วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วันที่ ๑๗ – ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

โครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน “มหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน”
โดย : มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เมื่อ : 25/02/2009 12:22 PM
ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

หลักการและเหตุผล

สภาวการณ์ปัจจุบันที่มนุษยชาติกำลังเผชิญกับมหาวิกฤติอันเลวร้ายและรุนแรงทั้งภัยจากธรรมชาติ ส่งผลต่อให้เกิดปัญหาสังคม โรคระบาดทั้งในคน สัตว์และพืช ทำให้เกิดวิกฤติด้านอาหารและพลังงานอย่างรุนแรง เกิดสงครามแย่งชิงน้ำทั้งภาคครัวเรือน ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ยุคข้าวยากหมากแพงเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก อัตราการว่างงานเกิดขึ้นทั่วโลกไม่เว้นแม้ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เกิดความโกลาหลขัดแย้งแย่งชิงอำนาจทางการเมือง สงครามล้างเผ่าพันธุ์ และการล่าเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจยังไม่มีวันจบสิ้น เมื่อสังคมโลกเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้ายและรุนแรงเช่นนี้ อะไรคือคำตอบที่เป็นทางรอดของโลก

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ความว่า “...ที่พูดกลับไปกลับมาในเรื่องการค้า การผลิต การขาย และการบริโภคนี้ ก็นึกว่าท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจในวิกฤติการณ์ ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่มีเงินมาก ล้วนเดือดร้อน แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมดแม้ครึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้ การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลาไม่ใช่ง่ายๆ โดยมากคนก็ใจร้อน เพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้...” ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยอันยาวไกลอันเกิดจากการทรงงานกว่า ๖ ทศวรรษ พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ทรงพระราชทาน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาในการพัฒนาประเทศ และทั่วโลกต่างยกย่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นปรัชญาแห่งแสงสว่างและแนวทางปฏิบัติในการแก้ปัญหาของนานาประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศยากจน

มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เป็นองค์กรภาคประชาคมที่ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมากว่า ๒ ทศวรรษ เกิดศูนย์เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติขยายครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ ๕๐ ศูนย์ และศูนย์เตรียมการอีกว่า ๕๐ ศูนย์ที่จะเปิดในปี ๒๕๕๒ อันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังเปลี่ยนกลับไปเป็นเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการขับเคลื่อนของขบวนการคืนชีวิตให้แผ่นดิน ในปี ๒๕๕๒ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จึงร่วมมือกับทุกภาคส่วนในรูปแบบเบญจภาคี อันประกอบด้วยภาครัฐ ภาควิชาการสถานศึกษา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ประชาสังคมและสื่อ ผนึกประสานสามัคคีเพื่อระดมสรรพกำลังจัดมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดินขึ้น

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อสนับสนุนนโยบายของรับบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน
๒. เพื่อสานต่อและประมวลความคืบหน้าปฏิญญามาบเอื้อง
๓. เพื่อผนึกพลังประสานสามัคคีระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนทุกระดับในรูปแบบเบญจภาคี นำสังคมไทยผ่านพ้นสภาวะวิกฤตด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๔. เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมที่เป็นจริงให้กว้างยิ่งขึ้นในทุกระดับตั้งแต่ระดับผู้บริหารประเทศ ภาควิชาการสถานการศึกษาทุกระดับ ภาคประชาชนในเมืองและชนบท ภาคธุรกิจเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคมและสื่อ
๕. เพื่อทบทวนยุทธศาสตร์และกำหนดยุทธวิธีแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ

เป้าหมาย
เป้าหมายเชิงปริมาณ
มีผู้เข้าร่วมงานจากภาครัฐ ภาควิชาการสถานศึกษา ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อ จำนวน ๕,๐๐๐ คน
เป้าหมายเชิงคุณภาพ
๑. เกิดการระดมสรรพกำลังทั้งภาคภาครัฐ ภาควิชาการสถานศึกษา ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อ ในการรองรับและแก้ไขปัญหาสภาวิกฤติ ขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นรูปธรรมที่เป็นจริงในวงกว้าง
๒. ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทุกระดับร่วมกันสรุปผลยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเพื่อประกาศเป็นปฏิญญาร่วมกันให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นวาระแห่งชาติ

ระยะเวลา
ระหว่างวันที่ วันที่ ๑๗-๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒

สถานที่จัดงาน

ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี โทร. ๐๓๘ ๒๖๓๐๗๘


ผู้รับผิดชอบโครงการ
๑. สำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.)
๒. มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ (คกช.)
๓. สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิเศรษฐกิจพอเพียง
๔. สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (สกพ.มรร.)
๕. สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า)
๖. โพธิวิชชาลัย จ.สระแก้ว
๗. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.)
๘. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
๙. เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ
๑๐. เครือข่ายพหุภาคีปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน
๑๑. เครือข่ายภูมิปัญญาไท
๑๒. เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน
๑๓. เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
๑๔. เครือข่ายธนาคารต้นไม้
๑๕. คณะกรรมการดำเนินงานประสานความร่วมมือโครงการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับ
องค์กรเบญจภาคี (มร.)
๑๖. สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
๑๗. ศูนย์ประสานงานการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย
๑๘. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
๑๙. บริษัท เคเอสแอล การเกษตรจำกัด
๒๐. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
๒๑. บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด
๒๒. บริษัท ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท

รูปแบบการจัดงาน

๑. การบรรยายพิเศษ
๒. การอภิปรายวิชาการ
๓. การจัดนิทรรศการและแสดงผลงานของภาคีทุกภาคส่วน
๔. การแสดงประเพณีวัฒนธรรม ๔ ภาค จากภาคีภาคประชาชน ๔ ภาค
๕. การจัดแสดงและฝึกปฏิบัติฐานการเรียนรู้ ๙ ฐาน
๖. การนำผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายมาแลกเปลี่ยนและจำหน่ายในงาน

งบประมาณ

ในการดำเนินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน “มหกรรมคืนชีวิตให้
แผ่นดิน” จำนวน ๒,๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านสองแสนบาทถ้วน)
- งบสนับสนุนจากโครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน
- งบสนับสนุนจากองค์กรร่วมจัด
- เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ (คกช.) มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑. มีนโยบายของภาคีทุกภาคส่วน ในการสนองพระราชดำริด้านเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นวาระแห่งชาติ
๒. ภาคีทุกภาคส่วนทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและสื่อ และภาคประชาชนได้ร่วมสร้างตัวอย่างของความสำเร็จในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม
๓. มีนโยบายด้านเศรษฐกิจพอเพียง ในการสนองตอบต่อ รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๘๓ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๐ – ๒๕๕๔)

โครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน “มหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน”
ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒
ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
******************************************************

วันอังคารที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๒

๐๘.๐๐ – ๐๙.๐๐ น. ลงทะเบียนและรับเอกสาร
๐๙.๐๐ – ๐๙.๓๐ น. กล่าวต้อนรับและรายงานการจัดงาน
โดย คุณธีระ วงษ์เจริญ ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ(คกช.) ชมวีดีทัศน์ ชุด คืนชีวิตให้แผ่นดิน : ประมวลความคืบหน้าปฏิญญามาบเอื้อง

๐๙.๓๐ – ๑๑.๐๐ น. กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงกับการ
แก้วิกฤติชาติ โดย ศ.นพ.ประเวศ วสี ราษฎรอาวุโส
๑๑.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. เปิดนิทรรศการและเยี่ยมชมนิทรรศการ
๑๒.๐๐ – ๑๓.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน
๑๓.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. เสวนา เรื่อง “CSR บทบาทภาคเอกชน แนวทางการช่วยพื้นฟูฐานรากของประเทศ”
- ตัวแทนจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- ตัวแทนจาก บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
- กรรมการผู้จัดการบริษัท เบทาโกร
- กรณีศึกษาโพธิวิชชาลัย รูปแบบการสนับสนุนของ KSL
โดย ผศ.อำนาจ เย็นสบาย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ดำเนินรายการโดย คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย

๑๕.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. เสวนา เรื่อง “ตลาดสีเขียว ปฏิบัติการอุ้มชู...ไม่จำกัด”
- คุณไตรภพ โคตรวงษา นำเสนอรูปแบบ ร้านคืนชีวิตให้แผ่นดิน อุ้มชูไม่จำกัด ทางออกวิกฤติชาติ
- คุณวิลิต เตชะไพบูลย์ ประสบการณ์จากตลาดนัดสีเขียว
- คุณอำนาจ หมายยอดกลาง ประธานกลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ วังน้ำเขียวโครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- คุณสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานมูลนิธิ รักษ์ดิน รักษ์น้ำ

ดำเนินรายการโดย คุณก่อเขต จันทเลิศลักษณ์
นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

๑๗.๐๐ – ๑๘.๓๐ น. ระดมพลังทุกภาคส่วนร่วมสนับสนุนงานทรัพยากรไทย: ผันสู่วิถีใหม่ในฐานไทย ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ปี ๒๕๕๒ และรับมอบเมล็ดพันธ์และกล้าพันธุ์ไม้เพื่อสนับสนุนโครงการฯ

โดย คุณพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการฯ
และ ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์ รองหัวหน้าสำนักงาน อพ.สธ. ฝ่ายวิชาการ

๑๘.๓๐ – ๒๐.๐๐ น. รับประทานอาหารเย็นและพักผ่อนตามอัธยาศัย

๒๐.๐๐ – ๒๒.๐๐ น. เวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรม ๔ ภาค
- การแสดงดนตรี โดย คุณวิลิตและกลุ่มศิลปิน
- การแสดงศิลปวัฒนธรรม ๔ ภาค

๒๒.๐๐ น. พักผ่อนตามอัธยาศัย

วันพุธที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒
๐๕.๐๐ – ๐๗.๐๐ น. ปฏิบัติการ “สุขภาพวิถีไทย : พัฒนาพลังกาย พลังจิต พลังปัญญา”
โดย คุณปัญญา ปุลิเวคินทร์ หัวหน้าศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก
๐๗.๐๐ – ๐๘.๓๐ น. รับประทานอาหารเช้า
๐๘.๓๐ – ๑๐.๐๐ น. เสวนา เรื่อง “ธนาคารต้นไม้ หนทางรอด...สู่ความมั่งคั่งของแผ่นดิน”
- คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- คุณประวิทย์ ภูมิระวิ กำนันตำบลวังตะกอ จ.ชุมพร ตัวแทนธนาคารต้นไม้ จ.ชุมพร
- พระอาจารย์สรยุทธ ชยปัญโญ เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม จ.เชียงใหม่
- คุณพงศา ชูแนม หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ จ.ชุมพร
ดำเนินรายการ โดย คุณประสาน อิงคนันท์ ผู้ดำเนินรายการ คนค้นฅน สถานีโทรทัศน์ ช่อง ๙

๑๐.๐๐ – ๑๑.๓๐ น. อภิปรายเรื่อง “ฟื้นฟูทะเลไทย : แนวทางและความร่วมมือ”
- ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- คุณวริสร รักษ์พันธ์ ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ท และศูนย์กีฬาดำน้ำ
- อำพล ธานีครุฑ บ้านเกาะพิทักษ์ อ.หลังสวน จ.ชุมพร
- ผญ.วรพล ล้อมดวงจันทร์ ผู้คิดค้นปลูกดิน ด้วยเทคโนโลยีภูมิปัญญาชาวบ้าน

ดำเนินรายการโดย คุณอัยย วีราณุกูล ศิลปิน ผู้มีใจรักทะเลไทย ศิลปินนักดำน้ำ

๑๒.๐๐ – ๑๓.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน
๑๓.๓๐ – ๑๕.๐๐ น. เสวนาเรื่อง “ กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง...นโยบายภาครัฐกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจสู่ชุมชนพอเพียง”
- คุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี
- คุณวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
- พระอธิการมนัส ขันติธัมโม วัดโพธิ์ทอง จ.จันทบุรี
ดำเนินรายการโดย คุณยุทธิยงค์ ลิ้มเลิศวาที
ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟ สถานีโทรทัศน์ เอเอสทีวี

๑๕.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. ร่วมประกาศปฏิญญาพอเพียง โดย รองนายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

๑๖.๓๐ น. ปิดงาน โครงการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน มหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน โดย ศ.ระพี สาคริก นักวิจัย นักวิชาการเกษตรผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ของประเทศไทยสู่สากล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ



จุดเด่นในงาน

ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒

ภาควิชาการ
๑. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงกับการแก้วิกฤติชาติ

ท่ามกลางมหาวิกฤติแห่งสยาม ที่สังคมไทยไร้ทางออก ถึงทางตันของปรัชญาการพัฒนาประเทศตามชาติตะวันตก การฝ่าวิกฤติด้วยขบวนการขับเคลื่อนของเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นฐานของสังคมไทย จะทะยานให้หลุดพ้นจากวังวนของวิกฤติที่กำลังถาโถมซัดกระหนำดังคลื่นยักษ์ได้อย่างไร พบกับแสงสว่างทางปัญญาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศชาติกับ ศ.นพ.ประเวศ วสี ราษฎรอาวุโส

๒. เวทีเสวนา เรื่อง “CSR บทบาทภาคเอกชน แนวทางการช่วยฟื้นฟูฐานรากของประเทศ”

การพัฒนาแบบตาบอดคลำช้าง ต่างคนต่างทำ กำลังถึงบทอวสาน กระแสการพัฒนายุคใหม่กำลังทวีบทบาทเปลี่ยนโฉมหน้าการพัฒนาธุรกิจภาคเอกชนตามแนวทางการพัฒนาแบบ CSR ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ การหมุนกลับสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ร่วมกันสร้างฐานรากแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน กับแนวทางของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด กรณีศึกษาโพธิวิชชาลัย รูปแบบการสนับสนุนของ บริษัท KSL จำกัด (มหาชน) และ ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ Thai PBS ดำเนินรายการโดย คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย


๓. เวทีเสวนา เรื่อง “ตลาดสีเขียว ปฏิบัติการอุ้มชู...ไม่จำกัด”
พบกับรูปแบบใหม่ ในการประกอบการธุรกิจบนพื้นฐานของความพอเพียง บทพิสูจน์ธุรกิจที่ยึดหลักขาดทุนคือ กำไร ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี สู่ความยั่งยืนทั้ง ดิน น้ำ ป่า และฅน ต้นแบบร้าน คืนชีวิตให้แผ่นดิน อุ้มชูไม่จำกัด โดย อาจารย์ไตรภพ โคตรวงษา ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชครินทร์ บ้านนาวิลิต ธุรกิจของคนรักสุขภาพและชุมชนโดยคุณวิลิต เตชะไพบูลย์ ประสบการณ์จากตลาดนัดสีเขียว คุณอำนาจ หมายยอดกลาง ต้นแบบของความสำเร็จผลิตภัณฑ์ไร้สารพิษเครือข่ายตลาดสีเขียวแห่งโครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริและคุณสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานมูลนิธิ รักษ์ดิน รักษ์น้ำ ดำเนินการเสวนาโดย คุณก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

๔. ปฏิบัติการ “สุขภาพวิถีไทย: พัฒนาพลังกาย พลังจิต พลังปัญญา”

การหมุนกลับสู่การพึ่งพาตนเองแห่งวิถีสุขภาพบนพื้นฐานภูมิปัญญาไทย เรียบง่าย และได้ผล ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา ๓ ขุมพลัง ตามแนวทางสุขภาพวิถีไทย : พัฒนาพลังกาย พลังจิต พลังปัญญา สู่สังคมแห่งสุขภาวะ กับ อาจารย์ปัญญา ปุลิเวคินทร์ หัวหน้าศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก

๕. เวทีเสวนา เรื่อง “ธนาคารต้นไม้ หนทางรอด...สู่ความมั่งคั่งของแผ่นดิน”

ปรัชญาการพัฒนาธนาคารแบบใหม่ เพื่อสังคมโลก และมนุษยชาติ มากกว่าการได้ ยิ่งใหญ่กว่าการให้ การสร้างโลก ๕ ใบ บนโลกใบเดียว ด้วยแนวคิด ธนาคารต้นไม้ ร่วมกันขับเคลื่อนโลกสู่ความพอเพียง มั่งคั่ง ยั่งยืน กับขบวนการผลักดันและหนุนเสริมจากทุกภาคส่วน พบกับภาคีสนับสนุนหลัก โดย คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธกส. คุณพงศา ชูแนม หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ จ.ชุมพร ผู้บุกเบิกแนวทางธนาคารต้นไม้แห่งแรกของโลก คุณประวิทย์ ภูมิระวิ ร่วมขบวนการธนาคารต้นไม้บทพิสูจน์ หนทางรอด สู่ความมั่งคั่งของชุมชนบนแผ่นดินไทย พระอาจารย์สรยุทธ ชยปัญโญ เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ หยุดไฟป่าและหมอกควันด้วยแนวคิดธนาคารต้นไม้ ดำเนินการเสวนาโดย คุณประสาน อิงคนันท์ ผู้ดำเนินรายการ คนค้นฅน สถานีโทรทัศน์ ช่อง ๙

๖. เวทีอภิปราย เรื่อง “ฟื้นฟูทะเลไทย : แนวทางและความร่วมมือ”

ปฏิบัติการเคลื่อนขบวนฅนรักษ์ทะเลครั้งแรกของเมืองไทย กับแนวทางและความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูทะเลไทย พบกับเวทีอภิปราย รวมพลฅนรักทะเลดั่งชีวิตและจิตวิญญาณแห่งความผูกพันต่อมหานที ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการที่มีสายเลือดสีคราม คุณวริสร รักษ์พันธุ์ กับความผูกพันแห่งท้องทะเลแห่งหาดทุ่งวัวแล่น เมืองชุมพร ผญ.อำพล ธานีครุฑ บ้านเกาะพิทักษ์ ผู้พิทักษ์รักษาทะเลไทยด้วยขบวนการชุมชน ผญ.วรพล ล้อมดวงจันทร์ ผู้คิดค้นปลูกดิน ด้วยเทคโนโลยีภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อปลูกป่าชายเลนได้ประสบความสำเร็จ ดำเนินการอภิปรายโดย คุณอัยย วีราณุกูล ศิลปินนักดำน้ำ ผู้มีใจรักทะเลไทย

๗. เสวนา เรื่อง “กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง...นโยบายภาครัฐกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจสู่ความ
พอเพียง”

การปฏิรูประบบราชการสานต่องานสร้างชุมชนสู่ความพอเพียงครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ ตามปรัชญาการพัฒนาประเทศบนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมเสวนาโดย คุณกอบศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากรัฐบาล อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ตัวแทนภาคประชาสังคมและสื่อ พระอธิการมนัส ขันติธัมโม วัดโพธิ์ทองตัวแทนผู้ขับเคลื่อนงานกองทุนภาคประชาชนเพื่อสร้างสัมมาอาชีพในท้องถิ่น ดำเนินการเสวนาโดย คุณยุทธิยงค์ ลิ้มเลิศวาที ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟ สถานีโทรทัศน์ เอเอสทีวี

๘. ปฏิบัติการ “พอเพียงได้ยาก หากมีอบายมุข”

ปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาวะให้สังคมไทยปลอดอบายมุข เป็นหนทางสู่ความพอเพียง ความหวังของสังคมไทยที่หวนคืนสู่ครรลองครองธรรม ปลอดอบายมุข พบกับกิจกรรม การแสดงของเยาวชนเพื่อสังคมปลอดมะเร็งร้ายจากอบายมุข เสียงเรียกร้องของลูกหลานผลสะท้อนต่อการสร้างสังคมสุขภาวะ โดยเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

๙. ปิดงานขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน

โดย ศ.ระพี สาคริก นักวิจัย นักวิชาการเกษตรผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ของประเทศไทยสู่สากล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภาคนิทรรศการ

ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒

ฝึกปฏิบัติจริงกับทีมงานของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ทั้ง ๑๐ ฐานการเรียนรู้

ฐานที่ ๑ ฅนรักทุ่ง ร่วมพลิกฟื้นนาข้าวด้วยรูปแบบการทำนาข้าวอินทรีย์และโรงสีข้าวพึ่งตนเองกับทีมงาน “ลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง” ธนาคารข้าว บนแนวคิด ข้าวคุณธรรม โดย “อาจารย์นิคม เพชรผา” ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติยโสธร

ฐานที่ ๒ ฅนรักแม่ธรณี เรียนรู้การผลิตปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยผง ปุ๋ยเม็ด จากทีมงาน “ผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์” ปราชญ์เดินดินแห่งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง เมืองระยอง

ฐานที่ ๓ ฅนรักน้ำ การใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่ภูผาสู่มหานที ด้วยวิธีการต่างๆ ร่วมค้นหาคำตอบจากทีมงานของ “วริสร รักษ์พันธุ์”

ฐานที่ ๔ ฅนรักป่า กับแนวคิด ธนาคารต้นไม้ ตามแนวทาง ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ถอดกระบวนการสร้างป่า เพื่อสร้างโลกสีเขียว กับทีมงาน “พงศา ชูแนม”

ฐานที่ ๕ ฅนเอาถ่าน การผลิตถ่านที่มีคุณภาพสูงจากเศษไม้ที่ได้จากป่า และผลผลิตทางอ้อม คือ น้ำส้มควันไม้ โดยทีมงาน “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด จันทบุรี”

ฐานที่ ๖ ขบวนการฅนมีน้ำยา ร่วมกันผลิตน้ำยาอเนกประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายกับทีมงาน”ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเกาะจันทร์ ชลบุรี”

ฐานที่ ๗ ฅนมีไฟ ถอดเทคนิค ความรู้เรื่องการผลิตไบโอแก๊ส และปั๊มน้ำมันไบโอดีเซลขนาดชุมชน กับทีมงาน “ดำรง ปรีชาชน” นักวิชาการเท้าเปล่า จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลิน ชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท

ฐานที่ ๘ ฅนรักสุขภาพ นานาสาระด้านการดูแลสุขภาพองค์รวม พร้อมเคล็ดไม่ลับปฏิบัติได้จริง กับ ทีมงาน “อาจารย์ปัญญา ปุลิเวคินทร์” แห่งศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก

ฐานที่ ๙ ฅนติดดิน พบกับ การปั้นดินให้เป็นบ้าน รูปแบบการสร้างบ้านที่ลดความร้อนและการใช้พลังงาน ด้วยบ้านดิน และอิฐบล็อกประสาน กับ ทีมงาน “สมิทธิ์ เย็นสบาย” แห่งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านดิน จ.สระแก้ว

ฐานที่ ๑๐ ร้าน “คืนชีวิตให้แผ่นดิน อุ้มชูไม่จำกัด” ร้านค้าชุมชนต้นแบบแห่งแรก ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เพื่อสุขภาพ จุดศูนย์รวมการบริการที่ปรึกษาและพี่เลี้ยง (Clinic and Coaching) ด้านกสิกรรมธรรมชาติ และเศรษฐกิจพอเพียง โดยทีมงานคนหนุ่มสาว จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
ฐานที่ ๑๑ ปฏิบัติการ “พอเพียงได้ยาก หากมีอบายมุข” ปฏิบัติการสร้างสังคมสุขภาวะบนเส้นทางแห่งความพอเพียง โดยเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง
๑๑๔/๑ หมู่ ๑ ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ๒๐๑๗๐ โทรศัพท์ ๐-๓๘๑๙-๒๗๓๘ แฟกซ์ ๐-๓๘๒๖-๓๐๗๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น