วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552

ไทยโพสต์ แทบลอยด์ สัมภาษณ์ “จอน อึ๊งภากรณ์”: เสรีสื่อในกฎหมายหมิ่นฯ

ไทยโพสต์ แทบลอยด์ สัมภาษณ์ “จอน อึ๊งภากรณ์”: เสรีสื่อในกฎหมายหมิ่นฯ






"ประชาชนทั่วไป ก็ได้รับการคุ้มครองในเรื่องหมิ่นประมาท เพราะฉะนั้นสถาบันกษัตริย์ ก็ต้องได้รับการคุ้มครอง แต่ควรจะเป็นการคุ้มครองที่ไม่ต่างกันมากนัก"



"จะต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่แทนสถาบันกษัตริย์ในการดำเนินการฟ้องร้อง ซึ่งองค์กรนั้นจะต้องเป็นองค์กรที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆ ไม่ใช่ว่าใครเขียนอะไรแล้วคนอื่นจะไปฟ้องร้องได้ ต้องได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน คำจำกัดความของการหมิ่นต่อสถาบันกษัตริย์ก็ควรถูกกำหนดให้ชัดเจน เช่นการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากองค์พระมหากษัตริย์ควรจะทำได้ พระองค์ท่านก็เคยบอกว่าไม่ใช่ The King can do no wrong"





ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญากำลังเป็นประเด็นร้อนลึก และเป็นข่าวอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ มีนักวิชาการเรียกร้องให้ยกเลิกหรือแก้ไข ขณะที่มีนักวิชาการอีกฝ่ายยืนกรานไม่ให้แก้



อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปรากฏขึ้นอย่างมากมาย นับแต่ช่วงที่มีความขัดแย้ง ทางการเมืองอย่างรุนแรง และปรากฏตามมาในช่วงที่ฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจได้พยายามกำจัดฝ่ายที่เห็นต่าง



ข้อหานี้ในตอนแรก ๆ ถูกนำมาตั้งกับฝ่าย "เสื้อแดง" ทั้งหัวแถวและปลายแถว แต่ต่อมาก็ลามมาถึงฝ่าย “2 ไม่เอา” ทั้ง อ.ใจ อึ๊งภากรณ์ ผู้เขียนหนังสือต่อต้านรัฐประหาร และล่าสุด จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ดูแลเว็บประชาไท ถูกกองปราบปรามจับกุมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฐานมีผู้โพสต์ข้อความซึ่ง (ต้องหาว่า) หมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเว็บบอร์ด



ปรากฏการณ์นี้ทำให้ต้องสนทนากับ อ.จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.กทม.ผู้ก่อตั้งเว็บประชาไท แม้ในปัจจุบันจะแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์นี้ เพราะมารับหน้าที่กรรมการของทีวีสาธารณะ ไทยพีบีเอส



แต่ อ.จอนก็กำลังถูกศาสดาพันธมิตรฯ ปลุกข้อหาเข้าใส่เช่นกัน



ใครผลักสถานการณ์

"ผมตั้งคำถามว่าจับทำไม ทำไมจับตอนนี้ เพราะจริงๆ แล้วประชาไทก็ร่วมมือกับตำรวจมาตลอด ตำรวจขอข้อมูลบ่อยหรือเรียกไปบ่อย เราก็บอกมาตลอดว่าถ้าเห็นว่ามีข้อความที่ไม่เหมาะสมเราก็อยากจะรู้ เราก็เอาออก ประชาไทมีนโยบายชัดเจนว่าถ้าเป็นข้อความที่ผิดกฎหมายก็เอาออก



เพราะฉะนั้นการที่บังเอิญมันมีข้อความที่หลงเหลืออยู่ระยะหนึ่งแล้วก็ถูกลบ ไปนานแล้ว ผมมาทราบตอนหลังว่าเป็นการอ้างถึงข้อความที่ขึ้นเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว และอยู่ถึง พ.ย.ข้อความนั้นก็ถูกลบออกไปแล้ว แล้วทำไมมาจับตอนนี้ ก็เป็นคำถาม"



"ในสายตาผมเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อ และเสรีภาพสื่ออินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ เพราะเว็บบอร์ดเป็นที่เปิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน และเว็บบอร์ดอย่างประชาไทก็พยายามคุมอยู่ ถ้าเราไม่มีเว็บบอร์ดเลยก็เหมือนเราไม่เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นในเรื่องสังคมการเมืองทั่วไป ถ้าเรามีเว็บบอร์ดโดยจะต้องมานั่งตรวจก่อนขึ้นแต่ละครั้ง มันก็จะไม่มีชีวิต ชีวาของการคุย เพราะฉะนั้นเราก็พยายามขอร้อง ตั้งกฎกติกาให้ระวังในเรื่องของการโพสต์ข้อความ



เราก็มีนโยบายและตระหนักมาตลอดในเรื่องของการนำข้อความที่ไม่เหมาะสมออก เช่น มีการหมิ่นประมาทบุคคล เป็นการกล่าวถึงบุคคล เป็นการใช้ภาษาที่รุนแรง และรวมถึงที่หมิ่นสถาบัน เราก็เอาออกทุกครั้ง แต่ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากเพราะแม้แต่การตีความว่าข้อความแบบไหน เป็นข้อความหมิ่นหรือไม่หมิ่น มันเป็นเรื่องยาก"



"ผมยังไม่ได้เห็นข้อความที่ตำรวจอ้างถึง แต่เท่าที่ฟังจากกอง บก.บอกว่า ข้อความนั้นไม่ได้เขียนแบบโจ่งแจ้ง คล้ายๆ มีคำศัพท์ คำ code ที่ตีความได้ว่าอาจจะพาดพิงถึงสถาบัน ผมก็ถามว่าคนทั่วไปที่ไม่รู้ code อ่านแล้วจะรู้ไหม เขาบอกอาจจะไม่รู้ก็ได้ ผมก็คิดว่าบางทีมันเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าข้อความไหนผิดกฎหมายหรือไม่ผิด



และอีกประการหนึ่งคือการตีความกฎหมายหมิ่นตอนนี้สังคมไทยตีความค่อนข้างครอบจักรวาล มันเหมือนอะไรก็ตามที่พูดถึงสถาบัน ถ้าไม่ออกมาในเชิงสดุดีแล้วอาจจะกลายเป็นเรื่องหมิ่นก็ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงของเสรีภาพในสังคมไทย"



แล้วที่ อ.ใจโดนแจ้งความจับจากหนังสือ อาจารย์ได้อ่านไหม

"ผมไม่ได้อ่านหนังสือแกนะ แกเคยให้มา แต่ผมรู้ว่า อ.ใจคิดอย่างไร แล้วผมก็คิดว่าเรื่องที่ อ.ใจถูกดำเนินคดีในจังหวะนี้ก็เป็นคำถามอีกเหมือนกัน เพราะหนังสือนี้เขียนมาหลายปีแล้ว ทำไมมาเจอในขณะนี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ตั้งข้อสงสัยเหมือนกันว่าใครอยู่เบื้องหลังและทำไมถึง ต้องมาเล่นอย่างนี้"



"ผมคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ว่าที่เกิดกับ อ.ใจหรือกับประชาไทไม่ได้เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ ถ้าพูดจริงๆ คือมันทำให้สถาบันถูกนำไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เป็นสถานการณ์ไม่ปกติ"



"จริงๆ แล้วผมคิดว่าสังคมไทยต้องการกลับไปสู่สภาวะปกติ แม้ก่อนนี้เรามีกฎหมายหมิ่นฯ แต่นักวิชาการก็สามารถที่จะเขียนความเห็นเกี่ยวกับบทบาทสถาบันกษัตริย์กับ การเมืองไทยได้โดยไม่ถูกดำเนินคดี หรือคนอย่าง อ.สุลักษณ์ยังสามารถออกมาพูดความเห็นต่างๆ ได้ อาจจะมีคนแจ้งความบ้างแต่ก็ไม่โดน อันนั้นคือสถานการณ์การเมืองแบบปกติ ถึงจะมีกฎหมายหมิ่นฯ แต่ไม่ได้ควักเอากฎหมายหมิ่นฯ ออกมาเพื่อเล่นงานศัตรูทางการเมือง



แต่ต้องบอกว่าตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 19 ก.ย.มันกลายเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ และสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง ฝ่ายเสื้อแดงเสื้อเหลือง มันทำให้สถานการณ์ทุกอย่างไม่ปกติ และเรื่อง กฎหมายหมิ่นฯ ก็มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ผมก็สงสัยว่าการควักเอากฎหมายหมิ่นฯ มาเล่นงาน ไม่ว่าเล่นงาน อ.ใจ หรือประชาไท เป็นผลดีกับใคร อันนี้ผมสงสัยจริงๆ"



แรกทีเดียวใช้กับฝ่ายเสื้อแดง ตอนนี้ลามมาถึงนักวิชาการ ฝ่าย 2 ไม่เอา

"แต่ก็ใช้กับคนที่เชียร์พันธมิตรฯ อย่าง อ.สุลักษณ์ก็โดน ตอนนี้ผมว่าโดนทุกฝ่าย ฝ่ายที่ไม่เอาทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะเป็นฝ่ายที่ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามช่วงชิง แต่มันกลับไม่ใช่ กลับกลายเป็นศัตรูของทุกฝ่าย เป็นเสียงข้างน้อยที่สุดในสังคม ไม่ค่อยจะมีที่ยืนในสังคม เหมือนว่าพอไม่เป็นพวกพันธมิตรพันธมิตรก็ถือว่าเป็นศัตรู พอไม่เป็นพวกทักษิณ ฝ่ายทักษิณก็มองว่าเป็นศัตรู"



ตอนนี้เหมือนฝ่าย 2 ไม่เอาถูกผลักไปรวมกับเสื้อแดง เช่นเว็บบอร์ดประชาไทก็กลายเป็นพวกเสื้อแดงเข้าไปใช้เยอะ

"ก็เป็นคนที่นิยมเสื้อแดงเข้าไปใช้ประชาไทเยอะ อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาเพราะประชาไทเป็นพื้นที่เสรีภาพ คนจะมีความเชื่อทางการเมืองอย่างไรก็ได้ มีสิทธิที่จะเอาความเห็นโพสต์เข้าไปในเว็บบอร์ด ซึ่งอาจจะต่างจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับพันธมิตรฯ หรือเว็บที่เกี่ยวข้องกับเสื้อแดงโดยตรง



คุณจะโพสต์ในผู้จัดการออนไลน์ถ้าคุณเป็นใครที่ไม่เอาพันธมิตรฯ ก็ยากที่จะขึ้นไปอยู่ในนั้น ผมคิดว่ามันเป็นธรรมชาติของประชาไท ไม่ว่ายุคไหนก็ตาม คนที่ไม่เอารัฐบาลหรือคนที่เป็นฝ่ายถูกเล่นงานในสังคม เขาก็ใช้พื้นที่ประชาไทแสดงความเห็นทางการเมือง"



อ.ใจก็ไปขึ้นเวทีเสื้อแดง แม้จะยังวิจารณ์ทักษิณ

"ผมไม่เห็นด้วยนะที่ อ.ใจไปร่วมกับเสื้อแดง ผมถือว่า อ.ใจเสีย แต่ อ.ใจเป็นคนที่อาจจะต่างกับผม คือเขาไม่กลัวเสีย เวลาทำอะไรเขาไม่ได้คิดว่าผลทางการเมืองคืออะไร เขาเป็นคนที่จะทำอะไรก็จะทำตามความรู้สึก เพราะฉะนั้นเขารู้สึกว่าฝ่ายเสื้อแดงก้าวหน้ากว่าฝ่ายเสื้อเหลือง แต่เขาก็พูดตลอดว่าเขาไม่ได้มีความเคารพนับถือต่อคุณทักษิณ



เขามองคนเสื้อแดงมากกว่าเฉพาะคนเชียร์ทักษิณ อันนี้ไม่ต่างจากที่ผมรู้จักบางคนที่ไปร่วมกับพันธมิตร คือแนวคิดก็บอกไม่ได้เห็นด้วยกับคุณสนธิทุกอย่าง แต่ยังไงฝ่ายพันธมิตรก็ดีกว่าฝ่ายทักษิณ ผมคิดว่าสถานการณ์สังคมทำให้คนส่วนให้ต้องเลือกข้าง และคนที่ไม่เอาทั้งสองข้างก็ลำบาก"



ถูกผลักให้เลือกอยู่เรื่อยๆ

"แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกทุกคนนะ และแม้แต่คนที่บอกว่าไม่เลือก ก็มีแนวโน้มที่เอียงไปทางใดทางหนึ่งอยู่เหมือนกัน"



อ.ใจถูกวิจารณ์เยอะที่ไปแล้วออกแถลงการณ์

"ผมจะไม่พูดแก้ตัวแทน อ.ใจนะ เพราะความคิดผมกับ อ.ใจก็ไม่เหมือนกัน แต่แกถูกต้อนไปอยู่ตรงนั้น ในความรู้สึกของผม-ระดับหนึ่ง คือผมจะพูดถึง อ.ใจในส่วนส่วนตัวมากกว่าที่เป็นเรื่องทางการเมืองของ อ.ใจ ผมคิดว่า อ.ใจตอนแรกมีความพร้อมที่จะสู้คดี เท่าที่ผมรู้ แต่ก็เหมือนกับได้รับข้อมูลหรือความเชื่อตอนหลังว่า คดีนี้มีธงตั้งไว้อยู่ แล้วว่าต้องเอาเข้าคุกให้ได้ อันนี้เป็นความเชื่อของ อ.ใจ ผมเองก็ไม่รู้ว่าใช่หรือไม่ใช่



แต่คล้ายๆ อ.ใจคิดว่าเป็นของการเชือดไก่ให้ลิงดู และ อ.ใจเองก็มีลูกอยู่อังกฤษ แกจะต้องไปเยี่ยมลูกอยู่เป็นระยะ ฉะนั้นแกคงรู้สึกว่าแกคงอยู่ไม่ได้แล้วในสถานการณ์อย่างนี้ และการที่แกจะติดคุกเพราะหนังสือเล่มนี้ซึ่งแกก็เขียนตามความคิดของแก ผมคิดว่าแกรู้สึกว่าไม่ใช่ความยุติธรรม แกก็ไป แต่ไปแล้วทิ้งทวนอันนี้ก็อาจจะเป็นบุคลิก อ.ใจส่วนหนึ่ง"



นักวิชาการด้วยกันก็วิจารณ์ว่าทำให้คนที่ยังอยู่ลำบาก เพราะคนที่พยายามจะแก้ กม.หมิ่นฯ เลยถูกมองว่าคิดเหมือน อ.ใจหมด

"บอกแล้วว่าผมไม่แก้ตัวแทน อ.ใจ คนวิจารณ์ก็วิจารณ์ไป ผมมองว่ามีผลทั้ง 2 ด้าน ผลด้านหนึ่งคือทำให้เรื่องของกฎหมายหมิ่นฯ กลายเป็นเรื่องที่คนสนใจในสังคม และถ้าจะมองแม้แต่แรงกดดันต่อรัฐบาลนี้ที่จะแก้กฎหมายหมิ่นฯ ก็มีอยู่ สื่อมวลชนเองก็เริ่มพูดถึงกฎหมายหมิ่นฯ ว่ามันมีปัญหาในทางปฏิบัติ



ผมคิดว่าในแง่หนึ่ง อ.ใจอาจจะมีผลบวกและผลลบต่อคนที่มีความเชื่อว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนใน เรื่องของกฎหมายหมิ่นฯ แต่แน่นอนคนที่ร่วมเซ็นชื่อ ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งที่เซ็นชื่อในแถลงการณ์ให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ ก็อาจะรู้สึกเดือดร้อนจากกรณีนี้ หรืออาจจะรู้สึกว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ อ.ใจทำ"



พวกพันธมิตรฯ ก็ฉวยโอกาสโจมตี

"ก็เป็นธรรมดา และเรื่องแปลกมันกลายเป็นว่าใครไม่เห็นด้วยกับกฎหมายหมิ่นฯ ใครอยากให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ ก็เสมือนเป็นคนที่คิดเหมือน อ.ใจ หรือถูกมองว่าเป็นคนหมิ่นสถาบันในตัว โดยการต้องการให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ ซึ่งผมคิดว่าในสังคมไทยมีตรรกะที่น่าตั้งคำถามเยอะมาก



ผมเองถ้าถามผมจริงๆ ผมไม่ถึงกับบอกว่าให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ โดยตรง ที่ผมเซ็นให้ อ.ใจเพราะผมก็รู้สึกว่า อ.ใจไม่ได้รับความเป็นธรรม และผมก็ต้องการปฏิรูปกฎหมายมาตรา 112 ลึกๆ ผมต้องการแก้ไขมากกว่า คือผมต้องการทำให้มาตรา 112 ไม่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ ถ้ามีการทำอย่างนั้นผมคิดว่าเป็นผลดีต่อสถาบันมากกว่า เป็นผลดีที่จะดึง สถาบันกษัตริย์ออกมาจากเรื่องทางการเมือง"



แก้ให้เป็นประชาธิปไตย



ที่อาจารย์คิดว่า กฎหมายหมิ่นฯ ควรจะแก้ไปในทิศทางไหน

"ผมคิดว่าประการแรกที่ต้องทำคือ ไม่ใช่ว่าใครก็ตามสามารถเข้าไปในสถานีตำรวจแล้วกล่าวหาใครก็ตามทำผิดมาตรา 112 เพราะฉะนั้นการกล่าวหาโดยประชาชนทั่วไปไม่สมควรที่จะทำได้"



"เหตุที่ผมยังต้องการคงกฎหมายหมิ่นฯ ไว้ เพราะคิดว่าประชาชนทั่วไปก็ได้รับการคุ้มครองในเรื่องหมิ่นประมาท เพราะฉะนั้นสถาบันกษัตริย์ก็ต้องได้รับการคุ้มครอง แต่ควรจะเป็นการคุ้มครองที่ไม่ต่างกันมากนัก ใกล้เคียงกัน ก็คือผู้ใดก็ตามที่หมิ่นประมาทผู้อื่นต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น"



"ในการหมิ่นประมาทบุคคล ผมเองยังมีความรู้สึกต้องการปฏิรูปว่าไม่ใช่ความผิดอาญา เป็นความผิดทางแพ่งมากกว่า ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ผมคิดว่าการใช้กฎหมายอาญากับการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปก็ไม่ค่อยเหมาะสม ในกรณีของสถาบันกษัตริย์ ผมคิดว่าต้องมีกฎหมายที่จะคุ้มครองราชวงศ์หรือกษัตริย์จากการถูกหมิ่นประมาทเช่นกัน



กฎหมายนั้นอาจจะต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่แทนสถาบันกษัตริย์ในการดำเนินการฟ้องร้อง ซึ่งองค์กรนั้นจะต้องเป็นองค์กรที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆ ไม่ใช่ว่าใครเขียนอะไรแล้วคนอื่นจะไปฟ้องร้องได้ ต้องได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าเป็นการหมิ่น"



"คำจำกัดความของการหมิ่นต่อสถาบันกษัตริย์ก็ควรถูกกำหนดให้ชัดเจน เช่น การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากองค์พระมหากษัตริย์ ผมคิดว่าควรจะทำได้ พระองค์ท่านก็เคยตรัสว่าไม่ใช่ The King can do no wrong. ถ้าพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ คนในสังคมมีความเห็นต่างกัน น่าจะแลกเปลี่ยนความเห็นได้ ไม่น่าจะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท เช่น ถ้าไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ก็ควรจะสามารถแสดงความเห็นได้



มิฉะนั้นเราจะไม่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น เราจะไม่เป็นประชาธิปไตยที่ สมบูรณ์ ถ้าเราไม่สามารถแสดงความเห็นในเรื่องราวต่างๆ ได้ การหมิ่นประมาทน่าจะเป็นการกล่าวร้าย กล่าวในสิ่งที่เป็นเรื่องเท็จ หรือกล่าวในลักษณะที่แสดงความไม่เคารพอย่างสูง-อะไรแบบนี้ มากกว่าเป็นเรื่องการแสดงความเห็นเรื่องบทบาทของสถาบัน หรือเรื่องอื่นๆ ที่นักวิชาการหรือคนอย่าง อ.ใจเคยแสดงไว้"



สมัยที่ทักษิณฟ้องสื่อเยอะๆ เคยมีข้อเรียกร้องว่า ควรยกเลิกความผิดอาญาในคดีหมิ่นประมาท ถ้ายกเลิกกับบุคคลทั่วไปแล้ว ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพควรเป็นความผิดอาญาไหม

"ผมก็คิดอยู่เหมือนกันว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นความผิดทางอาญา ผมพยายามดูประเทศประชาธิปไตยในยุโรปส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ กรณีของคดีหมิ่นฯ ที่มีการดำเนินคดี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการปรับและก็เกิดจากการใช้คำพูดที่หยาบคาย เป็นการกล่าวในที่สาธารณะต่อผู้ดำรงตำแหน่งในสถาบันกษัตริย์ด้วยคำพูดหยาบคายที่เหมือนดูหมิ่นดูแคลนอยางแรง ก็จะมีโทษเป็นการปรับ"



"ผมคิดว่าอันนั้นคือสถานการณ์ที่เรียกว่าสถานการณ์ปกติ เป็นเรื่องที่สังคมรับได้ว่าคุณทำผิดอย่างนั้น คุณทำผิดต่อสถาบันกษัตริย์ในลักษณะที่ชัดเจนว่าเป็นความผิด-ก็ควรได้รับ โทษ แต่ปัญหามาตรา 112 ของเราก็คือ โทษอาจจะสูงที่สุดในโลก-เป็นโทษจำคุก 15 ปี ซึ่งประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ที่ยังมีกฎหมายหมิ่นสถาบัน เขาไม่ค่อยได้ควักเอามาใช้เท่าไหร่ จะใช้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ชัดเจน ผมคิดว่าโทษจำคุก 15 ปีก็ไม่เหมาะสม"



"ควรจะเป็นอาญาหรือไม่ ถ้าใจผมก็คือไม่ แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นไม่ใช่อะไรที่ผมต้องการ ผมอยากเห็นการเปิดเวทีพูดคุยในสังคมไทย การแลกเปลี่ยนกันว่าเราจะปฏิรูปตรงนี้อย่างไร อย่างน้อยที่สุดโทษต้องถูกลดลง การตีความว่าอะไรหมิ่นฯ หรือไม่หมิ่นฯ ต่อสถาบันกษัตริย์ต้องให้มีความชัดเจน ถ้าถามผมจริงๆ ผมอยากให้เป็นโทษปรับเป็นหลัก และไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถไปฟ้องร้องประชาชนด้วยกันได้ในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องมีองค์กรที่เป็นกลางที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์"



กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในอังกฤษยังมีไหม

"เรื่องนี้กำกวมเพราะอังกฤษเป็นกฎหมาย common law กฎหมายบางส่วนไม่ได้เขียนไว้ เท่าที่ผมดูเขาบอกว่าอังกฤษมีแต่ไม่ได้ใช้ เป็น common law เป็นกฎหมายที่มาจากประเพณีปฏิบัติ แต่ไม่ได้นำมาใช้ ถ้าเราดูบรรยากาศสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ อาจไปไกลกว่าที่สังคมไทยพร้อมที่จะเป็น เช่นเรื่องส่วนตัวของบุคคลในราชวงศ์ หนังสือพิมพ์สามารถเอามาเป็นข่าวได้ หรือในโทรทัศน์รายการตลกสามารถจะล้อเลียนควีนเอลิซาเบธหรือปรินซ์ชาร์ลได้



สิ่งเหล่านี้คนไทยสังคมไทยอาจจะคิดว่านำไปสู่ความเสียหายต่อสถาบัน แต่เท่าที่ผมเห็นในอังกฤษมันไม่ได้เกิดความเสียหาย คือในประเทศอังกฤษสถาบันกษัตริย์ก็ยังอยู่ สื่อมวลชนสามารถวิจารณ์บุคคล หรือแม้แต่การแสดงความเห็น เช่น ปรินซ์ชาร์ลมีความเชื่อในการแพทย์ทางเลือกบางอย่าง ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์บางอย่าง ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก็เป็นเรื่องธรรมดา"



"ในสมัยก่อนพรรคแรงงานของอังกฤษมี ส.ส.บางคนเรียกร้องให้ยกเลิกสถาบัน กษัตริย์ ถึงขนาดบอกให้ตัดงบประมาณที่ให้สถาบันและให้ยกเลิก คนเหล่านี้ก็มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถาบันกษัตริย์ในอังกฤษกระทบกระเทือน เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมก็ยังเห็นประโยชน์และยังให้ความเคารพอยู่



ผมคิดว่าในสังคมไทยเราน่าจะคิดถึงการไปในทิศทางของการที่สถาบันกษัตริย์จะ ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง คือมีการป้องกันไม่ให้ถูกใช้เป็น เครื่องมือทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันอย่างตรงไปตรงมาอย่างสุภาพน่าจะทำได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกฟ้องตามมาตรา 112"



ปัญหาทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ใครก็ไปแจ้งจับได้ แต่ผู้ใช้กฎหมายมีความโน้มเอียงที่จะวินิจฉัยว่าพูดอะไรก็ผิดหมด ดูเหมือนพูดพาดพิงอะไรแทบไม่ได้เลย

"อันนี้เป็นอันตรายต่อสถาบันด้วย เรื่องแปลกคือคนที่เป็นแนวอนุรักษ์จะมองอย่างนี้ วิธีเดียวที่จะป้องกันสถาบันกษัตริย์ให้ยั่งยืนได้ ก็คือต้องใช้กฎหมายมาเล่นงานใครก็ตามที่พูดพาดพิงถึงสถาบันในทางที่เขามอง ว่าไม่เหมาะสม เขามองว่าวิธีนี้คือวิธีป้องกัน แต่ผมกลับมองตรงกันข้าม วิธีที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์มีความยั่งยืน คือทำให้เป็นสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น



ตราบใดที่ไม่เป็นการหมิ่นประมาทต่อคนหรือต่อสถาบัน แต่คำว่าหมิ่นประมาทนั้นก็ต้องเป็นเจตนารมณ์ที่จะกล่าวหาในทางเท็จ หรือเป็นเจตนารมณ์ที่จะใช้ภาษาดูหมิ่นดูแคลน ไม่ใช่เรื่องของการแสดงความคิดเห็นทั่ว ๆ ไป"



"ผมคิดว่าตอนนี้มีความเชื่อที่ผิดอยู่อย่างหนึ่ง ผมเองไม่ค่อยเชื่อว่ามีขบวนการที่จะล้มสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย แต่ฝ่ายคุณสนธิ ฝ่ายพันธมิตรฯ หรือฝ่ายอนุรักษนิยม พยายามจะควักออกมาตลอดเวลาว่าตอนนี้มีอันตรายนะ มันมีขบวนการที่จะล้มล้างนะ แม้แต่ อ.ใจ ลึกๆ ผมไม่คิดว่า อ.ใจมีเป้าหมายจะล้มสถาบันกษัตริย์ และไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ว่าพวกคุณทักษิณจะต้องการล้มสถาบัน แต่ผมพูดแทนไม่ได้"



"ที่ผมพูดแทนได้คือ ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในกลุ่ม 2 ไม่เอา สิ่งที่เขาต้องการคือสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ความคิดที่จะล้มสถาบันกษัตริย์ แต่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองทุกรูปแบบ อยู่เหนือการถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยใครก็ตาม ขบวนการที่พยายามเชิดชูกษัตริย์ บางทีก็เป็นขบวนการที่ใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนกัน ต้องมองอันนี้ให้เห็นชัดเจนด้วย"



เมื่อดึงมาเป็นเครื่องมือ ก็ถูกตีโต้กลับ

"จริงๆ เราจะเห็นว่า การเชิดชูสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นในยุคเผด็จการทางทหาร การเพิ่มโทษหมิ่นฯ สถาบัน การเชิดชูสถาบันแบบต่อเนื่องจะเกิดในยุคเผด็จการมากที่สุด เพราะเผด็จการต้องการใช้สถาบันกษัตริย์สร้างความชอบธรรมในการถืออำนาจของตัว เอง"



ฝ่ายอนุรักษนิยมเขาเชื่อว่า สถาบันจะมั่นคงได้ต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์เลย

"เป็นการสร้างสถานการณ์ที่ไม่เป็นปกติ มันจะเป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียด คือสถาบันกษัตริย์มีความสำคัญต่อทุกส่วนของสังคม คนก็ต้องพูดถึงได้ ต้องแสดงความคิดเห็นได้ ที่บอกว่าคนพูดไม่ได้นี่ ทั้งสร้างความตึงเครียดและก็ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็น ผมว่าจริง ๆ แล้วในสังคมไทยสิ่งที่คนคุยกันที่บ้าน และสิ่งที่พูดกันในทางการมันต่างกัน



สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพสถาบัน แต่เสรีภาพในการพูดถึงสถาบันจริงๆ ก็คือที่บ้าน หรือบางทีในแวดวงเพื่อนฝูงในสำนักงาน แต่พอเป็นเรื่องทางการหรือทางสาธารณะกลับพูดไม่ได้ เสรีภาพถูกจำกัด และตอนนี้มันกลายเป็นว่าอันตรายสำหรับคนที่จะแสดงความคิดเห็น"


พ.ร.บ.คอมพ์ปิดกั้น



อ.คัดค้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ต้น ตอนนี้จะเสนอแก้ไขด้วยใช่ไหม

"ผมกำลังหวังว่าภาคประชาชนจะสามารถรวบรวม 10,000 รายชื่อมาแก้ไขกฎหมายคอมพิวเตอร์ ผมคิดว่าเป็นกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อเสรีภาพ คืออินเทอร์เน็ตถือเป็นสื่อที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นสื่อที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ เป็นสื่อที่เป็นเวทีสำหรับประชาชนทุกคน ถ้าไม่มีเสรีภาพในอินเทอร์เน็ตก็เท่ากับไม่มีเสรีภาพสำหรับประชาชน ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ"



"กฎหมายคอมพิวเตอร์ผลที่เกิดขึ้นหลายอย่างเป็นเรื่องที่น่ากลัว เช่น มีการจับคนแบบเงียบๆ ตั้งแต่ยุค คมช. หลังกฎหมายออกมามีคนถูกจับแบบเงียบๆ ผมได้รับร้องเรียนอยู่รายหนึ่ง เป็นผู้หญิง ครอบครัวก็ยากจน ตำรวจกับไอซีทีมาที่บ้านตอนเช้า จับตัวไป ในที่สุดเข้าใจว่าไม่ฟ้อง แต่ขังไว้หลายวัน โดยไม่มีใครรู้และไม่สามารถประกันตัวได้ ก็เป็นผู้หญิงที่โพสต์ความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ต



การกระทำแบบนี้สร้างความกลัว คือในที่สุดก็ไม่ดำเนินคดีแต่เป็นการข่มขู่สร้างความกลัว พ.ร.บ.ก็เขียนไว้กว้างมาก ข้อความที่ต้องห้ามคือข้อความไหนก็ได้ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งการตีความว่าอะไรเป็นภัยต่อความมั่นคง มันสามารถตีความได้กว้างมาก ตรงนี้ต้องแก้ไข"



อ.จอนบอกว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้ใช้แค่กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้น

"แม้แต่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันที่มีอิทธิพลในสังคม สถาบันทหาร สมมติพูดถึงความรุนแรงในภาคใต้ ตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้อำนาจ การใช้ความรุนแรงของรัฐใน 3 จังหวัดภาคใต้ ถ้าเขาจะเล่นงานเขาก็สามารถควัก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาเล่นงานได้ อาจจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นผลเสียต่อความมั่นคงของประเทศ มากล่าวหาตำรวจ-ทหาร เป็นเรื่องที่เป็นอันตราย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ออกในยุค คมช. เป็นกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อเสรีภาพ อาจจะมากยิ่งกว่ามาตรา 112 หรือพอๆ กัน ขอบเขตของการที่จะเล่นงานกว้างกว่าเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์"



มันทำให้เว็บไซต์ที่เปิดให้แสดงความคิดเห็นพร้อมจะโดนเล่นทุกเมื่อ

"ไม่จำเป็นต้องเป็นเว็บไซต์ แม้ใครมีในคอมพิวเตอร์ตัวเอง สมมติใครก็ตามเก็บแถลงการณ์ของ อ.ใจ สยามแดง อยู่ในคอมพ์ของตัวเองอาจจะถูกเล่นงานว่าผิด สมมติว่าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพิมพ์ข่าวแล้วเก็บไว้ ก็อาจจะผิดกฎหมายได้ ไม่จำเป็นต้องเอาขึ้นเว็บไซต์ ตอนร่างแรกๆ พ.ร.บ.เลวร้ายมาก แต่ตอนหลังมีการปรับบ้าง ดีขึ้นหน่อย แต่ยังมีลักษณะที่เป็นอันตรายอยู่"



ที่ประชาไทโดนคือมีความผิดเท่าคนที่โพสต์

"ใช่ มันเหมือนกับว่าในเมื่อประชาไทเป็นเจ้าของเว็บไซต์ ในเว็บไซต์นั้นมีเว็บบอร์ดและเปิดให้คนโพสต์ ก็เหมือนกับเขาโทษประชาไท ผมรับได้ระดับหนึ่ง ไม่ต้องพูดถึงสถาบัน สมมติว่ามีข้อความในเว็บบอร์ดที่หมิ่นประมาทบุคคลใดคนหนึ่ง แล้วเจ้าของเว็บไซต์นั้นรู้และปล่อยให้มันอยู่ ผมคิดว่าก็มีความผิด คุณต้องรับผิดชอบเหมือนกัน เช่น



ผู้อ่านแจ้งแล้ว ซึ่งในประชาไทระบบของเว็บบอร์ดทุกโพสต์ผู้อ่านคนอื่น สามารถแจ้งลบได้ เจ้าของเว็บไซต์มีความรับผิดชอบในระดับหนึ่งคือต้องรับผิดชอบต่อการดูแล ทีนี้อะไรคือการดูแลรับผิดชอบที่ถือว่าใช้ได้ในความเห็นผม ก็คือการที่เปิดให้ประชาชนแจ้ง หรือเจ้าของเว็บจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูเป็นระยะๆ"



กม.คอมพ์คุมเสรีภาพ



จีรนุช เปรมชัยพร



"เขามีความเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้มีขบวนการ ตำรวจเขาจะเริ่มต้นจากสมมติฐานว่าเป็นขบวนการ เขาไม่เริ่มต้นจากสมมติฐานว่าคนเหล่านี้เป็นประชาชนคนอิสระ ไม่ได้รู้กันมาก่อน เขาจะเชื่อว่าเป็นขบวนการและจะสาวว่ามี connection มี link"



"จิ๋ว" เว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์ประชาไท ผู้หวิดที่จะต้องนอนห้องขังกองปราบปราม ถ้าไม่ได้รับการประกันตัวในนาทีสุดท้ายเย็นวันศุกร์



7 วันผ่านไป ถามเธอว่ามีการติดต่ออะไรจากตำรวจอีกไหม เธอบอกว่าไม่มี เห็นแต่ข่าวที่ตำรวจโดย พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รอง ผบช.ก. ให้สัมภาษณ์ว่าการออกหมายจับเป็นไปอย่างถูกต้องตามกระบวนการขออนุมัติศาล ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง



จิ๋วบอกว่าก่อนหน้านี้เธอก็เคยไปประชุมกับตำรวจ กับ พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล แล้วก็ไปประชุมร่วมกับกระทรวงไอซีที 2 ครั้ง



"เขาเชิญผู้ดูแลเว็บไปคุยเรื่องขอความร่วมมือ เราก็ไปโดยตลอด"



เธอบอกว่านับแต่มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตำรวจก็เข้ามาติดต่อขอความร่วมมืออยู่ตลอด



"หลัง พ.ร.บ.เริ่มบังคับใช้ ก.ค.51 เขาก็ติดต่อมา เรียกเราเป็นพยานทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคล ประมาณ 9 ครั้ง ในฐานะพยานว่ามีผู้มาทำความผิดบนเว็บไซต์ของเรา และก็ไปให้ข้อมูลว่าเว็บประชาไทก่อตั้งยังไง เราดูแลแบบไหนยังไง มีข้อมูลผู้โพสต์หรือเปล่า"



ให้ความร่วมมือแล้ว



ที่ตำรวจขอเกือบทั้งหมดประชาไทไม่มีข้อมูลให้ จิ๋วอธิบายว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีระยะเวลาตามบทเฉพาะกาลที่ให้เว็บไซต์ต่างๆ ต้องเก็บข้อมูลของผู้โพสต์

"ตอนเขาติดต่อมา เขาขอข้อมูลตั้งแต่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ เราก็ไม่มีข้อมูลให้เขา รวมถึงหลังจากมีผลบังคับใช้ เราเก็บข้อมูล 90 วันตามกฎหมายกำหนด แต่ส่วนใหญ่ของกระทู้ที่เขาขอมาจะเป็นข้อมูลที่นานเกินกว่า 90 วัน"



"มีอยู่รายเดียวซึ่งเป็นรายที่เป็นผลคดีสืบเนื่องมาที่เรา ที่ตำรวจเขา เชื่อว่าเป็นบัฟฟาโล่บอย แต่ที่โพสต์ในเว็บบอร์ดเราเป็นชื่ออื่น เพราะประชาไทไม่มีล็อกอินชื่อบัฟฟาโล่บอย ถ้าตามความเข้าใจที่เราดู คนที่โพสต์น่าจะไป copy ข้อความมาจากบัฟฟาโล่บอย ซึ่งอาจจะโพสต์ใน Hi5 ของเขาซึ่งปิดไปแล้ว"



รายนี้ประชาไทให้ข้อมูลไป แล้วก็เป็นรายเดียวกันนี้แหละที่ตำรวจย้อนมาเอาผิดประชาไท ตามมาตรา 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

"เป็นรายเดียวที่อยู่ในระยะไม่เกิน 90 วัน เราก็ให้ตัว IP ก็ปรึกษากันอยู่ว่าจะเอาอย่างไร สุดท้ายก็โอเคทำตามกฎหมาย"



เธอบอกว่าข้อความนี้โพสต์เมื่อ 15 ต.ค.และปิดไปแล้ว ยังตรวจทานข้อมูลไม่ได้ว่าปิดเมื่อไหร่ แต่ตำรวจอ้างว่าประชาไทเก็บข้อมูลไว้ 20 วัน ตั้งแต่ 15 ต.ค.-3 พ.ย.



"ตอนที่เราลบน่าจะเป็นตอนที่มีหมายจากตำรวจขอข้อมูล เราก็คลิกไปดูตามเลข กระทู้นั้นว่าข้อความมันคืออะไร ซึ่งเราก็คิดว่าโดยลักษณะแล้วนี่เป็นการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่ เราก็ปิด"



"แต่เราก็กลับไปดูอี-เมล์จากกระทรวงไอซีทีที่เขาส่งมารายวัน จะมี list ของหน้าเว็บต่างๆ ที่มีคนแจ้งเตือนเข้าไป ไล่เช็กดูตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.ถึงต้นเดือน พ.ย.ว่ามีอี-เมล์ที่แจ้งเตือนกระทู้นี้ไหม ก็ไม่เจอว่ามี เราไม่ได้รับการแจ้งใดๆ จากไอซีที"



หลังจากประชาไทให้ IP ไป ตำรวจก็ไปจับคนที่โพสต์

"เราให้ IP ไปประมาณ ธ.ค. แล้วประมาณ ม.ค.มีการจับกุมรายหนึ่งที่โพสต์ในเว็บบอร์ดประชาไท ประชาไทก็ลงข่าว ตำรวจมีหมายเรียก บก.เป็นพยาน และระบุว่ามีผู้ต้องหาในคดีนั้นเป็นใคร ชูวัส (ฤกษ์ศิริสุข) ก็ไปให้การโดยไม่รู้ว่าคืออะไร ก็พยายามสอบถามถึงทราบว่าเป็นคดีเดียวกันกับที่เราให้ IP ตำรวจไป เราเลยรายงานข่าว แต่ก็ไม่เปิดเผยชื่อบุคคล คือเราไม่อยากให้การดำเนินการจับกุมใดๆ กลายเป็นการจับเงียบ จริงๆ คิดว่ามีอีกหลายกรณีที่เป็นการจับเงียบ โดยที่เจ้าหน้าที่ดูเหมือนอยากจะทำคดีในทางเงียบมากกว่า"



คนที่ถูกจับ ประชาไทไม่เคยเจอ ทราบแต่ว่าเป็นผู้หญิงอายุ 20 เศษ

"เท่าที่รู้คือได้ประกันตัวด้วยวงเงิน 2 ล้าน ครอบครัวคงพอมีฐานะ แต่ได้ประกันหลังจากไปอยู่ในเรือนจำเกือบสัปดาห์ ชูวัสเล่าให้ฟังว่าตำรวจไปจับวันตรุษจีน ก็เป็นตรุษจีนที่เศร้า บุกไปที่บ้าน พ่อแม่ก็ไม่รู้เรื่อง เขาน่าจะยังให้การปฏิเสธอยู่ วันก่อนเจอตำรวจก็ถามว่าเขารับหรือเปล่าว่า เป็นบัฟฟาโลบอย ตำรวจก็บอกว่าใครจะยอมรับ"

"ตามความเข้าใจส่วนตัว คิดว่าเขาไม่ใช่บัฟฟาโลบอย แต่ตำรวจอาจจะปักใจว่าเป็น เพราะเขารู้สึกว่าบัฟฟาโลบอยเป็นอะไรที่เขาต้อง hunting ให้ได้ เป็นความท้าทาย"



"อีกอันหนึ่งที่เรารู้สึกได้คือ หลายกรณีที่เกิดขึ้นเหมือนกับมีความเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้มีขบวนการ ตำรวจเขาจะเริ่มต้นจากสมมติฐานว่าเป็นขบวนการ เขาไม่เริ่มต้นจากสมมติฐาน ว่าคนเหล่านี้เป็นประชาชนคนอิสระ ไม่ได้รู้กันมาก่อน เขาจะเชื่อว่าเป็นขบวนการและจะสาวว่ามี connection มี link"



หลังจากจับผู้โพสต์ได้เดือนเศษ ตำรวจจึงย้อนกลับมาจับประชาไท

"ก็เป็นเรื่องที่สงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไม คือถ้าตีความว่าจงใจยินยอมสนับสนุน ถ้าดูการให้ความร่วมมือของเรามาโดยตลอด มันก็ไม่ได้เป็นพฤติการณ์แบบนั้น ก่อนมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เจ้าหน้าที่แจ้งมา เราจะใช้วินิจฉัยของเราเอง เพราะเจ้าหน้าที่บางคนอาจจะ sensitive ทุกอย่างหมิ่นไปหมด หรือบางอันที่เราอ่านไม่เกี่ยวกับสถาบันเลย แต่เกี่ยวกับองคมนตรีหรือ คมช. แต่ก็มาอยู่ใน list ของการแจ้ง



เจ้าหน้าที่อาจจะมองเรื่องความมั่นคง แต่เราก็พิจารณาอีกที ถ้าเห็นแย้งเราก็ไม่ได้ปิด แต่พอ พ.ร.บ.บังคับใช้ ตัวเองก็เลือกที่จะใช้วิจารณญาณของตัวเองน้อยลง ถ้าสมมติว่ามีการแจ้งหรือคำขอมาจากเจ้าหน้าที่แล้ว ส่วนหนึ่งก็คือเราระมัดระวังเพราะไม่อยากให้นำไปตีความในมาตรา 15 ว่าเจ้าหน้าที่แจ้งเตือนมาแล้วก็ยังเพิกเฉย"
ต้องระวังรอบด้าน



"มันก็รู้สึกสับสนว่าการใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้ ตั้งแต่มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เราก็รู้สึกว่ามันมีโอกาสที่จะใช้ไปในการควบคุมเสรีภาพการแสดงออก มันควบคุมหลายๆ กลไก ตั้งแต่ให้คนที่เป็นผู้ให้บริการในระดับต่างๆ ไม่ว่า ISP ผู้ให้บริการ SERVER หรือระดับผู้ให้บริการเนื้อหาในเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ด ต้องเก็บข้อมูลของการใช้งาน ซึ่งเรียกว่าข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ หลักๆ ก็คือ IP Addrees ถ้าเปรียบเทียบทั่วไปมันก็เหมือนเลขที่บ้าน เป็นรหัสชุดที่จะออกมา ISP



แต่ละเจ้าเขาก็จะมีเลขชุดของเขา เขาจะกำหนดเลขชุดนี้ให้คนที่ต่ออินเทอร์เน็ตเข้ามา ตัว ISP สามารถบอกได้ว่าตัว IP นี้ถูกใช้งานมาจากหมายเลขโทรศัพท์ใด อยู่ที่ไหน ขณะที่เราเองอาจจะไม่รู้ หรือรู้แค่ว่า IP เป็นของ ISP นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะมาไล่ขอ IP ตามเว็บต่างๆ แล้วเขาจะไล่ต่อว่าเป็นของ ISP ไหน"



ตอนมาขอเรา ตำรวจใช้หมายศาลไหม

"เขาใช้ 2 อย่าง หมายเรียก และอ้างประมวลกฎหมายอาญาตามหมายเรียก อีกอันคือมีเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที เป็นเหมือนเจ้าหน้าที่เฉพาะ ตอนนี้มีอยู่ 35 คน เขาอาจจะไม่ต้องใช้หมายอะไร สามารถทำหนังสือโดยอำนาจของเขาตามมาตรา 18 เขามีอำนาจเบื้องต้นคือเรียกดูข้อมูลได้ แต่ถ้าจะต้องทำสำเนาข้อมูล หรือยึดเครื่องไปตรวจสอบข้อมูล ต้องมีคำสั่งศาล"



อย่างนี้เขาก็เรียกดู IP ได้

"เขาต้องระบุเหตุผลว่าจะเรียกทำไม อันนี้เป็นเรื่องที่เราเคยตั้งประเด็นตอนกฎหมายออกว่า ในแง่การให้อำนาจเจ้าหน้าที่เรียกดูข้อมูล มันไม่ได้กำหนดสิทธิของผู้ให้บริการที่จะปฏิเสธได้ สิ่งที่มีก็คือเป็นบทลงโทษถ้าไม่ปฏิบัติตาม เช่นไม่เก็บข้อมูลตามที่เขากำหนด เรามีข้อมูลอยู่แล้วไม่ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ก็กำหนดโทษกับผู้ให้บริการ รวมทั้งคราวนี้ที่เขาใช้เป็นการแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 15 ซึ่งเป็นมาตราที่ว่าด้วยผู้ให้บริการจงใจสนับสนุน ยินยอมให้มีการกระทำความผิด



และรวมไปถึงมาตรา 14 ว่าด้วยการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งนำผลให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลหรือความเสียหายต่อรัฐ เขาก็เอามาตรา 15 มาใช้เป็นเหตุทั้งๆ ที่ถามว่าเราผิดในฐานะไหน ครั้งนี้มันก็เหมือนเราผิดในฐานะเป็นผู้ให้บริการในพื้นที่ตรงนี้"



ถามว่าข้อความนั้นชัดเจนไหม จิ๋วบอกว่าหลายกรณีก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจน เพราะผู้เขียนจะเขียนอ้อมๆ ไม่ได้เขียนอะไรตรงๆ บางคนอ่านแล้วอาจไม่รู้เรื่องเลยก็ได้ ต้องมีการตีความ ซึ่งอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ข้อความนี้โพสต์ในช่วงที่เว็บบอร์ดมีกระทู้เยอะมาก



ที่ผ่านมามีเกณฑ์ในการตัดสินใจลบข้อความอย่างไร

"เกณฑ์เราก็เข้มขึ้นเรื่อยๆ สมัยก่อนรัฐประหารประชาไทแทบจะไม่ต้องเซ็นเซอร์อะไร เราปล่อยให้คนถกเถียง กัน ถ้าคุยกันแบบมีเนื้อมีหนังของการถกเถียงกัน โดยไม่ได้ละเมิดตัวกฎหมาย"



"ที่ผ่านมาเราก็พยายามใช้ตัวกฎหมายเป็นฐาน ตั้งแต่กฎหมายหมิ่นสถาบัน หมิ่นประมาทบุคคล และก็อาจจะมีเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประชาไทเคยจัดเสวนาเรื่องกระทู้นรกโคตรๆ (หัวเราะ) เราก็อยากเรียนรู้วัฒนธรรมที่คนถกเถียงกันว่ามันจะมีลักษณะแบบไหนได้บ้าง หรือว่ามันจะมีพัฒนาการในเชิงสร้างสรรค์แบบไหน ปกติคนจะรู้สึกว่าสื่อสารบนอินเทอร์เน็ตมักจะนิรนาม เหมือนกับทำอะไรก็ได้ มันมีทัศนคติแบบนี้อยู่ มันก็จริงบางส่วน แต่จากประสบการณ์ที่เราดูแลและสื่อสารกับคนในเว็บบอร์ด ก็พบว่าเขาไม่ได้เอาตัวตนจริงๆ แยกจากโลกไซเบอร์ มันมีตัวตนจริงๆ ของเขาอยู่"



"ประเด็นคือเมื่อเขาเข้าไปอยู่ในสังคมไหนๆ สักระยะ เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ ต่อให้เป็นนามแฝง มันก็ไม่ได้หมายความว่าเขาอยากจะพูดอะไรก็พูด เขาจะหวงแหนตัวตนของเขาไม่น้อยไปกว่าชื่อจริง จะกังวลว่าเพื่อนสมาชิกในนี้จะมองเขาเป็นคนแบบไหน ถ้าดูในชุมชนออนไลน์ไหนๆ ก็ตาม ถ้าเขามีโอกาสอยู่ในชุมชนนั้นนานพอที่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่ง เคยเห็นบางคนที่มาแบบไม่ฟังกัน อยู่คนละฝั่ง เราให้เวลาให้คนได้ทะเลาะกันแบบนี้อีกหน่อยหนึ่ง



ให้เวลาเขาได้สนทนากันนานพอ เขาก็จะรู้สึกว่าเอ้า-เราลองคุยกัน ในเว็บบอร์ดจะมีทั้งคนประเภทกูไม่คุยกับมึง แต่มันก็มีคนที่รู้สึกเป็นเจ้าของบ้าน โอเคใครมาก็จะคอยไปต้อนรับ คิดเหมือนก็ไม่เหมือน มันจึงมีความหลากหลาย มันมีทั้ง 2 อย่าง ที่เป็นนิรนามแล้วไม่กังวลอะไรเลย ซึ่งบางทีเขาก็ไม่รู้ว่ากำลังทำในสิ่งที่อาจจะเดือดร้อนต่อตัวเขาเองได้ และมีคนที่เป็นตัวตนของคนนั้นๆ"



"หลักเกณฑ์ที่เราใช้ก็คือเรื่องกฎหมาย แต่พอเป็นเรื่องกรณีสถาบันมัน มากกว่าเรื่องกฎหมาย เพราะว่าหลายครั้งที่ใช้ ถึงแม้จะไม่ได้มีการเอ่ยถึงตรงๆ แต่มีข้อความหรือถ้อยความส่วนใดที่ถูกตีความ และเชื่อมโยงไปได้ว่าหมายถึงบุคคลในสถาบัน ก็ต้องปิด ช่วงหนักๆ มากๆ บางกระทู้ไม่อันตรายแต่เขียนล่อเป้าก็ต้องลบ เพราะถ้าเราไม่เฝ้าให้ดี ก็มาล่ะ ต้นกระทู้ไม่อันตรายแต่คำตอบอันตราย มันต้องดูแบบนี้ด้วย"



"ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ กระทู้นี้เกิด 15 ต.ค. ช่วงนั้นกระทู้ในเว็บบอร์ดประชาไทเยอะมาก น่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ช่วงนั้นหยุดงานอื่นเลยนะ นั่งอ่านกระทู้อย่างเดียว ขนาดอ่านอยู่ตลอดเวลายังอ่านไม่ทัน เราขึ้นข้อความสีแดงเตือนบนเว็บบอร์ด ว่าขอให้ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองและพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะโพสต์ข้อความใดๆ"



การลบข้อความมีที่มาอย่างไร ให้ผู้อ่านแจ้งลบหรือ

"เราทำหลายระบบ ในประชาไทมีตั้งแต่ระบบอาสาสมัครช่วยดูแล สมาชิกทุกคนที่เป็นสมาชิกนานกว่า 1 เดือน สามารถปิดข้อความหรือกระทู้ที่เขาเห็นว่าละเมิดกติกาข้อตกลงการใช้งาน เราเลือกอันนี้ทั้งๆ ที่ถามว่ามีข้อเสียไหม-มี คนก็ติงว่าจะกลั่นแกล้งกันหรือเปล่า แต่เราเลือกทำอันนี้เพราะคิดว่าสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดกระบวนการ ปลอดภัยที่สุดก่อน ทีมประชาไทจะดูว่ามีการปิดข้อความอะไรไปของสมาชิก ถ้าเราคิดว่าปิดโดยไม่สมเหตุสมผล เราก็จะคืนข้อความนั้นกลับเข้าไปในเว็บบอร์ด เรายอมใช้วิธีหายไปก่อน"



"อีกอันคือต่อให้ไม่ได้เป็นสมาชิกสามารถกดแจ้งลบได้ ฉะนั้นโดยระบบคือเราจะดูว่ามีการปิดอะไรไปแล้วบ้าง เหมาะสมไม่เหมาะสม ถ้าไม่เหมาะสมก็คืนให้ ถ้าแจ้งลบอาจจะยังไม่ได้ปิดไป เราก็จะพิจารณาเหตุผลที่เขาแจ้งลบมา เราจะพยายามอ่านตัว topic"



"หลังจากช่วงสถานการณ์มันเข้มข้นขึ้น มาตรการเราก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จากแต่ก่อนเราไม่เคยคิดว่าเราต้องอ่านทุกกระทู้ ก่อนหน้านี้จะดูว่าชื่อกระทู้อันไหน ชื่อใครที่มีความเสี่ยง หรือกระทู้ที่มีการตอบเยอะๆ ก็จะคลิกเข้าไปดูว่ามีอะไรที่อันตรายไหม ตอนหลังนอกเหนือจากทำให้ระบบสมาชิกต้องร่วมดูแลแล้ว เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะอ่านทุกกระทู้ โดยกำหนดมาตรฐานของตัวเองไว้ว่าในระยะ 24 ชั่วโมง กระทู้นั้นเราจะต้องได้อ่าน"



เธอบอกว่าหลังจากเดือน พ.ย.เป็นต้นมาก็ตั้งเกณฑ์ที่รัดกุมขึ้น โดยตั้งเป้าว่าถ้ามีกระทู้ผิดกฎหมายก็จะไม่ปล่อยให้ข้ามวัน



ไม่มี กม.คุ้มครองบุคคล



ในมุมมองของเธอ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ละเมิดสิทธิ์กว่าเมื่อก่อนอย่างไร

"ก่อนมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตำรวจจะมีอำนาจตามวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 52 เขามีสิทธิมาขอข้อมูล ขึ้นอยู่กับเรามีหรือไม่มีข้อมูล และไม่มีข้อกฎหมายว่าเราจะต้องเก็บข้อมูล แต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้กำหนดหน้าที่ให้กับผู้ให้บริการที่จะต้องเก็บ ข้อมูล เมื่อมีการขอข้อมูลมาจากเจ้าหน้าเราจะอ้างว่าเราไม่มีข้อมูลไม่ได้ ถือว่าผิดมาตรา 26 ซึ่งกำหนดบทลงโทษไว้ด้วย"



จิ๋วบอกว่าในด้านของการจัดการอาชญากรรมคอมพิวเตอร์เธอก็เห็นด้วย แต่ต้องประกันเสรีภาพส่วนบุคคล



"พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ร่างในรัฐบาล คมช. มีผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตอนนั้นเขาใช้เหตุผลว่าเทคโนโลยีทางอาชญากรรมมันก้าวล้ำ กฎหมายที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกฎหมายมันมี 2 ส่วน ส่วนที่ว่าด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เกี่ยวกับเทคโนโลยี



แต่อีกส่วนคือเนื้อหา คือมาตรา 13, 14, 15, 16 ที่ว่าด้วยเรื่องเนื้อหา ซึ่งมันมีอยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาเข้ามาใส่ไว้ในนี้อีก สมมติเช่นมีคนกระทำความผิดบนคอมพิวเตอร์ เขาสามารถใช้กฎหมายหมิ่นประมาทได้ มันเหมือนกับสอดไส้เรื่องเนื้อหา นัยไม่มีอะไรมากไปกว่าต้องการควบคุมเสรีภาพในการสื่อสารผ่านกฎหมายฉบับนี้"



"ประเด็นที่กำหนดให้มีการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะอีเมล์ละเอียดมาก มันทำให้หลายคนที่ใช้บริการอีเมล์ของไทยเลิกใช้ไปเลย อย่างไชโยเลิกเลย ไป transfer เป็นของ G-MAIL เพราะมันกำหนดให้ต้องเก็บข้อมูลส่วนตัวของคนใช้อีเมล์ เข้าไปละเมิดความเป็นส่วนตัว รวมถึงการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มายึดคอมพิวเตอร์หรือคัดลอก เรียกดู โดยที่ไม่ได้กำหนดแนวปฏิบัติ ข้อยกเว้นที่ผู้ให้บริการหรือคนที่เป็นผู้ต้องสงสัยจะสามารถปฏิเสธอำนาจเจ้า หน้าที่ได้



ถึงแม้ในนั้นจะเขียนว่าบางเรื่องต้องใช้อำนาจศาล แต่เวลาตำรวจไปขอ process จากศาลก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย ทุกวันนี้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหลายคนเก็บแทบทุกอย่างในชีวิตไว้ในนั้น มันมีชีวิตส่วนตัวอยู่ในนั้นด้วย ก็รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาเรื่องการให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้ามาละเมิดข้อมูล ส่วนตัวของเรา มันเป็นปัญหาแง่กฎหมายอันหนึ่ง"



"จริงๆ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหลาย ตั้งแต่รัฐบาลสิบกว่าปีก่อนเคยมีคณะทำงานเรื่องกฎหมายและ set กฎหมายสำคัญๆ เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีข่าวสารประมาณ 6 ฉบับ พวกธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อีคอมเมิร์ช อะไรพวกนี้ และตัว พ.ร.บ.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ แต่มันจะดีกว่านี้มากหรือจะรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้มากกว่านี้ ถ้ามีอีกฉบับหนึ่งคู่ขนานกัน คือฉบับที่ว่าด้วยเรื่อง data protection หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ว่าตอนที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ออกมา เรื่อง data protection ไม่ได้ถูกเหลียวแลเลย"



จิ๋วบอกว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นตัวถ่วงดุลกัน

"เหมือนกับอันหนึ่งเป็นเรื่องการปราบปรามโดยให้อำนาจรัฐ แต่อีกอันพูดถึงสิทธิของประชาชน แต่ที่ออกมาตอนนี้มีแต่อันที่ให้อำนาจรัฐ"



ปัจจุบันคือถ้าตำรวจถือหมายมาค้นคอมพิวเตอร์เรา เขาเอาไปได้หมดเลยใช่ไหม

"ซึ่งมันเป็นอำนาจกว้างขวาง เช่นโคลนฮาร์ดดิสก์ คำถามคือถ้าในนั้นมีข้อมูลส่วนตัวของเรา แล้วข้อมูลอันนั้นรั่วออกไป มันก็เป็นที่สงสัยได้ว่าจะรั่วไปทางไหน โดยทางเจ้าหน้าเป็นทางหนึ่งหรือเปล่า และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้กำหนดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ไว้ คือเขียนกันไว้เลยว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ถูกฟ้อง แต่เราจะมีสิทธิได้รับการชดเชยค่าเสียหาย แต่เขาเขียนอีกว่าโดยสมเหตุสมผล"



ในมาตรา 15 กำหนดให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ร่วมรับผิดกับผู้ทำผิด

"และฐานโทษเดียวกัน สมมติว่าคนนั้นมีความผิดตามมาตรา 14 จำคุกไม่เกิน 5 ปี เราซึ่งผิดตามมาตรา 15 ก็มีสิทธิที่จะติดในอัตรา 5 ปีเหมือนกัน"



บางคนอาจบอกว่าก็เหมือน บก.หนังสือพิมพ์ แต่จิ๋วแย้งว่าต่างกัน



"มันถืออย่างนั้นไม่ได้ บก.หนังสือพิมพ์เป็นผู้รับผิดชอบเนื้อหานั้นๆ อย่างชัดเจน ต่อสิ่งใดๆ ก็ตามที่เผยแพร่ออกไป คือถ้าเนื้อหาที่ออกไปจากประชาไทในส่วนที่กอง บก.รับผิดชอบ อันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ แต่อินเทอร์เน็ตทุกวันนี้มันเป็นที่ทางของการเปิดเสรีการสื่อสาร จะไปตีความว่าคนที่ดูแลเว็บไซต์ทำหน้าที่เหมือนบรรณาธิการ ก็ไม่ใช่แล้ว จะคาดหวังให้บรรณาธิการเว็บไซต์มานั่งอ่านมันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้"



เธอเห็นว่าอินเทอร์เน็ตคือเสรีภาพที่กว้างกว่า



"เหมือนเราเปิดร้านกาแฟ คนที่เข้ามาเราไม่มีโอกาสกลั่นกรองข้อความของคนที่เข้ามานั่งในร้าน หรือเหมือนห้องสมุด หนังสือในห้องสมุดเราเป็นคนคัดสรร แต่ในห้องสมุดนั้นก็อาจจะมีโต๊ะข้างๆ ที่คนจิบกาแฟคุยกัน เราไม่ได้มีความสามารถไปกลั่นกรองถ้อยคำที่จะออกจากปาก"



บางคนที่ไม่ต้องการเห็นแบบนี้ก็จะบอกว่าปิดร้านกาแฟไปเลย

"ก็ต้องถามว่าโลกของการสื่อสารทุกวันนี้ เราจะอยู่ในโลกที่มืดๆ เป็นพลบค่ำไม่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนหรือ หลายครั้งของการเกิดขึ้นของแนวคิดดีๆ บางทีมาจากวงแบบนี้นะ มาจากการถกเถียง มันไม่ได้มาจากวงวิชาการที่ถูกเตรียมไว้อย่างเป็นระบบ มันมาจากวงที่คนรู้สึกอิสระกับการสื่อสาร ถกเถียงพูดคุยได้เต็มที่

เราไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนที่รู้ดีที่สุดในการกำหนดกติกา แต่เราหวังว่าโลก ของการสื่อสารบนนี้คนจะเรียนรู้และร่วมกำหนดกติกาด้วยกัน เช่นการที่ให้สมาชิกสามารถตัดสินปิดกระทู้ เพราะเราคิดว่าบางที judgement เราก็ไม่ถูก เราใช้รสนิยมของเราไปกำหนดรสนิยมคนอื่นซึ่งอาจจะผิดก็ได้ ถึงสุดท้ายเราจะเป็นคนตัดสินใจแต่เราไม่ได้ใช้วิธีเป็นคนบอกว่าอันนี้ถูกที่ สุด อันนี้ผิดที่สุด"



ผลสะท้อนอีกด้านหนึ่งใช่ไหมว่าผู้ให้บริการบางเว็บบอร์ด ถ้าไม่แน่ใจก็ปิดไปเลยหรือเซนเซอร์หมด

"self censor เกิดขึ้นโดยทันที ข้อที่แย่ของกฎหมายคอมพิวเตอร์ มันได้ทำให้รัฐลอยตัวจากความรับผิดชอบ กระทรวงไอซีทีจะพูดตลอดว่าไม่มีอำนาจไปปิดกั้นใคร เขาไม่ได้ปิด แต่กลไกที่มันถูกฝังลงไปในมาตรา 15 ผู้ให้บริการได้รับโทษเหมือนกับผู้กระทำผิด อะไรนิดหนึ่งที่รู้สึกว่าไม่เสี่ยงไว้ก่อน ผู้ให้บริการทั้งระบบ ISP ผู้ให้บริการเว็บทั้งหลายก็ต้องเลือกที่จะลบไว้ก่อนเลย".



เว็บบอร์ดยอดฮิต

"พันทิปเขาโตขึ้นมาจากการเป็นเว็บบอร์ด เขาวางโครงสร้างทีมงานเขาไว้ แต่ประชาไทเกิดจากเราตั้งใจที่จะเป็นเว็บข่าว เพียงแต่เราเป็นเว็บข่าวที่เชื่อเรื่องการสื่อสาร และเชื่อว่าคนอ่านสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของให้ได้มากที่สุด ในอินเทอร์เน็ตความเห็นท้ายข่าวหรือเว็บบอร์ด มันก็คือการที่เขาเข้ามามีส่วนร่วม ที่เราเปิดเว็บบอร์ดก็เพื่อสร้างพื้นที่ที่เขาสามารถจะแลกเปลี่ยนกับทีมงาน และไม่ได้เคยวางว่าจะต้องมีเจ้าหน้าที่มาทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องเว็บ บอร์ด"

จนกระทั่งสถานการณ์พาไป หลังรัฐประหาร ประชาไทมีคนเข้าท่วมท้น

"อันนี้มันก็สะท้อนความเป็นจริง ที่พาเว็บประชาไทมาถึงวันนี้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะคนรู้สึกว่าไม่มีที่ทางที่ไหนที่เขาจะสื่อสารได้ มันมีภาวะอึดอัด เขาอยากสื่อสาร มันถึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่อาจจะไม่เคยอ่านประชาไทเลยมาที่เว็บบอร์ดประชาไท"

ตอนนี้มีคนเข้าเท่าไหร่ จิ๋วบอกว่าเว็บบอร์ดประมาณวันละ 20,000 คน หน้าข่าวประมาณหมื่นกว่าคน แต่ข่าวก็จะถูกส่งไปทางอีเมล์

"เว็บบอร์ดประชาไทแรกๆ คนแทบจะไม่ถกเถียงอะไรเลย พื้นที่สนทนาแต่ละที่มันใช้เวลาสะสมคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกในชุมชนนั้นๆ เขาแลกเปลี่ยนกันจนถูกอัธยาศัย เหมือนในเว็บบอร์ดประชาไทเขาจะบอกว่าเหมือนกลับบ้าน มาคุยกันคนที่เล่นมุกกันแล้วเข้าใจ ช่วงก่อนรัฐประหารก็จะมีเข้ามาคุยทั้งฝ่ายที่เอาทักษิณไม่เอาทักษิณ ตอนนั้นไทยรักไทยยังเป็นรัฐบาล ช่วงนั้นวิธีดูแลเว็บของเราไม่ใช่ไปนั่งปิด

แต่อ่านแล้วเข้าไปคุยกับเขา เช่น ถ้าเขาอาจจะมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับประชาไท เราก็จะบอกว่าเราคิดยังไง หรือถ้าบางคนที่ทะเลาะกันแรงๆ เราก็จะเข้าไปบอกว่าคุยกันดีๆ ดีไหม จนกระทั่งหลังรัฐประหารก็เกิดกระแสฮือมา เว็บบอร์ดหลายที่ปิดตัวเองชั่วคราว ใครหาที่ไหนคุยไม่ได้ก็มาประชาไท ตอนแรกเราก็คิดว่าคงมาแค่ชั่วคราว ก็มีจำนวนหนึ่งไป แต่อีกจำนวนมากที่อยู่ มากขึ้นกว่าเดิมเป็น 10 เท่า หลังจากนั้นก็มีคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ "



"ก่อนรัฐประหารประชาไทมีวันละพันคนก็เก่งแล้ว ช่วงมีเรื่องภาคใต้ 4,000 สูงสุดแล้ว หลังรัฐประหารก็เริ่มเป็นหมื่น ค่อยๆ เพิ่มสะสมมาเรื่อยๆ"



เฉพาะสมาชิกตอนนี้ 2 หมื่นกว่าคน

"แต่ก่อนประชาไทไม่ต้องล็อกอินเลย จนช่วงที่การเมืองระอุมากๆ มันก็เหมือนสนามรบกลายๆ เป็นพื้นที่สงครามในโลกไซเบอร์ ซึ่งเราก็เห็นว่าดีนะ อย่างน้อยก็ไม่เป็นสงครามกันข้างนอก"



ตอนหลังพวกพันธมิตรฯ ก็บอกว่ามีแต่สีแดงเต็มไปหมด

"เราไม่ได้จัดตั้ง เราเป็นพื้นที่อิสระจริงๆ ไม่มีปัญญาไปจัดตั้งใคร ใครมาก็มา แต่มันมีธรรมชาติของการสื่อสาร หลังรัฐประหารคนกลุ่มที่ต้านรัฐประหารก็มาประชาไท จำนวนมากอาจจะเป็นกลุ่มรักทักษิณมา บางคนมาแรกๆ บอกว่าไม่เคยชอบประชาไทเพราะประชาไทชอบด่าทักษิณ โดยธรรมชาติมนุษย์เราคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์กว่า ถ้าเราเปิดโอกาสให้ความ เห็นที่ต่างได้เข้ามาแลกเปลี่ยน

คนที่พอคิดเหมือนๆ กันก็จะคิดว่าเป็นพวกพ้องกัน พอเสียงความเห็นต่างเข้ามาก็เจอแรงปะทะ ก็เป็นธรรมชาติ ถ้าถามว่าในเว็บบอร์ดประชาไทเป็นสีแดงเยอะไหม ก็ต้องบอกว่าสมาชิกส่วนใหญ่นิยมสีแดง แต่ถามว่าในกติกาที่ประชาไทกำหนดไว้เราปิดกั้นหรือกีดกันใครไหม เราไม่ อันนี้เป็นศีลอันเคร่งครัด"



เท่าที่เห็นสีเหลืองก็มาโพสต์ด่า แต่ด่าแล้วก็ไป

"ถ้าคนถามว่าเราใช้เกณฑ์เป็นธรรมไหม เราต้องบอกว่าเราไม่เป็นธรรมด้วยซ้ำ คือกรณีที่เป็นเสียงข้างน้อยเข้ามาแล้วอาจจะหยาบกว่าบางอัน แต่เราไม่ปิดเพราะคิดว่ามันมีประเด็นอยู่บ้าง และเราไม่อยากให้ในนี้ไม่มีเสียงต่าง ฉะนั้นเราอาจจะอะลุ้มอล่วยให้สีเหลือง อะไรประมาณนี้ ถ้าเทียบโดยตัวข้อความ มนุษย์ไม่ควรจำกัดตัวเองไว้กับคนที่คิดเหมือนกัน เพราะคุณกำลังทำลายโอกาสตัวเองในการที่จะเปิดรับฟังมุมที่คุณคิดไม่ถึง มนุษย์ไม่มีทางคิดทุกอย่างจบและสมบูรณ์"





ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ไทยโพสต์ แทบลอยด์ ฉบับวันที่ 15 มีนาคม 2552







http://www.prachatai.com/05web/th/home/15941
--------------------------------------------------------------------------------
โดย : ประชาไท วันที่ : 16/3/2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น