วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ลูกปัดนกและหน้าปริศนาจาติม ที่กำลังติดตามและต้องตามติด


วันที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11439 มติชนรายวัน


ลูกปัดนกและหน้าปริศนาจาติม ที่กำลังติดตามและต้องตามติด


คอลัมน์ (แกะ) รอยลูกปัด

โดย บัญชา พงษ์พานิช plearnstan@gmail.com




ลายแก้วโมเสกรูปนก หน้าคน และ ช่อดอกไม้

กำลังนี้ หรือพูดอย่างตรงๆ ก็คือวันนี้ (5 กรกฎาคม 2552) ผมกำลังไปติดตามแกะรอยลูกปัดปริศนาของวงการลูกปัดโลกอยู่ที่เกาะชวากับคณะนักวิจัยจากประเทศเกาหลีและคุณหมอเจมส์ แลงค์ตัน เพื่อนำไปประกอบสารคดีพิเศษในโอกาสครบรอบการสถาปนาของสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเกาหลีในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ที่เขามุ่งสืบหาร่องรอยประวัติศาสตร์ยุคแรกเริ่มของชาติ และพบว่าลูกปัดนี้เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญของชาติ

ลูกปัดเม็ดนี้มีพิเศษหลายแง่ และที่สำคัญของเกาหลีก็คือว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่เม็ดลูกปัดในสุสานราชวงศ์ที่ทำด้วยเทคนิคพิเศษสลับสีใส่ลวดลายอย่างแก้วโมเสกเช่นนี้ ดูให้ดีจะเห็นเป็นรูปนก 4 ตัวที่เขามองกันว่าเป็นเป็ด แล้วก็มีหน้าคน 4 หน้าที่มีเครื่องประดับศีรษะและหูรวมทั้งสายสร้อยร้อยคอ กับยังมีช่อดอกไม้แซมอีก 4 ช่อด้วย ทั้งหมดเป็นเนื้อแก้วสีน้ำเงิน ขาว เหลืองและแดง

เท่าที่พบลูกปัดแบบนี้แล้วในเกาหลี มีเม็ดเดียวนี้ พบเรียงวางอยู่ที่ตำแหน่งของทรวงอกใน สุสานราชวงศ์เกาหลีโบราณ สมัยอาณาจักรซิลลาเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ประกอบด้วยลูกปัดหินคาร์นีเลียนหลายรูปทรง กับหินน้ำค้างหนึ่งเม็ด หยกเขียวทรงกระบอกหนึ่งเม็ดแล้วก็แก้วอินโดแปซิฟิกสีน้ำเงินอีกจำนวนหนึ่ง

ลูกปัดแก้วโมเสกแบบจาติมทำใหม่จากแท่งแก้ว



จากการศึกษาระบุว่าเป็นสุสานของเจ้าหญิง และ ถือเป็นหนึ่งเดียวที่สำคัญยิ่งของชาติ ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติแห่งชาติหมายเลข 634 (National Treasure 634) ที่แทบทุกคนในเกาหลีรู้จักดี ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกียงจู อันเป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรซิลลาโบราณ

เท่าที่มีการศึกษา เดิมเชื่อว่าน่าจะเป็นลูกปัดแก้วโมเสกจากดินแดนตะวันตกผ่านมายังเกาหลีตามเส้นทางสายไหมผ่านทางประเทศจีน แต่ในภายหลังเริ่มมีหลักฐานการค้นคว้าว่าลูกปัดแก้วโมเสกแบบนี้มีทำมากในดินแดนชวาตะวันออกมาตั้งแต่โบราณประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 เช่นกัน นิยมเรียกในวงการลูกปัดว่า จาติม ซึ่งย่อมาจาก Jawa Timur ซึ่งหมายถึงดินแดนตะวันออกไกลของเกาะชวา

สายสร้อยลูกปัดจากสุสานราชวงศ์ซิลลา ในประเทศเกาหลี



โดยให้สังเกตที่รูจะเห็นเป็นรอยยืดเข้าหารูของลายแก้วซึ่งเกิดจากการตัดแท่งแก้วที่ประดับลายให้เป็นเม็ดลูกปัด ลายแก้วทั้งหลายจึงยืดเข้าหาตำแหน่งของรู ทำให้เกิดโจทย์ใหญ่ให้ต้องลงมาตามรอยลูกปัดนี้กันที่เอเชียอาคเนย์ในฐานะเส้นทางสายไหมทางทะเลอีกเส้นทางหนึ่งด้วย

และเป็นที่สนใจมากขึ้นเมื่อคุณหมอเจมส์ แลงค์ตันเขียนบทความทางวิชาการเสนอในเกาหลีว่าหน้าคนที่ปรากฏนั้นอาจเป็นหน้าพระพุทธเจ้าก็ได้ เพราะในสมัยนั้นดินแดนแถบนี้เป็นแดนพุทธที่สำคัญ สัมพันธ์กับอินเดียและเอเชียตะวันออกในฐานะฐานการเดินทางแสวงบุญของชาวพุทธมาแต่โบราณ ข้อสันนิษฐานนี้ยังเป็นที่กังขาของหลายฝ่ายซึ่งต้องแกะหาร่องรอยกันต่อไป

แต่ที่ผมแกะรอยและได้พบแล้วนั้น ทุกวันนี้ที่ชวาตะวันออกยังมีการทำลูกปัดแก้วแบบโบราณอย่างนี้อยู่มากมาย แว่วมาว่าที่ส่งขายไปทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะที่ชวา บาหลี อินโดนีเซีย แล้วส่งผ่านมาถึงเมืองไทยที่สวนจตุจักรนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะไปจากชวาติมอร์แห่งนี้นี่เอง

ดังตัวอย่าง ลูกปัดนกและหน้าปริศนาจาติม ที่เพิ่งถูกขอให้ทำใหม่โดยช่างฝีมือดีที่เป็นชาวนาในหมู่บ้านห่างไกล มีแท่งแก้วลายนกอันน้อยที่ตัดเอามาแปะหลอมรอบท่อนแก้วร่วมกับแท่งแก้วลายหน้าคนและช่อดอกไม้ ก่อนจะหลอมให้เชื่อมกันแล้วตัดออกเป็นเม็ดๆ อย่างนี้

แกะรอยมาถึงขนาดนี้ เห็นทีจะต้องติดตามและตามติดให้ได้นะครับว่าลูกปัดอย่างนี้ก็มีด้วย มีทั้งที่เก่าแก่และสูงค่า มีทั้งที่ทำใหม่ตามตัวอย่าง หากท่านใดพบเห็นที่ไหนช่วยบอกด้วยเพื่อจะได้ช่วยกันแกะรอยกันต่อไป

ข่าวว่ามีอีกเม็ดตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูกปัดที่รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกาโน่น ส่วนในเมืองไทยใครมีผมไม่ทราบ ทราบแต่ว่ามีของใหม่เข้ามาบ้างแล้ว

หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun01050752&sectionid=0120&day=2009-07-05
 
 






แบ่งปันรูปถ่ายกันอย่างง่ายดายด้วย Windows Live™ Photos ลากแล้วปล่อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น