วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

คนขายเลือด งามหัวใจใต้ธงแดง

 
วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4100

คนขายเลือด งามหัวใจใต้ธงแดง


คอลัมน์ ART AND CULTURE

โดย Cobori


เมื่อหลายปีที่แล้วได้ชมหนังจีน ฝีมือกำกับของจาง อี้ โหมว เรื่องหนึ่ง ที่มีชื่อว่า "To Live" (1994) แล้วเกิดประทับใจอย่างยิ่ง

กับเรื่องราวของครอบครัวคนเล็กคนน้อยครอบครัวหนึ่งที่อยู่ภายใต้การปกครองของจีนในยุคคอมมิวนิสต์แบบจีน ที่นำโดยเหมา เจ๋อ ตุง ในปี 1949 เป็นต้นมาจนถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจีนในช่วง 1966-1976

หนังเรื่องนี้ นำแสดงโดยสาวสวยสองพันปี...กงลี่ อดีตคู่ชีวิตของ ผู้กำกับคนดังคนนี้ ส่วนดารานำชาย แสดงโดย เก ยู ซึ่งบทนี้ผลักดันให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมจากเวทีหนังเมืองคานส์ เมื่อทั้งสองมาแสดงเป็นคู่สามีภรรยาที่ผ่านความทุกข์-ความสุขภายใต้ธงแดงของ คอมมิวนิสต์ร่วมกัน ทำให้เราสนุกรสไปกับการดูหนังเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง

แน่นอนว่าหนังที่ดี ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับบทที่ดี ภาพยนตร์เรื่อง To Live สร้างจากวรรณกรรมบทประพันธ์ของ หยู หัว หมอฟันผู้ผันตัวเองมาเป็นนักเขียน จนในปัจจุบันนี้เขามีชื่อเสียงระดับนานาชาติ นิยายของเขาส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาตีแผ่สังคมจีนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม

วรรณกรรมคุณภาพของหยู หัว ตอนนี้แปลเป็นไทย 3 เรื่องแล้ว นั่นคือคนตายยาก (To Live) คนขายเลือด (Chronicle of a Blood Merchant) และพี่กับน้อง (Brothers) โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์

2 เรื่องแรก ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 10 หนังสือที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีนในทศวรรษ 1990

ขอหยิบยกเรื่อง "คนขายเลือด" มาเล่าสู่กันฟังดีกว่า

เคยได้ยินแต่เรื่องในจีนมีคนขายอวัยวะ เพื่อมาเจือจุนชีวิตในยามทุกข์ยาก เหมือนอย่างที่ปรากฏในหนังจีนเรื่อง Feast of Villains ที่ตัวเอกต้องไปขายไตเพื่อช่วยเหลือบิดาที่กำลังป่วย

ส่วนเรื่องคนขายเลือดนั้น ในนิยายเล่มนี้บอกว่ามีอยู่จริง โดยเฉพาะผู้คนตามชนบทของประเทศจีน ที่มักจะขายเลือดให้กับโรงพยาบาลในเมือง

การขายเลือดแต่ละครั้ง คนขายจะต้องขายเลือดไปประมาณครั้งละ 2 ชาม

"...คนที่แข็งแรงต้องไปขายเลือดกันทั้งนั้น ขายเลือดทีหนึ่งได้เงินตั้ง 35 หยวน ทำงานในนาต้องทำตั้งครึ่งปีถึงจะหาเงินได้ขนาดนั้น เลือดในตัวเราก็เหมือนน้ำในบ่อ ถ้าไม่ตัก น้ำก็ไม่เพิ่มขึ้น ถ้าตักทุกวัน น้ำก็ยังเท่าเดิม" คติของชาวนาในชนบทจีนว่าเช่นนั้น

สี่ ซาน กวาน หนุ่มชาวเมือง ซึ่งเป็นคนงานในโรงไหม ได้ลองไปขายเลือดดู

เกือบทุกครั้งหลังจากที่ขายเลือดแล้ว จะต้องสั่งตับหมูผัดและเหล้าเหลืองเพื่อบำรุงเลือด ซึ่งกลายเป็นเสน่ห์ของเรื่องนี้ไปเลย

"...เงินที่ได้มาวันนี้เป็นเงินจากเลือด เงินจากเลือดนี่จะเอาไปใช้ตามใจชอบไม่ได้ ต้องใช้ในเรื่องจำเป็นจริงๆ"

เงินที่ได้จากการขายเลือดครั้งแรกของเขาจึงใช้ไปกับการแต่งงาน

แล้วต่อมา เมื่อไล่เรียงดูแล้ว การขายเลือดของเขาแต่ละครั้งล้วนแล้วแต่มีเหตุจำเป็นทั้งสิ้น อย่างเช่น ต้องชดใช้เงินให้กับลูกชายเพื่อนบ้านที่ถูกลูกชายตนเองทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส เก็บเป็นค่าอาหารในปีที่ขาดแคลนอาหารในช่วงฤดูแล้ง และที่เป็นไคลแมกซ์ของเรื่องก็คือการช่วยเหลือลูกชายที่ป่วยหนัก เนื่องจากถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานที่ชนบทในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ทำให้เขาต้องขายเลือดถึง 3-4 ครั้ง ในรอบไม่กี่วัน เพื่อหาเงินมาช่วยชีวิตลูกชาย

เมื่ออ่านจบแล้ว จากที่หวาดหวั่นว่าเนื้อหาจะหนักเกินไป กลายเป็นว่าแอบน้ำตาซึมให้กับความดีงามของมนุษย์ในเรื่องที่แม้ว่าจะตกอยู่ภายใต้สังคมที่แร้นแค้นสักเพียงใด

แต่ตราบใดที่มีรัก ที่นั่นย่อมมีความหวังเกิดขึ้นเสมอ :D (หน้าพิเศษ D-Life)

หน้า 9
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02dlf06270452&day=2009-04-27&sectionid=0225

Rediscover Hotmail®: Get quick friend updates right in your inbox. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น