วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552

สัมมนา “การสร้างสังคมรัฐสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต” ที่เชียงใหม่

สัมมนา “การสร้างสังคมรัฐสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต” ที่เชียงใหม่



เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการจัดโครงการสัมมนา “การสร้างสังคมสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต” ณ ศูนย์เกษตรกรสารภี จ.เชียงใหม่ มีการอภิปรายหัวข้อ “ความเป็นมาของแนวคิดรัฐสวัสดิการ ประชานิยม และทางออกสังคมไทย” โดยเก่งกิจ กิตติเรียงลาภ นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดยนายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ จากมูลนิธิเพื่อนหญิง





ประสบการณ์สร้างรัฐสวัสดิการจากต่างประเทศ

เก่งกิจ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยมีรัฐสวัสดิการเหมือนที่เกิดขึ้นในแถบยุโรปแบบสวัสดิการครบวงจร ตั้งแต่เกิดจนตาย ไปโรงพยาบาลรักษาฟรี ระบบขนส่งสาธารณะฟรีหรือมีราคาถูก มีสิ่งที่ไม่เสียค่าใช้เงินจ่าย ตั้งแต่เกิด จนตาย เพื่อให้คนทุกคนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกันในสังคม โดยรัฐสวัสดิการ มีประวัติศาสตร์มาจากยุโรปที่เกิดรัฐสวัสดิการมา 100 กว่าปี ซึ่งก่อนหน้าของการเกิดรัฐสวัสดิการมาจากการที่เกษตรกรร่ำรวยกดขี่คนจนเป็นอันมาก และมีอิทธิพลจากแนวคิดสังคมนิยมที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางฐานะเพื่อให้มนุษย์มีชีวิตที่ดี



ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ สหภาพแรงงานช่วยกันให้ทุนสนับสนุนพรรคสังคมนิยม และสหภาพแรงงานก็เรียกร้องกับพรรค เช่น ผู้ใช้แรงงานแสดงความคิดเห็นกับพรรคของแรงงานเรื่องรัฐสวัสดิการ ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้เกิดการพัฒนาเรื่องรัฐสวัสดิการในประเทศอังกฤษ มีการเรียกร้องประเด็นรัฐสวัสดิการในประเด็นย่อยๆ เช่น รักษาคนป่วย แต่ยังไม่ได้ครอบคลุมประเด็นการศึกษา แล้วแนวคิดเหล่านี้ก็ถูกพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ รัฐทุกรัฐมีหน้าที่ให้สวัสดิการเป็นส่วนหนึ่ง ทำให้ครบวงจรมากขึ้น



เก่งกิจยังกล่าวว่า ในยุคหนึ่งของสวัสดิการ ไม่ได้ครอบคลุมสวัสดิการสำหรับแรงงานข้ามชาติ เพราะฉะนั้น ต่อมาจึงมีการเรียกร้องให้รัฐจัดสวัสดิการสำหรับทุกคนแบบเท่าเทียมกัน





ความเป็นประชาธิปไตยกับรัฐสวัสดิการ

เก่งกิจ กล่าวต่อไปว่า ความคิดเรื่องประชาธิปไตยขยายตัวมาเป็นสิทธิเสรีภาพในประเด็นการมีชีวิตที่ดี เช่น การมีที่อยู่อาศัย ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะการคิดเรื่องรัฐสวัสดิการมีมากกว่าประชาธิปไตยในความหมายเชิงสถาบันการเมือง



และในยุโรปทำให้เกิดบทเรียน ระดับไม่เท่าเทียมกันของสวัสดิการนั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้มาจากการมีพรรคของชนชั้นแรงงานก็ตาม จึงเป็นเงื่อนไขว่าตราบใดที่เรายังมีพรรคของนายทุนอยู่ในรัฐสภา อย่างประเทศไทยนั้น ไม่มีคนจน ไม่มีแรงงาน ไม่มีเกษตรกร อยู่ในรัฐสภา ก็จะเกิดรัฐสวัสดิการยาก การก็จะผลักดันรัฐสวัสดิการให้เกิดความก้าวหน้า ต้องมีพรรคแรงงาน เกษตรกร และหลายๆ พรรคในรัฐสภามากขึ้น จนถึงมีผู้นำรัฐบาล และมีคณะรัฐมนตรี เพื่อจผลักดันให้ไปสู่การมีรัฐสวัสดิการในประเทศไทยให้ได้



แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพัฒนารัฐสวัสดิการ แต่พอถึงปี ค.ศ. 1975 (2518) ช่วงนั้นในยุโรป ชนชั้นนายทุนอ้างว่าวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพราะรัฐสวัสดิการ จึงมีการลดสวัสดิการลง ดังนั้นคนที่กดขี่ประชาชนก็คือคนร่ำรวยในประเทศ และหลายประเทศที่มีภาคประชาชนอ่อนแอก็มีการเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ อย่างในประเทศอังกฤษก็ถูกปกครองโดยคนร่ำรวย เดิมมีการเก็บภาษีก้าวหน้า คนรวยถูกเก็บภาษีมาก ต่อมาภายหลังทศวรรษ 1970 ก็มีการลดการเก็บภาษีเพื่ออุ้มคนรวยไว้ ดังนั้น การต่อสู่เรื่องรัฐสวัสดิการ จึงขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของขบวนการภาคประชาชน





ความเข้าใจต่อรัฐสวัสดิการในประเทศไทย

เก่งกิจกล่าวต่อว่า พรรคแรงงานของอังกฤษมีการหันไปเพิ่มภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้บริโภค กรณีรัฐบาล คมช. ในประเทศไทย มีแนวคิดเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มของการซื้อสินค้า คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ คนจน เวลาเราซื้อของก็ต้องจ่ายมากขึ้น จะเห็นได้ว่าการลดการเก็บภาษีทางตรงลง แล้วเก็บภาษีทางอ้อมนั้น เป็นการเพิ่มภาระให้คนจน



ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ มันมีที่มาอย่างยาวนานในไทย ตัวอย่าง คือ เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ก็พูดถึง การประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน และภาษีแบบก้าวหน้า คือ คุณมีรายได้จำนวนมาก ก็จ่ายเงินจำนวนมากค่าภาษี ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ปรีดี พนมยงค์ก็ถูกโจมตี จากเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี สะท้อนเป็นหน่ออ่อนเรื่องรัฐสวัสดิการ ต่อมาความคิดของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในเรื่อง จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน คือ คนเกิดมาบนโลกนี้ แล้วรัฐต้องจัดการสวัสดิการให้ดีที่สุด ตั้งแต่เกิด จนแก่ ตาย แต่ไม่ได้รับการตอบรับเรื่องดังกล่าว จึงขัดแย้งกับพวกอภิสิทธิ์ชน นี่คือ รูปธรรมของการต่อสู้กับสวัสดิการ ที่มีความก้าวหน้าของไทย ดังนั้น ขบวนการแรงงาน จึงต้องมีการต่อสู้ ว่าเรามีค่าแรงงานขั้นต่ำอย่างนี้ ไม่ใช่มาให้ค่าแรงงานไม่เท่ากัน เพราะว่า ระบบประกันสุขภาพ คือ แนวคิดเรื่องสวัสดิการเป็นหัวใจของภาคประชาชน



โดยแนวคิดหลักในยุคนี้ มีแนวคิดสวัสดิการชุมชน สวัสดิการสังคม ซึ่งอาจารย์ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ จะชอบพูดถึงแนวคิดต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งบางกลุ่มการกล่าวอ้างถึงจากความเชื่อว่า สวัสดิการมากเกินไป จะทำให้ประชาชนขี้เกียจ จึงคิดว่า เราควรจะให้สวัสดิการเฉพาะเรื่องกับคนที่จนที่สุด ซึ่งมันเป็นความคิดแบบ สวัสดิการสังคมสงเคราะห์ คือ คุณเดือดร้อน ก็ให้อย่างนั้น เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน ก็ให้เงินเดือน 2000 บาทแก้ปัญหาไป และแนวคิดสวัสดิการชุมชน ก็จะทำให้ประชาชนพึ่งตนเอง และประชาชนดูแลกันเองในชุมชน โดยสวัสดิการชุมชน ก็ไม่ได้ครบวงจร และไม่ได้พูดถึงการรักษาพยาบาล จึงไม่สามารถมีอุปกรณ์ดูแลทั่วถึงทุกคน





การทำรัฐสวัสดิการในประเทศไทย

เก่งกิจ กล่าวว่า รัฐสวัสดิการ คือ จะเอาเงินจากคนรวยมาให้คนจน ซึ่งแนวคิดสวัสดิการชุมชน ก็ไม่ได้พูดถึงหัวใจของการจัดการเหมือนรัฐสวัสดิการ คือ การปฏิรูปภาษี ถ้าเราเปรียบเทียบประเทศไทย กับสวีเดน ในด้านงบประมาณนั้น มาจากเก็บภาษีทางตรง แต่ถ้าประเทศไทย มาจากการเก็บภาษีทางอ้อม ซึ่งแสดงว่า เงินรายได้เอามาจากคนจน ดังนั้น การปฏิรูประบบภาษี โดยเฉพาะภาษีทางตรงในอัตราก้าวหน้าเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราจะเห็นได้ว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาที่มักจะพูดเรื่องการปฏิรูปภาษี แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริง รวมไปถึงยังไม่ใช่ระบบภาษีแบบก้าวหน้าจริงๆด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการยกเว้นภาษี แก่คนบางคน หรือองค์กรบางองค์กร ซึ่งไม่ใช่การเก็บภาษีอย่างเท่าเทียมกัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยบางสถาบัน เช่น สถาบันการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ก็พยายามจะพูดถึงรัฐสวัสดิการมากขึ้น แต่ก็มองว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะ TDRI มองว่า คนจนไม่พร้อมจ่ายภาษี และแหล่งเงินของรัฐสวัสดิการไม่ได้มาจากคนร่ำรวยเป็นหลัก จึงมีแนวทางเพื่อการผลักดันให้คนรวยช่วยคนจน ในการจัดการรัฐสวัสดิการ ดังนั้น การสร้างชุมชนเข้มแข็ง รัฐต้องมีบทบาท ไม่ใช่ลดอำนาจรัฐอย่างที่พวกสวัสดิการชุมชนเสนอ แต่รัฐต้องถูกควบคุมโดยประชาชน ให้มีการตรวจสอบรัฐ และการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น โดยที่รัฐส่วนกลางก็ต้องมีหน้าที่อยู่ โดยเฉพาะการจัดสวัสดิการในเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งไม่ได้แปลว่า เราจะไม่เอารัฐแบบที่พวกเสรีนิยมและพวกชุมชนนิยมเสนอ



ทั้งนี้ เก่งกิจ กล่าวสรุปว่า “ข้อเสนอทั่วไป 3 ข้อ 1. จะต้องมีการขยายตัวของภาคประชาชนที่เข้มแข็ง เพราะเราจะเห็นกลุ่มคนมีอำนาจ และ 2. ขบวนการภาคประชาชน จะต้องมีพรรคแรงงานแนวสังคมนิยม ถึงแม้จะเรียกร้อง ผ่านรัฐสภา แต่คนร่ำรวย ในรัฐสภาก็พิจารณากฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีพรรคของขบวนการภาคประชาชน และ 3. ขบวนการภาคประชาชน จะต้องเข้าใจรัฐสวัสดิการ มีความครอบคลุม เรื่องฟรีแบบมีคุณภาพ ช่วยกันเผยแพร่แนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อคนจน รวมทั้งเรื่องปฏิรูปภาษี ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่สวัสดิการชุมชน นี่เป็นเงื่อนไขสำคัญมาก” เก่งกิจกล่าวทิ้งท้ายไว้





ประสบการณ์จากยุโรป วิกฤติเศรษฐกิจกับรัฐสวัสดิการ

ด้าน รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ กล่าวว่ารัฐสวัสดิการเกิดขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1945 ในประเทศยุโรปตอนเหนือ เพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครองทางการเมืองและคนงานแบกรับวิกฤติเศรษฐกิจที่มีภาวะตกงานกันจำนวนเกือบ 20 ล้านคน



แต่วิกฤติเศรษฐกิจนั้น มีสิ่งที่เกิดขึ้นเฟื่องฟูมาก คือ แนวคิดสังคมนิยม เพราะระบบทุนนิยมสร้างผลกระทบมาก ทำให้คนอยู่ในเมืองกลับชนบทก็ไม่ได้ นี่คือ บริบทของประเทศตะวันตก รัฐสวัสดิการจึงเป็นการแก้ปัญหาวิกฤติคนตกงาน คือ คนงานบอกว่าการต่อสู้ในโรงงานไม่เพียงพอ เช่น ประเทศอังกฤษ และเยอรมัน คนงานก็จัดตั้งพรรคการเมือง รวมทั้งในฝรั่งเศส ก็ไม่ใช่แค่ขบวนการแรงงานเท่านั้น เพราะว่า แนวคิดในเรื่องสังคมนิยมมันเฟื่องฟูมาก เนื่องจากฝรั่งเศสก็มีขบวนการประชาชนที่มีความก้าวหน้า แม้ไม่มีพรรคการเมือง แต่ว่าก็มีการสร้างความยุติธรรมในสังคมเพื่อคนตกงานเป็นอย่างมาก





วิกฤตเศรษฐกิจในไทยและมาตรการบรรเทาสองยุค มิยาซาวา-ประชานิยม

เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทย ปี 2540 เราก็มีภาคเศรษฐกิจที่มีการเก็งกำไรในประเทศ เช่นพวกสถาบันการเงิน ซึ่งปล่อยสินเชื่อจำนวนมาก แล้วเศรษฐกิจเกิดฟองสบู่ตามมาด้วยการปั่นหุ้น รวมทั้งปั่นราคาที่ดิน จนกระทั่งเศรษฐกิจฟองสบู่แตก



ทำให้วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นภายในประเทศ มีสถาบันการเงินเลิกจ้างพนักงานจำนวนเกือบ 2 หมื่นกว่าคน และอุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมทั้งอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ในช่วงนั้นคนตกงานในปี 2540 สูงมาก เพราะในประเทศไทย ไม่เคยมีภาวะคนตกงานสูงมาก ซึ่งวิกฤติคนตกงานไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย แต่วิกฤติการณ์นี้ก็ใช้เวลาแค่ 2 ปี ก็ฟื้นตัวเศรษฐกิจขึ้นมา หลังจากนั้น ประเทศไทยก็ไม่มีเรื่องปัญหาคนตกงาน



รศ.ดร.วรวิทย์ ตั้งคำถามว่า การฟื้นตัวดังกล่าวสร้างโอกาสให้คนงาน หรือ นายทุนกันแน่ ดังนั้นเวลาดูวิกฤติเศรษฐกิจ ก็เป็นวิกฤติของนายทุน เช่น โครงการมิยาซาว่า มีการนำเงินจากญี่ปุ่นมาทุ่มเรื่องจ้างงาน ซึ่งถ้าหมดวิกฤติเศรษฐกิจก็มีเงินจำนวนมากเข้าหาประเทศไทย และมีเงินจากธนาคารโลก แต่ทั้งหมดล้วนแต่ไม่เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ เป็นเพียงการสงเคราะห์เท่านั้น ต่อมาคุณทักษิณ เข้ามาต่อยอดเรื่องประชานิยม รวมกลุ่ม ผลิตสินค้าโอท็อป ที่ทำให้เศรษฐกิจเกิดฟื้นตัวขึ้นมา นั่นเอง



ทั้งนี้ แนวทางประชานิยม ไม่ใช่เรื่องของรัฐสวัสดิการเป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เกิดในโรงงาน หลังวิกฤติเศรษฐกิจ สภาพการทำงานได้เปลี่ยนไปอย่างมาก หลังวิกฤติเศรษฐกิจโรงงานลดขนาดโรงงานลงและเลิกจ้างแรงงาน ส่วนการจ้างแรงงานใหม่ก็เป็นการจ้างแรงงานชั่วคราว ใช้วิธีการจ้างแบบต่อสัญญาไปเรื่อยๆ และจ้างแรงงานแบบเหมาค่าแรง ซึ่งเราจะเห็นว่าแรงงานชั่วคราวที่มีการจ่ายงานมากจากโรงงานนั้น เศรษฐกิจมันขยายตัวมากขึ้นเป็นโอกาสของนายทุนที่มีโอกาสจะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ





วรวิทย์ยืนยันรัฐสวัสดิการคือสิทธิของผู้ใช้แรงงาน

รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ กล่าวว่าให้ฟันธงรัฐสวัสดิการคือ สิทธิของผู้ใช้แรงงาน ดังนั้น เรื่องของสิทธิทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองตั้งแต่เกิดจนตาย



แต่ว่าในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย ได้สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง – ต่ำ แก่สังคม โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศลำดับที่ 5 หรือ 6 ซึ่งมีช่องว่างของรายได้เป็นอย่างมาก ไม่เคยมีการพูดถึงการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540



รศ.ดร.วรวิทย์ ยังกล่าวด้วยว่า วิกฤติเศรษฐกิจปี 2550 ร้ายแรงกว่าปี 2540 เพราะวิกฤติเศรษฐกิจปี 2550 ระบบเศรษฐกิจมีปัญหาจากตลาดภายนอก ในขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกปี 2540 เกิดจาก หนี้สินด้อยคุณภาพ แต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2550 มีผลกระทบโยงกันเป็นลูกโซ่และเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก เมื่อหันมามองประเทศไทย มันมีกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโยงกับการกระจายรายได้ ภาคอุตสาหกรรมตัดเย็บสิ่งทอมีการลดจำนวนคนงานเพราะแข่งขันกับประเทศอื่นได้ยาก ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์พวกชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ ก็ไม่มีคำสั่งการผลิต



และในยุคที่เศรษฐกิจโลกถดถอย เราเริ่มเห็นการปลดคนงานออกต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนอาจจะถกเถียงกันได้ว่า มีจำนวน 1 หรือ 2 ล้านคน แต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2550 ครั้งนี้ มันจะยาวไม่ใช่แค่ 2 ปี ถ้าเผื่อเราจะถามว่าประเทศไทยมีปัญหาวิกฤติตลาดและวิกฤติการเมือง ซึ่งเราจะเอาเรื่องแค่ช่วยคนงานตกงานเชิงสงเคราะห์นั้น มันจะแก้ปัญหาไม่ได้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าจำต้องจ่ายเงิน เพราะคนงานส่วนใหญ่ก็อยู่ตามหอพัก การช่วยเหลือจึงต้องไม่ใช่การช่วยเหลือเฉพาะหน้า แล้วพอหมดวิกฤติก็หยุดโครงการไป แต่ไม่ผลักประเด็นเรื่องสิทธิและการคุ้มครอง คือ สร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อเฉลี่ยทุกข์สุข เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนงานยุคนี้





เราล้วนเป็นแรงงานภาคใต้ระบบที่นายทุนลดต้นทุน

รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อภิปรายต่อไปว่า เราต้องเข้าใจให้ถูกว่าสิทธิมนุษยชน คือ การคุ้มครองพวกเรา โดยเราต้องถามตัวเองว่า เราเป็นผู้ใช้แรงงานไหม? และประชากรส่วนใหญ่เป็นแรงงาน ทั้งอยู่ในภาคอุตสาหกรรม 9 ล้านคน รวมภาคบริการ อีกส่วนหนึ่ง พวกทำงานในภาคการเกษตรเป็นผู้ใช้แรงงานไหม? ทั้งนี้ เกษตรกรรายย่อย และเกษตรกรพันธะสัญญา เป็นระบบความสัมพันธ์ของทุน ซึ่งกลุ่มกลไกตลาดในสังคมไทย มันกำลังเปลี่ยนเป็นสังคมอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น เราเป็นผู้ใช้แรงงาน ภายใต้ระบบที่นายทุนลดต้นทุน ทำให้เรามีแรงงานหลากหลายมากขึ้น แต่ตอนนี้ สัดส่วนของแรงงาน ที่มีน้อยลง เพราะว่า มีแรงงานชั่วคราวจำนวนมาก ที่ไม่มีการบรรจุเป็นแรงงานประจำ ทั้งๆที่ทำงานแบบเดียวกัน



การปลดคนงานออกเมื่อปี 2540 คือการเอาเครื่องจักรเข้ามา แล้วเอาคำสั่งการผลิตไปลงที่บ้าน ซึ่งทำงานเหมือนกัน คือ ทำงานเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น ทำงานตัดเย็บเสื้อผ้า ที่บ้าน โดยทำให้เรานิยามไว้ว่า แรงงานนอกระบบไม่ได้การคุ้มครองจากรัฐ และเข้าไม่ถึงประกันสังคม โดยอัตราใช้แรงงานเป็นคนประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น เช่น โรงงานที่อำเภอแม่สอด จ.ตาก แสดงถึงการย้ายแหล่งโรงงาน ซึ่งไม่ต้องรองรับสวัสดิการของคนงาน และผลกระทบที่เกิดกับผู้ใช้แรงงานก็แย่มาก ในคนทำงานทางด้านอิเลคทรอนิคส์ และพวกยานยนต์ ได้รับเงิน ค่าจ้างจริง เช่น ที่ได้รับเงินเดือนจริง 1 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ว่าเงินเดือนจากโอที คือ เพิ่มเงินเดือนเป็น 2-3 หมื่นบาท จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยนั้น มีชั่วโมงการทำงานมากที่สุดในเอเชีย หรือ ในโลกก็ว่าได้ ในขณะที่ประเทศตะวันตก ชั่วโมงการทำงานมีอยู่ไม่เกิน 1 พัน แปดชั่วโมงบวกโอที และบางที่คนงานประเทศไทยต้องทำงานแถมในวันอาทิตย์ ซึ่งอาจจะดูเหมือนไม่ถูกเร่งรัด ทำงานเป็นเครื่องจักร อยู่กับสายพาน แต่ว่าจริงๆ แล้ว ชั่วโมงการทำงาน คือ สี่โมงเช้าถึงสามทุ่มนั้น ถือว่าสูงกว่าจีน เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งมีกฎหมายใหม่ว่า การทำงานและการทำโอที ให้โรงงานต้องขออนุญาตจากรัฐ



ทั้งนี้ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ สรุปว่า “เราต้องชัดเจนเรื่องกรอบคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ ทั้งนี้ ไม่ว่าแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ เราทำรัฐสวัสดิการได้ ก็คือ การเก็บภาษีก้าวหน้า รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ” กล่าวทิ้งท้ายไว้








--------------------------------------------------------------------------------
โดย : ประชาไท วันที่ : 2/3/2552
http://www.prachatai.com/05web/th/home/15737

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ7 มีนาคม 2552 เวลา 07:31

    ขอบคุณมาก ๆ นะครับสำหรับข้อมูล

    ตอบลบ