วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

รู้จักจุลินทรีย์พันธุ์ไทย ลดปัญหาน้ำเสียจากครัวเรือน

รู้จักจุลินทรีย์พันธุ์ไทย ลดปัญหาน้ำเสียจากครัวเรือน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 กุมภาพันธ์ 2552 11:52 น.


การปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลองโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจคือตัวการสำคัญในการทำลายทรัพยากรน้ำของประเทศ


เผยโฉมหน้าจุลินทรีย์สัญชาติไทย เตรียมออกรับใช้ชุมชน หวังช่วยลดปัญหามลภาวะทางน้ำที่เกิดจากการปล่อยน้ำเสียของชาวบ้าน

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจแปลกใจ (อีกครั้ง) ว่าทำไมวันนี้หน้า Life & Family ถึงได้หยิบเรื่องของจุลินทรีย์มาบอกเล่าให้ทราบกัน เหตุผลที่เราต้องหยิบเรื่องของจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่มากด้วยคุณประโยชน์มานำเสนอเป็นเพราะหากเราใช้จุลินทรีย์ได้อย่างเหมาะสม ก็จะสามารถลดปัญหามลภาวะทางน้ำ ที่เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจ และการขาดความ "ตระหนัก" ่ต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมของผู้ใหญ่บางคนลงได้ อีกทั้งหากครอบครัวไทยมีแนวคิดเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่ควบคู่ ก็ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้กับเด็ก ๆ ในการช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่คู่กับโลกอย่างยั่งยืน รวมถึงทำให้พวกเขารู้จักเก็บรักษาสภาพแวดล้อมดี ๆ ไว้ให้กับคนรุ่นหลังอีกด้วย

ก่อนจะเข้าเรื่องจุลินทรีย์ หากลองจินตนาการถึงภาพน้ำทิ้งจากชุมชน อาจทำให้หลายคนนึกถึงความสกปรกของน้ำที่เต็มไปด้วยคราบไขมัน สิ่งปฏิกูล เศษอาหาร น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือผงซักฟอก แต่ด้วยความไม่รู้ การขาดระบบบริหารจัดการที่ดี หรือแม้กระทั่งการขาดจิตสำนึก ฯลฯ ก็ทำให้หลายคนพร้อมใจกันปล่อยน้ำทิ้งเหล่านั้นลงในแม่น้ำลำคลองโดยไม่ยี่หระต่อผลกระทบที่จะตามมา และในที่สุด เมืองเวนิชตะวันออกแห่งนี้ก็กลายเป็นแหล่งรวมของลำคลองที่น้ำเน่าเสีย ตื้นเขิน ไม่มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป ซึ่งหากให้ยกตัวอย่างลำคลองที่มีภาพดังกล่าวชัดเจนอาจต้องเอ่ยชื่อของ "คลองแสนแสบ" เป็นต้น



ดร.สนอง ทองปาน > หัวหน้าโครงการรักน้ำรักษ์คลองแสนแสบ สถาบันสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร


ด้านจุลินทรีย์ พระเอกของเราในวันนี้ ไม่เพียงเป็นอาวุธลับตัวจิ๋ว แต่ยังถูกพัฒนาสายพันธุ์มาอย่างทรหดอดทน เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในแหล่งน้ำเน่าเสียสไตล์ไทย ๆ ที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นเสียด้วย

ดร.สนอง ทองปาน หัวหน้าโครงการรักน้ำรักษ์คลองแสนแสบ สถาบันสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) พร้อมทีมงาน ผู้พัฒนาจุลินทรีย์สัญชาติไทยที่ทนทานต่อมลภาวะทางน้ำสไตล์ไทย ๆ เปิดเผยว่า

"ปัญหาน้ำเน่าเสียที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบเกิดจาก เขาไม่มีระบบบำบัด พอมีน้ำเสียเขาก็ปล่อยลงสู่คลองเลย ทำเช่นนี้นานไปคลองก็เน่า พอเน่าก็ส่งผลกระทบกลับมาหาชาวบ้านในที่สุด ซึ่งทางแก้ไขคือต้องมีการให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้าน ตอนนี้ก็มีการเอาเด็กเล็ก ๆ ชั้น ป. 5 - 6 ในแถบนี้มาเรียนกับเราช่วงซัมเมอร์ หรือปิดเทอมเเดือนตุลาคม และให้ทำกิจกรรมร่วมกับรุ่นพี่ของมหาวิทยาลัย ก็คาดว่าปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองนี้น่าจะดีขึ้น"

"ส่วนเรื่องของการพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ เรามีการคัดจุลินทรีย์ที่แข็งแรงมาเพาะเลี้ยงไว้ แล้วก็ค่อย ๆ เติมสารที่เป็นอันตรายต่อจุลินทรีย์ เช่น สารเคมีที่เป็นส่วนผสมในน้ำยาล้างห้องน้ำ ฯลฯ ลงไปทีละน้อย ตัวไหนรอดก็เลี้ยงต่อ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เราก็จะได้จุลินทรีย์ที่แข็งแรงมากขึ้น มีโอกาสอยู่รอดได้ในน้ำเน่าเสียมากขึ้น จากนั้นเมื่อมันมีความทนทาน แข็งแรงมากพอเราก็เอามาใช้ย่อยสลายสารอินทรีย์ในลำน้ำได้ และจุลินทรีย์เหล่านี้ก็ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม"

ทั้งนี้ ดร.สนอง ได้พัฒนาจุลินทรีย์ไว้ 2 ชนิด ได้แก่ แบบน้ำ และแบบเม็ด ซึ่งแบบน้ำใช้เติมลงในน้ำเน่าเสียตามปกติ ส่วนแบบเม็ดเมื่อใส่ลงไปในน้ำแล้ว จะฝังลงไปในดิน และละลายออกโดยแตกเป็นสปอร์ กระจายไปทั่วลำคลอง



น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว


"ดินใต้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณคลองแสนแสบข้างมหาวิทยาลัยฯ นี้ เน่ามาก ถ้าเราใส่จุลินทรีย์พวกนี้ลงไป มันก็จะไปทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ต่าง ๆ ให้พื้นน้ำด้านล่างสะอาดมากขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย หรือกลิ่นเหม็นที่รบกวนชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง"

พร้อมกันนี้ ทีมของ ดร.สนองยังได้พัฒนาถังดักไขมันขนาด 60 ลิตร ที่มาพร้อมระบบบำบัด โดยอยู่ระหว่างการผลิตเพื่อแจกชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงด้วย เพื่อหวังว่าถังบำบัดดังกล่าวจะช่วยดักไขมัน เศษอาหารต่าง ๆ ที่มาจากครัวเรือนเอาไว้ก่อนที่จะส่งจุลินทรีย์ที่พัฒนาขึ้นนั้นเข้าไปจัดการย่อยสลาย

"จุลินทรีย์ที่ดี จะย่อยสลายสารอินทรีย์ออกมาเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งไม่มีกลิ่นเหม็นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของชาวบ้าน น้ำที่ออกมาจากระบบบำบัดจะมีความใส และสะอาดมากพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้อีกมาก เช่น ไปใช้รดน้ำต้นไม้" พร้อมได้พาชมระบบบำบัดน้ำเสียของทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่มีการทดลองใช้จุลินทรีย์ดังกล่าวแล้วด้วย

สำหรับท่านผู้อ่านท่านใดที่สนใจจุลินทรีย์สัญชาติไทยตัวนี้ ทางดร.สนองระบุว่า สามารถแจกให้กับผู้ที่สนใจได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย หมายเลข 089-203-2973

ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมในเมืองใหญ่ให้สะอาดมากขึ้น แต่ยังทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่เหมาะสมต่อการใช้งานขึ้นเป็นของตนเองอีกด้วยค่ะ
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000022596

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น