วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

ระบบอุปถัมภ์ ครอบงำระบบการศึกษาไทย

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11370 มติชนรายวัน


ระบบอุปถัมภ์ ครอบงำระบบการศึกษาไทย


คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




ระบบอุปถัมภ์ครอบงำสังคมไทยมายาวนานมาก จนหยั่งรากลึกเกินกว่าใครจะหยั่งรู้ ว่าทำอย่างไรจะถอนรากถอนโคนได้

เหตุที่ต้องกำจัดก็เพราะระบบอุปถัมภ์ทำให้สังคมไทยไม่มีความเป็นธรรม, ไม่มีความเสมอภาค, ไม่มีความเท่าเทียมในฐานะเป็นคนด้วยกัน

ทุกวันนี้มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า "คนชั้นนำ"จำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์อย่างยิ่งจากระบบอุปถัมภ์ ในจำนวนน้อยนั้นมี "อำมาตย์" ใช้งานระบบอุปถัมภ์อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องมานานทีเดียว จนเป็นที่รู้ทั่วไปในนาม "อำมาตยาธิปไตย"

ความขัดแย้งในสังคมไทยที่ทวีความรุนแรงจนอาจควบคุมไม่ได้ต่อไปข้างหน้า ล้วนมีเหตุสำคัญอย่างหนึ่งจากระบบอุปถัมภ์ (เหตุอื่นๆ ก็มีด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องยกมาตอนนี้) ทำให้เสียงตะโกนดังๆ มีมากขึ้นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม, ความเสมอภาค, ความเท่าเทียมในฐานะเป็นคนด้วยกัน

หนังสือ "จีนกับโลกมลายู" โดย นิรอมลี นิมะ เล่มนี้ เป็นการรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลจากหนังสือที่นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการที่ได้เขียนไว้

ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากหนังสือ ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรมลากากับราชวงศ์หมิงในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่เขียนโดยศาสตราจารย์เหลียง ลิจิ และหนังสือสมุทรยาตราของเจิ้งเหอ และโลกมลายูที่เขียนโดย ศาสตราจารย์กง หยวนซิ

ท่านทั้งสองเป็นนักวิชาการชาวจีนที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องอารยธรรมและวัฒนธรรมมลายู และท่านทั้งสองได้เขียนหนังสือด้วยภาษามลายู เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโลกมลายู ซึ่งมีมานานกว่า 3,000 ปี

นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองเชื้อชาติที่มีมายาวนานและน่าสนใจ โดยเฉพาะข้อมูลหลักฐานที่ใช้อ้างอิงเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ราชวงศ์จีน ที่ได้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์นั้น และจากหนังสือที่เขียนโดยนักเขียน นักวิชาการชาวจีนที่มีชื่อเสียง ได้เขียนไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาเองภายหลัง เมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นมานานแล้ว ซึ่งอาจผิดพลาด ผิดเพี้ยน หรือเป็นความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียน (เล่มละ 150 บาท)



จะชอบหรือจะชังก็ต้องฟังเสียงตะโกนเหล่านั้นอย่างมีสติ แล้วพิจารณาร่วมกันอย่างอ่อนน้อมถ่อมตัว เพื่อกำจัดความขัดแย้งหรือให้ลดความรุนแรงลง

การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ใช้ต้านทานระบบอุปถัมภ์ได้ (แม้ต้องการเวลานานมากก็ตาม) ซึ่งใครๆ ก็รู้ แล้วรู้มาก่อน รู้มานานแล้วด้วย แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะการศึกษาที่ผ่านมา "สั่งสอน" ให้ยอมจำนนเป็นคนเชื่องๆ เหมือนสัตว์เลี้ยงของคนชั้นนำ

การศึกษาที่ใช้ต้านทานระบบอุปถัมภ์ได้จริง (ผมจำจากครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ว่า) ต้องสั่งสมความคิดให้คนกบฏ (ต่อการครอบงำ) และกล้ายืดอกออกปฏิบัติการทางสังคม ไม่ใช่เพื่อปลดปล่อยตัวเองอย่างเดียว แต่ต้องกล้าปลดปล่อยคนอื่นด้วย

ปลดปล่อยอย่างแรกสุด คือเรื่องความเป็น "คนไทย" ให้เหลือแค่ความเป็น "คน" เฉยๆ เท่านั้น ไม่มี "ไทย"

ความเป็น "คน" จะเสมอภาคกัน เพราะต่างเป็น "คน" ด้วยกัน

แต่ความเป็น "คนไทย" ไม่เสมอภาค เนื่องจากผู้มีอำนาจสร้างกฎเกณฑ์มากีดกันว่ามีไทยแท้กับไทยไม่แท้ แล้วยังไทยแถวไหนอีกต่างหาก ถ้าแถวถนนสุขุมวิท หรือถนนสีลมในกรุงเทพฯ ก็มีอภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น ถ้าไทยถนนมิตรภาพไปทางขอนแก่น, อุดรฯ, หนองคาย ฯลฯ ก็แย่หน่อย ต่ำหน่อย ยิ่งเป็นคนไทยถนนเพชรเกษมลงไปถึงยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส ก็เจ๊งเลย ไม่เหลืออะไรเลย

ประวัติศาสตร์ไทย, ภาษาไทย, วรรณคดีไทย, รวมเป็นวัฒนธรรมไทย เหล่านี้ ถ้ารู้ไม่แตกฉานมากพอ ก็ล้วนเป็นเครื่องมือสนับสนุนยกย่องเชิดชูบูชาระบบอุปถัมภ์

แต่ถ้ารู้อย่างแตกฉานจะเป็นแก่นสารให้รู้คิดมีจิตสำนึกสาธารณะ มีความเป็นธรรม, มีความเสมอภาค, มีความเท่าเทียมในฐานะเป็นคนด้วยกัน ล้วนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย

ครั้นเหลียวมองการศึกษาที่รัฐบาลนี้ประกาศปฏิรูป (ครั้งที่ 2) มีผู้เชี่ยวชาญการศึกษาประเมินผลงานได้แค่ 25 จาก 100 คะแนน เพราะส่วนใหญ่ยึดติดกับระบบราชการประจำ เลยยังไม่ได้ลงลึกขั้นปฏิบัติ (มติชน ฉบับวันพุธที่ 22 เมษายน 2552 หน้า 22) เท่ากับระบบอุปถัมภ์ยังมีพลังครอบงำสูงส่งเหมือนเดิม

ฉะนั้น ความขัดแย้งที่มากด้วยความรุนแรงย่อมรออยู่ข้างหน้าไกลแค่เอื้อมเท่านั้น


หน้า 20
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra03270452&sectionid=0131&day=2009-04-27



Windows Live™ SkyDrive™: Get 25 GB of free online storage. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น