วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552

แถลงการณ์เรื่อง สถานการณ์วิกฤตการเมืองกับอนาคตประชาธิปไตยไทย

แถลงการณ์เรื่อง สถานการณ์วิกฤตการเมืองกับอนาคตประชาธิปไตยไทย
โดย : เสน่ห์ จามริก(17/04/2009 11:44 AM)
  1. ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรง อันเนื่องมาจากการก่อการปลุกระดมมวลชนคุกคามความสงบเรียบร้อย ในความพยายามช่วงชิงอำนาจการปกครองประเทศ หากแต่ด้วยสติปัญญาความสามารถและความสุขุมคัมภีรภาพ ให้ความเคารพยึดมั่นต่อเจตนารมณ์ในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งในส่วนของรัฐบาลและการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังปฏิบัติการฝ่ายความมั่นคงทุกฝ่าย สถานการณ์อันเลวร้ายจึงยุติลงได้โดยสันติ ดังเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไป

    ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยความวิตกห่วงใย เช่นเดียวกันกับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งหลาย และพยายามคิดใคร่ครวญถึงแนวทางออกเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์วิกฤต และในขณะเดียวกัน ธำรงรักษาไว้ซึ่งพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตยไทย และทั้งเพื่อนำเสนอข้อคิดข้อปฏิบัติบางประการต่อทั้งรัฐบาลและพี่น้องประชาชน ในอันที่จะพึงร่วมมือร่วมใจกันมองไปในอนาคตข้างหน้า เพื่อป้องปรามมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และสถานการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้อีก กับทั้งเพื่อร่วมกันจรรโลงระบอบประชาธิปไตย และศักดิ์ศรี สิทธิเสรีภาพของประชาชนให้สามารถพัฒนาก้าวหน้าอย่างสร้างสรรค์ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่ต้องตกเป็นกลไกเครื่องมือของการทุจริต คอรัปชั่น อย่างที่เป็นมา และกำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
  2. แต่ก่อนอื่นทีเดียว โดยพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารเท่าที่ปรากฏต่อสาธารณชน ใคร่ขอถือโอกาสนี้ แสดงความขอบคุณและชื่นชมต่อผลงานการระงับสถานการณ์อันคุกคามและเลวร้าย อย่างมีเกียรติศักดิ์ศรี อันควรแก่การยกย่องอย่างสูง ในขณะเดียวกัน ก็ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ประคับประคองช่วยให้บ้านเมืองได้มีโอกาสฟื้นฟูสภาพจิตใจ และชีวิตความเป็นอยู่โดยปกติสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของฝ่ายปฏิบัติการด้านความมั่นคงทุกๆ คน ทุกๆ ฝ่าย ผลงานของท่านทั้งหลายเหล่านี้จะต้องถือเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อพัฒนาการความก้าวหน้าของประเทศชาติโดยส่วนรวม อย่างมั่นคงยั่งยืนสืบต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง

    ในโอกาสนี้เช่นเดียวกัน ขอแสดงความอาลัยและเสียใจอย่างสุดซึ้ง ในความสูญเสียชีวิตของพี่น้องประชาชนทั้งสอง อันเป็นผลจากการร่วมมือร่วมใจของกลุ่มพี่น้องประชาชนในท้องที่ต่างๆ ลุกขึ้นมาต่อสู้ต่อต้านด้วยความเสียสละกล้าหาญ ต่อการกระทำและพฤติกรรมอันมุ่งเป็นการบ่อนทำลายทั้งชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของมวลประชาชนผู้บริสุทธิ์

    และพร้อมกันนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการดูแลชดเชยความสูญเสียของพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเสียสละ อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ยิ่งไปกว่านั้น ข้อที่สังคมจะต้องร่วมกันรับรู้และขอบคุณก็คือความเป็นจริงที่ว่า ความเสียสละกล้าหาญของขบวนการกลุ่มพี่น้องประชาชนคนไทยตามท้องที่ต่างๆ ดังกล่าวนี้ ต้องนับเป็นคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อการระงับยับยั้งมิให้สถานการณ์เลวร้ายสามารถลุกลามขยายวงต่อไป รวมถึงจะเป็นบทเรียนต่อๆ ไปในอนาคต
  3. ข้อสรุปประการหนึ่งจากสถานการณ์ขัดแย้งตลอดช่วงสามเดือนเศษของรัฐบาลอภิสิทธิ์ คือเสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซับซ้อน จึงจะงดเว้นไม่กล่าวถึงในที่นี้ เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตได้ชัดเจนจากพฤติการณ์และพฤติกรรมทั้งหลายในแวดวงนักการเมืองอาชีพ ส่อให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อการยึดครองผูกขาดอำนาจแต่ฝ่ายเดียว หรือไม่ก็เพื่อทำลายล้างซึ่งกันและกัน ทั้งสองประการต่างเป็นสมุฏฐานที่มาของปัญหาความขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น เสียงเรียกร้องถึงรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ในขณะนี้ ล้วนแต่เป็นหลุมพรางบ่อนทำลายพัฒนาการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นข้อที่รัฐบาลและพี่น้องประชาชนคนไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะต้องไม่ผิดพลาดในบรรยากาศของเสียงเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองอย่างกว้างขวางในขณะนี้
  4. จากประสบการณ์การปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นที่ภาคสังคมและประชาชน โดยเฉพาะในระดับชุมชนท้องถิ่นที่จะต้องมีบทบาทกระทำการโดยตรงในกระบวนการปฏิรูปและแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงมีส่วนร่วมรับฟังหรือเห็นชอบไม่เห็นชอบในสิ่งที่บรรดานักวิชาการปัญญาชนจัดเตรียมมาให้ เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการเมืองในสภาวะพัฒนาการเมืองปัจจุบัน อยู่ตรงที่ส่งเสริมพัฒนาสิทธิอำนาจและขีดความสามารถในการปกครองของชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้ นอกจากเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์และชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง ยังจะเป็นการพัฒนาภาคประชาชนให้เป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและควบคุมผู้แทนของตนเองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ต้องอยู่ภายใต้แอกเพื่อการแสวงช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนในหมู่นักการเมืองอาชีพ ดังเช่นที่เป็นมาโดยตลอด และซึ่งเป็นสมุฏฐานที่มาของความล้มเหลวของระบอบรัฐสภาไทย
  5. ทั้งหมดที่กล่าวมาคือวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลและประชาชนคนไทยจะพึงรับผิดชอบร่วมกันในอันที่จะผลักดันให้สำเร็จลุล่วงไปในระยะเวลาอันควร ในฐานะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เอง เป็นผู้ริเริ่มประกาศเจตนารมณ์และนโยบายการปฏิรูปการเมือง จึงใครขอเสนอหลักการปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้ :-

    5.1 ในยามวิกฤตต่อความมั่นคงและการดำรงคงอยู่ของประเทศชาติขณะนี้ รวมทั้งเพื่อ มิให้พัฒนาการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนต้องสะดุดหยุดลง ขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศจัดตั้ง ?รัฐบาลแห่งชาติ? ด้วยความร่วมมือของกลุ่มการเมืองทุกฝ่าย และภาคเศรษฐกิจสังคมฝ่ายต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงจากภาคราชการและนักวิชาการปัญญาชนอย่างเช่นที่ถือปฏิบัติกันมาในอดีต

    5.2 ยุติการเมืองแบบตอบโต้เหน็บแนมกันระหว่างพลพรรคฝ่ายต่างๆ ซึ่งไม่ได้เป็นการสร้างสรรค์อะไรเลยในยามวิกฤตของบ้านเมืองที่กำลังต้องการแสวงหาความเข้าใจต่อกันภายในชาติ

    5.3 เปิดเวทีภาคสังคมและประชาชน โดยเฉพาะในหมู่ชุมชนท้องถิ่นชนบท ซึ่งกำลังตื่นตัวพัฒนาตนเองและปกป้องฐานทรัพยากรท้องถิ่นอันเป็นสมบัติของชาติ พร้อมด้วยภูมิปัญญาความสามารถและศักยภาพการพัฒนา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในยุคที่ประเทศชาติกำลังถูกรุกรานจากภายนอก ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

    5.4 เป็นที่หวังว่า ภายใต้กระแสการประสานงานปฏิรูปทั้งจากภาครัฐและภาคสังคมประชาชน จะได้บังเกิดผลกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปจากภายในแวดวงผู้นำทางการเมืองกันเอง โดยไม่ต้องเว้นวรรคพัฒนาการประชาธิปไตยของไทยเรา

    5.5 และประการสุดท้าย เป็นที่คาดหวังว่า ระบอบรัฐสภาไทยจะสามารถค่อยๆ สลัดคราบของความอ่อนแอล้มเหลวและทุจริตคอรัปชั่นจากอดีต และเข้าสู่ภายใต้การกำกับควบคุมของภาคสังคมและประชาชนทุกส่วนทุกระดับ อันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

 

เสน่ห์ จามริก
๑๖ เมษายน ๒๕๕๒

http://www.thaingo.org/board_2/view.php?id=1479


Rediscover Hotmail®: Get quick friend updates right in your inbox. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น