วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

“ทัศนคติและบทบาทของทีมสหวิชาชีพต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว”

ผลวิจัยชี้ "ตำรวจไทย" เมินปัญหาครอบครัว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 กุมภาพันธ์ 2552 09:55 น.




งานวิจัย มสธ.ชี้ "ตำรวจ" เมินปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเห็นเป็นเรื่องส่วนตัวของผัวเมีย ดำเนินการแค่ตักเตือนผู้กระทำผิด ส่งผลให้ผู้ตกเป็นเหยื่อเสี่ยงอันตรายมากกว่าเดิม แนะใช้กฎหมายบังคับเพื่อลงโทษ อบรม เปลี่ยนนิสัยผู้ชายชอบทำร้ายผู้หญิง เตรียมส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงการทำงาน

รศ.บุญเสริม หุตะแพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “ทัศนคติและบทบาทของทีมสหวิชาชีพต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” เปิดเผยถึงผลการวิจัยว่า จากการศึกษาทีมสหวิชาชีพที่ประกอบด้วยกลุ่มแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กลุ่มตำรวจ ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ กลุ่มนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้นำชุมชนและกลุ่มครู พนักงานปกครอง สื่อ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยวิจัยเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถามในกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 796 คน และวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึกในกลุ่มตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวน ทั้งหญิง และชาย ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 18 คน ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวทั้งผู้ใหญ่และเด็ก 15 คน และทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาล 15 คน ระหว่างเดือนมิถุนายน 2551 – เมษายน 2552 พบว่า ทีมสหวิชาชีพบางกลุ่มยังไม่เข้าใจปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยยังเห็นว่า

- ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว
- ผู้หญิงเป็นต้นเหตุของปัญหา
- การเอาผิดกับผู้ชายที่ล่วงละเมิดทางเพศจะทำให้ครอบครัวของผู้ถูกกระทำเดือดร้อน





นอกจากนี้ ผู้ถูกกระทำมีความเห็นว่าตำรวจยังไม่ได้ให้การช่วยเหลืออย่างทันที ตลอดจนไม่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกระทำ มีทัศนคติเชิงลบต่อปัญหา และพนักงานสอบสวน ยังไม่นำพ.ร.บ.พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน

“พนักงานสอบสวนบางท่านมีการใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 โดยดำเนินการเรียกผู้กระทำมาตักเตือน และห้ามผู้ชายไม่ให้ทำร้ายผู้หญิงอีก แต่ผู้ถูกกระทำมีความเห็นว่าวิธีที่พนักงานสอบสวนใช้จัดการปัญหาความรุนแรง เป็นผลจาก การมีทัศนคติไม่ถูกต้องต่อปัญหา ยังคงเห็นว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างสามีภรรยา ผู้ถูกกระทำจึงต้องการให้มีการใช้กฎหมายบังคับเพื่อลงโทษ หรืออบรมเปลี่ยนนิสัยผู้ชายที่ทำร้ายผู้หญิง เพราะคิดว่าการไกล่เกลี่ยไม่ช่วยให้ปัญหายุติแต่จะยิ่งทำให้ผู้ถูกกระทำไม่ปลอดภัย” รศ.บุญเสริมกล่าว

อย่างไรก็ดี จากการวิจัยยังพบด้วยว่า ระบบการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทยมีความไม่คล่องตัวสูง ขาดการเชื่อมโยงสู่ระดับท้องถิ่น เนื่องจากแกนนำยังขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดทักษะการให้ความช่วยเหลือ ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย และบางแห่งยังไม่สนใจปัญหานี้

สำหรับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบ่อย การทำงานไม่ต่อเนื่อง ขาดหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ ระบบการบริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จยังมีปัญหา มีข้อจำกัดเรื่องการเบิกจ่ายค่าบริการช่วยเหลือ หลักการและแนวปฏิบัติของบางหน่วยงานยังไม่ชัดเจน และมีข้อจำกัดด้านบุคลากร คือ การผู้ปฏิบัติงานมีความเสี่ยงอันตราย มีบุคลากรไม่เพียงพอ ขาดบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะ บุคลากรยังขาดทักษะการทำงาน ทีมสหวิชาชีพขาดการบูรณาการ ยังต่างคนต่างทำ ขาดการสนับสนุนทรัพยากรที่ชัดเจน และหน่วยงานบางแห่งยังขาดความพร้อมในการบริการ

http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000022242

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น