วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

ม้าลาย ม้าต้นตระกูลและม้าสี บนสายสร้อยร้อยลูกปัด

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11369 มติชนรายวัน


ม้าลาย ม้าต้นตระกูลและม้าสี บนสายสร้อยร้อยลูกปัด


คอลัมน์ (แกะ)รอยลูกปัด

โดย บัญชา พงษ์พานิช plearnstan@gmail.com




แรกเรียนรู้เรื่องลูกปัดนั้นผมงงมากๆ เมื่อถูกถามไถ่ว่า มีไหมนกยูง เอาไหมม้าลาย ?

"ลูกปัดนกยูง" ที่ว่าถ้าท่านติดตามการแกะรอยลูกปัดมาแต่ต้นก็คงจะพอนึกออกถึงลูกปัดแก้วที่มีลายเป็นวง ๆ คล้ายวงบนขนหางนกยูงในทำนองเดียวกับ "ลูกปัดตา" ที่บางพื้นที่ดูเป็น "ลูกยอ"

แต่ "ม้าลาย" รอบนี้ แรกสุดผมก็นึกไม่ถึงว่าคือลูกปัด จนชาวบ้านชี้ให้ดูลูกปัดทรงยาวรีสีดำ มีลายสีขาวคั่นอยู่สามเส้น ก็เกิดเห็นเป็นทางม้าลายบนถนนขึ้นมาทันที พร้อมกับที่นึกได้ว่าตัวสัตว์ม้าลายนั้นก็มีสีสลับขาวดำอย่างนี้เช่นกัน ชาวบ้านช่างจินตนาการและตั้งชื่อได้เหมาะมาก ไม่ว่าจะที่ไชยา หรือ ตะกั่วป่าที่พบม้าลายได้เรื่อยๆ ตลอดจนทั่วทั้งวงการลูกปัดก็เรียกกันอย่างนี้

หลังตามรอยลูกปัดอยู่ระยะหนึ่ง ผมจึงได้รู้จักอีกสองม้าของวงการลูกปัด คือ "ม้าต้นตระกูล" กับ "ม้าสี" โดยม้าต้นตระกูลนั้นนิยมเรียกสั้นๆ ว่า "ต้นตระกูล" ซึ่งได้ความว่าด้วยเนื้อแก้วที่พรุน สีและเส้นไม่ขาวและคมเฉียบอย่างม้าลาย วงการจึงยกให้เป็นบรรพม้า หรือ "ม้าต้นตระกูล" พบได้ที่บางกล้วย ท่าชนะ คลองท่อม อันเป็นแหล่งลูกปัดสมัยเก่ากว่าที่พบม้าลาย



ในวงการลูกปัดโลกเรียกลูกปัดแบบนี้ว่า "Agate Glass Beads" หรือ "ลูกปัดแก้วที่ทำให้คล้ายหินอเกต" อันนับเป็นรอยวิวัฒน์ของลูกปัดที่สำคัญ กล่าวคือจากเดิมที่นิยมลูกปัดหินอเกตสีสลับขาวดำหรือน้ำตาล เมื่อรู้จักผลิตลูกปัดแก้วพร้อมกับการพัฒนาเรื่องสีและลวดลาย มนุษย์ก็เริ่มทำลูกปัดแก้วเลียนแบบลวดลายและสีอย่างลูกปัดหิน โดย "ลูกปัดม้าต้นตระกูล" และ "ลูกปัดม้าลาย" นี้ ถือเป็นรอยวิวัฒน์อันสำคัญ ประมาณกันว่าน่าจะเริ่มทำในสมัยกรีกโบราณ (Helenistic) โดยคุณหมอเจมส์วางไว้ใน Bead Timeline ที่ ๒๐๐-๑๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเมื่อเทียบกับอายุโดยประมาณของพื้นที่บางกล้วย ท่าชนะ และ คลองท่อม ที่ประมาณไว้ว่าอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 5-13 ก็น่าจะไล่ๆ กัน

ส่วนลูกปัด "ม้าสี" นั้น ผมพบเห็นมากที่ไชยา ส่วนใหญ่เป็นแก้วทรงกระบอกสี่เหลี่ยมสั้นๆ สีน้ำเงินสลับขาว บางครั้งจึงพบสีสลับอื่นๆ เช่น เหลือง แดง เขียว

เท่าที่สังเกตลูกปัดม้าสีนั้นน่าจะทำจากท่อนแก้วสลับสีที่ตัดแล้วเจาะรูในขณะที่ยังหลอมอ่อนอยู่ ในขณะที่ลูกปัดม้าลายและม้าต้นตระกูลนั้นน่าจะทำด้วยวิธีม้วนพันแผ่นแก้วสลับสีรอบแกนโลหะ โดยกลุ่มลูกปัดสลับสีทำนองนี้ยังมีอีกหลายแบบที่ชาวบ้านช่างจินตนาการให้เป็นได้สารพัด ล้วนแต่อยู่ในวงศ์สัตว์ทั้งนั้น ตั้งแต่ ตัวหนอน กบเขียด จนกระทั่ง นกแก้ว แล้ววันหน้าจะนำมาแกะร่องให้ตามรอยกันต่อไป

ในขั้นต้นนี้ เท่าที่ผมตามรอยได้อาจสรุปว่า เมื่อมนุษย์แถวๆ ทะเลเมดิเตอเรเนียนคิดและพัฒนาประดิษฐ์แก้วจนเลียนแบบหินอะเกตได้ ก็เริ่มทำลูกปัด agate glass หรือ ม้าต้นตระกูล ออกมา จนเมื่อพัฒนาการผลิตแก้วดีขึ้น ทั้งเนื้อและสี จึงออกมาเป็น ม้าลาย ที่เนื้อเนียนกว่า สีดีกว่า

รวมทั้ง ม้าสี ที่มีสีสันสวยงามยิ่งขึ้น โดยบริเวณไชยาและเกาะคอเขาที่พบม้าลายและม้าสีในประเทศไทยนั้น ร่วมสมัยศรีวิชัยประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-15 ซึ่งสอดคล้องกับบางรายงานว่าม้าสีนี้พบในยุคสมัยโรมัน ไบเซนไทน์ อิสลามิกและตะวันออกกลางอันล่ากว่ายุคสมัยกรีกโบราณนั่นเอง


หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun02260452&sectionid=0120&day=2009-04-26

Windows Live™ SkyDrive™: Get 25 GB of free online storage. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น