วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สายน้ำโขงวิถีแห่งตนผ่านศิลป์/จรรโลงศิลป์

สายน้ำโขงวิถีแห่งตนผ่านศิลป์/จรรโลงศิลป์
ข่าววันที่ 2 กรกฎาคม 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

จรรโลงศิลป์

เนติ โชติช่วงนิธิ

 

 

สายน้ำโขง วิถีแห่งตนผ่านศิลป์

            แม่น้ำโขง บริเวณท่าเสด็จจังหวัดหนองคายในต้นฤดูฝนปลายเดือนมิถุนายน อีกไม่ช้านี้พงหญ้าก่อใหญ่เล็กขึ้นตามริมตลิ่งเล่นอ้อล้อกับสายน้ำก็จะจมอยู่ใต้น้ำ เมื่อฤดูน้ำในแม่น้ำโขงหลากลงมาทางตอนเหนือของไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) เข้าท่วมอย่างเต็มที่

            แม้จะเป็นเรื่องที่อธิบายในทางการปกครองของสองประเทศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องขยายเนื้อความ แต่พลเมืองของสองฝั่งโขงอันมีเชื้อสายพงศ์พันธุ์และภาษาที่สื่อสารเดียวกันมาช้านาน เป็นตัวเชื่อมสังคมวัฒนธรรมที่มิแยกออกจากก่อเผ่าพันธุ์และสายน้ำโขง ยังดำเนินวิถีชีวิตไปตามรูปแบบของแต่ละคน บ้างทำมาค้าขาย บ้างก็หาปลา และบางคนทำหน้าที่ศิลปินวาดภาพวิถีชีวิตสองฝั่งโขง เพื่อสื่อสารมิตรภาพซึ่งกันและกัน

อย่างที่นิทรรศการวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ สานสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตจังหวัดหนองคาย เพิ่งเสร็จสิ้นการแสดงไปหมาด ๆ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 มีศิลปินแห่งชาติของไทย 5 ท่าน กมล ทัศนาญชลี ผู้จุดประกายโครงการมาแต่เริ่มแรก เช่นเดียวกับ ถวัลย์ ดัชนี ประหยัด พงษ์ดำ และสมทบ เดชา วราชุน อิทธิพล ตั้งโฉลก รวมทั้งศิลปินพื้นถิ่นของไทย ลาว และเวียดนาม 30 ชีวิต 50 ชิ้นนำผลงานเข้าร่วมโครงการนิทรรศการชุดนี้

ภาพเส้นสายลายสีน้ำมัน อะครีลิคบนผ้าใบ ไม่ว่าภาพสายน้ำโขง ผลงานกมล ภาพม้าและเสือ สัญลักษณ์สีดำน้ำมัน ผลงานถวัลย์ ภาพนกฮูกคู่แสดงออกถึงครอบครัว ผลงานประหยัด ภาพสื่อวัฒนธรรมสองฝั่งโขง ผลงานเดชา และในความหมายแถบแดง ผลงานอิทธิพล ในส่วนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) คำสุข แก้วมิ่งเมือง ศิลปินลาวดีเด่น ถ่ายทอดจิตรกรรมร่วมสมัย กับในส่วนศิลปินร่วมสมัยของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แสดงศิลปกรรมจัดตั้ง

ผมสนทนาผู้จุดประกายศิลปกรรมลุ่มน้ำโขง สองศิลปินฯ คือกมล และถวัลย์ ผมเรียกอาจารย์แทนสรรพนามศิลปิน เช่นกันที่ผมเรียกศิลปินฯ ท่านอื่น อ.กมล เล่าที่มา "ที่จริงก่อนหน้านี้เรามีโครงการศิลปกรรมลุ่มน้ำโขงอยู่แล้ว ภายใต้ชื่อที่เรียกศิลปินฯ วาดฟ้าฟื้น เปลวศิลป์ แต่เที่ยวนี้เรานำเอาศิลปินของลาว เวียดนาม ศิลปินไทยที่เป็นครูบาอาจารย์ในแถบภาคอีสานมาร่วมเป็นสายสัมพันธ์ศิลปกรรมลุ่มแม่น้ำโขง"

อ.ถวัลย์ ขยายความ "ต้องทราบเป้าหมายปรัชญาก่อนว่า ครั้งแรกเราเป็นศิลปินฯ สัญจร ต่อมาเราได้ขยายพืชพันธุ์เป็นศิลปินลุ่มแม่น้ำโขง" และเสริมอีก "ต่อมากมลนำศิลปินอเมริกามาสมทบ ดังนั้นแล้วจึงเป็นการรวมตัวศิลปินสองทวีปทั้งเอเชียจีน พม่า ลาว ไทย ฯลฯ และอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ฯลฯ มาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโดยผ่านงานศิลปะ"

ผมแทรกจังหวะ ยิงคำถาม "ทำไมเที่ยวนี้ไม่มีกัมพูชา?"

อ.ถวัลย์ ให้เหตุผล "เรามีเวลาจัดกิจกรรมสั้นมาก เราเองเชิญกัมพูชาและพม่าไม่ทัน ที่เชิญได้ทันมีเวียดนาม ลาว และฝ่ายไทยด้วยกันเชิญศิลปินพื้นถิ่นลุ่มน้ำโขง และมีขอนแก่น บุรีรัมย์ มหาสารคาม นอกจากนี้มีศิลปินภาคเหนือที่เคยไปแสดงศิลปกรรมในอเมริกา รวมแล้ว 30 ท่าน 50 ชิ้นผลงานจิตรกรรมมาแสดงครั้งนี้"

ที่จริง ผมยังมีบทสนทนากับสองศิลปินฯ อยู่มาก แต่ต้องขอย่นย่อเนื้อความ เพื่อหันมาฟังทัศนะของศิลปินลาว คำสุข วัย 69 ปี เว้าสำเนียงถิ่นลาว พอจะจับใจความได้ไม่ยากเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยในอุดมคติ

"เอิ่นสนใจมาตั้งแต่หนุ่ม ไปเรียนที่เวียดนามอยู่หลายหนจนจบชั้นปริญญาตรี แล้วมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนในเวียงจันทน์ระยะหนึ่ง แล้วทำกิจกรรมฮูปแต้มหรือจิตรกรรมผนังวิหารอยู่จำนวนไม่น้อย กระทั่งประธานประเทศได้ยกย่องให้เป็นศิลปินฯ นับตั้งแต่ประเทศได้ปลดปล่อย 30 ปีมานี่ มีผลงานดีเด่นมาตลอด"

คำสุข เล่าว่า ผลงานของของลุงไม่ค่อยมีโอกาสได้แสดงในต่างประเทศนัก หรือมีเพียงไม่กี่ครั้งถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียดนาม สวิสเซอร์แลนด์ รัสเซีย ซึ่งภาพจิตรกรรมร่วมสมัยเป็นส่วนใหญ่ ที่สื่อสะท้อนถึงสังคมบ้านเมือง

ศิลปินลาว ยกตัวอย่างภาพรถอีแต๋นตำควาย ที่ปัจจุบันแสดงอยู่ในหอศิลป์สิงคโปร์ สื่อความหมายถึงชาวกสิกรรมได้ขายควาย เอาเงินไปซื้อรถอีแต๋นเข้ามาไถแทน ที่สุดควายคู่ทุกข์คู่ยากกับชาวกสิกรรมมานานก็จะล้มตาย เพราะไม่มีแรง เนื่องจากไม่ได้ไถนา ภาพล้อเกวียนในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสวิสฯ สะท้อนให้เห็นสังคมแต่เดิม บ่แตกต่างกัน ไม่ว่าชนชั้นใดก็ต้องใช้ล้อเกวียนเป็นพาหนะการเดินทาง    

สำหรับภาพจิตกรรมโขลงช้างในนิทรรศการแสดงนี้ ผมสนใจที่ย่อมจะมีความหมาย ลุงกล่าวอย่างภาคภูมิใจ "ช้าง แสดงให้เห็นถึงประเทศลาวเป็นประเทศล้านช้าง มีทั้งช้างเผือก ช้างดอน และยังแสดงถึงพลังของช้าง" ถัดอีกภาพชื่อแมวหลากสี ลุงให้คำจำกัดความ "นำเอาทฤษฎีของเติ้ง เสียง ผิง เปรียบแมวสีอะไรก็ได้ขอให้จับหนูได้เป็นพอ" และเสริมในแง่สังคมวัฒนธรรมที่ว่า "แมวตัวนั้นจะสีอะไรก็ช่างเถอะ และไม่ว่าระบอบการเมืองต่างกันอย่างไร แต่เราทั้งผองมีประเพณีวัฒนธรรมคือกัน เสมือนสายเลือดเผ่ากอเดียวกัน"

ผมได้รอยยิ้มในมิตรภาพ คำพูดที่ลึกซึ้งกินใจของคำสุข ศิลปินฯ ลาว

แน่นอน ภาพจิตรกรรมของศิลปินแต่ละท่านที่นำมาแสดง บางภาพมองแล้วต้องใช้จินตนาการและความคิดสื่อสารคู่กันไปเป็นเรื่องปกติ บางภาพสื่อตรงความหมาย แต่ภาพจิตรกรรมทั้งหมดก็ไม่สำคัญเท่าการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของศิลปินในภาคพื้นลุ่มน้ำโขง อันจะช่วยพลังขับเคลื่อนในโครงการถัดไปของภูมิภาคนี้

ทิ้งท้ายมุมมองภาครัฐ ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวว่า "พร้อมที่จะประสานความร่วมมือในอนุภาคลุ่มน้ำโขง ภายใต้กรอบความสัมพันธ์เพื่อนบ้าน อันจะนำไปสู่การเผยแพร่แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม อันมีแม่น้ำโขงเป็นสายน้ำเชื่อมโยงสังคมวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน รวมทั้งมูล ค่าเศรษฐกิจร่วมกัน"

            นั่นเท่ากับการเดินทางศิลปินฯ และผมในลาวเที่ยวนี้ เริ่มต้นหลวงพระบางอีกคำรบหนึ่ง

 
  รูปประกอบข่าว
http://www.siamrath.co.th/uifont/NewsDetail.aspx?cid=70&nid=41284


Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com




What can you do with the new Windows Live? Find out

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น