วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

แพทย์จุฬาฯ เตือนใช้ยา"สเตียรอยด์" ลดอาการบวมในผู้ป่วยถูกงูกัด อาจส่งผลข้างเคียง

แพทย์จุฬาฯ เตือนใช้ยา"สเตียรอยด์" ลดอาการบวมในผู้ป่วยถูกงูกัด อาจส่งผลข้างเคียง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 กุมภาพันธ์ 2552 12:41 น.



คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น

รศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร หน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านงูพิษและงูพิษกัด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ




แพทย์จุฬาฯ ทำการศึกษายาเพรดนิโซโลน ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม"สเตียรอยด์" ซึ่งมีสรรพคุณลดอาการบวมในเด็กที่ถูกงูเขียวหางไหม้กัด จากการวิจัยพบว่า ยาเพรดนิโซโลน กล่าวไม่สามารถช่วยให้อาการบวมหายเร็วขึ้น และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้

รศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร หน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านงูพิษและงูพิษกัด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งศึกษาวิจัยเรื่อง “บทบาทของการใช้ยาเพรดนิโซโลน เพื่อลดอาการบวมในเด็กที่ถูกงูเขียวหางไหม้กัด" เปิดเผยถึงอาการของผู้ที่ถูกงูเขียวหางไหม้

“ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณที่ถูกกัดอย่างรุนแรงเป็นเวลาหลายชั่วโมง แผลจะมีรอยเขี้ยวเป็นจุด 2 จุด และจะมีอาการบวมมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะ 1-2 วันแรก พิษจะส่งผลให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ซึ่งหากได้รับพิษมากต้องได้รับการฉีดเซรุ่มแก้พิษงูเขียวหางไหม้ เพื่อให้เลือดแข็งตัวได้ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะมีโอกาสทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้ เมื่อได้รับเซรุ่ม อาการจะหายเป็นปกติในเวลา 5-6 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่ได้รับพิษน้อยแม้จะไม่จำเป็นต้องใช้เซรุ่มแก้พิษงู แต่ก็จะมีอาการบวมมาก เช่น หากโดนกัดที่นิ้วมือก็อาจจะบวมไปทั้งมือและแขนได้”

ทั้งนี้ในปัจจุบันการถูกงูเขียวหางไหม้กัด ยังไม่สามารถหาวิธีการรักษาได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของงานวิจัยเพื่อหาวิธีการรักษาอาการบวมให้หายเร็วขึ้น จึงได้มีการทดลอง “ยาสเตียรอยด์ ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบและอาการบวมของผู้ป่วยในหลายๆ โรคได้เป้นอย่างดี จะสามารถใช้ได้ผลกับผู้ที่ถูกงูเขียวหางไหม้กัด

รศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวต่อว่า การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 3- 15 ปี ซึ่งถูกงูเขียวหางไหม้กัด และมารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากถูกงูกัดจำนวน 50 ราย

“การได้ทำการศึกษาและให้กลุ่มหนึ่งกินยาเพรดนิโซโลน ซึ่งเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ในขนาด 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน และอีกหนึ่งกลุ่มหนึ่งได้ยาหลอกเป็นเวลา 3 วัน โดยไม่มีการฉีดเซรุ่มแก้พิษงูหรือให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยมีการวัดความบวมด้วยการวัดเส้นรอบวงของแขนหรือขาตรงตำแหน่งที่ถูกกัดก่อนให้ยาครั้งแรก และวัดครั้งต่อไปวันละครั้งระหว่างให้ยา”

จากการศึกษาดังกล่าว ปฏิบัติการวิจัยด้านงูพิษและงูพิษกัด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จุฬาฯ พบว่า อาการบวมของเด็กที่ได้รับยาจริงและเด็กที่ได้รับยาหลอกลดลงพอๆ กัน ไม่มีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายความว่า ยาสเตียรอยด์ไม่สามารถช่วยให้อาการบวมหายเร็วขึ้นได้ ส่วนการรักษาแผลตามปกติสามารถทำให้อาการบวมลดลงอย่างชัดเจน ภายใน 72 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องให้ยาที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเพิ่มเติม

รศ.นพ.อิศรางค์ ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ถูกงูกัดว่า ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นไม่ควรนำเชือดมารัดและขันชะเนาะ เพราะจะทำให้เสียเวลาในการนำผู้ที่ถูกงูกัดส่งโรงพยาบาล

“ถือว่าเป็นการยากที่จะบอกว่า ต้องนำเชือดมารัดและขันชะเนาะเท่าใดจึงจะเหมาะสม ซึ่งหากรัดแน่นและนานเกินไปก็อาจจะทำให้อวัยวะส่วนนั้นขาดเลือดจนต้องถูกตัดทิ้ง ทั้งที่งูอาจกัดไม่ปล่อยพิษก็ได้ จึงควรรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หรือหากเป็นมากก็อาจจะหาวัสดุมาดามและพันไว้ เพื่อให้อวัยวะส่วนที่ถูกกัดอยู่นิ่งๆ ก่อนนำส่งโรงพยาบาล

ส่วนวิธีการรักษา หากสามารถจดจำลักษณะของงูหรือจับงูมาได้ก็จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น การให้เซรุ่มแก้พิษงูจะต้องตรวจสอบก่อนว่า ได้รับพิษมากพอหรือไม่ หากไม่ได้รับพิษหรือได้รับพิษน้อยใช้วีการเฝ้าดูอาการและระวังไม่ให้แผลติดเชื้อเท่านั้น เพราะเซรุ่มอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่นทำให้เป็นหอบหืด ฯลฯ ทั้งนี้เซรุ่มแก้พิษงูของประเทศไทยจะผลิตโดยสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นเซรุ่มที่ประสิทธิภาพดีมาก มีมาตรฐานการผลิตสูง และได้รับการยอมรับจากทั่วโลก"
http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000022690

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น