วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ไทยยังไม่เป็นสังคมผู้ผลิต แต่เป็นสังคมผู้บริโภคเทคโนโลยี (8)

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6660 ข่าวสดรายวัน


ไทยยังไม่เป็นสังคมผู้ผลิต แต่เป็นสังคมผู้บริโภคเทคโนโลยี (8)

คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์

(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)



ถ้าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์เกิด จิตใจวิทยาศาสตร์เกิด จะมีความใฝ่รู้ จะนิยมเหตุผล จะชอบทดลอง จะนิยมปัญญา และจะชอบแสวงปัญญา คนไทยจะต้องสนใจให้ถึงตัววิทยาศาสตร์เอง ซึ่งเป็นฐานของเทคโนโลยี

ถ้าคนไทยมองเทคโนโลยีโยงไปถึงวิทยาศาสตร์อย่างนี้ ก็จะสร้างจิตใจของนักผลิตและนักสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ทำให้เกิดคุณสมบัติคู่กันที่ครบวงจร คือ วิทยาศาสตร์สร้างวัฒนธรรมแห่งความใฝ่รู้ และเทคโนโลยีสร้างวัฒนธรรมแห่งความใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งเมื่อประสานเข้ากับวัฒนธรรมแห่งความบากบั่นสู้สิ่งยากของอุตสาหกรรม ก็นำไปสู่ความเจริญขยายตัวของวิทยาการและการผลิตการสร้างสรรค์ พร้อมทั้งความก้าวหน้าทางวัตถุและความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจอย่างน่าอัศจรรย์

มองลึกละเอียดลงไปให้เห็นแง่มุมเพิ่มขึ้นอีก เพื่อจะได้พัฒนาคนและพัฒนาทุกอย่างให้ถูกต้อง ที่ว่าเทคโนโลยีเชื่อมโยงความรู้ออกมาสู่การกระทำนั้น ยังมีความหมายซ้อนและซ่อนอยู่อีก กล่าวคือ ในการที่ความรู้จะโยงออกมาสู่การกระทำได้นั้น จะต้องมีความรู้คิดหยั่งเห็นในหนทางและวิธีการที่จะจัดทำนำความรู้มาใช้ และมีฝีมือที่จะทำให้สัมฤทธิ์วัตถุประสงค์ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ความสามารถที่จะแสดงออกซึ่งปรีชาที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์ ความสามารถ 2 ขั้นนี้มีชื่อเรียกว่าศิลปะ เพราะฉะนั้นในเทคโนโลยีจึงมีศิลปะรวมอยู่ด้วย

พูดให้เป็นสำนวนว่า เทคโนโลยีโยงวิทยาศาสตร์กับศิลปะเข้าด้วยกัน หรือพูดให้สั้นลงไปอีกว่า เทคโนโลยีโยงศาสตร์กับศิลป์เข้าด้วยกัน และเมื่อทำได้อย่างนี้เทคโนโลยีจึงทำให้วิทยาศาสตร์เกิดผลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมหรือแก่มวลมนุษย์และแก่โลกทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ใช่เท่านั้น การที่เทคโนโลยีโยงศาสตร์กับศิลป์มาต่อกันได้อย่างนี้ ยังไม่เป็นหลักประกันว่าจะเกิดผลดีเป็นประโยชน์สุขอย่างแท้จริง การพัฒนาคนเพียงขั้นนี้ยังไม่เพียงพอ ยังจะต้องมีการพัฒนาคนอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นตัดสินเด็ดขาด คือ พัฒนาคนให้สามารถโยงศาสตร์กับศิลป์ให้ถึงกุศลด้วย คือให้มาเชื่อมต่อหรือรับใช้เจตจำนงที่จะใช้ศิลป์นำศาสตร์ไปสร้างสรรค์ให้เกิดผลดีเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง เช่น นำมาช่วยให้มนุษย์มีปัจจัยสี่กินใช้ทั่วถึง มีสุขภาพดี บำบัดทุกข์ภัย ให้เป็นอยู่อย่างสวัสดี มีสันติสุข

เมื่อเทคโนโลยีขึ้นมามีบทบาทสนองเจตจำนงที่เป็นกุศล ก็จะส่งผลสืบทอดไปถึงอุตสาหกรรม ทำให้การผลิตเป็นไปในทางสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษย์และสรรพชีพอย่างแท้จริง

หากปราศจากการพัฒนากุศลแล้ว การพัฒนาศาสตร์และศิลป์อาจเบี่ยงเบนออกจากทางที่แท้อันถูกต้อง กลายเป็นเครื่องก่อความหายนะและความพินาศแก่มนุษย์และโลกทั้งหมดก็ได้ แต่ถ้าเราพัฒนาคนให้ถึงขั้นได้ทั้งศาสตร์ ทั้งศิลป์ และทั้งกุศล และสามารถโยงศาสตร์และศิลป์ ให้ถึงกุศลก็จะเป็นมงคล คือก่อให้เกิดความดีงามและความงอกงามของมนุษยชาติ เป็นอารยธรรมที่พึงประสงค์อย่างแท้จริง

คนไทยยังศึกษาไม่ถึงสาระของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในสังคมไทยของเรา การพัฒนาประเทศขณะนี้มีปัญหา เพราะว่าคนไทยเพลินอยู่แค่วิชาการที่เป็นระดับเทคโนโลยีในระบบความคิดแบบแยกส่วน วิชาการจำพวกวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ คนไทยไม่สนใจ จึงเกิดเป็นปัญหาของประเทศชาติในปัจจุบันว่า วิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หาคนศึกษายาก รัฐบาลวางแผนพัฒนาประเทศขณะนี้ต้องไปเน้นย้ำว่าทำอย่างไรจะส่งเสริมให้มีคนศึกษาวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น เพราะที่แท้วิทยาศาสตร์ต่างหากที่จะเป็นฐานของการพัฒนาเทคโนโลยี ถ้าอยู่แค่เทคโนโลยีก็ไปไม่ไกล

ขอให้ไปดูในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะรู้ว่าสังคมไทยขาดแคลนนักศึกษาผู้เรียนในวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ปัญหาของสังคมไทยเราจึงมีมากมายหลายอย่างและหลายชั้น ทั้งปัญหาเฉพาะของเราเอง และปัญหาร่วมกันกับโลกปัจจุบันทั้งหมด เมื่อขาดการพัฒนาวิทยาศาสตร์ก็ขาดศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี แม้แต่การพัฒนาความรู้ศาสตร์ ที่จะมาโยงกับศิลป์ ก็ยังโหว่เชื่อมกันไม่ไหว จึงไม่ต้องพูดว่าจะพัฒนาให้ถึงกุศลได้อย่างไร

หน้า 31 http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXdPREl5TURJMU1nPT0=§ionid=TURNd053PT0=&day=TWpBd09TMHdNaTB5TWc9PQ==

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น