วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

อะแคนทะมีบา... ภัยใกล้ คนใส่คอนแทคเลนส์

สุขภาพน่ารู้...อะแคนทะมีบา... ภัยใกล้ คนใส่คอนแทคเลนส์

อะแคนทะมีบา... ภัยใกล้ คนใส่คอนแทคเลนส์

ศ.พญ.พนิดา โกสียรักษ์วงศ์

ภาควิชาจักษุวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

                   ดวงตา คือ หน้าต่างที่ทำให้เรามองเห็นโลกกว้าง ถ้าไม่ดูแลรักษาให้ดี ก็อาจทำให้เราก้าวเข้าสู่โลกมืด หรือมีความผิดปกติทางสายตารุนแรงโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากละเลยข้อควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก็อาจเป็นเหมือนการเปิดประตูต้อนรับสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็นอย่าง อะแคนทะมีบาเข้ามารุกรานและทำอันตรายต่อดวงตา ...วันนี้เรามาทำความรู้จักและหาวิธีป้องกันพร้อม ๆ กัน

                   อะแคนทะมีบา เป็นโปรตัวซัวแบบเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ในน้ำและดิน มีช่วงชีวิต 2 แบบ คือ

                   - แบบ ซีสต์มีขนาด 10 - 25 ไมครอน เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเพียงแต่จะฝังตัวอยู่นิ่ง ๆ

                   - แบบ โทรโฟซอยต์ที่เคลื่อนไหว มีขนาด 15 - 45 ไมครอน จะเปลี่ยนรูปร่าง จาก ซีสต์มีฤทธิ์ทำลายดวงตา

                   อย่างไรก็ตาม เชื้ออะแคนทะมีบา ทั้ง 2 แบบ สามารถทนทานอยู่ได้นานในสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ เช่น หนาวจัด ร้อนจัด แห้งแล้ง ขาดอาหาร สระว่ายน้ำที่ใส่คลอรีนหรือแม้แต่บ่อน้ำร้อน

 

เกี่ยวข้องอย่างไรกับคนใส่คอนแทคเลนส์

                   ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ในคนที่ใส่คอนแทคเลนส์ สามารถพบกระจกตาอักเสบ เนื่องจากติดเชื้ออะแคนทะมีบาได้ โดยส่งผลทำให้เกิดอาการดังนี้

                   - ปวดตามาก

                   - สู้แสงไม่ได้

                   - กระจกตาขุ่น ฝ้า

                   - เป็นแผลอักเสบที่กระจกตา ในบางรายดูคล้ายอักเสบเนื่องจากติดเชื้อไวรัสเริม

วิธีรักษา

                   ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ในส่วนของการรักษา โดยทั่วไปจะต้องหยอดตาด้วยยาฆ่าเชื้อนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องผสมจากน้ำยาบางชนิดที่ไม่มีขายในท้องตลาด โดยจะต้องหยอดตาบ่อย ๆ เป็นเวลานานหลายเดือน หรืออาจเป็นปีและเฝ้าติดตามดูอาการเป็นระยะ ๆ นานหลายปี เนื่องจากเชื้ออะแคนทะมีบาสามารถมีชีวิตอยู่ในรูปแบบของซีสต์ได้นานหลายสิบปี

                   ดังนั้นเมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีเชื้อโรคที่ไปเป็นอาหารชั้นดีของเชื้ออะแคนทะมีบา ซีสต์ดังกล่าวก็จะแปลงร่างเป็นโทรโฟซอยต์ทำให้ดวงตาอักเสบทันที

ทำอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ

                   1. ล้างมือทำความสะอาดโดยการฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง ก่อนหยิบจับคอนแทคเลนส์

                   2. น้ำยาทำความสะอาดล้างเลนส์ ควรใช้ให้หมดภายใน 1 เดือน ไม่เก่าเก็บเกิน 2 เดือน หลังจากเปิดใช้แล้ว

                   3. ขัดถูล้างเลนส์ทั้ง 2 ด้านเป็นเวลาพอสมควร ตลอดจนล้างขัดถูตลับแช่เลนส์ให้สะอาดทุกครั้งก่อนใส่น้ำยาแช่เลนส์ที่เปลี่ยนใหม่ทุกวัน เพราะโรคนี้มักพบในคนที่ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มบ่อยกว่าชนิดแข็ง โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ล้างทำความสะอาดเลนส์ทุกวันหรือใส่นอน

                   4. ควรนำตลับแช่เลนส์อบไมโครเวฟทุก 2-3 สัปดาห์ และเปลี่ยนตลับใหม่ทุก 2-3 เดือน เนื่องจากเชื้อโรคชนิดนี้อยู่ทนทาน

หากมีอาการหรือพฤติกรรมต่อไปนี้...อย่าใส่คอนแทคเลนส์

                   - เปลือกตาอักเสบ

                   - ตาแห้ง

                   - เป็นโรคภูมิแพ้

                   - ไม่มีเวลาดูแลล้างทำความสะอาดคอนแทคเลนส์

                   เนื่องจากเชื้ออะแคนทะมีบา เป็นสาเหตุสำคัญของอาการกระจกตาอักเสบ และยังส่งผลให้เกิดแผลที่ดวงตา ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ มีความอดทนต่อยาที่ใช้รักษาทุกชนิด ทำให้ต้องหยอดยาเป็นเวลานาน และในบางรายอาจไม่ตอบสนองต่อยา เป็นผลให้เชื้ออาจมีการลุกลามไปทั่วทั้งกระจกตาจนเกิดอาการอักเสบทั้งลูกตาได้

                   การรักษา ต้องหยอดยาเป็นเวลานาน ถ้ามีอาการอักเสบมาก จักษุแพทย์จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้ แต่ก็สามารถกลับมามีเชื้อชนิดนี้ได้อีก จึงต้องเฝ้าติดตามดูอาการเป็นเวลานาน และในบางรายอาจมีอาการหนักถึงขั้นที่ต้องได้รับการผ่าตัดเอาลูกตาออกในที่สุดแม้ว่าจะผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาแล้วก็ตาม เนื่องจากสามารถกลับมามีเชื้อชนิดนี้ได้อีก

                   ดังนั้น การใส่คอนแทคเลนส์แล้วปฏิบัติตัวไม่ถูกวิธีจะมีโอกาสติดเชื้อจนตาบอดได้ ยิ่งเห่อใส่ตามแฟชั่น ยิ่งต้องควรระวังมากกว่าปกติเพราะหากดูแลดวงตาและรักษาคอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธี อาจมีเชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาได้ง่าย หรือเพียงแค่ฝุ่นละอองปลิวเข้าตา ก็อาจพาเชื้ออะแคนทามีบาเข้าไปได้ด้วยเหมือนกัน ส่วนผู้ที่ไม่มีเวลาทำความสะอาดล้างเลนส์ แนะนำให้ใส่ชนิดรายวันแล้วทิ้ง หรือเปลี่ยนเป็นใส่แว่นตาจะปลอดภัยกว่า เพื่อให้ดวงตาคู่สวยของคุณมองเห็นโลกสดใสและจะอยู่คู่ชีวิตคุณได้ตลอดไป

สุขภาพน่ารู้

                   1. ก่อนตัดสินใจใส่คอนแทคเลนส์ ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจประเมินหาความผิดปกติหรือความเสี่ยง

                   2. ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ละเลยได้

                   3. กรณีที่คอนแทคเลนส์หล่นลงพื้น หรือตากอากาศจนแห้งแข็ง ไม่ควรนำมาใช้อีก (แม้จะยังไม่หมดอายุการใช้งาน) เนื่องจากเสี่ยงกับการติดเชื้อ

ที่มา : http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=733

 

 

 

งานประชาสัมพันธ์
9/4/2552 - 30/4/2552
เกาะติดสถานการณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น