วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

7 พันธุ์กล้วยไม้พระราชทานนาม

7 พันธุ์กล้วยไม้พระราชทานนาม

กล้วยไม้เป็นพืชดอกที่มีความหลากหลายมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง มีการค้นพบชนิดใหม่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อมีการค้นพบหรือผสมพันธุ์ใหม่ได้ จึงมีการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ หรือเป็นชื่อที่เป็นสิริมงคล และในโอกาสนี้ก็มีพันธุ์กล้วยไม้ที่ได้รับพระทานนามที่หาชมได้ยากมาให้รู้จักกัน...

กล้วยไม้แคทลียา ควีนสิริกิติ์ พระนามของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นกล้วยไม้กลิ่นหอมหวานอ่อนๆ ฝักรูปทรงสามเหลี่ยม ออกดอกตลอดปี ลูกผสมระหว่างต้นแม่พันธุ์ Cattleya Bow Bells และต้นพ่อพันธุ์ Cattleya Obrieniana ซึ่งบริษัท Black & Flory Ltd. ประเทศอังกฤษ เป็นผู้ผสมขึ้นและจดทะเบียนชื่อพันธุ์ว่า Exquisite เมื่อปี พ.ศ.2501

เป็นพันธุ์กล้วยไม้ที่สวยงามมากจนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากราชสมาคมพืชสวนอังกฤษ (The Royal Horticultural Society) จึงได้มีการขอพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นชื่อกล้วยไม้พันธุ์ดังกล่าว และได้ขึ้นทะเบียนลูกผสมใหม่จากราชสมาคมพืชสวนอังกฤษ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2501
กล้วยไม้รองเท้านารีพริ้นเซสสังวาลย์ กล้วยไม้พระนาม สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พันธุ์รองเท้านารีลูกผสมระหว่างต้นแม่พันธุ์ รองเท้านารีช่องอ่างทอง (Paph. godefroyae var. angthong) และต้นพ่อพันธุ์ รองเท้านารีดอยตุง (Paph. charlesworthii) โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง,โครงการพัฒนาดอยตุง,จ. เชียงราย เป็นผู้ผสมพันธุ์

ให้ดอกครั้งแรกเมื่อ 1 ธ.ค.2545 ดอกมีสีขาวลายบานเย็นหรือบานเย็นเข้มทั้งดอกออก ส่วนใหญ่จะมี 1 ดอกต่อช่อ ขนาดประมาณ 6 ซม. ก้านช่อดอกสูงประมาณ 10 ซม. ออกดอกเฉลี่ยประมาณปีละ 2 ครั้ง ได้รับการขึ้นทะเบียนลูกผสมใหม่จากราชสมาคมพืชสวนอังกฤษ เมื่อ 31 ธ.ค.2547
กล้วยไม้หวายพันธุ์ชมพูนครินทร์ ประทานนามโดย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นกล้วยไม้ลูกผสมระหว่างต้นพ่อพันธุ์ บลัชชิ่ง (Dendrobium Blushing) และต้นแม่พันธุ์ เอริก้า (Dendrobium "Arica") นายสวง คุ้มวิเชียร แห่งแอร์ออร์คิด เป็นผู้พัฒนาพันธุ์

ลักษณะดอกมีสีโอโรส (สีขาว อมชมพู อมส้ม) ปากดอกเป็นสีชมพูแดง สวยงามและคงทน เป็นกล้วยไม้ที่นิยมนำมาประดับชนิดจัดโชว์ทั้งต้นและดอก ลักษณะพิเศษคือ เมื่อสะท้อนแสงไฟจะเห็นเกล็ดเงินระยิบระยับอ่อนๆ แฝงอยู่ในกลีบดอก ในช่วงอากาศหนาว ดอกจะเปลี่ยนสีเป็นสีโอโรสเข้มจัดทั้งดอก ต้นกล้วยไม้พันธุ์นี้มีขนาดกะทัดรัด ความสูงของต้นและดอกเฉลี่ยประมาณ 30-40 ซม. ออกดอกเฉลี่ยมากกว่า 3 ครั้งต่อปี
กล้วยไม้แอสโคเซ็นดา สุคนธรัศมิ์ พระราชทานนามโดย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นแอสโคเซ็นดาลูกผสมระหว่างต้นแม่พันธุ์ คือ แวนดาสามปอยขุนตาล (Vanda denisoniana) และต้นพ่อพันธุ์ คือ แอสโคเซ็นดา คุณนก (Ascocenda Khun Nok) โดย นายปริยุตต์ ยุวานนท์ (บริษัท สากลออร์คิดส์) ผู้พัฒนาพันธุ์และเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานชื่อพันธุ์กล้วยไม้ ซึ่งบริษัทสากล ออร์คิด ได้ทูลเกล้าถวายเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2551 พระราชทานชื่อว่า "สุคนธรัศมิ์" แปลว่ามีกลิ่นหอมอบอวลจรุงใจ ตามพระนาม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ พระราชทานชื่อเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2551 ได้รับการขึ้นทะเบียนลูกผสมใหม่จากราชสมาคมพืชสวนอังกฤษ เมื่อวันที่ 29 พ.ศ.2551 ลักษณะดอกมีขนาดประมาณ 1.5 นิ้ว กลีบดอกส่วนปลายเป็นสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอมนุ่มนวล กลิ่นจะหอมมากในช่วงเช้า และหอมตลอดทั้งวัน ออกดอกตลอดทั้งปี
กล้วยไม้เอื้องศรีเชียงดาว พระราชทานนามโดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นกล้วยไม้ดิน สูง 10-25 ซม. แผ่นใบรูปไข่กว้าง มีเส้นใบขนานตามยาวประมาณ 8-10 เส้น และมีจุดประสีแดงอมม่วงทั่วไป ช่อดอกสูง 10-30 ซม. มีประมาณ 4-12 ดอก ดอก สีชมพูมีประ สีชมพูเข้ม กลีบข้างเป็นสีชมพูแกมขาว แผ่คล้ายหูค่อนข้างกลม สีเขียวแกมชมพู กลีบปากมีจุดประสีแดงหรือสีออกแดงแกมชมพู

ส่วนปลายแผ่เป็น 3 พูตื้นๆ ขนาดประมาณ 10-11 มม. เส้าเกสรเป็นก้อนใหญ่ งวงน้ำหวานเป็นหลอดยาวโค้ง ขนาดยาวประมาณ 11-14 มม. เป็นพืชชนิดใหม่พบเฉพาะที่ดอยเชียงดาว ในประเทศไทย ที่ระดับความสูง 1,800-2,000 ม. ดอกบานช่วงเดือน เม.ย. - มิ.ย.
กล้วยไม้ฟาแลนนอพซิส พรินเซสจุฬาภรณ์ กล้วยไม้พระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณอัครราชกุมารี เป็นกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ที่รัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาได้ทูลเกล้าถวาย นามว่า "ฟาเลนนอพซิส พรินเซส จุฬาภรณ์" (Phalaenopsis Princess Chulabhorn) ซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ของ Royal Botanical Garden Peradeniya ประเทศศรีลังกา เป็นลูกผสม Phalaenopsis Rose Miva กับ Phalaenopsis Kandy Queen ขึ้นทะเบียนลูกผสมใหม่จากราชสมาคมพืชสวนอังกฤษ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2543

ลักษณะดอกมีขนาดดอกใหญ่ กลีบกว้างกลมมน เหมือนฟาเลนนอพซิสขนาดใหญ่พันธุ์อื่นๆ กล่าวคือ เส้นผ่าศูนย์กลางดอก ประมาณ 9 ซม. x 7.5 ซม. กลีบเลี้ยง (sepal) สองกลีบล่างยาวรี สีขาว มีจุดละเอียดสีเลือดหมูประอยู่ตั้งแต่โคนออกมาจนถึงบริเวณกึ่งกลางกลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงกลีบบนที่เป็นรูปยาวรี กับกลีบดอก (petal) สองกลีบข้าง ที่เป็นรูปกลมใหญ่นั้น เป็นสีขาว โดยมีโคนกลีบเป็นสีชมพูอ่อน ซึ่งค่อยๆ จางเรื่อลงไปจนกลืนกับสีขาว ให้ความรู้สึกสวยงามนุ่มนวล
กล้วยไม้หวาย พันธุ์ "โสมสวลี" พระนาม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เป็นลูกผสมระหว่างต้นพ่อพันธุ์ "คอมแพ็คตั้ม โบตาบลู" (Dendrobium compactum BotaBlue) และต้นแม่พันธุ์ "ขาวธนิดาไวท์" (Dendrobium "Thanida White") โดย นายสวง คุ้มวิเชียร (แอร์ออร์คิดส์) เป็นผู้ผสมพันธุ์

ให้ดอกครั้งแรกเดือนมกราคม 2546 ดอกมีสีม่วงครามอ่อน ดอกออกเป็นพวง และด้วยก้านช่อที่ไม่ยาวมาก จึงโดดเด่นและเหมาะสำหรับเป็นกล้วยไม้ประดับ ชนิดจัดโชว์ทั้งต้นและดอก เป็นกล้วยไม้ที่มีลายเส้นสีขาวอ่อนๆ แฝงอยู่ในกลีบดอกและมีคอดอกสีขาว เมื่อดอกเริ่มบานจะมีสีเข้มหลังจากดอกบานเต็มที่ทั้งช่อ สีม่วงของดอกจะสว่างขึ้น มีขนาดกะทัดรัด ความสูงของต้นและดอกเฉลี่ยประมาณ 40-50 ซม. ออกดอกเฉลี่ยมากกว่า 2 ครั้งต่อปี และได้รับประทานนามจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2550




ที่มาข้อมูล : ASTVผู้จัดการอออนไลน์
https://www.myfirstbrain.com/Knowledge_View.aspx?Id=70167&Browsesub2s=1740






Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น