วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คืนวันพระจันทร์สีแดง?

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คืนวันพระจันทร์สีแดง?
รายงานโดย :วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย: วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เมื่อ ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกแจ้งข้อหากบฏในพระราชอาณาจักรและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

อันเนื่องมาจากการออกแถลงการณ์แดงสยาม ที่ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวทั้งปวงนั้นมีความมุ่งหมายต่อการโค่นล้มการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นการตอกย้ำพฤติกรรมและการกระทำต่างๆ ของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ในต่างกรรมต่างวาระที่ได้แสดงตนอย่างชัดแจ้งในการแสดงตนเป็นปรปักษ์กับระบอบการปกครองนี้มาโดยตลอด

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ เมื่อเดินทางไปรับทราบข้อหาดังกล่าวนี้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ก็ได้เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ ไปพำนักยังประเทศอังกฤษทันที ทิ้งให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์บางคนโดยเฉพาะเพื่อนนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่ร่วมลงชื่อเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาแล้ว พากันแตกตื่นราวกับผึ้งแตกรัง บางคนถึงกับบ่นด่าไล่หลังด้วยความรักตัวกลัวตายว่า ใจ อึ๊งภากรณ์ ไม่มีความกล้าหาญ ทิ้งเพื่อนเอาตัวรอดแต่เพียงลำพัง ทำให้ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ที่ไม่เคยรู้จักและไม่เคยสนใจว่ามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนคืออะไร และมีความเป็นมาอย่างไร เกิดความสนใจใคร่รู้ถามไถ่กันมาเป็นอันมาก เราจึงน่าจะมารู้จักกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และบรรดาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้กันดู

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มต้นจากกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ของอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มของอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีโครงการสนทนาปัญหาศิลปปรัชญา วิทยาศาสตร์ เป็นแกนในการทำกิจกรรมแล้วเชิญ ดร.นิธิ มาเป็นที่ปรึกษา กลุ่มของอาจารย์วารุณี ภูริสินสิทธิ์ ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดให้มีกิจกรรมเสวนาวิชาการ โดยเป็นตัวเชื่อมกับบรรดาอาจารย์หลายๆ คณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดข้ามสาขาวิชากัน คล้ายคลึงกันกับกลุ่มอาจารย์สมเกียรติ และได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นตามบ้านอาจารย์แต่ละคน สนทนาแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดในช่วงต่างๆ และได้เชิญ ดร.นิธิ ไปร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามบ้านด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาจารย์ชัชวาลย์ บุญปัน ซึ่งปักหลักทำกิจกรรมอยู่ที่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจัดกิจกรรมสอดประสานไปกับกิจกรรมที่เป็นทางการของคณะวิทยาศาสตร์ มีอาจารย์นิธิเข้าร่วมอยู่อย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกันกับกลุ่มของอาจารย์วัลลภ แม่นยำ และอาจารย์สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการอิสระด้านสื่อและอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีความสัมพันธ์กับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จึงได้เชิญสุลักษณ์ เพื่อนชาวต่างประเทศ มาอภิปรายสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มอื่นๆ อยู่ตลอดมา ทำให้ความสัมพันธ์ของบรรดาอาจารย์กลุ่มต่างๆ มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น ในที่สุดบ้านของอาจารย์วัลลภ แม่นยำ และอาจารย์สุชาดา จึงกลายเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ในช่วงเวลาเย็นย่ำค่ำ ไปจนถึงเที่ยงคืน

จากกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มอาจารย์หลายๆ คณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้มีการเชื่อมโยง ชักชวนให้มาทำร่วมกันอย่างหลากหลาย การรวมตัวของบรรดาคณาจารย์ก็เหนียวแน่นขึ้นตามลำดับ ทำให้มีการพบปะสังสรรค์พูดคุยกันในประเด็นปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมกันมาตลอด จนกระทั่งถึงช่วงตอนที่มีการรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลในเวลานั้นรับร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับประชาชน) ปี 2540 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีอาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ เป็นแกนนำ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นที่ปรึกษา ร่วมกับคณาจารย์และนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ที่ได้ร่วมกันผลิตสื่อเพื่อการรณรงค์มีการทำธงเขียวป้ายผ้า ประติมากรรม และการแสดงกลางท้องถนน นับเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่นำไปสู่กิจกรรมนอกรั้วมหาวิทยาลัยที่ไปสัมพันธ์กับปัญหาระดับชาติ และระดับท้องถิ่นไปจนถึงเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ (การลดค่าเงินบาท) และปัญหาสังคม เช่น มลพิษสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ ที่ได้มีการรวบรวมเงินจากนักวิชาการไปซื้อแผ่นกรองอากาศให้ตำรวจจราจรในเชียงใหม่ เป็นต้น

การรวมตัวและประสานสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในช่วง 3 ปีแรก (2538-2540) ที่มี ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นแกนกลางนั้น ได้ทำให้กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยเหล่านี้รวมตัวกันทำประโยชน์ให้กับสังคมรอบตัวได้ไม่น้อย จนกระทั่งเดือนก.ย. 2540 บรรดานักวิชาการจำนวนหนึ่งได้ไปร่วมรับประทานอาหารกันที่ร้านหมูจุ่มริมคลองชลประทานใกล้ๆ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์อุทิศ อติมานะ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการศิลปะสาธารณะเชียงใหม่จัดวางสังคม มีแนวคิดที่จะเชิญ ดร.นิธิ และบรรดาคณาจารย์และนักวิชาการไปเปิดวงสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับชาวบ้านที่ข่วงประตูท่าแพ เชียงใหม่ ให้ชื่อรายการไว้ว่า “โสเครตีสเที่ยงคืน” แต่ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กลับมีแนวความคิดให้ตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขึ้นมาแทน และปรัชญาความคิดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็ได้รับการยอมรับจากบรรดาคณาจารย์ที่ร้านหมูจุ่มในคืนนั้น แล้วจึงได้มีการถ่ายทอดแนวความคิดนี้ไปยังคณาจารย์กลุ่มอื่นๆ ขยายวงออกไปเรื่อยๆ

แนวความคิดเรื่องมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนี้ เริ่มจากที่ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองว่ามหาวิทยาลัยกลางวันทั้งหมดมุ่งตอบสนองความรู้ให้กับคนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยของประเทศแต่ไม่ได้ให้คำตอบแก่คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจนที่ควรได้รับประโยชน์จากมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงมีเจตจำนงที่จะทำในสิ่งที่มหาวิทยาลัยกลางวันละเลยมาโดยตลอด อีกทั้งมหาวิทยาลัยกลางวันเป็นมหาวิทยาลัยที่เข้าถึงยาก เพราะการวางเงื่อนไขของระบบการศึกษาทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งไม่ได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียน ไม่สามารถเข้าถึงมหาวิทยาลัยได้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเปิดโอกาสให้คนทุกระดับชั้น และทุกระดับการศึกษาเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ด้วยเหตุนี้

ในชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงไม่แบ่งออกเป็นคณะ หรือสาขาวิชา เพราะทุกศาสตร์มีความสัมพันธ์ในการแก้ปัญหา และการบรรยายในชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็มุ่งเน้นให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในลักษณะ Dialogue มากกว่าที่จะเป็น Monologue แบบในชั้นเรียนเวลากลางวันที่ผู้สอนครอบครองเวลาเรียนทั้งหมด แต่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะจัดให้มีผู้บรรยายนำเพียง 15 นาทีเท่านั้น หลังจากบรรยายเสร็จก็จะคืนชั้นเรียนให้กับทุกๆ คน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสนทนากัน ใครมีความรู้สาขาใด ใครมีประสบการณ์อย่างไร ซึ่งจะมาช่วยแก้ปัญหาได้ก็สามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเต็มที่ทุกครั้งที่มีการเรียน ก็จะมีการบันทึกเทปเอาไว้เพื่อนำมาถอดเป็นตัวหนังสือใช้อ่านกันในโอกาสต่างๆ และเผยแพร่ออกไปสู่วงกว้าง ส่วนผู้มาเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะไม่มีการแบ่งแยกไปตามวัย อายุ อาชีพ หรือความเชี่ยวชาญ

ดังนั้น ห้องเรียนจึงเต็มไปด้วยความรู้ความคิดและประสบการณ์ที่มีกันอย่างหลากหลาย มีตั้งแต่เด็ก คนหนุ่มสาว และคนแก่ มีตั้งแต่คนซ่อมรถจักรยาน นักศึกษา นักวิชาการ และคนที่เกษียณอายุ และมีตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์สุขภาพ นักประวัติศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ นักกฎหมายและศิลปิน โดยเวลาเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็เลือกเอาเวลาที่ทุกคนสะดวก เช่น วันเสาร์หรืออาทิตย์ วันหยุดพักผ่อนที่ใครอยากจะนอนอยู่บ้าน หรืออยากจะมาพบปะพูดคุยกันก็แล้วแต่เลือก ถ้าอยากมาเรียนแบบนอนๆ ก็มากันได้ตั้งแต่บ่ายสองโมงถึงห้าโมงเย็น สถานที่เรียนบางทีก็เป็นใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือใต้ถุนเรือนไทลื้อ ของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็จะทำเป็นโปสเตอร์และแผ่นพับกระจายไปตามร้านหนังสือ ปั๊มน้ำมัน องค์กรพัฒนาเอกชน ห้องสมุดใน จ.เชียงใหม่ รวมทั้งบริเวณในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีการโฆษณาผ่านสื่อวิทยุเป็นครั้งคราว

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนอาศัยสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ประมาณเกือบ 2 ปี อาจารย์จิราภรณ์ ตันรัตนกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีที่ดินอยู่ผืนหนึ่งที่ยังไม่ใช้ประโยชน์อยู่บริเวณใกล้วัดอุโมงค์หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงอนุญาตให้มหาวิทยาลัยไปใช้พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมการเรียนและสาธารณประโยชน์ในที่แห่งนั้น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยอาจารย์วัลลภ แม่นยำ จึงได้ออกแบบโรงเรือนสำหรับที่จะใช้ทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยขึ้น โดยปลูกสร้างตามงบประมาณและวัสดุที่ได้รับบริจาค ที่ทำการอันมีหลักแหล่งของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงกำเนิดขึ้นในปี 2543 และได้เปิดดำเนินการในวันเกิด ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2543 นั่นเอง

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนตามปรัชญาแนวคิดของ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมาตั้งแต่แรกเริ่ม นอกจากจะเป็นแหล่งที่ให้ความรู้ความเข้าใจทางการศึกษาในเรื่องต่างๆ อย่างหลากหลายแล้ว ยังได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก เช่น การไปร่วมต่อสู้กับภาคประชาชนเรื่องการวางแนวท่อก๊าซ ที่ จ.กาญจนบุรี การต่อสู้ของชาวบ้านบ่อนอก หินกรูด เกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าที่ประจวบคีรีขันธ์ การสนับสนุนการทำประชาพิจารณ์ ในเรื่องต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมของผู้คนในสังคม ทำให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ยอมเข้าไปร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมไม่น้อยเลย

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ภายใต้การนำของ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งมีอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม เป็นอธิการบดี เริ่มแปรผันไปจากแนวคิดและปรัชญาตั้งไว้แต่เดิมเป็นอันมาก ภายหลังที่มีข่าวเล่าลือในวงวิชาการที่ใกล้ชิดกับแวดวงคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ดังจะเห็นได้ว่ากิจกรรมและการดำเนินการทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนดูคล้ายจะสอดรับแนวความคิดและแนวนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปกลายๆ จนเกือบทุกเรื่อง ก่อให้เกิดความกังขากับผู้คนที่เคยสนับสนุนและศรัทธาแนวคิดในเรื่องนี้ของ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นอันมาก และหลายคนก็เฝ้ามองความเคลื่อนไหวในระยะหลังของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนด้วยความห่วงใย

จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงและมีการปฏิบัติการที่ล่อแหลมหลายประการ ที่เป็นเหตุให้ผู้คนส่วนใหญ่เกิดความเข้าใจว่าเป็นการกระทำที่ส่งไปในทางที่ทำให้เกิดผลลบต่อความมั่นคงของชาติและสถาบันของประเทศ แล้วยังมีประจักษ์พยานบางอย่างว่าคณาจารย์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบางคน ได้กลายเป็นแนวร่วมอย่างแข็งขันไม่ว่าจะเขียนบทความเผยแพร่ในนิตยสารฟ้าเดียวกัน หรือการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเพื่อให้สอดคล้องกับขบวนการและพฤติกรรมต่างๆ ของคนเสื้อแดง โดยเฉพาะในซีกของ จักรภพ เพ็ญแข

ดังนั้น ปรากฏการณ์แตกตื่นของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเกี่ยวกับพฤติกรรมของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ที่ผ่านมานั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก สำคัญอยู่แต่เพียงว่า เจตนารมณ์ของชาวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่ต้องการจะแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นมีความตั้งใจเพื่อประโยชน์อะไร

เพราะคนเฉลียวฉลาดอย่างอาจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ย่อมรู้แก่ใจดีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ในเชิงสร้างสรรค์กับการมีเจตนาจะล้มล้างนั้นต่างกันอย่างไร ซึ่ง ใจ อึ๊งภากรณ์ ก็ได้เปิดเผยไว้อย่างหมดเปลือกแล้วมิใช่หรือในแถลงการณ์แดงสยาม ที่บรรดาสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนต่างก็พยายามดิ้นหนีเอาตัวรอดกันอยู่ในขณะนี้

http://www.posttoday.com/lifestyle.php?id=34365

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น