วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

พบยีนมรณะ ตัวการทำเซลล์มะเร็งลุกลาม-ดื้อยา

พบยีนมรณะ ตัวการทำเซลล์มะเร็งลุกลาม-ดื้อยา

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 มกราคม 2552 11:41 น.


นักวิจัยรู้ยีนที่เป็นต้นเหตุให้มะเร็งเต้านมลุกลามและดื้อต่อเคมีบำบัด ซึ่งช่วยให้นักวิจัยไปถูกทางยิ่งขึ้นในการคิดค้นยารักษาผู้ป่วยมะเร็ง (ภาพจาก media.mcclatchydc.com)


นักวิทย์สหรัฐฯ พบยีนตัวการทำมะเร็งเต้านมแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น เผยมีอยู่ในทุกเซลล์ทั่วร่างกาย แต่พบในเซลล์มะเร็งเต้านมมียีนนี้มากผิดปรกติถึง 8 สำเนา ซ้ำยังทำให้เซลล์เนื้อร้ายดื้อยา ยิ่งทำให้ผู้ป่วยทรุด แต่นักวิจัยเห็นความหวังพัฒนายายับยั้งยีนเดียวได้สองเด้ง มะเร็งหยุดลุกลามและตอบสนองยาดีขึ้น

ทีมวิจัยของ ดร.ไมเคิล ไรสส์ (Dr. Michael Reiss) สถาบันมะเร็งแห่งนิวเจอร์ซีย์ (The Cancer Institute of New Jersey) เมืองนิวบรันสวิก (New Brunswick) มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริการ ค้นพบยีนผิดปรกติในมะเร็งเต้านม ที่เป็นสาเหตุให้มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นได้ และยังทำให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดไม่ได้ผล ซึ่งรอยเตอร์ระบุว่าผลการวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร แคนเซอร์ เซลล์ (Cancer Cell)

"ไม่เพียงแต่แยกแยะยีนตัวการแพร่กระจายของเนื้อร้ายได้เท่านั้น แต่ยังรู้วิธีการทำงานของมันด้วย ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ยีนที่เกี่ยวกับมะเร็งที่เรารู้แน่ชัด และมันจะช่วยให้เราพัฒนายาที่หยุดยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น" ดร.ไรสส์ กล่าว

ทั้งนี้การยับยังไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจาก 98% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มักมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 5 ปี และผู้ป่วยจำนวน 27% พบว่ามีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่น

จากการศึกษาฐานข้อมูลยีนของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม นักวิจัยพบว่าบริเวณส่วนเล็กๆ ในโครโมโซมคู่ที่ 8 มียีนบางยีนซ้ำๆกันมากในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ขณะที่ในลำดับดีเอ็นเอโดยปรกติแล้วจะมียีนที่มีสำเนายีนเพียง 2 สำเนาเท่านั้น แต่กลับพบยีนดังกล่าวมากถึง 8 สำเนาในเซลล์มะเร็งเต้านม

เมื่อนักวิจัยเก็บตัวอย่างเซลล์มะเร็งเต้านมจากผู้ป่วยจำนวน 250 ราย มาตรวจวิเคราะห์ ก็พบว่ามียีนเอ็มทีดีเอช (MTDH) ที่แสดงออกมากเกินปรกติอยู่ในเนื้อร้ายดังกล่าว

"ยีนเอ็มทีดีเอชนี้มีอยู่ในทุกๆ เซลล์ของร่างกายเรา ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตามที่เซลล์มะเร็งต้องเพิ่มจำนวนยีนนี้ให้มากเป็นพิเศษเพื่อการแสดงออกมากๆ ซึ่งเราพบถึง 30-40% ของเนื้อร้ายที่มีการแสดงออกของยีนดังกล่าวมากเกินไป" คำอธิบายของ คังอี้ปิน (Kang Yibin) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ซึ่งร่วมในงานวิจัยนี้ด้วย

จากนั้นนักวิจัยได้ทดลองฉีดเซลล์มะเร็งจากผู้ป่วย ที่มีความผิดปรกติของยีนเอ็มทีดีเอชให้หนูทดลอง พบว่าเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นในหนูทดลองมีแนวโน้มสูงที่จะแพร่กระจายไปมากกว่าเดิม และยังต้านยาเคมีบำบัดที่ใช้กันโดยทั่วไปด้วย แต่เมื่อนักวิจัยทำการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งโดยการไปยับยั้งการแสดงออกของยีนเอ็มทีดีเอช ผลปรากฏว่าศักยภาพการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งลดลง และไวต่อยาเคมีบำบัดมากขึ้น

"ถ้าเรามียายับยังยีนดังกล่าวได้ ก็เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากจะช่วยยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายมากขึ้นแล้วยังช่วยให้ตอบสนองต่อการรักษาดียิ่งขึ้นด้วย" คังอี้ปิน กล่าวพร้อมตั้งข้อสันนิษฐานต่อไปว่ายีนเอ็มทีดีเอชนี้อาจจะมีบทบาทสำคัญกับมะเร็งชนิดอื่นอีกก็ได้ เพราะมีแนวโน้มว่ามันจะเป็นยีนที่มีอิทธิพลไปทั่ว
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000000911

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น