วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2552

สวทช. หนุนเอกชนตั้ง “ศูนย์วิจัยและทดสอบผ้าเบรก” แห่งแรกของไทย

สวทช. หนุนเอกชนตั้ง “ศูนย์วิจัยและทดสอบผ้าเบรก” แห่งแรกของไทย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 มีนาคม 2552 18:44 น.


ไอแท็ป - สวทช. สนับสนุน เอกชน ตั้ง “ศูนย์วิจัยและทดสอบผ้าเบรก” แห่งแรกของไทย มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพผ้าเบรกและยกระดับการออกแบบระบบเบรกของไทยสู่ตลาดยานยนต์โลก ด้าน รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ย้ำ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยได้จริง ขณะที่ผู้ประกอบการ “คอมแพ็คฯ” ยืนยัน การพัฒนาอย่างต่อเนื่องช่วยบริษัทฯ อยู่รอดจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ชูรายได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25

‘ผ้าเบรก’ เป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้สำหรับรถทุกประเภท ปัจจุบันผู้ผลิตผ้าเบรกนอกจากต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนแล้ว ยังต้องใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมด้วย บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ในเครือบริษัท เอเชียคอมแพ็ค จำกัด ผู้นำด้านการผลิตเบรก และตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบรกครบวงจร มานานกว่า 30 ปี ในฐานะบริษัทไทยรายแรกที่ได้วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าเบรก “ ไม่มีใยหิน หรือ ไร้ใยหิน ” ที่เรียกว่า NAO หรือ NON Asbestos Organic เป็นวัสดุที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติเดียวกับวัสดุที่ใช้ทำเสื้อเกราะกันกระสุน ระบายความร้อนได้ดี และมีประสิทธิภาพการเบรกที่สม่ำเสมอ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลก (OEM ) และต่อยอดการพัฒนาสู่ผ้าเบรก Nano เป็นรายแรกของไทย

ล่าสุด บริษัทฯ ยังได้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการวิจัยและทดสอบการผลิตชิ้นส่วนเบรกรถยนต์ขึ้น เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้เป็นศูนย์วิจัยและทดสอบประสิทธิภาพผ้าเบรกที่มีความแม่นยำได้มาตรฐานระดับสากล และพัฒนาการออกแบบระบบเบรกรถยนต์ของไทยในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาการนำผ้าเบรกที่ผลิตขึ้นออกไปทดสอบประสิทธิภาพยังต่างประเทศซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงครั้งละ 150,000 บาท ( ไม่รวมค่าขนส่ง ) และต้องใช้ระยะเวลานานถึง 30 วัน ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาผ้าเบรกของไทยมาโดยตลอด

ทั้งนี้ ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับจังหวัด ครั้งที่ 3)” ระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมลองบีช ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อหารูปแบบการดำเนินงานบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้กว่า 250 คน ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนท้องถิ่น และภาคประชาชน

ในโอกาสนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำคณะผู้บริหารจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และคณะติดตาม เดินทางเข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการวิจัยและทดสอบการผลิตชิ้นส่วนเบรกรถยนต์ของบริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ต.หนองชุมพล อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เพื่อรับทราบถึงประโยชน์ที่ได้จากการเข้ารับบริการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP ) และโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน (CD) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี 2547 มาจนถึงปัจจุบัน

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมว่า การนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปถ่ายทอดให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และยังเป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเห็นความเชื่อมโยงของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับเศรษฐกิจชุมชน เกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ

“ กิจกรรมการสนับสนุนภาคเอกชนของโครงการ iTAP ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. ถือเป็นโครงการที่ดี ที่เชื่อมโยงการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปร่วมมือกับภาคเอกชน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับเอกชน เช่นเดียวกับบริษัท คอนแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่ได้มีการเตรียมพร้อมในการนำองค์ความรู้เข้าไปเพิ่มศักยภาพอย่างต่อเนื่อง จนบริษัทเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากฝีมือของคนไทย ซึ่งทางกระทรวงฯ ยังต้องการเห็นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้นด้วยกิจกรรมการสนับสนุนภาคเอกชนของ สวทช. ให้กระจายออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศมากขึ้น ” รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

นายมีชัย ศรีวิบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เติบโตขึ้นจากการเป็นผู้ผลิตผ้าเบรกขนาดเล็ก ปัจจุบันสามารถผลิตป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือ OEM ได้เพราะจากการที่บริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และยกระดับเทคโนโลยีมานานกว่า 7 ปี ด้วยการสนับสนุนและช่วยเหลือจากโครงการ iTAP (สวทช.) ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก ซึ่งจะเห็นได้จากยอดขายของบริษัทฯ ที่เพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านบาทเมื่อปี 2547 เป็น 310 ล้านบาทในปี 2551 มีพนักงานมากกว่า 500 คน และมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 700,000 ชิ้นในปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็น 1,500,000 ชิ้นในปี 2551

นอกจากนี้ ยังลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เบรกจากต่างประเทศได้ถึง 1,050,000 ชุดต่อปี ลดค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์เบรกออกไปทดสอบคุณภาพในต่างประเทศได้ถึง 15 ล้านบาทต่อปี และจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการส่งออกจากเดิม 95 : 5 (ในประเทศ : ต่างประเทศ ) เป็น 70 : 30 โดยกระจายไปยัง 30 ประเทศทั่วโลกได้อย่างมั่นใจ คาดว่า จะมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ต่อปี

โดยความช่วยเหลือที่บริษัทฯได้รับจากโครงการ iTAP ในด้านของเงินสนับสนุนและจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเป็นที่ปรึกษา รวมทั้งสิ้น 7 โครงการ ประกอบด้วย การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าเบรกชนิดไม่มีแร่ใยหิน , การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าเบรกชนิดไม่มีแร่ใยหินสำหรับรถยนต์นั่ง 4 ล้อ และรถกระบะ , การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าเบรกชนิดไม่มีแร่ใยหินสำหรับรถขนาดใหญ่ , การพัฒนาความรู้พื้นฐานด้านวัตถุดิบและกระบวนการผลิตเพื่อเตรียมพร้อมในการวิจัยและพัฒนาผ้าเบรก , การพัฒนาลดต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผ้าเบรกชนิดไม่มีแร่ใยหิน , การถ่ายทอดเทคโนโลยีการประเมินประสิทธิภาพผ้าเบรก และ การศึกษาผลกระทบและประสิทธิภาพผ้าเบรกเชิงเสียงรบกวนและสัมประสิทธิ์ความเสียดทาน

สำหรับการจัดตั้งศูนย์วิจัยและทดสอบผ้าเบรกนั้น บริษัทฯ ได้รับสนับสนุนด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จากโครงการ CD เป็นเงินจำนวน 26.85 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องเบรกไดนาโมมิเตอร์ ( Brake Dynamoteter ) จากประเทศญี่ปุ่น และจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อการวิจัยและทดสอบการผลิตชิ้นส่วนเบรกรถยนต์ เพื่อใช้ทดสอบประสิทธิภาพผ้าเบรกที่บริษัทพัฒนาขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์จากคู่แข่งและ OEM ซึ่งเครื่องดังกล่าวสามารถทดสอบแรงเสียดทานของเบรกชนิดต่างๆ สามารถจำลองทุกสถานการณ์ในการเบรกได้อย่างถูกต้องแม่นยำควบคุมคุณภาพได้ตามมาตรฐานสากล และสามารถรู้ผลการประเมินได้ในเวลาเพียง 3 วัน จากเดิมที่ต้องส่งออกไปทดสอบในต่างประเทศนานถึง 30 วัน ทำให้การปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รวดเร็วขึ้น และ สามารถแข่งขันกับตลาดได้มากขึ้น

“ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลก แม้จะทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนต่างประสบปัญหาอย่างหนัก แต่ยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง เช่น เรื่องของราคาน้ำมัน , มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และการที่ยังมีคนใช้รถใช้ถนนอยู่ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้มองว่าเป็นโอกาสดีของบริษัท เพราะผลิตภัณฑ์ที่ดีได้คุณภาพมาตรฐานระดับสากล ( ISO/TS16949) ที่ทั่วโลกยอมรับและมีราคาถูกคุ้มค่าจะเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคต้องการ เชื่อมั่นว่า ผลจากการลงทุนในการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันบริษัทฯ มีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นโอกาสดีของบริษัทในตลาดชิ้นส่วนทดแทน หรือ Aftermarket ” นายมีชัย กล่าว

จากรางวัลที่ได้รับ ไม่ว่า จะเป็น“ Best Green Product Development จากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าเบรกไร้ใยหิน ( Non – Asbestos Organic) รางวัล “sme POWER Awards 2008” จากโครงการ sme POWER และ รางวัล Bualuang SME Awards ในฐานะสถานประกอบการดีเด่นที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการบริหารและการผลิตจาก ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นการการันตีถึงการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ทำให้ธุรกิจของบริษัทฯ เติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000029386

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น