วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

“จรัล”ค้านยา-เวชภัณฑ์พ้นผิดพ.ร.บ.สินค้าห่วย

“จรัล”ค้านยา-เวชภัณฑ์พ้นผิดพ.ร.บ.สินค้าห่วย

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 2 มีนาคม 2552 01:52 น.


ASTVผู้จัดการรายวัน - “จรัล”ค้านออกฎกระทรวงให้ยา เครื่องมือแพทย์เป็นสินค้าปลอดภัย แจงเจตนารมณ์พ.ร.บ.ความรับผิดฯ ไม่เกี่ยวผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอยู่แล้ว ชี้ไม่ต้องรับผิด ไม่จำเป็นออกกฎกระทรวงยกเว้น เตือนรัฐบาลพิจารณาให้ดี ด้าน “อภิสิทธิ์” นัดถกเครือข่ายผู้บริโภควันนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล ขณะที่องค์การเภสัชกรรมเตรียมจ่ายค่าชดเชยใช้สิทธิ์ยาซีแอล 3 รายการ กว่า 1 ล้านบาท ส่งหนังสือแจ้งบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรแล้ว ระบุหาก 2 เดือน ไม่ตอบกลับ พร้อมนำเช็คไปให้ที่กรมทรัพย์สินฯ

นายจรัล ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมผลักดัน พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการออกกฎกระทรวงยกเว้นสินค้าใดๆ ก็ตาม เพราะแท้จริงแล้วกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นสินค้าที่เป็นตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งไม่ว่ายา เครื่องมือแพทย์ สารเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ก็ล้วนอยู่ภายใต้กฎหมายนี้เช่นกัน แต่ไม่รวมถึงบริการ ดังนั้น การประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ ทันตแพทย์ หรือพยาบาล เภสัชกร ฯลฯ ที่ให้บริการก็ไม่อยู่ในขอบเขตที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายนี้

“กฎหมายนี้จะดำเนินการเอาผิดกับผู้ผลิตและนำเข้าสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่างๆ เพื่อต้องการให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้ดียิ่งขึ้น ส่วนการนิยามศัพท์ในเรื่องของการผลิต ที่นิยามกว้างจนรวมไปถึง แยก บรรจุ ฯลฯ ทำให้กลุ่มวิชาชีพมีความเป็นห่วงนั้น ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้จะเน้นให้ผู้ผลิตรับผิดชอบ ไม่ได้หมายความถึงว่า บุคลากรวิชาชีพต้องรับผิด อาทิ แพทย์โรงพยาบาลรัฐจ่ายยาที่ซื้อมาเป็นจำนวนมากเพราะมีราคาถูก มาแบ่งซองจ่ายให้คนไข้ หรือพยาบาลที่ต้องนำมาปรุงยาหลายขนาดเพื่อฉีดให้คนไข้นั้น ก็ไม่ได้รวมในกฎหมายนี้ด้วย”นายจรัล กล่าว

นายจรัล กล่าวต่อว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะในหลายประเทศได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งก็ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะมีการยกเว้นสินค้าใดๆ และท้ายสุดหากมีการออกกฎกระทรวงยกเว้นสินค้าใด ประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่ประชาชน หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่เป็นบริษัทผู้ผลิตยา เครื่องมือแพทย์ สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และสารเสพติด ที่ไม่ต้องรับผิดชอบ หรือคุ้มครองผู้บริโภคเลย และผู้บริโภคจะสูญเสียความคุ้มครองไป

“ผมเชื่อว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ คงไม่มีคดีใดจะฟ้องร้องเอาผิดกับแพทย์ที่จ่ายยาที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน แต่คงไปเอาผิดกับบริษัทยาที่ผลิตยาไม่ได้มาตรฐานมากกว่า ทั้งนี้หากเป็นการสั่งยาผิดประเภทในการรักษาก็คงเป็นกฎหมายฉบับอื่น เช่น พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด ทั้งนี้กรณีการออกกฎกระทรวงยกเว้นให้กับสินค้าที่เป็นภาคเกษตรกรรมบางประเภท ก็อาจจำเป็นได้รับความคุ้มครอง แต่ไม่ใช่สินค้า 4 ชนิดเช่นนี้”นายจรัล กล่าว

นายจรัล กล่าวด้วยว่า หากเกิดความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวก็จำเป็นต้องมาหารือกันว่า ความสมดุลของความคุ้มครองประชาชนกับผู้ประกอบวิชาชีอยู่ที่จุดใด เพราะหากมองเพียงด้านใดด้านหนึ่งก็ไม่ได้ หากมองแต่ภาคประชาชนด้านเดียว ภาคผู้ประกอบวิชาชีพก็จะลำบาก แต่ถ้ามองผู้ประกอบวิชาชีพมากไปก็จะเป็นการทอดทิ้งประชาชนคนไทยกว่า 60 กว่าล้านคนทั่วประเทศ

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก ดังนั้น หากมีความจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงยกเว้นจริงๆ จะต้องกลั่นกรองและรับฟังความเห็นข้อมูลจากหลายฝ่ายให้รอบครอบก่อนดำเนินการใดๆ ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ควรเร่งรีบที่จะดำเนินการยกเว้นสินค้าใดๆ ตามกฎหมายนี้ เพราะยิ่งจะสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น และยิ่งไม่เป็นผลดีต่อทัศนคติของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบวิชาชีพเพิ่มมากขึ้นด้วย”นายจรัล กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 2 มีนาคม เวลา 13.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เชิญ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมด้วยเครือข่ายผู้บริโภค และผู้ประกอบวิชาชีพ รวมถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือรายละเอียดในการออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล

ด้านภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการประกาศบังคับใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตร(ซีแอล) ว่า ขณะนี้ อภ. ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรยาที่ไทยได้ประกาศซีแอล จำนวน 3 บริษัท คือ 1.บริษัท เมิร์ค ชาร์ป แอนด์ โดม จำกัด ผู้ผลิตยาต้านไวรัส เอชไอวี “เอฟฟาไวเรนซ์” (Efavirenz) 2.บริษัท แอ็บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี “โลพินาเวียร์+ริโทนาเวียร์” (Lopinavir + Ritonavir) และ 3.บริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตยาสลายลิ่มเลือดหัวใจ “โคลพิโดเกรล” (Clopidogrel) เพื่อแจ้งให้ทราบว่าอภ. จะดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิให้กับเจ้าของสิทธิบัตรยา ในอัตรา ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการจำหน่ายยา

“ทั้งนี้ จะขอให้บริษัทยาแจ้งรายละเอียดกลับมาว่า อภ. จะต้องชำระเงินวิธีใด และอย่างไร โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อภ. สามารถจำหน่ายยาทั้ง 3 รายการดังกล่าว เป็นเงิน มูลค่า 217 ล้านบาท ในจำนวนนี้อภ.จะต้องค่าเป็นค่าชดเชย 1,085,000 บาท”ภญ.พิศมร กล่าว

ภญ.พิศมร กล่าวต่อว่า เนื่องจาก อภ.ได้จำหน่ายยาที่ประกาศซีแอลมาเกือบ 2 ปีแล้ว ซึ่งตามกระบวนการจะต้องมีการจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิดังกล่าว ที่ผ่านมา อภ. พยายามติดต่อไปยังบริษัทยาทั้ง 3 แห่ง แต่ไม่ได้รับความสนใจ จึงทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามที่ปรึกษากฎหมาย ได้มีมติให้ อภ. เร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมให้คำแนะนำว่า หากยังไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัทยาอีกภายในเวลาไม่เกิน 2 เดือน อภ. จะทำหนังสือแจ้งไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ให้รับทราบปัญหา และจะนำเงินค่าชดเชยดังกล่าวไปมอบให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด และถือว่า อภ. ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการแล้ว

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000023471

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น