วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เปิดสิทธิได้รับบำนาญและสวัสดิการ ของพนักงานจุฬาฯ

เปิดสิทธิได้รับบำนาญและสวัสดิการ ของพนักงานจุฬาฯ
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 - เวลา 14:44:40 น.




กฤษฎีกา ตอบข้อหารือ จุฬาฯ สิทธิในการได้รับบำนาญและสวัสดิการจากราชการของข้าราชการจุฬา ฯ หลัง เปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า ในช่วงกลางปีที่แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด (ที่ ศธ ๐๕๑๒/๐๕๔๘๓ ลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๑ ) ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง สิทธิในการได้รับบำนาญและสวัสดิการจากราชการของข้าราชการจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยซึ่งเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

ปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้น เมื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศธ ๐๕๐๙(๔)/ว ๕๔๙ ลงวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑ จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แจ้งกรณีกรมบัญชีกลางตอบข้อหารือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเกี่ยวกับการเบิกจ่ายสวัสดิการของข้าราชการที่เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตามมาตรา ๗๐/๖ และมาตรา ๗๐/๗ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยกรมบัญชีกลางมีความเห็นโดยสรุปว่า ข้าราชการที่เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจะใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๒๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้ เมื่อบุคคลนั้นเป็นผู้รับบำนาญที่ไม่มีสิทธิอื่นเท่านั้น และจะสามารถบันทึกสิทธิในระบบจ่ายตรงได้ในกรณีที่พนักงานมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ โดยให้บันทึกสิทธิในสถานภาพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญและเหตุที่ออกตามคำสั่งของหน่วยงาน

ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเห็นว่า หนังสือตอบข้อหารือของกรมบัญชีกลางดังกล่าว ยังขาดความชัดเจนสำหรับกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะซึ่งรวมถึงบทบัญญัติตามมาตรา ๘๐ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ และเนื่องจากปัจจุบันได้มีข้าราชการกลุ่มหนึ่งที่ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพและขอเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการต่อไป และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อกฎหมายในมาตรา ๘๐ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ส่งผลกระทบต่อข้าราชการที่เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อแนวทางปฏิบัติของกรมบัญชีกลาง รวมถึงสำนักงานประกันสังคมด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงขอหารือประเด็นข้อกฎหมาย ดังนี้
๑. ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว จะมีสิทธิที่จะขอเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการต่อไปได้หรือไม่
๒. ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่ประสงค์จะเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการต่อไปและเลือกรับบำนาญ จะมีสถานะเป็นผู้ได้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการซึ่งจะมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๒๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติมใช่หรือไม่
๓. หากข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว ใช้สิทธิในการขอเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการต่อไป บุคคลกลุ่มนี้จะยังไม่มีสถานะเป็นผู้ได้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่มาตรา ๘๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับรองสิทธิไว้เป็นการเฉพาะว่า "ให้มีสิทธิได้รับสวัสดิการจากทางราชการเช่นเดียวกับผู้ได้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ" ซึ่งย่อมหมายความรวมถึง การได้รับสิทธิในสวัสดิการการรักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลฯ ด้วย แม้บุคคลกลุ่มนี้จะยังไม่มีสถานะเป็นผู้ได้รับบำนาญก็ตามใช่หรือไม่
๔. เมื่อข้าราชการตามข้อ ๒ และข้อ ๓ มีสิทธิได้รับสวัสดิการในฐานะข้าราชการบำนาญแล้ว มาตรา ๘๐ วรรคท้าย จึงได้ยกเว้นไม่ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม แต่จะประกันตนด้วยความสมัครใจก็ได้ใช่หรือไม่

ต่อมา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๘) ได้พิจารณาข้อหารือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบกับได้รับฟังคำชี้แจงข้อเท็จจริงจากผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) และผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้ว เห็นว่า มีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ข้าราชการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสมาชิก กบข. อยู่ก่อนการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย หากไม่ประสงค์จะเป็นสมาชิก กบข. ต่อไป และเลือกรับบำนาญ จะมีสถานะเป็นผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และมีสิทธิได้รับสวัสดิการจากทางราชการในฐานะผู้รับบำนาญ หรือไม่ เห็นว่า โดยที่มาตรา ๘๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติให้ถือว่า ข้าราชการซึ่งมหาวิทยาลัยรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามมาตรา ๗๔ และมาตรา ๗๘ เป็นการให้ออกจากราชการเพราะทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แล้วแต่กรณี นับแต่วันที่มหาวิทยาลัยรับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

ด้วยเหตุนี้ ข้าราชการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเปลี่ยนสภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจึงมีสิทธิในการขอรับบำเหน็จบำนาญปกติด้วยเหตุทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๔ หรือมาตรา ๕๑แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้วแต่กรณี ตามปัญหาที่หารือ จึงเห็นว่า เมื่อข้าราชการซึ่งเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวไม่ประสงค์จะเป็นสมาชิก กบข. ต่อไป และเลือกรับบำนาญเมื่อออกจากราชการเพราะทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่ง สมาชิกภาพ กบข. ของผู้นั้นย่อมสิ้นสุดลง และก่อให้เกิดสิทธิที่จะได้รับบำนาญด้วยเหตุทดแทน รวมทั้งสวัสดิการและเงินช่วยเหลือต่างๆ เช่นเดียวกับผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๔๕มาตรา ๕๑และมาตรา ๕๗แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งในประเด็นนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ ๒ คณะที่ ๘ และคณะที่ ๑๒) ได้เคยให้ความเห็นไว้ในกรณีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในทำนองเดียวกันว่า "...กรณีที่เป็นสมาชิก กบข. และไม่มีความประสงค์ที่จะเป็นสมาชิก กบข. ต่อไป เมื่อออกจากราชการเพราะทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่งแล้ว มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติด้วยเหตุทดแทน รวมทั้งเงินอื่นๆ จาก กบข. ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ รวมทั้งมีสิทธิได้รับสวัสดิการและเงินช่วยเหลือต่างๆ เช่นเดียวกับผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙..." ตามเรื่องเสร็จที่ ๗๗๕/๒๕๕๑

ประเด็นที่สอง ข้าราชการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสมาชิก กบข. อยู่ก่อนการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย จะมีสิทธิขอเป็นสมาชิก กบข. ต่อไปได้หรือไม่ และจะมีสิทธิได้รับสวัสดิการจากทางราชการเช่นเดียวกับผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากมาตรา ๗๐/๖ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่บัญญัติว่าในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ให้สมาชิกซึ่งเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและประสงค์จะเป็นสมาชิกตั้งแต่วันที่บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ใช้บังคับ ยังคงมีสมาชิกภาพของสมาชิกต่อไป ประกอบกับมาตรา ๘๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติให้ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการอยู่แล้ว ให้มีสิทธิขอเป็นสมาชิกต่อไปได้แม้จะออกจากราชการแล้ว ในกรณีเช่นนี้ให้มีสิทธิได้รับสวัสดิการจากทางราชการเช่นเดียวกับผู้ได้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ด้วยเหตุนี้ ข้าราชการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสมาชิก กบข. อยู่ก่อนการเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย จึงมีสิทธิขอเป็นสมาชิก กบข. ต่อไปได้ และมีสิทธิได้รับสวัสดิการจากทางราชการเช่นเดียวกับผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วม คณะที่ ๒ คณะที่ ๘ และคณะที่ ๑๒ ) ได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ในเรื่องเสร็จที่ ๗๗๕/๒๕๕๑ สรุปความได้ว่า "บทบัญญัติที่ว่า "ให้ถือว่าเป็นข้าราชการบำนาญและมีสิทธิได้รับสวัสดิการจากราชการเช่นเดียวกับผู้ได้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ" มีวัตถุประสงค์พิเศษที่ต้องการจูงใจให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามนโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยของรัฐเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยให้ถือเสมือนว่าบุคคลนั้นเป็นข้าราชการบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ผลของบทบัญญัติดังกล่าวทำให้ข้าราชการของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังซึ่งเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานสถาบันมีสิทธิขอเป็นสมาชิก กบข. และมีสิทธิได้รับสวัสดิการจากราชการต่อเนื่องจากสิทธิที่เคยมีอยู่เดิมต่อไป นอกจากนี้ บทบัญญัติดังกล่าวยังมีหลักการที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๙ ด้วย"

ประเด็นที่สาม ข้าราชการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และมีสิทธิได้รับสวัสดิการในฐานะผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้ว จะได้รับยกเว้นไม่ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม หรือไม่ เห็นว่า มาตรา ๘๐ วรรคสี่ บัญญัติว่า พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ในฐานะข้าราชการบำนาญแล้ว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะประกันตนด้วยความสมัครใจ ด้วยเหตุนี้ ข้าราชการซึ่งเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ไม่ประสงค์จะเป็นสมาชิก กบข. ต่อไปและเลือกรับบำนาญ หรือกรณีประสงค์จะเป็นสมาชิก กบข. ต่อไป โดยกฎหมายให้สิทธิได้รับสวัสดิการจากทางราชการเช่นเดียวกับผู้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ต่างก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ตัดสิทธิบุคคลเหล่านี้ที่จะประกันตนด้วยความสมัครใจ

http://www.matichon.co.th/prachachat/news_title.php?id=8807

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ7 มีนาคม 2552 เวลา 07:45

    ขอบคุณมาก ๆ นะครับสำหรับข้อมูล

    ตอบลบ