กลุ่มแม่บ้านสืบสานตำนานเสื่อกก”  ที่มีความเข้มแข็ง อนุรักษ์รักษาอาชีพบรรพบุรุษไว้ไม่ให้สูญหายไป ขณะเดียวกันก็มีการดัดแปลงผลิต ภัณฑ์เสื่อกกเป็นรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้อีกทาง
   
ราตรี เบ็ญจา อายุ 49 ปี ประธานกลุ่มแม่บ้านสืบสานตำนานเสื่อกก เล่าว่า ตั้งแต่สมัยโบราณ ในหมู่บ้านจะมีบึงน้ำอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันก็ยังอยู่ ชาวบ้านเรียกกันว่า “บึงสำนักใหญ่” เป็นบึงขนาดใหญ่มีพื้นที่ 3,871 ไร่ โดยในบึงจะมี “ต้นกระจูด” มาก สมัยโบราณชาวบ้านจะนำต้นกระจูดจากในบึงมาใช้ประโยชน์ ใช้มัดสิ่งของต่าง ๆ และนำมาสานเสื่อเพื่อเป็นของบรรณาการ
   
“ที่นี่มีการสืบทอดการสานเสื่อกันมายาว นานกว่า 200 ปี เราเองโตมาพอรู้เรื่องก็เห็นพ่อแม่สานเสื่อกันแล้ว พออายุได้ 5-6 ขวบก็เริ่มสานเสื่อช่วยพ่อแม่ เป็นอาชีพที่ทำกันมานาน ก็กลัวมันจะหายไป เราจึงต้องมีการสืบสานกันต่อไป เพราะกลัวว่าอาชีพสานเสื่อจะสูญหายไปสักวัน”
   
ก่อนหน้านี้ชาวบ้านก็ยังคงทำอาชีพสานเสื่อ แต่ส่วนใหญ่จะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างนำไปขายกันเอง รายได้ที่ได้จากการสานเสื่อขายนั้นเป็นรายได้ที่น้อย จนทำให้ชาวบ้านหลายคนเริ่มท้อ มีหลายคนที่ไม่อยากทำอาชีพนี้ต่อ ถ้าปล่อยไว้แบบนี้สักวันอาชีพที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษก็คงจะต้องสูญหายไป เพื่อไม่ให้อาชีพนี้สูญหาย ชาวบ้านจึงรวมกันจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านสืบสานตำนานเสื่อกกขึ้นมา รวมกลุ่มกันทำขาย ร่วมกันคิดแปรรูปเป็นเสื่อที่ทำเป็นสินค้าอื่นเพื่อจำหน่าย เพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น จนมีคนสนใจทำอาชีพนี้มากขึ้น
   
“กลุ่มแม่บ้านฯตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2544 มีสมาชิกทั้งหมด 32 คน ส่วนใหญ่เป็นคนในหมู่บ้าน และที่น่าดีใจที่สุดก็เห็นจะเป็นการที่เด็ก ๆ เริ่มจะหันมาให้ความสนใจในอาชีพสานเสื่อมากขึ้น” ราตรีกล่าว
   
ขณะที่ จินตนา ยิ้มเยื้อน อายุ 52 ปี สมาชิก “กลุ่มจักสานกระจูดมาบเหลาชะโอน” ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับตำนานการสานเสื่อในพื้นที่นี้เช่นกัน เล่าว่า กลุ่มจักสานกระจูดมาบเหลาชะโอนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2544 วัตถุประสงค์คือเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่บ้าน และนำเอาวัตถุดิบที่มีมากมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า ทำเป็นผลิตภัณฑ์ขายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน พร้อม ๆ ไปกับอีกหนึ่งวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อสืบสานตำนานอาชีพการสานเสื่อที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ อย่างคำที่ท่านสุนทรภู่กล่าวถึงไว้ในนิราศเมืองแกลง
   
“เห็นพ่อแม่สานเสื่อมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ เราเองอายุได้ 5-6 ขวบ ก็เริ่มสานเสื่อเป็นแล้ว กลับมาจากโรงเรียนก็นั่งสานเสื่อช่วยพ่อแม่เพื่อนำไปขายนำเงินมาใช้จ่ายในบ้าน เด็ก ๆ ในหมู่บ้านทุกคนล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานการสานเสื่อ พวกเราทุกคนผูกพันกับอาชีพสานเสื่อกันทั้งนั้น ถ้าปล่อยให้อาชีพนี้สูญหายไปก็คงเป็นเรื่องที่แย่ พวกเราลูกหลานคงไม่ยอมให้อาชีพนี้หายไป จากหมู่บ้านแน่นอน”
   
จากการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน มารวมตัวกันสานเสื่อ และแปรรูปเสื่อเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ปัจจุบันก็ทำให้สินค้าสามารถเป็นที่ยอมรับของลูกค้ามากมาย ทำให้ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกมีรายได้เสริมไว้ใช้จ่ายในครอบครัวมากขึ้น บางคนมีรายได้ถึงเดือนละ 5,000-8,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้าทำแล้วมีรายได้ที่ดี ชาวบ้านก็จะไม่ทิ้งอาชีพสานเสื่อไปทำอาชีพอื่น ทำให้อาชีพสานเสื่อยังคงมีผู้ที่สืบทอดต่อไป
   
“เพื่อให้มีการสืบสานตำนานอาชีพกันแบบยั่งยืนต่อไป ทางกลุ่มก็จะมีการนำเด็กนักเรียนมาฝึกการสานเสื่อที่กลุ่มทุกวันพุธ เพื่อให้เด็ก ๆ ลูกหลานในหมู่บ้านได้เรียนรู้ ได้ซึมซับอาชีพของบรรพบุรุษ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่เด็กส่วนใหญ่นั้นให้ความสนใจมาก และอย่างที่บอกว่าเด็กในหมู่บ้านเราทุกคนมีพื้นฐานการสานเสื่อกันอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากนักในการสอนให้สานได้เก่ง” จินตนาเล่า
   
ส่วน ยายกลิ่น วัย 77 ปี อาวุโสในกลุ่มแม่บ้านสืบสานตำนานเสื่อกก ก็เล่าให้ทีม “วิถีชีวิต” ฟังว่า ตัวยายเองตั้งแต่เกิดมาจนจำความได้ก็อยู่กับเสื่อมาตลอด เห็นรุ่นปู่ย่าตายาย มาจนถึงรุ่นพ่อแม่ นั่งสานเสื่อกันเป็นกิจวัตร เป็นอาชีพ ซึ่งยายเองก็ถูกสอนให้สานเสื่อตั้งแต่เด็ก ยังไม่เกิน 10 ขวบก็เริ่มสานเสื่อเป็น และทำเรื่อยมา
   
ยายกลิ่นบอกว่า สมัยก่อนยายก็เป็นกังวลในเรื่องที่อาชีพการสานเสื่อของหมู่บ้านจะหายไป เพราะว่าคนรุ่นหลานรุ่นเหลนไม่ค่อยมีความสนใจอาชีพสานเสื่อกกสักเท่าไร เพราะอาชีพสานเสื่อรายได้มันน้อย เด็กรุ่นหลัง ๆ จึงหนีไปยึดทำอาชีพอื่นกันหมด ที่จะมาสนใจอาชีพโบราณของหมู่บ้านมีน้อยมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องทำการอนุรักษ์อาชีพของบรรพบุรุษของเราไว้ ซึ่งการตั้งกลุ่มสานเสื่อก็เป็นวิธีการที่ดี ที่ได้ผลอย่างที่เห็นในวันนี้
       
“การสานเสื่อที่หมู่บ้านเรา มันเป็นภูมิ ปัญญาที่สืบสานสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตกทอดกันมารุ่นสู่รุ่น มีการสืบทอดกันมาไม่ต่ำกว่า 200 ปีแล้ว ไม่อยากให้มันต้องสูญหายไป อยากให้ลูกหลานสืบทอดกันต่อไป ถ้าปล่อยให้อาชีพที่สืบทอดทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษต้องสูญหายไป มันก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจเศร้าใจ” ...เป็นอีกประโยคจากปากของยายกลิ่น-คนสานเสื่อแห่งเมืองแกลง จ.ระยอง
   
แต่ก็เชื่อว่า “เสื่อ” จะยังคงเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ขึ้นชื่อของพื้นที่แถบนี้ต่อไปอีกตราบนาน.

อาชีพบอกเล่าประวัติศาสตร์

“อาชีพสานเสื่อของที่บ้านแกลงนี้ถือได้ว่าไม่ได้เป็นอาชีพที่ธรรมดา”...เป็นการระบุของ สยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมขยายความว่า จากนิราศเมืองแกลงที่ท่านสุนทรภู่ได้ประพันธ์ขึ้นช่วงการเดินทางมาหาผู้เป็นบิดาที่เมืองระยองนั้น เป็นบันทึกถึงเรื่องราวสถานที่ต่าง ๆ ที่ท่านได้เดินทางผ่าน และในบันทึกมีการกล่าวถึงวิถีชีวิตชุมชนของชาวบ้านที่ท่านได้พบเห็น อย่างที่บ้านแกลงที่ท่านได้กล่าวไว้ในบันทึกก็ประมาณว่าเมื่อมาถึงบ้านแกลงก็ได้เห็นผู้หญิงสานเสื่อ มองไปทางไหนก็เห็นแต่สานเสื่อกันทั้งหมู่บ้าน
   
“ทำให้รู้ว่าที่บ้านแกลงนี้ทำอาชีพสานเสื่อกันมากว่า 200 ปี และปัจจุบันชาวบ้านที่นี่ก็ยังคงทำอาชีพสานเสื่อกันอยู่ เป็นการอนุรักษ์รักษาอาชีพของบรรพบุรุษไว้ไม่ให้สูญหาย อาชีพนี้ถือได้ว่าไม่ใช่อาชีพธรรมดา เพราะไม่ได้ขายฝีมืออย่างเดียว แต่ยัง บอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ด้วย เป็นอาชีพที่มีเรื่องราวบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของสุนทรภู่ ที่มาเยือนเมืองแกลงเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว” ผู้ว่าฯ สยุมพรกล่าว.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=5444&categoryID=524

--
Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://www.pdc.go.th
http://www.biz652.com
http://dbd-52.hi5.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น