วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552

หนึ่งปีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อจัดการปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย

หนึ่งปีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อจัดการปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย



27 ก.พ.52 คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย ร่วมกับโครงการแสวงหาองค์ความรู้ในการบังคับใช้กฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหาความไร้รัฐและไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทย คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) จัดโครงการสัมมนาวิชาการ “ครบรอบหนึ่งปีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อจัดการปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย” ณ ห้องรับรอง 1 – 2 วุฒิสภา



มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ อาทิ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติของบุคคลในประเทศไทย นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ และผู้ประสบปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ



สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 และพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติของบุคคลในประเทศไทย ที่ส่งผลให้บุคคลเหล่านั้นต้องประสบปัญหาเดือนร้อนจากการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการ ได้มีการบังคับใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับครบรอบ 1 ปี นับตั้งแต่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2551 และวันที่ 27 ก.พ.2551 ตามลำดับ



งานสัมมนามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน และบุคคลที่สนในในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการไร้รัฐ ไร้สัญชาติร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานตามร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อเป็นการทบทวนถึงผลสำเร็จและปัญหาที่เกิดขึ้นและร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังได้จดบันทึกสรุปเพื่อส่งมอบให้สภานิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารคือ นายกรัฐมนตรี



นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาฯ ในชุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่าการพูดคุยในวันนี้เป็นการวิเคราะห์ ติดตาม และตรวจสอบ พระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมามีผลบังคับใช้เป็นอย่างไร ข้อกฎหมายมีความครอบคลุมสภาพที่เป็นจริงในทางปฏิบัติอย่างไรบ้าง ถือเป็นการประเมินผลฝ่ายวิชาการ ซึ่งการพูดคุยในครั้งนี้จะถูกบันทึกเสียงเพื่อถ่ายทอดผ่านวิทยุรัฐสภา เพื่อให้ความรู้แก่คนทั้งประเทศ



การเสวนาในช่วงเช้า มีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ 1 ปี ภายใต้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 โดยไล่เรียงเป็นรายมาตรา ทั้งในส่วนความคืบหน้า งานที่น่าชื่นชม และส่วนที่เป็นปัญหา



พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร ประตูที่เปิดกว้างให้ทุกคนมีสิทธิได้ใบรับรองการเกิด



ต่อปัญหาการแจ้งเกิดสำหรับเด็กที่อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว นายวีนัส สีสุข หัวหน้าฝ่ายการทะเบียนราษฎรและสัญชาติสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากค่ายพักพิงทั้ง 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด มีผู้อพยพราวแสนกว่าคน เมื่อดูจากแนวทางการปฏิบัติที่มีการสั่งการตั้งแต่ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฉบับใหม่ บังคับใช้ ไม่เคยมีการห้ามไม่ให้รับแจ้งการเกิดหรือไม่ออกสูติบัตรสำหรับเด็กที่อยู่ในค่าย และเท่าที่ทราบค่ายพักพิงทั้ง 9 แห่งมีการออกสูติบัตร



นอกจากนั้นยังทราบว่ามีการกำหนดเลข 13 หลักให้กับผู้อยู่ในค่ายพักพิงแล้ว โดยนำหน้าด้วย 000 ซึ่งไม่ใช่การให้เลขตามระบบของกฎหมายทะเบียนราษฎร แต่เป็นการจัดเพื่อควบคุมคนในศูนย์ ซึ่งมีสำนักบริหารการทะเบียนไปดูแลเรื่องตัวเลขในการบันทึกและจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล



นายวีนัสกล่าวต่อมาว่า เด็กที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ในค่ายพักพิงโดยออกมาคลอดโรงพยาบาลภายนอก มีการแจ้งเกิดโดยสำนักทะเบียนรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้ โดยมีตัวอย่างอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ส่วนปัญหาการนำเด็กที่มีไปที่สำนักทะเบียนอำเภอแล้วไม่มีการออกสูติบัตรให้ อาจเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ในการรับแจ้งการเกิด โดยสำหรับเด็กที่บิดามารดาเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรเลย เพราะตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ระบบพึ่งเสร็จและใช้งานได้สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แรก



นายมานะ งามเนตร์ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าในฐานะที่ทำหน้าที่อยู่ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของกรรมการสิทธิ เรื่องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎรยังมีเข้ามาอยู่เนืองๆ เนื่องจากการแจ้งเกิดทำได้ยาก แต่เมื่อมาเป็น พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรที่ใช้มาแล้ว 1 ปี และมีหนังสือ (ที่ มท0309.1/ว8) จากสำนักทะเบียนกลาง เมื่อ 17 ก.พ.2552 เรื่องการแจ้งเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติของคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ไปยังนายทะเบียนจังหวัด ที่ระบุให้ใครก็ได้ที่มีเด็กเกิดมา ลูกใครก็ได้ พ่อแม่จะมีเลข 13 หลักหรือไม่ก็ไม่ต้องห่วง



นายมานะ กล่าวว่าตรงนี้เป็นการเปิดไฟเขียว และเป็นความก้าวหน้าของการกับแจ้งเกิดเด็ก ซึ่งเด็กในค่ายพักพิงก็ถือว่าเกิดในดินแดนไทย ถึงอย่างไรก็จะไม่ได้สัญชาติ แต่อย่างน้อยก็มีการบันทึก มีเอกสารที่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับคนไทยที่เกิดในประเทศไทย ส่วนปัญหาคนที่เกิดมานานแต่ไม่ได้แจ้งเกิด หนังสือดังกล่าวจะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง โดยให้แจ้งเกิดเกินกำหนดได้



ส่วนการให้มีเลข 13 หลักนั้น จากเดิมที่ให้เป็นการสำรวจทุกตารางนิ้วตามยุทธศาสตร์การกำหนดสถานะบุคคลไร้สิทธิ์ แต่ปัจจุบันไม่ต้องรอยุทธศาสตร์ เพราะประตูสำนักทะเบียนเปิดกว้างให้ทุกคนเดินเข้าไปได้ ถือเป็นความก้าวหน้าจาก 1 ปี ของการปรับปรุงกฎหมายทะเบียนราษฎร



อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อขัดข้องเกิดขึ้นแม้กฎหมายจะเปิดกว่าง หรือมีการสั่งการจากสำนักทะเบียนกลางแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้รับการดูแลในเรื่องการทำความเข้าใจต่อกฎหมายที่ได้บังคับใช้แล้ว



“กฎหมายมีแล้ว สั่งการมีแล้ว เหลือแค่ภาคปฏิบัติ” นายมานะกล่าว พร้อมย้ำไปถึงประชาชนทั่วไปในสิทธิที่จะไปยื่นขอใบรับรองการเกิด และเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเมื่อมีเด็กเกิด



ตัวแทนมูลนิธิพัฒนาศักยภาพกลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงปัญหาการรับแจ้งเกิดและออกสูติบัตร รวมทั้งการจัดทำทะเบียนบ้านของกลุ่มคนลาวอพยพที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย โดยเข้ามาในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2518 แม้มีกฎหมายที่เปิดช่องแล้วแต่ยังมีปัญหาในการปฏิบัติเพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่มีความเข้าใจในกฎหมายใหม่ ทำให้เกิดปัญหาในการตีความข้อกฎหมาย รวมทั้งการประสานงานของหน่วยราชการในระดับอำเภอก็ยังไม่มีความชัดเจน



นอกจากนั้นการสำรวจทำบัตรลาวอพยพในอดีตที่ผ่านมาใช้เวลาสั้น จึงมีคนตกสำรวจ และเมื่อมีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้านบางส่วนถูกเกณฑ์ไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับฐานทะเบียนประวัติและส่งผลต่อการรับรองสถานะตามกฎหมาย



ในช่วงบ่ายเป็นแลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่ผ่านมาใน 1 ปี ภายใต้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตราที่มีการพูดถึงมากคือ มาตรา 7, มาตรา 7 ทวิ และมาตรา 23







การให้สัญชาติไทยตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551



เป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทย โดยการเกิดแต่ถูกถอนสัญชาติ และบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไมได้สัญชาติไทยโดยผลของประกาศ คณะปฏิวัติฉบับที่ 337 รวมถึงบุตรของบุคคลทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว โดยกฎหมายกำหนดให้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไปและสถานะบุคคลนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2551 ตามมาตรา 23 วรรคท้าย ได้กำหนดให้บุคคลเป้าหมายของมาตรา 23 สามารถยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น นับจากวันที่ 28 พ.ค.2551 เป็นต้นไป โดยกรมการปกครองได้ทำหนังสือสั่งการเป็นการภายในเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน พร้อมแบบฟอร์มคำขอปรากฏตามหนังสือ 0309.1/ว.1587 ลว.22 พ.ค.2551 และ มท.0309.1/ว. 9489 ลว.18 มิ.ย.2551



ที่มา: คัดบางส่วนจากจดหมายความเห็นทางกฎหมายกรณีมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติฯ ถึง อ.งาว จ.ลำปาง โดยโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ [15 ก.ค.51]





พ.ร.บ.สัญชาติ กับปัญหาที่ผู้ปฎิบัติ



ในส่วนปัญหาของการบังคับใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ ตัวแทนจากมูลนิกระจกเงา จ.เชียงราย ได้ให้ข้อมูลจากการสอบถามประชาชนในพื้นที่ทำงานว่า การให้สัญชาติไทยแก่บุคคลตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติ พบว่าในการยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎร มีปัญหาการกำหนดระยะเวลาเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดโดยเจ้าหน้าที่ในระดับอำเภอ และบางพื้นที่มีการสร้างขั้นตอนเพิ่มเงื่อนไขเกินกว่ากฎหมายกำหนด



ปัญหาความล่าช้าในการดำเนินงาน ปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ตั้งแต่ในระดับผู้น้ำท้องถิ่นไปจนถึงระดับอำเภอ การลัดคิวในการจ่ายเงิน และพบว่ามีการจ่ายเงินเพื่อแก้ไขสถานที่เกิดหรือคุณสมบัติบางประการในทะเบียนประวัติเพื่อให้ยื่นเป็นหลักฐานได้ ในขณะเดียวกันก็พบว่ามีกรณีการไม่รับคำขอลงรายการสัญชาติของผู้ที่มีคุณสมบัติตามทะเบียน



ด้านตัวแทนจากโครงการการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ตัวเนื้อหากฎหมายไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในบางพื้นที่หากรับรู้เข้าใจก็จะมีการปฏิบัติตาม แต่ที่พบอยู่บ่อยครั้งคือการอ้างว่า “ไม่รู้ ไม่มีคำสั่ง ไม่ทราบ ไม่ทำ” ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถโต้แย้งได้ จึงไม่แน่ใจว่าหลังจากกฎหมายออกมาบังคับใช้มีประกาศและคำสั่งเพื่อให้กฎหมายมีการปฏิบัติที่แท้จริงหรือไม่ นอกจากนั้นเมื่อมีการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามคำสั่งหรือกฎหมายก็นำไปสู่การเลือกปฏิบัติว่าใครมีเงินเข้าถึงได้ก็จะได้รับการดูแล และการคอรัปชั่นตามมา



อีกทั้ง การพูดคุยในวันนี้เพื่อนำข้อผิดพลาดไปแก้ไขปรับปรุงเป็นเรื่องๆ แก้ปัญหาเฉพาะราย จึงไม่แน่ใจว่าจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายในภาพรวม และทำให้กฎหมายบังคับอย่างมีประสิทธิภาพได้จริงหรือไม่ ในระดับไหน หรือผ่านไปอีกปีก็ยังต้องมานั่งคุยอย่างนี้กันอีก



เขาเสนอถึงการจัดทำเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านได้จริง โดยยกตัวอย่างการจัดทำเอกสารเพื่อเป็นช่องทางที่สามารถตรวจสอบและดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด และเป็นเครื่องมือในการป้องกันตัวแก่ชาวบ้าน ซึ่งหากทำได้กระบวนการตรวจสอบในพื้นที่ก็จะเกิดและสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ได้ นอกจากนี้การให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริง



ตัวแทนจากโครงการการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยฯ กล่าวให้ข้อมูลต่อมา ถึง พ.ร.บ.คืนสัญชาติว่า จะมีการผลักดันอย่างแน่นอนในปีนี้ เพราะได้มีการทำเวทีในระดับพื้นที่ไปแล้ว 47 เวที เป็นเวทีกลุ่มย่อย 35 เวที เวทีระดับเขตเมือง 11 เวที และเวทีระดับเครือข่าย 1 เวที หลังจากนั้นได้มีการหารือในการจัดเวทีตามภูมิภาคในภาคเหนือ อีสาน ใต้ และกรุงเทพฯ ด้วย ก่อนที่จะสรุปและส่งให้กับรัฐบาล พร้อมรายชื่อ 2 หมื่นรายชื่อในการยื่นเสนอกฎหมาย



“กฎหมายที่จะออกมาใหม่ควรให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการชุมชน” ตัวแทนจากโครงการการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยฯ กล่าว



นอกจากนั้นยังมีผู้ทำงานเพื่อการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยฯ ในพื้นที่ จ.ระนอง ได้บอกเล่าความเดือนร้อนที่ยังคงมีอยู่ในพื้นที่ ในเรื่องสิทธิต่างๆ ทั้งในการรวมตัว สิทธิในการเดินทาง ซึ่งทำให้พวกเขาเกิดความหวาดระแวง และรู้สึกไม่มั่นคงในการดำเนินชีวิต



เผยกรมการปกครองเตรียมเรียกประชุม 60 อำเภอทั่วประเทศที่มีปัญหาการดำเนินงาน



นายวีนัส กล่าวถึงข้อห่วงใยว่า แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างในเรื่องเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน บางพื้นที่จะพบว่าไม่มีข่าวคราวเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์เลย มีการอำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชนด้วยความรวดเร็ว แต่พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย แต่ในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยก็จะมีข้อท้วงติงเกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์ที่แพร่หลายมาก



จากที่มีการยกตัวอย่างการออกบัตรคิวเพื่อจัดอันดับการรับคำร้องที่ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ไม่ใช่แค่อำเภอนี้อำเภอเดียวที่มีปัญหาในทางปฏิบัติแต่ในหลายอำเภอก็เป็นปัญหาเช่นกัน และจากข้อเท็จจริงที่ทราบ พื้นที่มีชนกลุ่มน้อยที่ได้สิทธิตามมาตราที่ 23 เป็นจำนวนมากแต่มีกำลังเจ้าหน้าที่น้อย การแก้ปัญหาจึงอยู่ที่ดุลพินิจนายอำเภอ แต่เมื่อมีการว่างลำดับการบริหารจัดการแล้วควรดำเนินการอย่างโปร่งใส ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมรับรู้ ในการจัดอันดับ และต้องเปิดช่องทางด่วนไว้ให้สำหรับคนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการรับเอกสารสัญชาติไทย



ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติกรมการปกครองไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยวันศุกร์ที่ 6 มี.ค.นี้ อธิบดีกรมการปกครองได้มีหนังสือแจ้งให้อำเภอที่มีปัญหาในแนวทางปฏิบัติหลังจากมีมาตรา 23 แล้ว 60 อำเภอทั่วประเทศ เข้ามาประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและสอบถามว่าเหตุที่ได้รับการร้องเรียนในพื้นที่เกิดขึ้นได้อย่าไร และแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายและหนังสือสั่งการเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่าหลังการประชุมสถานการณ์เกี่ยวกับมาตรา 23 น่าจะดีขึ้น



นายวีนัสกล่าวต่อมาถึงกรณีอื่นๆ ว่า ได้รับทราบความทุกข์ร้อนแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ และขอเวลาในการรวบรวมแนวคิดที่ชัดเจน ในการจัดทำหนังสือเป็นตำราให้กับชาวบ้านได้ถือไว้เอาไปอ้างอิงต่อสู้กับทางอำเภอ ซึ่งทางอำเภอเองก็จะได้หนังสือฉบับเดียวกันเป็นคำสั่งการ โดยจะอ้างว่าไม่รู้ หรือไม่มีไม่ได้



นักวิชาการชี้ “คนไทยพลัดถิ่น” อีกหนึ่งปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่รอการแก้ไข



รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินการสัมมนาสรุปการพูดคุยว่า ในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ รายงานที่ทำในวันนี้ที่พยายามจะให้ภาคประชาสังคมได้สรุปให้เห็นว่ากฎหมายใหม่ที่ได้มีการจัดทำและบังคับใช้แล้วนั้น ยังมีช่องโหว่ที่ต้องมีการซ่อมใน พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 และอาจจะต้องไปแตะ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ซึ่งจะมีการสรุปรายละเอียดโดยทีมวิชาการและจะส่งเข้ามายัง คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาฯ อีกครั้ง



ส่วนที่ชาวบ้านจะฝากความหวังไว้กับทางคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาฯ อย่างมาก คือ คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติกลุ่มสุดท้ายในประเทศไทย คือ คนไทยพลัดถิ่น ซึ่งในสมัย สนช.ที่ผ่านมาแก้ไม่สำเร็จ โดยบางมาตราได้ตกไปเพราะความหวาดกลัวว่าร่างกฎหมายจะไม่ผ่าน ในส่วนนี้ได้ฟังจากทาง ส.ส.ผ่านกรรมาธิการต่างประเทศว่ายินดีที่จะแก้ปัญหาให้ ซึ่งคงต้องเปิดพื้นที่พูดคุยภายในวง ส.ส.และ ส.ว.ในเรื่องคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนไทยเสียให้ต่างประเทศไปเมื่อเกือบร้อยปีก่อน เช่น มะริด ทวาย ตะนาวศรี คนไทยเกาะกง นอกจากนี้ยังมีคนไทยแม่พริก ที่แม่สอด และคนไทยจากกะลันตรัง



เดิมที่ทางราชการเสนอให้แปลงสัญชาติ แต่บางพื้นที่ไม่ต้องการแปลงสัญชาติเพื่อให้กลับคืนสัญชาติไทย แต่ต้องการได้สัญชาติโดยการสืบสายโลหิต ซึ่งในส่วนนี้กฎหมายร่างเสร็จแล้วในการให้กลับมามีสถานคนไทยโดยการสืบสายโลหิตตามบุพการี แต่ต้องมาใช้ร่าง พ.ร.บ.พิเศษ ตรงนี้เป็นหมายเหตุท้ายร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 โดยเป็นเจตนารมณ์ของรัฐสภาในปี 2551



รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวถึงสิ่งที่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเสนอว่า 1.ตั้งอนุกรรมการศึกษาปัญหาคนไทยพลัดถิ่นเพื่อการทำความเข้าใจ 2.มีการสำรวจปัญหาคนไทยพลัดถิ่น ทั้งกลุ่มที่รับใบต่างด้าวแล้วกำลังจะแปลงสัญชาติ กลุ่มที่กำลังจะรับใบต่างด้าว และกลุ่มที่รอขอ พ.ร.บ.คืนสัญชาติ ซึ่งคงต้องผ่านกรรมาธิการฯ ไปยังสภาความมั่นคงแห่งชาติ 3.ในส่วนสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นสิทธิในการศึกษา การสาธารณะสุข ของให้ทาง ส.ว.ลงพื้นที่ดูแลการรักษาสิทธิให้กลุ่มคนเหล่านี้ตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้







พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551



พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2499 ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2499 [1] และถูกแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 234 ลงวันที่ 31 ต.ค.2515 ต่อมาในปี ถูกยกเลิกโดยมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ในวันที่ 22 พ.ย.2534 [2] ซึ่งกฎหมายดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.2535 เป็นต้นมา



ต่อมาร่าง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2551) ที่เสนอโดยกรมการปกครอง ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 25 ก.ย.2550 [3] ควบคู่กับ ร่าง พ.ร.บ.สัญชาติที่เสนอโดยกรมการปกครอง และ ร่าง พ.ร.บ.สัญชาติที่ยกร่างโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาฯ สนช.



พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 25 ก.พ.2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2551 (มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป) เป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมซึ่งใช้บังคับมาแล้ว 17 ปี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป



โดยมีสาระสำคัญ อาทิ การปรับปรุงระบบทะเบียนราษฎรให้ทันสมัย แก้ไขเพิ่มเติมการแจ้งการเกิดกรณีเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาที่ ถูกทอดทิ้ง และเพิ่มเติมเรื่องบันทึกการรับตัวให้มีรายละเอียดทางกายภาพ และประวัติของเด็กเพื่อสามารถนำไป สู่การสืบเสาะแสวงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็ก เพิ่มเติมเรื่องการกำหนดให้นายทะเบียนรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้แก่ เด็กทุกคนที่เกิดในราชอาณาจักรไทย รวมทั้งกำหนดแบบสูติบัตรเป็นการเฉพาะรายสำหรับเด็กที่เกิดในราชอาณาจักรไทย แต่ไม่ได้ให้สัญชาติไทย



000



พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551



นับจากปี พ.ศ. 2456 ที่ประเทศไทยบังคับใช้กฎหมายสัญชาติฉบับแรก คือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสัญชาติหลายครั้งด้วยกัน ได้แก่ ปี พ.ศ.2495 โดยมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2495 กฎหมายสัญชาติฉบับนี้ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติม โดยพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 2 ในปีพ.ศ.2496 ฉบับที่ 3 ในปีพ.ศ.2499 และฉบับที่ 4 ปี พ.ศ.2503



หลังจากนั้น ในปีพ.ศ.2508 พ.ร.บ.สัญชาติฉบับปี พ.ศ.2495 ก็ถูกยกเลิกด้วย พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 และกฎหมายสัญชาติฉบับนี้ ถูกแก้ไขเพิ่มเติม 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ครั้งที่ 2 โดยพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 และครั้งที่ 3 โดยพ.ร.บ.สัญชาติโดยฉบับที่ 3 พ.ศ.2535 [4]



ปี 2550 สังคมไทยมีการแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายสัญชาติฉบับปี 2508 อีกครั้ง สืบเนื่องจากการยกร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2550 โดยที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่างดังกล่าวได้รับการเสนอแนะเพิ่มเติมโดย ศาสตราจารย์ มีชัย ฤชุพันธุ์ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2550



พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 27 ก.พ.2551 มี ผลใช้บังคับในวันรุ่งขึ้น [5] มีการเปลี่ยนแปลงหลายกรณี เช่น การที่บิดา มิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา ที่ไม่มีนิติสัมพันธ์ทางกฎหมาย และไม่สามารถใช้สิทธิความเป็นบิดากับบุตรได้ แต่กฎหมายใหม่ให้พิสูจน์ได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง การให้สถานสงเคราะห์ของรัฐ หรือผู้รับบุตรบุญธรรมที่รับดูแลผู้ที่ยังไม่สามารถกำหนดสถานะบุคคลว่า จะมีสัญชาติใดได้ ให้สิทธิในฐานะผู้ปกครองที่จะขอให้มีการกำหนดสถานะแก่เด็กได้ หรือ สามีชาวต่างชาติของหญิงไทยที่จดทะเบียนสมรสกัน แต่เดิมต้องรอเวลาและต้องขออนุญาตอยู่ถาวรก่อน ปัจจุบันเปลี่ยนให้ยื่นแปลงสัญชาติได้



ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติที่มีองค์ประกอบจากบุคคลที่มี คุณวุฒิหลากหลาย เพื่อเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้อำนาจพิจารณาการให้ สถานะบุคคลแทนคณะกรรมการที่เคยตั้งไว้แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ และเงื่อนไขสำคัญคือ บุคคลที่เกิดในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ไม่ได้สัญชาติ กฎหมายใหม่ตัดกระบวนการที่ไม่ต้องยื่นเรื่องถึงรัฐมนตรีฯ ถือว่าได้ช่วยให้มีสถานะบุคคลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น



ที่มา: เรียบเรียงข้อมูลจาก

[1] http://www.dopa.go.th/card/p_book.htm

[2] http://gotoknow.org/blog/my-work-on-birth-registration/56490

[3] เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 26 ก.ย. 2550 (http://www.statelessperson.com/www/?q=node/1226)

[4] ถกร่าง พ.ร.บ.สัญชาติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.... เว็บไซต์ประชาไท

[5] http://gotoknow.org/file/i_am_mana/view/157501














--------------------------------------------------------------------------------
โดย : ประชาไท วันที่ : 2/3/2552

http://www.prachatai.com/05web/th/home/15740

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น