วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

สำรวจ"กม.ชุมนุม"เทศ ก่อน"ไทย"จะเดินตาม

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11365 มติชนรายวัน


สำรวจ"กม.ชุมนุม"เทศ ก่อน"ไทย"จะเดินตาม





(ซ้าย)ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนวานิช
(ขวา)สมชาย หอมละออ
หลังการก่อเหตุจลาจลกลางกรุงจนเกิดเหตุ "สงกรานต์วิปโยค" ทำให้สังคมถวิลหา "เครื่องมือ" เพื่อจัดการการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ

ทั้งที่ยังมีข้อกังขาว่า การควบคุมการชุมนุมจะเป็นทางออกของปัญหาหรือไม่ แต่ภายหลังการประชุม ครม. วันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา แนวคิดการควบคุมการชุมนุมด้วยกฎหมายก็ถูกเข็นออกมาอีกวาระหนึ่ง

เรื่องนี้ "สมชาย หอมละออ" ประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ แสดงความกังวลว่า เสรีภาพในการชุมนุมถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงควรออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธินี้

ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวโยงกับเสรีภาพในการแสดงออก เกี่ยวโยงกับการสมาคม เพราะคนที่ได้รับความเดือดร้อนที่อาจเป็นเกษตรกร แรงงานต่างๆ ล้วนเป็นเสียงที่ไม่ดัง ถ้าเขาไม่สามารถแสดงออกตามความต้องการอาจจะกระทบชีวิตความเป็นอยู่

"สังคมประชาธิปไตย เสรีภาพมีความสำคัญมาก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะอาจจะมีความคาบเกี่ยวต่อการกระทำผิดกฎหมายจราจรและกฎหมายเกี่ยวกับการใช้เสียง แต่มีทางออกด้วยการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกด้วยการประสานงานกับแกนนำก่อนการชุมนุมเพื่อไม่ให้การชุมนุมส่งผลกระทบจนเกินไปกับการใช้เส้นทางการจราจรหรือเจ้าหน้าที่ควรประสานกับกลุ่มผู้ชุมนุมให้งดใช้เสียงหากการชุมนุมอยู่ใกล้โรงเรียน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิคนอื่นจนเกินไป แต่ถ้าออกกฎหมายแล้วระบุว่าการชุมนุมต้องได้รับการอนุญาตจากทางราชการก่อนถือเป็นการจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถ้าออกกฎหมายเช่นนี้จะถือเป็นกฎหมายเผด็จการ โยนทิ้งได้เลย" นายสมชายกล่าว

ขณะที่ "ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนวานิช" อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยส่วนใหญ่ล้วนแต่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ แต่เมืองไทยไม่มีเลย ถึงเวลาที่ไทยจะต้องพิจารณาปัญหานี้ด้วยการออกกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม จากที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบลักษณะของ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะของประเทศต่างๆ อาทิ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ พบว่ามีหลักการกว้างๆ ที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ โดยสามารถแยกการชุมนุมออกเป็น 3 ลักษณะ คือ 1.การชุมนุมด้วยเดินขบวน 2.การชุมนุมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และ 3..การประชุม

นายประสิทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับเนื้อหากฎหมายส่วนใหญ่แบ่งมาตรการควบคุมการชุมนุมเป็น 2 ช่วง คือมาตรการก่อนการชุมนุมและมาตรการระหว่างการชุมนุม โดยมาตรการก่อนการชุมนุมแต่ละประเทศจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน ซึ่งในอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย เบลเยียมนั้นก่อนการเดินขบวนแกนนำจะต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า 5-7 วัน ว่าจะใช้เส้นทางไหนเพื่อให้ประชาชนทราบว่าไม่ควรใช้เส้นทางไหนในการจราจร หากขอแล้วยังไม่ได้รับอนุญาตก็ไม่สามารถเดินขบวนหรือชุมนุมได้และการเดินขบวนต้องใช้เส้นทางตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ออกนอกเส้นทางไม่ได้ บางประเทศจะต้องระบุชื่อแกนนำว่าเป็นใครมาจากไหน หากเช็คประวัติแล้วปรากฏว่าแกนนำเคยมีประวัติเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญาอาจจะไม่อนุญาตให้ชุมนุม เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวาย นอกจากนี้ การชุมนุมแต่ละครั้งจะต้องบอกวัตถุประสงค์ของการชุมนุมด้วย

สำหรับเนื้อหาที่เป็นมาตรการระหว่างการชุมนุมนั้นส่วนใหญ่จะมีการกำหนดเวลาในการชุมนุมเพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของคนอื่น อาทิ ชุมนุมหลัง 08.00 น. เพราะช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเป็นชั่วโมงเร่งด่วนและควรยุติการชุมนุมเวลา 3 ทุ่ม หรือ 5 ทุ่ม เพื่อไม่ให้รบกวนเวลานอนของคนอื่น ส่วนในประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นจะระบุ ห้ามเลยว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ควรชุมนุมใกล้สถานที่ราชการ องค์กรระหว่างประเทศ ถ้าชุมนุมจะต้องมีระยะห่างพอสมควร

ส่วนรัสเซียก็ระบุเลยว่า ห้ามชุมนุมใกล้ที่พักของประธานาธิบดี รัฐสภาหรือพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้เนื้อหาของกฎหมายส่วนใหญ่จะห้ามไม่ให้การชุมนุมนำไปสู่การยั่วยุเพื่อให้เกิดความเกลียดชังของคนในชาติหรือห้ามใช้ถ้อยคำหยาบคาย ห้ามการใช้สัญลักษณ์บางอย่างที่จะก่อให้เกิดการเร้าอารมณ์จนไปสู่ความวุ่นวาย

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ก็จะคอยสังเกตพฤติกรรมของแกนนำระหว่างการชุมนุมด้วย ถ้าเจ้าหน้าที่มองว่าแกนนำไม่สามารถคุมมวลชนได้ก็สามารถใช้ดุลพินิจสั่งให้ยุติการชุมนุมหรือห้ามการชุมนุมได้

"การออกกฎหมายเพื่อให้มีประสิทธิภาพจะต้องสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้ทุกคนเคารพกติกา แต่ถ้ามีการละเมิดจนจะนำไปสู่การจลาจลก็สามารถดำเนินการสลายการชุมนุมได้โดยใช้หลักสากลที่ต้องใช้มาตรการเบาไปหาหนัก" นายประสิทธิ์ระบุ

หน้า 11
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pol02220452&sectionid=0133&day=2009-04-22

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น