วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

คนที่เป็น"ขอม" คือบรรพชนทั้งของคนไทยและคนเขมร

วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11457 มติชนรายวัน


คนที่เป็น"ขอม" คือบรรพชนทั้งของคนไทยและคนเขมร


คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



เขมรไม่ใช่ขอม หรือขอมไม่ใช่เขมร เป็นประเด็นที่สังคมไทยเคยทักท้วงถกเถียงกันมานานแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่เรือน พ.ศ.2500 ที่มีกรณีพิพาทแย่งปราสาทพระวิหาร แล้วศาลโลกตัดสินเมื่อ พ.ศ.2505 ให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา เลยมีผู้แต่งเพลงลำตัดสะท้อนสำนึกชาตินิยมของคนไทยยุคนั้น ที่พากันเชื่อว่าเขมรไม่ใช่ขอมผู้สร้างปราสาทพระวิหารจึงไม่ควรเป็นเจ้าของ ดังมีกลอน ลำตัดว่า

แขมร์ไม่ใช่ขอมโบราณ ไฉนมาพาลเรียกเอา

ขอมเป็นชาติก่อนเก่า แขมร์มาเข้าทีหลัง

ยุคนั้นไม่มีใครกล้าหาญชาญชัย "พายเรือทวนน้ำ" ออกมาบอกว่า ขอมคือเขมร

แต่มีผู้ซุ่มค้นคว้าเอาไว้โดยไม่มีใครรู้ ว่าขอมคือเขมร และชาติพันธุ์อื่นๆ และอักษรขอมก็คืออักษรเขมร แต่เพิ่งมารู้เมื่อหลัง 6 ตุลาคม 2519 เขาคือ จิตร ภูมิศักดิ์ ค้นคว้าแล้วเรียบเรียงไว้อย่างน้อย 2 เล่ม คือ ความเป็นมาของคำสยาม,ไทย, ลาว, และขอมฯ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519), ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2525) ต่อมาค้นพบต้นฉบับเขียนด้วยลายมือเรื่อง "ขอม" เพิ่มเติม จึงพิมพ์ไว้เป็นภาคผนวกท้ายเล่มด้วย เมื่อ พ.ศ.2547

(ซ้าย) ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม ของ จิตร ภูมิศักดิ์ (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2547) มีภาคผนวกเรื่อง"ขอม" ค้นพบล่าสุด (ขวา) ปราสาทพระวิหาร ทำไม ? มาจากไหน (พิมพ์โดย กองทุนแบ่งปันเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ เมื่อ พ.ศ. 2551) มีรายละเอียดตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีว่า ขอม, เขมร, ไทย, ลาว, ฯลฯ มีบรรพชนร่วมกัน


ล่าสุด มีผู้เสนอความเห็นว่า ขอมคือไทย ไม่ใช่เขมร ข้อคิดเห็นกรณีปราสาทนครวัด พระวิหาร และพิมาย (โดย ทวิช จิตรสมบูรณ์ พิมพ์ใน ASTV ผู้จัดการ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม 2552) แล้วผู้ใหญ่ที่เคารพนับถืออย่างสูงได้กรุณาถ่ายสำเนาส่งแฟ็กซ์มาให้ผมอ่านเพื่อแสดงความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

ก่อนจะบอกว่าขอมคือไทย ไม่ใช่เขมร ต้องอธิบายพร้อมหลักฐานและร่องรอยก่อนว่า ขอม, ไทย, เขมร, เป็นใคร? ทำไม? มาจากไหน? มีลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน หรือต่างกันอย่างไร?

ถ้ายังไม่บอก หรือบอกไม่ได้ ก็ยังฟังไม่ชัดว่าขอมคือไทย ไม่ใช่เขมร

แต่เรื่อง "ขอม" ผมเคยเขียนอธิบายไว้ในเอกสารชื่อบ้านนามเมืองเรื่อง เมืองพระประแดง นครเขื่อนขันธ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์แจกในงานเทศกาลสงกรานต์ 13 เมษายน 2550) กับในหนังสือปราสาทพระวิหาร ทำไม ? มาจากไหน (พิมพ์โดยกองทุนแบ่งปันเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ เมื่อ พ.ศ.2551) จะคัดมาให้อ่านมีดังนี้

"ขอม" ไม่ใช่ชื่อชนชาติเฉพาะ ฉะนั้น ชนชาติขอมจึงไม่มีจริง

แต่ "ขอม" เป็นชื่อทางวัฒนธรรมใช้สมมุติเรียกคนบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่นับถือศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) และพุทธคติมหายาน แล้วใช้ภาษาเขมรสื่อสารในชีวิตประจำวัน กับใช้อักษรเขมรในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

เช่นเดียวกับคำว่าแขก ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาอิสลาม คำว่าคริสต์ ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาคริสต์

ศูนย์กลาง "ขอม" ครั้งแรกอยู่รัฐละโว้ (ลพบุรีโบราณ) ต่อมาย้ายลงไปอยู่ที่อโยธยาศรีรามเทพ (ต่อไปคือกรุงศรีอยุธยา) แล้วเลื่อนขยายไปอยู่กัมพูชา

ด้วยเหตุนี้ใครก็ตาม ไม่ว่า มอญ เขมร มลายู ลาว จีน จาม หรือ ไทย ฯลฯ ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) และพุทธคติมหายานอยู่ในสังกัดรัฐละโว้-อโยธยา และรัฐกัมพูชาจะได้ชื่อว่า "ขอม" ทั้งนั้น

แต่คนทั่วไปในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยมักเข้าใจต่างกันเป็น 2 อย่างว่า "ขอมไม่ใช่เขมร" และ "ขอมคือเขมร"

ฉะนั้น บรรพชนคนไทยสายหนึ่งเป็น "ขอม" หรือ "ขอม" ก็เป็นบรรพชนคนไทย แล้วเป็นบรรพชนคนเขมรด้วย จะปฏิเสธความจริงดังนี้มิได้เลย


หน้า 20
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra03230752&sectionid=0131&day=2009-07-23

--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com
http://lifeanddeath2mcu.blogspot.com
http://www.parent-youth.net
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
www.patani-conference.net
http://www.thaihof.org
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://elibrary.nfe.go.th
http://dbd-52.hi5.com
http://www.thaisara.com
http://www.rmutr.ac.th
http://www.bedo.or.th/default.aspx
www.chula.ac.th/visitors/thai/calendar.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น