วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ไม่มี"ชนชาติขอม"อยู่ในโลก เป็นชื่อทางวัฒนธรรม ใครๆ ก็เป็น"ขอม"ได้ ถ้านับถือพราหมณ์ หรือพุทธมหายาน


วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11457 มติชนรายวัน


ไม่มี"ชนชาติขอม"อยู่ในโลก เป็นชื่อทางวัฒนธรรม ใครๆ ก็เป็น"ขอม"ได้ ถ้านับถือพราหมณ์ หรือพุทธมหายาน


คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม



ปรับปรุงจากหนังสือ 2 เล่ม ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

(อักษรไทย มาจากไหน? สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548

(คนไทย มาจากไหน? สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548



"ขอม" เมืองละโว้


ละโว้เป็นรัฐประชาชาติ ที่มีประชากรหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายปะปนอยู่ด้วยกัน แล้วล้วนเป็น "เครือญาติ" กันทางสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเป็นเครือญาติชาติภาษา เพราะในยุคนั้นภาษายังร่วมกันใกล้ชิดกว่าทุกวันนี้จนแยกไม่ได้แน่นอนเด็ดขาดอย่างปัจจุบัน

ประชากรรัฐละโว้นับถือศาสนาต่างกันอย่างน้อย 3 ศาสนา คือ ศาสนาผี เป็นของพื้นเมืองดั้งเดิม ศาสนาพราหมณ์ กับศาสนาพุทธ รับจากชมพูทวีป (อินเดีย)

เฉพาะศาสนาพุทธ ครั้งนั้นกำลังยกย่องนิกายมหายาน ที่มีต้นแบบอยู่เมืองพิมาย (เมืองนครธมก็ได้แบบไปจากเมืองพิมายด้วย) ซึ่งล้วนสร้างศาสนสถานด้วยหิน ที่เรียกภายหลังว่าปราสาทหิน เช่น ปราสาทหินพิมาย เป็นฝ่ายพุทธมหายาน

พราหมณ์กับพุทธมหายานเน้นพิธีกรรมเป็นสำคัญ เห็นได้จากชีวิตประจำวันที่หมดไปกับการบวงสรวงพลีกรรมอย่างทุ่มเทเพื่อสังเวยให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจเหนือธรรมชาติที่มนุษย์ไม่รู้จักและควบคุมไม่ได้ จนท้ายสุดก็รับไม่ไหว เลยหันไปพึ่งพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทสืบจนทุกวันนี้

คนสมัยต่อมาที่นับถือพุทธเถรวาท มีความทรงจำเรียกพวกนับถือพราหมณ์กับมหายานเมืองละโว้อย่างรวมๆ ว่า "ขอม" ทั้งหมด โดยไม่ได้จำแนกกลุ่มชาติพันธุ์หรือชาติภาษา

(ภาพบน) - พลไพร่ในขบวนแห่ของ"ขอม"ละโว้จากสองฝั่งเจ้าพระยา และสยามจากสองฝั่งโขง ต่อมาเมื่อใช้ "อักษรไทย" ก็เรียกตัวเองว่า"คนไทย" เพราะเติบโตขึ้นเป็นชนชั้นสูง มีอำนาจปกครองบ้านเมืองและรัฐในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ภาพล่าง) - ขบวนแห่สยามอยู่หน้าสุด (ขวา) ตามด้วยขบวนแห่"ขอม"ละโว้ อยู่ถัดไป (ซ้าย) บนภาพสลัก"ระเบียงประวัติศาสตร์" ที่ปราสาทนครวัดในกัมพูชา แสดงว่าชาวสยามในตระกูลไทย-ลาว กับชาว"ขอม"ละโว้ในตระกูลมอญ-เขมร เป็น"เครือญาติ""อยู่ปะปนกันแล้วรับแบบแผนอิทธิพลทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เป็นเหตุให้ชาวสยามรับตัวอักษรขอม(เขมร)ไปใช้จนคุ้นเคย ในที่สุดก็วิวัฒนาการเป็นอักษรไทย


มีหลักฐานเก่าสุดอยู่ในจารึกวัดศรีชุม (เมืองสุโขทัย) ซึ่งเป็นจารึกภาษาไทยเก่าสุดของรัฐสุโขทัยในคำว่า "ขอมเรียกพระธม" กับชื่อ "ขอมสบาดโขลญลำพง"

ขอมสบาดโขลญลำพง ไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้เป็นวงศ์เครือญาติของกษัตริย์กรุงสุโขทัยศรีสัชนาลัยนั่นแหละ

คำว่า "ขอม" ยังเรียกกันอีกหลายอย่าง เช่น "กรอม" หรือ "กล๋อม" หรือ "กะหลอม" หรือ "กำหลอม" และไม่ใช่ชื่อเรียกตัวเอง แต่เป็นชื่อที่คนอื่นใช้เรียก โดยมีความหมายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างๆ เช่น หมายถึงพวกที่อยู่ทางใต้ แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาถึงลุ่มแม่น้ำโขง ตัดผมสั้น นุ่งโจงกระเบน นับถือฮินดู (พราหมณ์) หรือพุทธมหายาน ฯลฯ โดยมิได้ระบุชัดเจนว่าเป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ใด และจะเป็นใครก็ได้ที่เข้ารีตอยู่ในระบบความเชื่ออย่างหนึ่งในดินแดนทางใต้แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปากแม่น้ำโขง ในสมัยหนึ่งจะถูกเรียก "ขอม" ทั้งหมด

ในสมัยหลังๆ มักจะให้ "ขอม" หมายถึงชาวเขมรในกัมพูชา โดยไม่จำกัดกาลเวลา

แต่ชาวเขมรในกัมพูชาก็ไม่รู้จักคำว่า "ขอม" และไม่ยอมรับว่าตัวเองคือ "ขอม"

พงศาวดารกรุงสุธรรมวดี (สะเทิม) หรือ "สุธรรมวดีราชวงศ์" ของมอญ กล่าวถึงพวก "กรอม" (ขอม) ยกกองทัพจากกรุง "ละโว้-อโยธยา" ไปตีกรุงสุธรรมวดีเมื่อ พ.ศ.1599 (ค.ศ.1056) ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ ตรวจสอบได้ว่ามิได้หมายถึงชาวเขมรในกัมพูชา หากหมายถึงชาวสยามในบ้านเมืองและแว่นแคว้นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา


ดังนั้นชื่อขอมสบาดโขลญลำพงในจารึกวัดศรีชุมตอนนี้ จึงมิได้หมายถึงขุนนางชาวเขมรจากกัมพูชา

จากร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างแคว้นละโว้ (ลพบุรี) กับบ้านเมืองตอนบน เช่น สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ทุ่งยั้ง ฯลฯ ชื่อขอมสบาดโขลญลำพง ควรหมายถึงผู้มีอำนาจหรือเจ้าเมืองใดเมืองหนึ่งในเขตอิทธิพลของแคว้นละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งเป็นวงศ์เครือญาติเดียวกันกับตระกูลศรีนาวนำถุมแห่งกรุงสุโขทัยศรีสัชนาลัยนั่นเอง



อักษรขอม ก็คืออักษรเขมร

เมื่อเรียกชาวละโว้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่าขอม เลยเรียกตัวอักษรที่ชาวละโว้ใช้ทางศาสนาว่าอักษรขอมด้วย

ศาสนากับอักษรเป็นสิ่งคู่กัน เพราะอักษรใช้ในงานศาสนา ฉะนั้นอักษรจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งของคนยุคนั้น ผู้รู้อักษรก็เป็นบุคคลพิเศษได้รับการยกย่องเป็น "ครู" เสมอนักบวชหรือผู้วิเศษ ถึงขนาดมีอาคมบันดาลสิ่งต่างๆ ได้

คนในตระกูลไทย-ลาวสมัยก่อนๆ ยกย่องผู้รู้อักษรขอมว่า "ครูขอม" การลงคาถาอาคมที่เรียกว่า "ลงอักขระ" ตามสิ่งต่างๆ ต้องใช้อักษรขอม ก็คืออักษรเขมรนั่นเอง ยังใช้อย่างยกย่องสูงยิ่งสืบถึงปัจจุบัน

อักษรขอมไทย เขียนคำภาษาไทย ด้วยอักขรวิธีไทย ลงบนสมุดไทย เป็นตำรับตำรากฎหมายและวรรณคดีต่างๆ นี่เอง นานเข้าก็วิวัฒนาการเป็นตัวอักษรอีกแบบหนึ่ง ที่เรียกกันภายหลังว่าอักษรไทย ดังจะเห็นรูปอักษรบางตัวยังเป็นอักษรเขมร เช่น ฎ ฏ ฐ ฑ ณ ญ เป็นต้น รวมทั้งเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ก็ได้จากเลขเขมรชัดๆ



"อักษรไทย"มาจากอักษรขอม(เขมร)

มีกำเนิดที่รัฐละโว้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา


อักษรไทย ไม่ได้เกิดจากปาฏิหาริย์การประดิษฐ์คิดค้นของใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว และเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดมีขึ้นในปีหนึ่งปีใดเพียงปีเดียว แต่อักษรไทยต้องเกิดจากความจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสังคม ด้วยพลังผลักดันของศาสนา-การเมือง และวัฒนธรรมของสังคมในสยามประเทศเป็นระยะเวลายาวนานมากก่อนเป็นอักษรไทย โดยวิธีดัดแปลงจากอักษรที่มีอยู่ก่อนและใช้กันมาก่อนอย่างคุ้นเคย

ถ้านับจากอักษรไทย ย้อนกลับไปหารากเหง้า จะพบว่าได้แบบจากอักษรเขมรที่เรียก "อักษรขอม" ย้อนกลับไปเก่ากว่าอักษรขอมจะพบอักษรทวารวดี อักษรปัลลวะทมิฬ ตามลำดับ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นต้นแบบให้มีอักษรไทยขึ้นที่รัฐละโว้ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อราวหลัง พ.ศ.1700

หน้า 20

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra01230752&sectionid=0131&day=2009-07-23
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น