วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

ยับยั้งเชื้อราในพืช ด้วย "จุลินทรีย์จากขยะ" ผลงานวิจัยจากมข.

ยับยั้งเชื้อราในพืช ด้วย "จุลินทรีย์จากขยะ" ผลงานวิจัยจากมข.

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 กุมภาพันธ์ 2552 13:20 น.










คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น

ผศ.ประสาท โพธิ์นิ่มแดง อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มข. ผู้ค้นพบจุลินทรีย์จากขยะ








มข.ค้นพบจุลินทรีย์จากขยะ ระบุออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อราในโรคพืช ต้นทุนถูกกว่าสารเคมี ซ้ำไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อนาคตพัฒนาต่อในรูปแบบเกษตรกรนำไปใช้ง่าย

จากปัญหาเชื้อราก่อให้เกิดโรคในพืช และทำให้เกษตรกรต้องไปซื้อสารเคมีหรือยาปราบศัตรูพืชมาใช้ในการทำลายเชื้อราดังกล่าว ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้น ทั้งสารเคมียังมีสารตกค้างทำลายสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมทำให้นักวิจัยมีแนวความคิดที่จะหาสารชีวภาพซึ่งสามารถออกฤทธิ์ไม่ให้เชื้อราอันก่อให้เกิดโรคพืชเจริญเติบโตได้และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้ทดแทนกัน

ผศ.ประสาท โพธิ์นิ่มแดง อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงความเป็นมาในการค้นพบจุลินทรีย์จากขยะซึ่งมีศักยภาพในยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในโรคพืช

"Bacillus Subtilis เป็นเชื้อจุลินทรีย์ตัวแรกที่ค้นพบจากขยะโดยมีมากในขยะอินทรีย์สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Fusarium oxysporum ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศ โดยกระบวนการทดลองในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ได้นำขยะมาคัดเลือกเพื่อแยกเศษพลาสติกออก เอาเฉพาะขยะสีเขียว โดยนำตัวอย่างขยะมาประมาณ 10 กรัม ทำการแขวนลอยในสารละลายบัพเฟอร์ปริมาตร 90 มิลลิลิตร เขย่าให้เข้ากัน และนำมาทำการเพิ่มจำนวนในอาหารเลี้ยงเชื้อ จากนั้นนำเชื้อไปทาบนผิวหน้าอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดแข็งด้วยแท่งแก้วงอ เพื่อให้ได้กลุ่มของเชื้อแบคทีเรีย และนำไปทดสอบการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศ ที่มีชื่อว่า Fusarium oxysporum ที่มักระบาดในต้นมะเขือเทศที่ปลูกใหม่"

ผศ.ประสาทกล่าวต่อว่า ผลการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการได้ผลประมาณ 80 % ในการป้องกันโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศ "ภายหลังศึกษาเพิ่มเติม พบจุลินทรีย์อีกหนึ่งชนิดที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและต้นทุนในการเลี้ยงเชื้อถูกกว่า Bacillus Subtilis โดยสามารถออกฤทธิ์ในการยับยั้งไม่ให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดีกว่า รวมทั้งป้องกันการเกิดโรคในพืชได้มากกว่าเดิม นอกจากยับยั้งการเจริญเติบโตเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคเหี่ยวในมะเขือเทศได้แล้วยังสามารถยับยั้งเชื้อรา Collectoticum ที่ก่อให้เกิดโรคกุ้งแห้งในพริกได้ 100 % อีกด้วย โดยโรคกุ้งแห้งในพริกนี้จะส่งผลให้พริกเหี่ยวงอเหมือนตัวกุ้ง สีดำ ต้องเด็ดทิ้งไม่สามารถนำออกขายได้"

“สำหรับจุลินทรีย์ตัวใหม่ที่ค้นพบนั้น จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการคาดว่าน่าจะเป็น Actinomyces ซึ่งจะได้ทำการศึกษาในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันชนิดของจุลินทรีย์ที่ค้นพบต่อไป พร้อมทั้งนำไปขยายผลการทดลองในแปลงทดสอบด้วย จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ จุลินทรีย์ตัวใหม่นี้ใช้น้ำแป้งข้าวเจ้าและแป้งมันสำปะหลังเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อ ดังนั้น น้ำทิ้งจากโรงงงานผลิตเส้นขนมจีน หรือ น้ำทิ้งจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง ก็สามารถนำมาเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ตัวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์จากของเสียได้อีกทางหนึ่ง” ผศ.ประสาทกล่าว

สำหรับการพัฒนางานวิจัยในขั้นต่อไป นักวิจัยจะผลิตสารสกัดจากเชื้อจุลลินทรีย์ที่คัดแยกจากขยะหรือของเสีย ในรูปแบบผงแห้งและชนิดน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้โดยสะดวก ซึ่งจะช่วยให้เกษตรประหยัดต้นทุนลงได้ เกษตรกรรายใดสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ประสาท โพธิ์นิ่มแดง อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร.043-362006 หรือ 089-4222207

http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000020549

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น