วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

รัฐธรรมนูญฉบับวิถีพุทธ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วันที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11441 มติชนรายวัน


รัฐธรรมนูญฉบับวิถีพุทธ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


โดย โสต สุตานันท์




เกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้น มีปรัชญาแนวคิดที่น่าสนใจอยู่ 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก-เห็นว่าเหตุผลความจำเป็นที่มนุษย์ต้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็เพื่อ "ประโยชน์ต่อตัวมนุษย์" เอง ไม่ว่าจะเพื่อคนรุ่นปัจจุบันหรืออนาคต

หากมนุษย์ทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป จนทำให้ธรรมชาติขาดสมดุล ก็จะทำให้มนุษย์ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากความเสียหายและภัยพิบัติต่างๆ ย่อมตามมา

พูดง่ายๆ ก็คือ แนวคิดนี้ถือว่า "มนุษย์เป็นศูนย์กลาง" ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้

กลุ่มที่สอง-เห็นว่าเหตุผลความจำเป็นที่มนุษย์ต้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็เพื่อ "ประโยชน์ในการรักษาระบบนิเวศ" ให้คงอยู่

แนวคิดนี้ถือว่ามนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทั้งหมดเท่านั้น และมองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเสมอ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องพึ่งพาอาศัยกัน

ดังนั้น หากระบบนิเวศขาดสมดุล มนุษย์ย่อมได้รับความเดือดร้อนไปด้วย

อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดนี้ยึดถือ "ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลาง"

แน่นอนว่า ปรัชญาแนวคิดที่สอดคล้องสัมพันธ์กับแนวทางวิถีแห่งพุทธน่าจะได้แก่แนวคิดของกลุ่มที่สอง เพราะเป็นการมองปัญหาอย่างเป็นองค์รวม กว้างขวาง ลึกซึ้ง คำนึงถึงกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติอย่างครบถ้วนรอบด้านมากยิ่งกว่า

แม้ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งสองแนวคิดจะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อประโยชน์สุขของมนุษย์เอง

แต่หากพินิจพิจารณาอย่างละเอียดก็จะพบว่าทั้งสองแนวคิดได้ก่อให้เกิดผลต่อทิศทางในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกันในหลายเรื่อง เช่น

1.) แนวคิดที่ถือว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางนั้น ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกว่า ตนเองมีความสำคัญสูงสุด เป็นผู้พิชิตโลก มีความเก่งกาจ สามารถเอาชนะธรรมชาติได้เสมอ และมนุษย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดว่า สิ่งใดมีคุณค่า สิ่งใดควรรักษาหรือถูกทำลาย

แนวคิดเช่นนี้ ย่อมทำให้มนุษย์เกิดความอหังการ และตั้งอยู่ในความประมาท แม้บางครั้งอาจดูเหมือนว่า มนุษย์จะสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ แต่ก็คงเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

ในภาวการณ์ของความรู้สึกเช่นนี้โอกาสที่จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดย่อมมีอยู่สูงยิ่ง

ในทางตรงข้าม แนวคิดที่เห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลางนั้น ย่อมทำให้มนุษย์มีความรู้สึกว่า ตนเองเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ตัวหนึ่งของระบบนิเวศเท่านั้น การพัฒนาหรือดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า สอดคล้องกับกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติหรือไม่

มนุษย์จะไม่พยายามเอาชนะธรรมชาติด้วยวิธีการที่ฝืนธรรมชาติ เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล และเกิดพิษภัยต่อมนุษย์

2.) ทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่จำนวนจำกัด ขณะที่ความต้องการหรือกิเลสของมนุษย์มีไม่จำกัด ดุจดั่งคำกล่าวของท่านมหาตมะ คานธี ที่ว่า "โลกมีทรัพยากรเพียงพอที่จะแบ่งปันให้แก่มนุษย์ทุกคนตามที่จำเป็น แต่มีไม่เพียงพอที่จะสนองความโลภของคนแม้เพียงคนเดียว"

แนวคิดที่ยึดถือมนุษย์เป็นศูนย์กลางจึงสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการจัดการทรัพยากร เพราะมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งสนองหรือคุ้มครองประโยชน์ของมนุษย์เป็นสำคัญ

การตัดสินใจในบางครั้งมนุษย์อาจมีอคติเข้าข้างตนเองมากเกินไป เนื่องจากมีกิเลสบดบังไว้

การดำรงชีวิตจึงเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า อยู่อย่าง "ไม่เพียงพอ"

ผลก็คือธรรมชาติอาจถูกทำลายมากเกินไปจนขาดสมดุล

ส่วนแนวคิดที่เห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลางนั้น ย่อมทำให้มนุษย์มองทุกสรรพสิ่งได้อย่างเข้าใจ ในลักษณะเป็นองค์รวม ให้ความยุติธรรมกับทุกชีวิตบนโลกอย่างเท่าเทียมกัน ความเป็นอัตตาในตัวมนุษย์จะน้อยลง ทำให้ดำรงชีวิตในลักษณะที่เรียกว่า อยู่อย่าง "พอเพียง" ทรัพยากรธรรมชาติย่อมดำรงคงอยู่อย่างสมดุลและยั่งยืน

3.) ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน บางเรื่องอาจยังไม่มีความชัดเจน เพราะต้องยอมรับว่าศักยภาพในการเข้าถึงซึ่งความจริงแท้แห่งธรรมชาติของมนุษย์มีอยู่จำกัดในระดับหนึ่งเท่านั้น ผลกระทบบางเรื่องอาจต้องใช้เวลายาวนานจึงจะเห็นผล บางเรื่องอาจส่งผลกระทบโดยอ้อมและยากจะพิสูจน์ได้

ดังนั้น หากมนุษย์ยึดหลัก มนุษย์เป็นศูนย์กลาง แนวโน้มที่มนุษย์จะตัดสินใจเข้าข้างตนเอง โดยเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้าย่อมมีอยู่สูง แนวคิดตามหลักการเรื่อง "การระวังไว้ก่อน" จึงเป็นไปได้ยากที่จะนำมาปรับใช้

ในทางตรงข้าม หากมนุษย์ยึดถือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลางแล้ว มนุษย์ย่อมให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในระบบนิเวศ แม้บางครั้งมนุษย์อาจจะยังไม่เดือดร้อน แต่หากพบว่ามีสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งได้รับผลกระทบ ก็เป็นเหตุผลอันเพียงพอแล้วที่ควรจะใช้มาตรการป้องกันไว้ก่อน

จากที่กล่าวมา ผู้เขียนมีความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมายหรือกฎมนุษย์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดังนี้ คือ

1.) จากการศึกษาตรวจสอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เริ่มตั้งแต่สิทธิชุมชน ตามมาตรา 66-67

หน้าที่ของชนชาวไทย ตามมาตรา 73

และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 85

ผู้เขียนเห็นว่า เป็นหลักกฎหมายที่ดีมากพอสมควร เนื่องจากมีหลักการแนวคิดที่สำคัญ คือ มองปัญหาของระบบนิเวศอย่างเป็นองค์รวม คำนึงถึงการจัดการที่สมดุล-ยั่งยืน และเปิดโอกาสให้บุคคลหรือชุมชนได้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

แต่อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมแล้วดูเหมือนว่า ค่อนข้างจะมีแนวคิดไปในทางกลุ่มที่ยึดถือ "มนุษย์เป็นศูนย์กลาง" มากกว่ารัฐธรรมนูญได้มุ่งเน้นกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ สิทธิประโยชน์ หรือผลกระทบที่จะพึงมีต่อมนุษย์เป็นสำคัญ

ผู้เขียนจึงเห็นว่า หากเราบัญญัติหลักการเพิ่มเติมในทำนองว่า ในการจัดการทรัพยากรนั้นต้องเคารพสิทธิในชีวิตและความเป็นอยู่ของสัตว์โลกหรือสิ่งมีชีวิตทุกชนิดด้วยก็คงจะดีไม่น้อย เพราะทุกชีวิตย่อมมีคุณค่า มีประโยชน์ และมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในโลกผืนนี้อย่างสงบสุขเท่าเทียมกันเช่นเดียวกับมนุษย์

ซึ่งย่อมแน่นอนว่า หากเราเคารพสิ่งมีชีวิตอื่น หรือเคารพธรรมชาติ สิ่งเหล่านั้นย่อมให้ความเคารพและให้ความเป็นธรรมตอบแทนมนุษย์เช่นกัน

ณ วันนี้ คำว่า "สิทธิมนุษยชน" คงไม่เพียงพอสำหรับความสงบสุขและความอยู่รอดของมนุษย์ เราคงต้องมองไกลไปถึง "สิทธิสรรพชีวิตทั้งมวล" ในโลกใบนี้ด้วย

2.) ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ธรรมชาติความต้องการของมนุษย์ไม่มีขีดจำกัดนั้น เป็นเรื่องของความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตนที่เรียกว่า "ตัณหา"

แต่ในทางพระพุทธศาสนานั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกเคยแสดงธรรมเทศนาไว้ว่า ยังมีความต้องการอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีขอบเขตจำกัด คือ ความต้องการคุณภาพชีวิต หรือเรียกว่า "ฉันทะ"

โดยท่านอธิบายขยายความต่อว่าในทางพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหลักความต้องการคุณภาพชีวิตของมนุษย์

กล่าวคือ การที่มนุษย์ต้องการคุณภาพชีวิตนั้น เป็นการแสดงถึงภาวะที่มนุษย์ต้องการพัฒนาตนเองหรือพัฒนาศักยภาพของตนเองขึ้นไป เพราะฉะนั้น สาระอย่างหนึ่งของการพัฒนามนุษย์ก็คือ การที่เราจะต้องพยายามหันเหหรือปรับเปลี่ยนความต้องการจากความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตนมาเป็นความต้องการคุณภาพชีวิต

ทั้งนี้ ท่านเจ้าคุณได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการกินไว้ คือ มนุษย์เรานั้นจะกินอาหารโดยมีจุดประสงค์ความต้องการทั้งสองอย่างทับซ้อนกันอยู่ คือ กินเพื่อสนองตัณหา (อร่อย โก้ แสดงฐานะ ฯลฯ) ซึ่งมีขอบเขตไม่จำกัด และกินเพื่อคุณภาพชีวิต (หล่อเลี้ยงร่างกายให้แข็งแรง มีสุขภาพดี) ซึ่งมีขอบเขตจำกัด

จากหลักการแนวคิดดังกล่าว โจทย์ก็คือว่า เราจะทำอย่างไรให้มนุษย์เสพหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยคำนึงถึงความต้องการเพื่อคุณภาพชีวิตมากยิ่งกว่าเพื่อสนองตัณหา

ถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงคิดถึงคำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" และแน่นอนว่า ผู้เขียนเองก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า ระบบเศรษฐกิจพอเพียงน่าจะมีความสัมพันธ์สอดคล้องเป็นอย่างดีกับคำว่า "การพัฒนาคุณภาพชีวิต"

ดังนั้น บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 (1) และมาตรา 83 ที่กำหนดให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงน่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับโจทย์ดังกล่าวได้

แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าในมาตราถัดไป คือ มาตรา 84 (1) รัฐธรรมนูญกลับบัญญัติไว้ว่า รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งสวนทางกับหลักการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างสิ้นเชิง

เพราะโดยลักษณะสภาพของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด ย่อมพยายามแข่งขันส่งเสริมมนุษย์ให้บริโภคเพื่อสนองตัณหาอย่างไม่มีจำกัดอยู่ในตัว

ก็ขอฝากเป็นแง่คิดต่อท่านผู้อ่านว่า แล้วเราจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกันอย่างไร ให้เหมาะสมลงตัวสอดคล้องกับสังคมไทยและสังคมโลก

3.) หลักการแนวคิดเรื่องหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาที่เหมือนกับปรัชญาแนวคิดของตะวันตก คือ มองว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์ต้องอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว เป็นกลุ่มก้อน จึงจะอยู่รอดปลอดภัยและสงบสุข เพราะมนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อีกทั้งการพัฒนามนุษย์ก็ต้องอาศัยมนุษย์ด้วยกัน และยังเห็นว่าสังคมที่ดี มีระบบระเบียบเท่านั้นที่จะสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ในการที่จะเอื้อให้มนุษย์ใช้สติปัญญา หาเหตุผลพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไปได้

ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้บุคคลและชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุง รักษา หรือใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างกว้างขวาง จึงน่าจะสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างดี

เพราะเมื่ออยู่ร่วมกันก็ต้องเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ไขปัญหา และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะนำหลักการแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน

พระราชบัญญัติป่าชุมชน เป็นตัวอย่างปัญหาเรื่องหนึ่งซึ่งถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

ก็ขอฝากท่านผู้อ่านช่วยกันคิดต่ออีกเรื่องก็แล้วกัน ในฐานะที่เราเป็นสัตว์สังคมครอบครัวเดียวกัน

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนมีเรื่องที่อยากจะขอความกรุณาจากท่านผู้อ่าน คือ เนื่องจากขณะนี้ผู้เขียนกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทและสนใจศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง "นิติศาสตร์แนวพุทธ กับ แนวคิดนิติสตรีศาสตร์"

ดังนั้น หากกัลยาณมิตรท่านใดมีข้อมูล หนังสือ เอกสาร วิทยานิพนธ์ หรือความคิด ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ขอได้โปรดให้ความเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน หรือให้หยิบยืมความรู้บ้าง ก็จะขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

หมายเหตุ ที่อยู่ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ Email Address : Soad_sutanun@yahoo.co.th

หน้า 6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น