วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

Migration Magic นกแต้วแล้ว Pitta nympha

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11369 มติชนรายวัน


Migration Magic


คอลัมน์ ประสานักดูนก

โดย นสพ.ไชยยันตร์ เกษรดอกบัว




ภาพโดย บรรพต กิติกิ่งเลิศ

ฤดูหนาวที่ผ่านมา ไม่มีข่าวใหญ่ ข่าวดังในวงการดูนกสักเท่าไหร่ นกใหม่ นกหายากเงียบหายจ้อย

หากก่อนสงกรานต์ วันปีใหม่ไทยที่เพิ่งผ่านมาแบบทั้งร้อน (แบบแดงเกินดี!) ทั้งเย็นคละเคล้ากัน กลับมีข่าวดังกระพือวงการให้ตื่นเต้นขึ้นมาอีก

ช่วงนี้เป็นฤดูกาลอพยพผ่าน (passage migration) ของนกอพยพ ใช้ประเทศไทยเป็นทางด่วนเชื่อมต่อระหว่างถิ่นอาศัยในฤดูหนาว และถิ่นอาศัยในฤดูผสมพันธุ์ ที่นกอพยพทุกตัวหมายมาดจะเดินทางไปถึงถิ่นที่ทำรังวางไข่ตามชีวิตวิถี

เมื่อวันเสาร์ที่ 11 เมษายนศกนี้ ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม นักถ่ายภาพนกกลุ่มหนึ่ง ปักหลักถ่ายภาพนกอพยพผ่านหลายชนิดที่กำลังแวะพุทธมณฑลอย่างกับจุดแวะพักทางด่วนนั่นแหละครับ

"สัปดาห์ที่ผ่านมา นกจับแมลงหายากระดับห้าดาว เช่น นกจับแมลงคิ้วเหลือง หรือนกสวยๆ ชวนตะลึง เช่น นกแซวสวรรค์ก็โผล่โชว์ตัวกันมาแล้ว มาคราวนี้กลายเป็นนกแต้วแล้วตัวแปลกๆ

เจ้าแต้วแล้วตัวแปลกตัวนั้น หลายคนมองผ่านแวบแรกก็คิดว่าคงเป็นนกแต้วแล้วธรรมดา (Blue-winged Pitta) นกอพยพผ่านที่พบไม่ยากช่วงนี้และเห็นกันจนชินตา

" แต่บางคนเอะใจว่าแม้ก้นจะแดงแจ๋ไม่ต่างกัน แต่ทำไมหัวลายหลากสีกว่า จนภาพนั้นผ่านตานักดูนกรุ่นใหม่ไฟแรง นาม ZeaKoel (แปลว่าอะไร .. ถามไถ่เจ้าตัวกันเองนะครับ) จำแนกอย่างไม่กลัวธงหัก (เพราะครานี้ .. ฟันด้วยดาบคมกริบ คือ จำแนกไม่ผิดตัว) ว่าเป็นนกชนิดใหม่ของเมืองไทย และเป็นนกแต้วแล้วชนิดที่ 13 (และชนิดที่ 14 ในไม่ช้า ..) อีกด้วย คือ Fairy Pitta "

ไม่ธรรมดาแน่ๆ ขนาดชื่อยังบ่งบอกสถานะสูงส่งว่า "นางฟ้า" เลย กลายเป็นของขวัญชิ้นโต ที่ลมร้อนช่วงสงกรานต์หอบมาให้ ต่อแถวนกอพยพหลายชนิดที่กำลังเติมรายชื่อนกในเมืองไทยให้เข้าใกล้ 1,000 ชนิด เข้าไปทุกที

ประสานกอพยพ ผจญอุปสรรคมากมายนานับประการ ทั้งลม ทั้งฝน ยามต้องหลบลี้หนีอุปสรรคแวะพักกลางทาง นกเหล่านี้ต้องค้นหาแหล่งแวะพักที่มีอาหารให้ยังชีวิตต่อไปจนกว่าจะมีแรงเดินทางต่อ รอจนกว่าฝนฟ้าเป็นใจ ทำให้ดงไผ่ใกล้สวนเวฬุวันในพุทธมณฑลกลายเป็นแหล่งรองรับนกใหม่ชนิดนี้ไปโดยปริยาย

เนื่องจากนกแต้วแล้วเป็นนก "พื้น" ที่สถานภาพไม่พื้นๆ เพราะนกแต้วแล้วแต่ละชนิด ถ้าไม่หายากมากๆ ก็หลากสีสันสุดแสบแบบบาดตาบาดใจคนชอบส่อง (นก) ทั้งนั้น ทั้งยังชอบกระโดดหาไส้เดือน หรือหนอนกินบนพื้นดินหรือใต้ใบไม้แห้ง ให้เห็นกันเหน่งๆ หากอดทนพอ

"พุทธมณฑลจึงเป็นสถานที่แวะพักระหว่างทางของนกอพยพผ่านที่สำคัญใกล้กรุงเทพฯ เรียกว่า migration trap หรือกับดักทางธรรมชาติระหว่างอพยพที่นกต้องแวะพักผ่อนก่อนเดินทางต่อ"

สภาพพื้นที่หลากหลาย ทั้งป่าละเมาะ ดงไผ่ คูคลอง มีอาหารให้กินมากมาย กระทั่งเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ยังหลบลี้หนีฝนฤดูร้อน แวะเติมพลังงานที่สวนแห่งนี้ด้วยเมนูเด็ด หนอนผีเสื้อบนต้นคูนเหลืองอร่าม ประสานักดูนกเขาว่าไว้ expect the unexpected! ยิ่งช่วงอพยพผ่านนี่แหละ อะไรก็เป็นไปได้ ด้วยมนตราของการอพยพ

"Fairy Pitta" ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pitta nympha แปลอย่างทื่อๆ แต่ตรงใจว่านกแต้วแล้วที่สวยปานนางฟ้าหรือเทพธิดา ก็คงไม่ผิดความจริงนัก ปกติทำรังวางไข่ที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ในประเทศจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น หนีหนาวไปอาศัยบนเกาะบอร์เนียวเท่านั้น

ภูมิภาคอุษาคเนย์ตั้งอยู่ในเส้นทางอพยพระหว่างบ้านสองหลังของเทพธิดาน้อยติดปีกหลากสีตัวนี้ หากคงมีจำนวนน้อยนิดจนในอดีตไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน แต่ก็ได้ประโยชน์จากกิจกรรมดูนก/ถ่ายภาพนกที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเราที่เป็นเสมือนสำรวจนกในธรรมชาติไปในตัว แถมเป็นกิจกรรมยามว่างที่ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ป่า

แค่ส่องดูเพื่อจำแนกชนิด และศึกษาพฤติกรรม แล้วบันทึกด้วยภาพถ่ายไว้เป็นที่ระลึก ไม่ต้องไปซื้อหานกป่านำมาขังในกรงอย่างผิดเจตจำนงค์ของธรรมชาติและผิดกฎหมาย ..

"ช่วงนี้เดินเล่นในสวนสาธารณะ อย่าลืมพกกล้องดูนกไปด้วยนะครับ อาจจะประสบพบ Migration Magic บ้างก็ได้ใครจะรู้ .."

หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun03260452&sectionid=0120&day=2009-04-26

Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น