วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

โลกร้อนทำป่าเสื่อมโทรม "ต้นไม้" อาจปล่อยคาร์บอนแทนดูดซับ

โลกร้อนทำป่าเสื่อมโทรม "ต้นไม้" อาจปล่อยคาร์บอนแทนดูดซับ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 เมษายน 2552 14:00 น.
ป่าฝนบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในปัจจุบันป่ายังเป็นหลักสำคัญที่ช่วยกักเก็บคาร์บอนเอาไว้ได้ แต่ในอนาคตหากภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้นจนอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอีก 2.5 องศาเซลเซียส อาจส่งผลกระทบจนทำให้ป่าไม่สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้อีกและต้องปลดปล่อยออกมาสู่บรรยากาศ ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก (เอเอฟพี)
       นักวิทย์เตือน ป่าจะไม่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้อีกต่อไป ซ้ำยังจะเร่งเพิ่มคาร์บอนในบรรยากาศอีกหลายเท่า หากอุณภูมิโลกสูงขึ้นอีกแม้เพียง 2 องศา ยิ่งหนุนให้โลกร้อนขึ้น ส่งผลสะท้อนกลับสู่ป่าให้ยิ่งเสื่อมโทรมลงและโลกร้อนหนักกว่าเดิม ถ้ายังไม่รีบช่วยกันลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเสียแต่ตอนนี้
       
       ในการประชุมนานาชาติด้านป่าไม้ (UN Forum on Forests) ที่เริ่มขึ้นในมลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 เม.ย.52 ที่ผ่านมา บีบีซีนิวส์รายงานว่าได้มีการเปิดเผยรายงานการวิจัยในที่ประชุมว่าในอนาคตอันใกล้นี้ป่าไม้ที่เคยเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนมายาวนาน อาจสูญเสียศักยภาพตรงนี้ไป และยิ่งกว่านั้นยังจะเป็นต้นกำเนิดของคาร์บอนในชั้นบรรยากาศให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
       
       รายงานผลการวิจัยของสมาพันธ์ป่าไม้นานาชาติ (The International Union of Forest Research Organizations: IUFRO) โดยนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ระดับโลก จำนวน 35 ราย ระบุว่าขณะนี้ป่าไม้อยู่ภายใต้อุณหภูมิของโลกที่ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นราว 2.5 องศาเซลเซียส ป่าอาจปลดปล่อยคาร์บอนจำนวนมหาศาลออกมาสู่บรรยากาศได้
       
       "โดยปรกติแล้วพวกเรามักคิดกันว่าป่าไม้จะเป็นตัวช่วยหยุดยั้งภาวะโลกร้อนได้ ทว่าในช่วงอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ความเสียหายอันเกิดจากการชักนำของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้ป่าปล่อยคาร์บอนออกมาจำนวนมาก และทำให้สถานการณ์ ตกอยู่ในภาวะที่เป็นตัวเร่งให้โลกร้อนขึ้นมากกว่าที่จะช่วยลดให้มันเกิดขึ้นช้าลง" คำชี้แจงของศาสตราจารย์ริสโต เซพพาลา (Professor Risto Seppala) นักวิจัยสถาบันวิจัยป่าไม้ฟินแลนด์ (Finnish Forest Research Institute) หัวหน้าคณะผู้จัดทำรายงานวิจัยดังกล่าว
       
       ในการประชุมระดับนานาชาติด้านภูมิอากาศ มักพุ่งเป้าไปที่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายพื้นที่ป่าเป็นอันดับแรก แต่นักวิชาการหลายคนบอกว่าจากการศึกษาวิเคราะห์แล้ว เราควรจะพุ่งความสนใจไปที่ผลกระทบต่อพื้นที่ป่าอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย
       
       แม้ว่าการตัดไม้ทำลายป่า จะก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาราว 20% ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ แต่ถ้าเป็นตอนนี้ ป่าที่เหลืออยู่ก็จะสามารถดูดซับคาร์บอนกลับคืนไปได้มากกว่าที่ปล่อยออกมาในตอนแรก
       
       ทว่าปัญหาคือสมดุลดังกล่าวนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เหตุเพราะโลกร้อนขึ้น และถ้าหากอุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นถึง 2.5 องศาเซลเซียสเป็นต้นไป จะทำให้ป่าสูญเสียประสิทธิภาพในการดูดซับคาร์บอนกลับคืนโดยสิ้นเชิง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ณ ขณะนั้นระบบนิเวศน์ของป่าจะกลายเป็นแหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ปลดปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ
       
       ทั้งนี้ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจประเมินได้จากระยะเวลายาวนานขึ้นของภัยแล้ง การแพร่ระบาดของแมลงหรือสัตว์รบกวน และภาวะตึงเครียดอื่นๆ ของสิ่งแวดล้อม จะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ป่าไม้เสื่อมโทรมหรือถูกทำลายลง และทำให้เกิดความเสียหายสะท้อนกลับมาอีก
       
       เมื่อภาวะโลกร้อนสร้างความเสียหายให้กับป่าไม้ ยิ่งทำให้คาร์บอนถูกปลดปล่อยออกมา ส่งผลให้ความร้อนบนโลกยิ่งทวีสูงขึ้น และในการประชุมครั้งนี้ สมาพันธ์ป่าไม้นานาชาติมีจุดประสงค์ต้องการส่งเสริมเรื่องการจัดการ การอนุรักษ์ และการพัฒนาป่าไม้ทุกชนิดอย่างยั่งยืน เพื่อให้ป่าไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนในบรรยากาศให้น้อยลง ควบคู่ไปกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีการอื่น.
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000044708


Windows Live™ Hotmail®:…more than just e-mail. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น