วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เรียกร้องสิทธิร่วมถกกฎหมายคลื่นความถี่

เรียกร้องสิทธิร่วมถกกฎหมายคลื่นความถี่
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 - เวลา 17:47:20 น.



คปส.เสนอให้ ปชช.ร่วมพิจารณากฎหมายและเปิดเผยกระบวนการ ด้านรัฐบาล'อภิสิทธิ์'ดึงนักกฎหมายจัดทำร่างขึ้นอย่างเงียบเชียบ

สืบเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรกำหนดวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... เป็นวาระเร่งด่วนที่ 5 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) และเครือข่ายภาคประชาชนจึงทำหนังสือและจดหมายเปิดผนึกส่งถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นาย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย โดยยื่นข้อเสนอเรื่องสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ให้เหตุผลว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชนได้แสดงเจตนารมณ์ในการมีส่วนร่วมโดยการจัดทำร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .…ฉบับประชาชนขึ้น และมีประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นจำนวน 4,335 ราย

ส่วนข้อเสนอที่เรียกร้องต่อรัฐบาลและพรรคการเมือง คือ หนึ่ง ให้รัฐบาล และทุกพรรคการเมือง เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .… โดยกำหนดให้มีสัดส่วนตัวแทนภาคประชาชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย

สอง รัฐบาลต้องให้หลักประกันว่ากระบวนการพิจารณากฎหมายจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของสาธารณะและประชาชน มีกระบวนการที่โปร่งใสในการจัดตั้งองค์กรอิสระ กระบวนการและกลไกตรวจสอบต้องเป็นอิสระ กำหนดแนวทางจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ และให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในทุกด้าน รวมถึงนำร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้นโดยภาคประชาชนมาประกอบการพิจารณา และสาม รัฐบาลต้องเปิดเผยกระบวนการพิจารณากฎหมายแก่สาธารณะทุกขั้นตอน เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ และสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เป็นวาระที่ค้างมาจากรัฐบาลที่แล้ว โดยเป็นร่างกฎหมายฉบับที่กระทรวงไอซีทีปรับปรุงหลังจากมีการคัดค้านจาก 22 เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและองค์วิชาชีพ และนาย สมชาย วงสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ลงนามเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ส่วนกฎหมายฉบับที่เสนอร่วมในการพิจารณาครั้งนี้ คือฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ และฉบับของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งจัดทำอย่างเงียบเชียบและไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยมีนาย สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ร่วมจัดทำตามที่สื่อมวลชนได้รายงานในช่วงที่ผ่านมา.
http://www.matichon.co.th/prachachat/news_title.php?id=8818

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น