วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ข้อเสนอของภาคประชาชนไทยต่อรัฐบาลไทยและสมาคมประชาชาติอาเซียน

ข้อเสนอของภาคประชาชนไทยต่อรัฐบาลไทยและสมาคมประชาชาติอาเซียน

เพื่อการก้าวไปข้างหน้า บนผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน 27 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม 2552

Å สมาคมประชาชาติอาเซียนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยระบบตลาด และการเปิดเสรีการค้า

นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. 2546 ผู้นำอาเซียนได้มีการลงนามในปฏิญญาความร่วมมืออาเซียนฉบับที่สอง (Bali Concord II) เพื่อยืนยัน ความมุ่งมั่นที่จะก่อตั้งประชาคมอาเซียน และกำหนดให้มีความร่วมมือกันในสามด้านหลัก อันได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม ความตกลงนี้เป็นการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ขึ้น ซึ่งเรียกกันว่าเป็นสามเสาหลักของอาเซียน

และในวันที่ 20 พฤศจิกายน พศ 2550 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 ที่ประเทศสิงคโปร์ ได้มีการลงนามยอมรับกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) และ พิมพ์เขียวแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint - AEC) โดยการลงนามในครั้งนี้เป็นการแสดงถึงเจตจำนงของสมาคมประชาชาติอาเซียน ที่ต้องการผนึกความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ เป็นองค์กรระหว่างรัฐที่มีกฎกติกาของตนเองร่วมกัน

กฎบัตรอาเซียนนั้น คือข้อตกลงที่กำหนดกรอบโครงสร้าง วัตถุประสงค์ และหลักการขององค์กรอาเซียน อีกทั้งยังกำหนดถึงวิธีปฏิบัติของเหล่าประเทศสมาชิกและกระบวนการปกครองร่วมกันอีกด้วย ซึ่งกล่าวได้ว่า กฎบัตรอาเซียนเปรียบเสมือนกับรัฐธรรมนูญที่ใช้ปกครองกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนนั่นเอง

กฎบัตรอาเซียนนั้น ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยตลาด เป้าหมายที่จะผูกโยงเศรษฐกิจของทุกประเทศเข้าด้วยกันเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว มีการตีความแนวเดียวคือ การเปิดเสรี ให้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันแบบเสรี โดยไม่ได้ใส่ใจถึงทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ แนวนโยบายเหล่านี้ปรากฎชัดเจนอยู่ในพิมพ์เขียวแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่กำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) อาเซียนจะกลายเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว

ความพยายามจะทำให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวนั้นเริ่มมาตั้งแต่การจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในปี 2535 ซึ่งมีการดำเนินงานตามโครงการลดภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากประเทศอาเซียนด้วยกัน โดยมีเป้าหมายที่จะขจัดภาษีศุลกากรให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) สำหรับประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ และภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) สำหรับสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ คือกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม รายการสินค้าอ่อนไหวทั้งหมดที่ยกเว้นไว้จะต้องนำมาเข้าโครงการนี้ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018)

พอจะคาดเดาได้ว่ากฎบัตร และพิมพ์เขียว จะทำหน้าที่สำคัญในการบังคับดำเนินการตามพันธะกรณีอย่างจริงจัง และเป็นจริง ซึ่งหมายความว่า อาเซียนทุกประเทศจะเปิดให้สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานที่มีฝีมือข้ามพรมแดนของกันและกันได้อย่างเสรีเต็มที่

แต่ที่น่าสังเกตอย่างยิ่งคือ ในพิมพ์เขียวเศรษฐกิจ ที่เน้นเรื่องการเปิดเสรี ภาคอาหาร เกษตร และป่าไม้ ไม่ได้กล่าวถึง การดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของเกษตรกรรายย่อย ชาวประมงรายย่อย และแรงงาน ซึ่งเป็นประชาชนพื้นฐานของภูมิภาคนี้แม้แต่คำเดียว

Å ข้อวิพากษ์ของภาคประชาชนไทยต่อสามเสาหลักของอาเซียน อันประกอบด้วย ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) และ พิมพ์เขียวแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint - AEC)

ภาคประชาชนไทย อันประกอบด้วยเครือข่ายต่าง ๆ ของภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ได้เฝ้าติดตามทิศทางการพัฒนาของสมาคมประชาชาติอาเซียนและบทบาทของรัฐบาลไทยในสมาคมประชาชาติอาเซียนนี้อย่างใกล้ชิด และมีข้อวิพากษ์จากฐานผลประโยชน์ของประชาชนไทยและประชาชนแห่งภูมิภาคอาเซียน ดังนี้คือ

1) ที่ผ่านมานับแต่ก่อตั้งสมาคมประชาชาติอาเซียนเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อาเซียนยังคงเป็นเรื่องของรัฐบาล ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่มีช่องทางและกลไกรูปธรรมที่ประชาชนจะสามารถเสนอแนะแนวคิด ทิศทางของอาเซียน ไม่มีแผนงานที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน “อาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” และ “การเสริมสร้างหลังประชาชน” ตามที่ระบุไว้ในความมุ่งประสงค์ของอาเซียน ข้อที่ 13 และข้อที่ 10 จึงยังคงเป็นแต่เพียงวาทกรรมที่ยากจะเป็นจริง

2) ความแตกต่างกันของลัทธิการเมือง ระบอบการปกครองของบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน และหลักการไม่แทรกแซง (non intervention) กิจการภายใน การกระทบกระทั่งและข้อพิพาทต่าง ๆ ที่มีระหว่างกันของรัฐสมาชิก เป็นความท้าทายประการสำคัญของสมาคมประชาชาติอาเซียนในการสร้างความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ให้ “แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” ตามความมุ่งประสงค์ของอาเซียน ข้อที่ 2

3) การมุ่งเน้นแต่เฉพาะเสาหลักด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง และการเลือกระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยตลาดเป็นทิศทางร่วมกันของรัฐสมาชิก และการมีเป้าหมายที่จะผูกโยงเศรษฐกิจของทุกประเทศเข้าด้วยกันเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้า บริการ และการลงทุน เพื่อความสะดวกของนักธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้มีความสามารถพิเศษหรือแรงงานที่มีทักษะฝีมือ (ตามความมุ่งประสงค์ของอาเซียน ข้อที่ 5) จะเป็นผลประโยชน์เฉพาะธุรกิจข้ามชาติ และธุรกิจขนาดใหญ่ แต่กลับจะกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของเกษตรกรรายย่อย ประมงรายย่อย ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นประชาชนพื้นฐานของทุกรัฐสมาชิก

4) มีโครงการความร่วมมือขนาดใหญ่จำนวนมากที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ภายใต้ข้ออ้างของการพัฒนา และการแสวงหาแหล่งพลังงาน ที่รัฐสมาชิกที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจทำต่อรัฐสมาชิกที่ยากจน ส่งผลในทางทำลายระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีการเกษตรและการพึ่งตนเองของชุมชน และเป็นเหตุแห่งความยากจนของเกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

5) ประเด็นสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นประเด็นที่ถูกละเลยในบรรดารัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติอาเซียน แม้จะมีการระบุประเด็นสิทธิมนุษยชนในแถลงการณ์ร่วมที่สิงคโปร์เมื่อปี 2546 ( ค.ศ.1993) แต่การมุ่งเน้นเรื่องความมั่นคงทางการเมืองและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งหลักการไม่แทรกแซง (non intervention) กิจการภายในระหว่างกันของรัฐสมาชิก และการไม่ยอมรับบทบาทขององค์กรภาคประชาชนด้านสิทธิมนุษยชนที่ปฏิบัติการจริงอยู่ในภูมิภาค เป็นอุปสรรคอย่างสำคัญในการพัฒนาประเด็นสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียน

Å ข้อเสนอของภาคประชาชนไทยต่อรัฐบาลไทยและสมาคมประชาชาติอาเซียน เพื่อการก้าวไปข้างหน้า บนผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

ภาคประชาชนไทยจึงมีข้อเสนอรัฐบาลไทยและสมาคมประชาชาติอาเซียน เพื่อการก้าวไปข้างหน้า บนผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริงของประชาชนแห่งภูมิภาคอาเซียน ดังนี้


1) สมาคมประชาชาติอาเซียนต้องมีความจริงใจและกระตือรือร้น ที่จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยการพัฒนาช่องทางกลไก และแผนงาน ที่จะนำไปสู่ “อาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” และ “การเสริมสร้างหลังประชาชน” ตามที่ระบุไว้ในความมุ่งประสงค์ของอาเซียน ข้อที่ 13 และข้อที่ 10

2) แนวนโยบายใด ๆ เสาหลักใด ๆ กฎบัตรใด ๆ และพิมพ์เขียวใด ๆ ของสมาคมประชาชาติอาเซียน จะต้องถูกทบทวน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเพิ่มพูนความเป็นอยู่ที่ดีและการดำรงชีวิตของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม ตามที่ระบุไว้ในความมุ่งประสงค์ของอาเซียน ข้อที่ 11 และเสริมสร่างคุณค่าของสันติภาพในภูมิภาค ตามความมุ่งประสงค์ของอาเซียน ข้อที่ 11


3) สมาคมประชาชาติอาเซียน จะต้องเพิ่มการให้ความสำคัญกับเสาหลักประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ส่งเสริมการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ ลดช่องว่างการพัฒนา สร้างหลักประกันความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการสร้างทางเลือกการพัฒนา แทนการมุ่งเน้นแต่เฉพาะเสาหลักด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง และยกเลิกการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน และการผูกโยงเศรษฐกิจของทุกประเทศเข้าด้วยกันเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว

4) มีโครงการความร่วมมือขนาดใหญ่จำนวนมากที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ที่รัฐสมาชิกที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจทำต่อรัฐสมาชิกที่ยากจน ส่งผลในทางทำลายระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีการเกษตรและการพึ่งตนเองของชุมชน และเป็นเหตุแห่งความยากจนของเกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจะต้องได้รับการทบทวน

5) ประเด็นสิทธิมนุษยชนจะต้องถูกยกระดับขึ้นเป็นวาระเร่งด่วนของภูมิภาค สมาคมประชาชาติอาเซียนจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกสิทธิมนุษยชนของอาซียน ดำเนินการขจัดข้อจำกัดและอุปสรรคขัดขวางการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน และทำงานร่วมกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค

6) รัฐไทยในฐานะรัฐสมาชิกที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ จะต้องมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการสร้างภูมิภาคนี้ให้เป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพ ความปรองดอง การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน และการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของภูมิภาค



โดย ::
วันที่ :: -/-/-

http://www.ngosthailand.com/new_update_detail.php?infortype_id=2&new_id=175

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น