วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

ตามไปดู "แรงงานต่างด้าว" ที่ชายขอบด้าน"แม่สอด"

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11365 มติชนรายวัน


ตามไปดู "แรงงานต่างด้าว" ที่ชายขอบด้าน"แม่สอด"


โดย ชนัตพล หวังเพิ่ม




ขณะที่ปัญหาเรื่องของ "โรฮิงญา" ในประเทศไทย กำลังเป็นข้อถกเถียงและหาทางแก้ไขจากหลายฝ่าย เพื่อไม่ให้บานปลายกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ สถานการณ์ "แรงงานต่างด้าว" ตามแนวตะเข็บชายแดน ไทย-พม่า ก็กำลังขยายตัวอย่างเงียบๆ

จากข้อมูลของฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุถึงจำนวนของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยว่า ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาจำนวนกว่า 2 ล้านคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นสัญชาติพม่าถึง ร้อยละ 78 และยังไม่หยุดนิ่งเท่านี้ แต่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี

โดยพฤติกรรมส่วนใหญ่ที่เข้ามาในประเทศไทย คือการปลอมแปลงบัตรประชาชนเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย แม้จะกวดขันเร่งแก้ปัญหาอย่างไรก็ยังไม่สามารถจัดการได้

ข้อมูลจากทางตำรวจยังระบุอีกว่า แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเหล่านี้ยังเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมและยาเสพติด ส่วนหนึ่งคือ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า

ดังนั้น เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริง "กองกิจการพลเรือนกองทัพไทย" จึงอาสาพาสื่อมวลชนเดินทางไปสัมผัสและรับรู้ถึงปัญหาแรงงานต่างด้าวด้านชายแดน ไทย-พม่า โดยมีจุดอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งถือเป็นเมืองใหญ่ศูนย์กลางคนต่างด้าวชาวพม่าเลยทีเดียว

คณะสื่อมวลชนก่อนจะผ่านเข้า อ.แม่สอด จ.ตาก ต้องผ่านจุดตรวจบ้านห้วยหินฝน ปราการด่านสำคัญสำหรับคนที่จะเดินทาง เข้า-ออก อ.แม่สอด ที่ด่านแห่งนี้รถทุกคันต้องผ่านการตรวจอย่างละเอียด เนื่องจากจุดนี้คือ สถานที่กลั่นกรองสิ่งผิดกฎหมายทุกชนิดด้วย

จ.ส.อ.ประเทือง แผนสูงเนิน หัวหน้าชุดตรวจ จุดตรวจบ้านห้วยหินฝน กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวมีความพยายามที่จะหลบหนีเข้าเมืองหลากหลายรูปแบบ และสามารถจับกุมได้เรื่อยๆ

แต่วิธีการที่เห็นบ่อยที่สุดคือ การเจาะฝากระโปรงหลังรถกระบะแล้วทำเป็นห้องให้คนนอนเรียงกันลักลอบเข้าประเทศ

"รถบางคันอัดยัดกันเข้ามามากถึง 16-20 คนก็มี นอกจากนี้ยังมีบางส่วนเดินลัดเลาะในป่าเพื่ออ้อมจุดตรวจเข้ามาในประเทศไทยทำให้จับตัวยากขึ้น"

จ.ส.อ.ประเทืองอธิบายเพิ่มเติมว่า จากสถิติการจับกุมพบว่าปัญหาผู้หลบหนีลักลอบเข้าเมือง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบในพม่า พวกนี้เมื่อหนีเข้ามาแล้วจะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย โดยจัดพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้ 3 แห่ง มียอดผู้ลี้ภัย 59,246 คน



"พวกนี้ส่วนใหญ่หนีเข้ามาด้วยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า และต้องการมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้น แม้จะอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแต่ก็ยังมีบางส่วนพยายามหนีออกนอกพื้นที่พักพิง เพื่อเข้าไปเป็นแรงงานในเมือง"

กลุ่มที่สอง เป็นพวกแรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบเข้ามาหางานทำ ซึ่งปัจจุบันมีการหลบหนีเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น เหตุผลสำคัญที่ทำให้แรงงานกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น มาจากความต้องการแรงงานราคาถูกของนายจ้างในไทย

"กลุ่มนี้ก็ลักลอบเข้ามาหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเข้ามาทางท่าข้ามตามแนวชายแดน ซึ่งมีทางเข้า-ออกหลายช่องทาง และตามแนวชายแดนยังมีการข้ามไปมาหาสู่กัน ผู้หลบหนีมักอ้างเรื่องนี้ลักลอบเข้ามา เช่น มาเยี่ยมญาติ มาซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค และเหตุผลด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน" เสียงบอกเล่าของหัวหน้าชุดตรวจ

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มที่ลักลอบเข้ามาโดยอาศัยบัตรอนุญาตทำงานและบัตรประชาชนปลอม เมื่อจับกุมได้และผลักดันกลับถิ่นฐาน สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็ยังกลับเข้ามาอยู่ดี

ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2551 ถึงปัจจุบัน ทาง ฉก.ร.4 สามารถจับกุมผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในปี 2552 ได้กว่า 31,815 คน เฉลี่ย 100-200 คนต่อวัน

หลังการรับทราบข้อมูลแรงงานผิดกฎหมายจากหัวหน้าชุดตรวจบ้านห้วยหินฝนแล้ว คณะสื่อมวลชนเริ่มการสำรวจปัญหาที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวด้วยการไปดู "ป่า" ที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งอยู่ใกล้กับชุมชนกะเหรี่ยง ขะเนจื๊อ

เส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางขึ้นไปบนภูเขาที่ขรุขระ การเดินเท้าเข้าไปทำให้มองไม่เห็นภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นการมองในระดับสายตา ดังนั้น พ.อ.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 4 จึงพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์สังเกตการณ์และถ่ายภาพ

หลายคนส่งเสียงร้องด้วยความประหลาดใจ เพราะภาพถ่ายในอดีตที่ได้รับแจกมานั้นเป็นภาพป่าเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ ผิดกับภาพที่เห็นของจริงเบื้องล่างในเวลานี้ที่กลายเป็นภูเขาหัวโล้นสีน้ำตาล แถมยังมีท่อนไม้กระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด

พ.อ.ผดุงอธิบายให้ฟังว่า ปัญหาป่าไม้ถ้าไม่รีบแก้ไขอีกไม่นานป่าแถบนี้หมดแน่ คนที่ลักลอบตัดไม้ส่วนใหญ่ที่จับได้เป็นคนต่างด้าวทั้งนั้น และคนพวกนี้เข้ามาเป็นแรงงานในการทำเกษตร ป่าถึงได้หมดไว แค่ตัดอย่างเดียวไม่พอ ยังลากไม้ข้ามแม่น้ำเมยไปฝั่งพม่าเพื่อแปรรูปเป็นสิ่งของเอากลับมาขายในประเทศไทยอีกด้วย

ต่อมาคณะสื่อมวลชนเดินทางไปที่โรงงานผลิตเสื้อผ้าส่งออกที่แม่สอด ซึ่งเป็นโรงงานที่ใช้แรงงานต่างด้าว เมื่อไปถึงคนงานพากันปิดประตูหายเข้าเข้าไปในโรงงาน ไม่มีใครได้เห็นสภาพข้างในสักคน เมื่อสอบถามทราบว่า เป็นเพราะเจ้าของโรงงานไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปดูข้างใน

แต่ก่อนเดินทางกลับมีโอกาสพบกับหญิงสาวชาวกะเหรี่ยง เธอชื่อ "โม" บอกเล่าว่า เธอเองในอดีตเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมาก่อน แต่ปัจจุบันมีใบอนุญาตแล้ว การลักลอบเข้าประเทศไทยของโมใช้วิธีการเดินเท้าจากเมืองเมียวดีเข้ามาที่ชายแดนไทย ลัดเลาะผ่านป่าเข้ามาแล้วหลังจากนั้นจึงหนีไปเป็นคนสวน

โมเล่าว่า ที่พม่าคนยากจนมีจำนวนมากแต่มีงานให้ทำน้อย ได้แต่รับจ้างทำไร่ มีกินไปวันๆ ไม่มีเงินเก็บ เพราะเงินที่หามาได้ต้องนำไปจ่ายค่าคุ้มครอง ตนและสามีจึงพากันหนีเข้ามาหางานทำในประเทศไทย เพื่อส่งเงินไปให้ลูกสองคนที่พม่า

"ช่วงแรกที่เข้ามาแบบผิดกฎหมายถูกกดค่าแรง ได้ค่าจ้างแค่วันละ 70 บาท ความเป็นอยู่จึงค่อนข้างลำบาก แต่หลังจากที่ยูเอ็นยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เมื่อได้รับบัตรต่างด้าวแล้วชีวิตความเป็นอยู่จึงดีขึ้น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษาฟรี ปัจจุบันได้ค่าจ้างวันละ 200 บาท ทำให้เริ่มมีเงินเก็บและได้กลับไปเยี่ยมลูกได้ปีละครั้ง" เสียงของโมบอกก่อนขอตัวกลับ

สถานที่สุดท้ายที่สื่อมวลชนไปสำรวจเป็น "เกาะกลางแม่น้ำเมย" ซึ่งอยู่ติดกับ "ตลาดริมเมย" ชาวบ้านเรียกว่า "เกาะฟอล์กแลนด์" มีกลุ่มคนต่างด้าวบางส่วนใช้เป็นที่ลักลอบค้ายาเสพติดและก่ออาชญากรรม ถือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหามากในปัจจุบัน

เจ้าหน้าที่ทหารบอกกล่าวว่า ปัญหาที่บริเวณนี้มาจากเส้นแบ่งเขตพรมแดนที่เปิดช่องว่างให้คนต่างด้าวทำผิด และหนีรอดจากการจับกุมได้ง่าย เนื่องจากเวลาทำผิดกฎหมายแล้วคนเหล่านั้นจะรีบวิ่งหนีกลับเข้าไปในอาณาเขตของเกาะกลาง ซึ่งเป็น "โน แมน"ส แลนด์" ไม่ใช่ทั้งของไทยและพม่า ดังนั้น ทหารไทยจึงไม่มีอำนาจเข้าไปจับกุม

เจ้าหน้าที่ทหารบอกว่า บริเวณจุดนี้แค่เข้าใกล้สะพานข้ามก็มีความเสี่ยงแล้ว คนในเกาะส่วนมากมักไว้ใจไม่ได้ เป็นพวกที่มีชื่อเรียกว่า "กะลา" เป็นกะเหรี่ยงพลัดถิ่น เคยมีนักท่องเที่ยวโดนกระชากกล้องแล้ววิ่งตามไปจะเอากล้องคืน แต่กลับถูกคนพวกนี้รุมทำร้ายโดยที่ทหารเองไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้ เพราะอยู่นอกอาณาเขต

"เคยมีความพยายามกวาดล้างคนพวกนี้แต่ไม่สำเร็จ อาจเป็นเพราะผลประโยชน์แอบแฝงที่มีอยู่มาก" เสียงนายทหารผู้หนึ่งบอกเล่า ขณะที่แม่ค้าในตลาดริมเมยเองก็บอกว่า พวกคนบนเกาะนั้นดุมาก มีหลายครั้งที่ออกมาจี้ปล้นกระชากสร้อยคอของมีค่าของคนฝั่งนี้แล้ววิ่งหนีไปที่เกาะ เพราะไม่มีใครสามารถจัดการกับพวกเขาได้ ซึ่งทำให้เป็นปัญหาอย่างมากในปัจจุบัน และนับวันจะลุกลามบานปลาย เพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น

จากภาพรวมทั้งหมดที่พบเห็นปัญหา "คนต่างด้าว" เป็นเรื่องที่ไม่อาจเพิกเฉย แต่ต้องได้รับการแก้ไขไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นความร่วมมือกันทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายพม่า ไม่เช่นนั้น ปัญหานี้ก็เหมือนกับเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นในร่างกาย นับวันแต่จะลุกลามกินพื้นที่มากขึ้น

กระทั่งท้ายที่สุดเจ้าของร่างกายนั่นเองต้องจบชีวิตลง

หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra02220452&sectionid=0131&day=2009-04-22

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น