วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

รำลึก 4 ปีที่จากไป กนกพงศ์ สงสมพันธุ์


วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 19 ฉบับที่ 7031 ข่าวสดรายวัน


รำลึก 4 ปีที่จากไป กนกพงศ์ สงสมพันธุ์


วิภาวี จุฬามณี




"...ชีวิตคือสิ่งมหัศจรรย์ และเราหาได้ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล ทั้งเราไม่ได้ตายไปพร้อมความว่างเปล่า...ศรัทธาต่อการเขียน ชักนำไปสู่ศรัทธาต่อชีวิต และเพราะมีศรัทธาต่อชีวิตนั่นเอง ทำให้เราเขียน..."

เย็นย่ำ ในแกลเลอรี่ขนาดเล็ก ย่านแพร่งภูธร กลางกรุง บรรดาคนใกล้ชิดและแฟนหนังสือของนักเขียนหนุ่มแห่งหุบเขาฝนโปรยไพร รวมตัวกันในงาน "รำลึก กนกพงศ์ สงสมพันธุ์" ที่วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนหนุ่มอีกคนเป็นหัวเรือใหญ่จัดขึ้น เพื่อรำลึก 4 ปีแห่งการจากไปของนักเขียนซีไรต์ปี 2539 เจ้าของประโยคที่ยกมากล่าวในข้างต้น

ในงาน นอกจากข้าวของเครื่องใช้และผลงานรวมเล่มของกนกพงศ์แล้ว อัลบั้มรูปภาพท้องฟ้าที่กนกพงศ์ถ่ายและเก็บรวบรวมไว้กว่า 100 ภาพ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชวนให้นึกถึงนักเขียนหนุ่มผู้นี้

ว่ากันว่า กนกพงศ์มักจะถ่ายรูปท้องฟ้าเก็บไว้เสมอๆ กล้องฟิล์มตัวโปรด ติดเลนส์ขนาด 28 ม.ม. เขาใช้มันบันทึกฟากฟ้าที่เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปในแต่ละวัน หลายรูปถ่ายในที่เดิม จากมุมเดิมซ้ำๆ เพียงแต่ต่างวันและเวลา ท้องฟ้าที่มองเมื่อไหร่ก็คือท้องฟ้า กนกพงศ์อาจเห็นรายละเอียดบางอย่างที่อยู่ในความธรรมดาสามัญนั้น

กับงานเขียนก็เช่นกัน เขาได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่เก็บรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยมหมดจดที่สุดคนหนึ่ง อาจารย์สกุล บุณยทัต นักเขียน นักวิจารณ์วรรณกรรม และอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้รับเชิญมาร่วมวิเคราะห์งานเขียนของกนกพงศ์ในงานนี้ พูดถึงงานของกนกพงศ์ว่า เป็นงานในเชิงรายละเอียด ที่ให้ความสำคัญกับทุกมิติของสิ่งที่กำลังกล่าวถึง



"ถ้าเป็นการทำหนัง กนกพงศ์ใช้ภาพเยอะมาก ใช้ฟิล์มถ่ายเยอะมาก เปลี่ยนมุมกล้องมากที่สุด แม้ว่างานของเขาจะดูเนิบช้า แต่มีการเปลี่ยนมุมกล้อง งานของเขาจะเหมือนหนังยุโรป หนังทดลอง การเขียนงานในลักษณะอย่างนี้เขามีภาพพจน์ในใจของเขาในเชิงรายละเอียด ไม่ได้เขียนออกมาลอยๆ ไม่ได้เขียนสักแต่ว่าเรามีพล็อตแบบนี้ เรามีโครงเรื่องแบบนี้ก็จะเขียน คิดฉาก คิดตัวละครได้ก็จะเขียน แต่มันคือการมองเห็นภาพในใจของตัวเอง แล้วเอาออกมาให้เห็น"

อาจารย์สกุลเล่าต่อว่า รู้จักกนกพงศ์ครั้งแรกเมื่อครั้งที่กนกพงศ์ยังเขียนหนังสือให้กับนิตยสารอิม เมจ และรู้จักกันมากขึ้นเมื่อทั้งคู่ได้รับรางวัลเรื่องสั้นช่อการะเกดในปีเดียว กัน

"กนกพงศ์เป็นคนที่ถ่อม สุภาพเสมอ ในทรรศนะของผม เขามักเอ่ยถึงพี่ๆ ด้วยความรู้สึกรักและศรัทธา คนหนึ่งนั้นคือ สุริยฉัตร ชัยมงคล สังเกตว่าภาษาของกนกพงศ์จะเป็นภาษากวี เป็นภาษาที่งดงามอย่างยิ่ง อย่างที่สุริยฉัตรใช้ ไม่ได้หมายความว่ากนกพงศ์จะไปเลียนแบบอะไร แต่อิทธิพลความซึมซับในแง่มุมของความรู้สึกนั้นมันถ่ายทอดถึงกันได้" อาจารย์สกุลวิเคราะห์

นักเขียนหนุ่มจากด้ามขวานผู้นี้ เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2509 ที่ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นลูกคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 7 คน เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ยังเป็นเด็กชาย ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกคือบทกวี "ความจริงที่เป็นไป" พิมพ์ใน "สยามใหม่" ตั้งแต่ปีพ.ศ.2523



ผลงานรวมเล่มครั้งแรกคือกวีนิพนธ์ "ป่าน้ำค้าง" ตีพิมพ์ในปีพ.ศ.2532 และถัดมาอีก 2 ปี รวมเรื่องสั้นชุด "สะพานขาด" และ "คนใบเลี้ยงเดี่ยว" ก็ทยอยปรากฏสู่สายตาของนักอ่าน

ปีทองของกนกพงศ์ เมื่อพ.ศ.2539 หลังได้รับ "รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน" หรือ "ซีไรต์" จากผลงานรวมเรื่องสั้นอันทรงพลัง "แผ่นดินอื่น"

"ปีนั้นเป็นปีที่คนรุ่นผมมีความรู้สึกว่า งานที่เรารอคอย ที่หายไปหลายปี มันกลับมา หลังจากที่เราเคยอ่าน ตลิ่งสูงซุงหนัก ของนิคม รายยวา เราอ่าน ลูกพ่อคนหนึ่ง (ถากไม้เหมือนหมาเลีย) ของวัฒน์ วรรลยางกูร แล้วก็มาถึงงานของกนกพงศ์ คือแผ่นดินอื่น"

"ผมก็บอกว่า งานชิ้นนี้แหละเป็นงานที่บ่งบอกได้ชัดเจนที่สุดแล้ว เป็นงานในเชิงศรัทธาที่พูดถึงโลก ที่ในตอนนั้นคนไม่พยายามจะพูดถึงด้วยซ้ำไป เป็นการพูดถึงศรัทธาที่ถูกทำลายไปด้วยหายนะของความรู้สึกของมนุษย์ในยุค ปัจจุบัน พูดถึงแผ่นดินที่มันกลายเป็นอื่น พูดถึงศรัทธาที่มันกลายเป็นอื่น เราไม่เคยคิดถึงศรัทธา แต่เราคิดถึงแต่ภาวะที่จะทำให้เราสะดวกสบายเท่านั้น" อาจารย์สกุลวิจารณ์ ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ในปีนั้น

ในทรรศนะของอาจารย์สกุล มองว่างานเขียนของกนกพงศ์สะท้อนให้เห็นลักษณะที่เด่นชัด 3 ประการ คือ "การเติบใหญ่ของภูมิปัญญา" กนกพงศ์พยายามที่จะตอบโจทย์อะไรบางอย่างที่เป็นปัญหาสังคมในสมัยนั้น "Building a character" ตัวละครทุกตัวที่เขาสร้างขึ้นล้วนมีบุคลิกเฉพาะ และบุคลิกนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ยังก่อร่างขึ้นเป็นบุคลิกของเรื่องด้วย

ที่สำคัญคือ งานของกนกพงศ์สร้าง "ความเติบโตทางจิตวิญญาณ" นั่นคือ เป็นงานที่เขียนออกมาจากใจ จากจิตวิญญาณ อย่างที่อาจารย์สกุลให้ความหมายไว้ว่า "เป็นงานที่เอาใจไปจ่อใจ และสร้างความจับใจกับวิถีชีวิตที่ลึกซึ้ง"

"สิ่งหนึ่งที่กนกพงศ์เขียนถึงอยู่เสมอก็คือว่า การที่เราต่ำต้อยอย่างไรก็ตามแต่ ภาวะที่เราตกต่ำอย่างไรก็ตามแต่ เราต้องเป็นซูเปอร์แมนให้ได้ เป็นคนที่อยู่เหนือคน อยู่เหนือภาวะของความจน ภาวะของการตีบตันในชีวิต งานของเขาแต่ละชิ้นไม่ว่าจะอยู่ในภาวะที่ตีบตันมืดมนขนาดไหน เขาก็จะแสดงให้เห็นว่าตัวละครเหล่านั้นไม่มีทางแพ้ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่า เขาแพ้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาจะอยู่อย่างไร นี่คือความงดงามที่เขามองโลก และเป็นการให้โอกาสของมนุษย์ว่า ความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ"

แผ่นดินนี้ในวันนี้อาจไม่มีกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ อีกต่อไป แต่แผ่นดินนี้ในวันหน้า เชื่อแน่ว่า ชื่อและผลงานของเขาจะยังไม่เลือนหายไปไหน


หน้า 5
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNakk0TURJMU13PT0=&sectionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBeE1DMHdNaTB5T0E9PQ==

--
โปรดอ่าน blog
www.pridiinstitute.com
www.nakkhaothai.com
www.pcpthai.org
http://wdpress.blog.co.uk
http://rsm2009-rsm2009.blogspot.com
http://twitter.com/sweetblog
http://twitter.com/oknewsblog
http://twitter.com/okblogger
http://twitter.com/sat191
http://www.pacc.go.th/
http://twitter.com/okblogchan
http://twitter.com/sun1951
http://twitter.com/smeblogger
http://twitter.com/seminarblog
http://twitter.com/sunnewsblog
http://twitter.com/okworldblog
http://twitter.com/ktblogger
http://twitter.com/sundayblog
http://twitter.com/mondayblog
http://twitter.com/tuesdayblog
http://twitter.com/wednesdayblog
http://twitter.com/thursdayblog
http://twitter.com/fridayblog
http://twitter.com/saturdayblog
www.youtube.com/user/naiissarachon#p/a/u/0/34ZvscsnCbA

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น