วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

"ครูแก้ว อัจฉริยะกุล" คีตกวีรัตนโกสินทร์ (4) : เพลงคำหอม

"ครูแก้ว อัจฉริยะกุล" คีตกวีรัตนโกสินทร์ (4) : เพลงคำหอม
โดย คีตา พญาไท18 กุมภาพันธ์ 2553 10:51 น.
       อีกเพลงหนึ่งซึ่ง ครูแก้ว อัจฉริยะกุล แต่งเอาไว้กับ ครูเวส สุนทรจามร เป็นคติสอนใจคนฟัง คล้ายคลึงกับ เพลงโลกหมุนวน คือ เพลงละครชีวิต ซึ่งขับร้องบันทึกเสียงเอาไว้ โดย ป้าจุ๊ หรือ จุรี โอศิริ นักร้องรุ่นใหญ่ ที่ต่อมาหันไปเอาดีด้านการพากย์ภาพยนตร์ และการแสดงละครทีวี แทน
        ...
       เพลงละครชีวิต
       คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล/ทำนอง เวส สุนทรจามร

       ถึงยามสำราญ ขอท่านฟังฉัน หน่อยก่อน
       แม้นดูละคร แล้วกลับมาย้อนดูตัว
       พระ นาง ตัวโกง ถึงคราวออกโรง พันพัว
       ชวนหัว เมามัว เต้นยั่วดังฝัน
       
       ละครระกำ ช้ำจิตใจ ละครดีใจ เราหัวร่อ
       นั่นแหละภาพล้อ เราทุกวัน
       บทตัวละคร มีแต่ยอกย้อน ชวนให้
       ระเริงจิตใจ ให้เคลิ้ม ไปพลัน
       
       ละครมีสอน ใจกัน ละครเลิกแล้ว ลืมกัน
       เหมือนนอนหลับ ฝันเพียงคืน

       
        แนวคิดเรื่อง โลกคือละครโรงใหญ่ ใน เพลงละครชีวิต นี้ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล คงได้มาจาก บทพระราชนิพนธ์บทละคร เรื่องตามใจท่าน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงแปลมาจากเรื่อง As You Like It ของ วิลเลียม เช็คสเปียร์ นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ที่ว่า
       
       “...โลกนี้ คือละครโรงใหญ่ 
       ชายหญิงไซร้ เปรียบตัวละครนั่น
       ต่างมียามเข้าออกอยู่เหมือนกัน
       คนหนึ่งนั้น ย่อมเล่นตัวนานา...”
       
       All the World’s a Stage,
       And All the Men and Women Merely Players:
       They Have Their Exits and Their Entrances;
       And One Man In His Time Plays Many Parts…

       
        ซึ่ง บทพระนิพนธ์ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่ทรงแปลมาจาก กาพย์ รุไบยาต ของ ฮะกิม โอมาร์ คัยยาม กวีชาวเปอร์เซีย ที่ว่า
       ดูละคร ขำอกโอ้ 
       ละครฉงน ใยแม่
       เราก็เล่น ละครคน 
       คึกหล้า
       
       ตลกละ พระนางกล 
       ละครเล่น ละครพ่อ
       แปลกแต่ชุดเร็วช้า 
       เท่านั้นขวัญเอย
       
       ดูหนัง ดูละคร
       แล้วย้อน ดูตัว
       ขำอุรา น่าหัว
       เต้นยั่ว อย่างฝัน
       
       ดอกเอ๋ย
       เจ้าดอก พิตะวัน
       ละครคน ละครขัน
       ประชันกัน สนุกเอย

ภาพจาก http://www.pantown.com/board.php?id=5050&area=4&name=board13&topic=258&action=view
       ส่วนเพลงที่ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล แต่งคู่กับ ครูเวส สุนทรจามร แล้วสร้างชื่อเสียงให้แก่ วินัย จุลละบุษปะ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ที่เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิดั้งเดิม เพราะเป็นผู้ชักชวนให้เข้ามาร่วมงานสมัย วงดนตรีกรมโฆษณาการ ในยุคแรกๆและทำการฝึกสอนให้ มีอยู่ด้วยกันหลายเพลง เช่น เพลงกล่อมรัก เพลงคำหอม เพลงพรหมลิขิต เพลงเด่นดวงเดือน เพลงเดือนดวงเด่น เพลงผู้แพ้รัก เพลงหงส์เหิน ฯลฯ
        ...
       เพลงคำหอม
       คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล/ทำนอง เวส สุนทรจามร

       ลมโบกหวนกลิ่นหอม 
       หอมชวนเด็ดดอม คำหอมเจ้าเอ๋ย
       กลิ่นนี้พี่เคย 
       เคยได้แนบเขนย อกเอ๋ยหวนคำนึง
       
       เพียงแต่กลิ่นล่องลม ชื่นชมซาบซึ้ง
       ชวนให้คิดติดตรึง ใจประหวัดคะนึง ถึงสาวเจ้า
       ชวนให้ใจพี่เหงา 
       จำว่ากลิ่นเจ้า เศร้าอยู่ในใจ
       
       เนื้อเจ้าอวลกลิ่น ประทินเดียวกัน 
       ขวัญเอยแนบขวัญ รักกันชิดใกล้
       หอมเอย เคยชื่นใจ 
       หอมใด ไม่ซึ้งถึงอารมณ์
       
       ขวัญพุ่ม ปทุมมา 
       กลีบบัวยั่วตา พลิ้วพากระเพื่อมลม
       ผ่องศรีที่พี่ชม สีนวลชวนชื่นอารมณ์ 
       ดุจดังสีแพรเจ้าห่ม ปิดถันกัน ลมซ้ำชมให้เศร้าใจ
       
       เจ้าเอยเจ้าคำหอม 
       เจ้าเนื้อหอม หอมชวนใคร่
       ต้องจิตเตือนใจ 
       ยิ่งคิดไปชวนให้ตระกอง
       
       โอ้มือพี่เคยโลมเร้า 
       สาวเจ้าเคยเอามือป้อง แต่ไม่พ้นมือพี่ต้อง
       หวงยิ่งกว่าทอง 
       แต่น้องยังให้ชื่นใจ
       
       ยอดชู้คู่เชย 
       ขวัญเอย อย่าเลยจากไป
       โอ้คำหอมเอย เคยชิดใกล้ 
       อีกนานเท่าใด ขวัญใจจะกลับมา
       
       ยอดชู้คู่ชม 
       ภิรมย์ชมชื่นอุรา
       เพื่อนชายร้อยคน มากล้นค่า 
       ไม่ชื่นอุรา เหมือนเจ้าเพื่อนชม

       
        เพลงนี้สร้างชื่อเสียงให้แก่ วินัย จุลละบุษปะ มาก เป็นเพลงในจังหวะแทงโก้ ที่ใครๆชอบฟังและชอบเต้นรำ จนได้รับสมญาว่า ราชาแทงโก้ของไทย บันทึกแผ่นเสียงไว้ เมื่อปี พ.ศ.2492
       
        ครูเวส สุนทรจามร นำทำนองมาจาก เพลงลาวคำหอม ซึ่งเป็นเพลงในอัตราจังหวะสองชั้น ที่ จ่าเผ่นผยองยิ่ง ( จ่าโคม ) เป็นผู้แต่งทั้งบทร้องและทำนองการร้อง ซึ่ง พระยาประสานดุริยศัพท์ ( แปลก ประสานศัพท์) นำไปใช้ในการบรรเลงของวงเครื่องสายปี่ชวา
       
        ต่อมา หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ( ศร ศิลปะบรรเลง ) ได้แต่งขยายขึ้นเป็น อัตราจังหวะสามชั้น แล้วตัดเป็นอัตราจังหวะชั้นเดียว จนครบเป็นเพลงเถา แต่ก็สูญหายไป
       
        พ.ศ. ๒๕๐๒ ครูเจริญ แรงเพชร จึงได้แต่งขึ้นใหม่ โดยยึดเอาทำนองเดิมของ จ่าเผ่นผยองยิ่ง ส่วนบทร้องยึดเอา บทร้องเดิมของ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ( ศร ศิลปะ บรรเลง ) จึงขอนำเอาเนื้อเพลงดั้งเดิมของ เพลงลาวคำหอม มาลงให้อ่านกัน ดังนี้
        ...
       เพลงลาวคำหอม
       ยามเมื่อลม พัดหวน ลมก็อวล แต่กลิ่น มณฑาทอง
       ไม้เอย ไม้สุดสูง อย่าสู้ปอง ไผเอย บ่ ได้ต้อง แต่ยินนามดวง เอย
       
       โอ้เจ้าดวง เจ้าดวง ดอกโกมล กลิ่นหอม เพิ่งผุดพ้น พุ่มในสวน ดุสิตา
       แข่งแข อยู่แต่นภา ฝูงภุมรา สุดปัญญา เรียมเอย
       
       โอ้อก คิดถึง คิดถึง คะนึงนอนวัน นอนไห้ใฝ่ฝัน เห็นจันทร์ แจ่มฟ้า
       โอ้อก คิดถึง คิดถึง คะนึงนอนวัน นอนไห้ ใฝ่ฝัน เห็นจันทร์ แจ่มฟ้า
       
       ทรงกลด สวยสดโสภา แสงทอง ส่องหล้า ขวัญตา ของเรียมเอย
       ทรงกลดสวยสดโสภา แสงทอง ส่องหล้า ขวัญตา ของเรียมเอย

       
        จะเห็นได้ว่า เพลงคำหอม ที่แต่งขึ้นใหม่นั้น ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ใช้คำว่า หอม เป็น คำซ้ำ ด้วยกัน รวม ๗ คำ คือ กลิ่น หอม / หอม ชวน / คำ หอม / หอม เอย / หอม ใด / คำ หอม / คำ หอม
       
        คำว่า กลิ่น มีอยู่ด้วยกัน 4 คำ คือ กลิ่น หอม / กลิ่น นี้ / กลิ่น ล่องลม / กลิ่น เจ้า / กลิ่นประทิน
       
        และ คำว่า ขวัญ มีอยู่ 5 คำ เช่นกัน คือ ขวัญ เคย / แนบ ขวัญ / ขวัญ พุ่ม / ขวัญ เอย / ขวัญ ใจ
       ทำให้ได้เนื้อความ ที่สื่อความหมายถึงบทเพลงที่คร่ำครวญ ถึงสาวคนรักที่ชื่อ คำหอม ผู้มี กลิ่นกาย หอม ที่ต้องจากไปไกลอย่างอาลัยอาวรณ์ และระลึกนึกถึงความหลังครั้งเก่าก่อน ที่เคยมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งตรึงใจต่อกัน
        “กลิ่น นี้พี่เคย เคยได้ แนบเขนย อกเอ๋ย หวนคำนึง”
       
        “ผ่องศรี ที่พี่ชม สีนวล ชวนชื่นอารมณ์ ดุจดังสีแพร เจ้าห่ม ปิดถันกันลม ซ้ำชมให้เศร้าใจ”
       
        ในวรรคนี้ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เลือกใช้คำ ปิดถัน – กันลม ได้อย่างเหมาะสมลงตัว ทำให้เกิดภาพพจน์ได้ชัดเจน แต่ไม่โป๊ไม่เปลือย
       
        โดยเฉพาะ วรรคทอง ที่ว่า
        “ โอ้มือพี่เคย โลมเร้า สาวเจ้าเคย เอามือป้อง แต่ไม่พ้น มือพี่ต้อง หวงยิ่งกว่าทอง แต่ น้องยังให้ชื่นใจ” นั้น ถือว่าเป็นการบรรยายภาพที่แนบเนียน เป็นจริงเป็นจังได้ยอดเยี่ยมมาก สาวคนใดได้ฟังก็คงต้องหน้าแดง ม้วนอายอย่างแน่นอน
       
        แล้ว ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ก็สรุป ด้วยคำว่า เพื่อน ของกวีโบราณ ที่ว่า
        “ถึงมี เพื่อน ก็เหมือนพี่ ไม่มี เพื่อน 
        ไม่แม้นเหมือน นุชนาฎ ที่มาดหมาย
        มี เพื่อนกิน ก็ไม่เหมือน มี เพื่อนตาย
        มี เพื่อนชาย ก็ไม่เหมือน มี เพื่อนชม” (อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

ข่าวล่าสุด ในหมวด

"ครูแก้ว อัจฉริยะกุล" คีตกวีรัตนโกสินทร์ (4) : เพลงคำหอม
"ครูแก้ว อัจฉริยะกุล" คีตกวีรัตนโกสินทร์ (3) : โลกหมุนเวียน
"ครูแก้ว อัจฉริยะกุล" คีตกวีรัตนโกสินทร์ (2) : อัจฉริยะครูเพลง
"ครูแก้ว อัจฉริยะกุล" คีตกวีรัตนโกสินทร์(1)
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9530000023482

ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.thaifreedompress.blogspot.com/
http://sunblog1951.blogspot.com/ sunday
http://blogpwd.blogspot.com/ pwd9
http://ktblog1951.blogspot.com/ pwday
http://newsblog9.blogspot.com/ news
http://bloghealth99.blogspot.com/ health
http://labour9.blogspot.com/ labour
http://www.media4democracy.com/th/
http://www.youngtelecom.org/
http://www.logex.kmutt.ac.th/
http://www.mict4u.net/thai/
http://www.chula.ac.th/visitors/thai/calendar.htm
http://www.agkmstou.com/2008/index.php
http://www.baanjomyut.com/library/lotus/index.html
http://www.asianbarometer.org/newenglish/introduction/default.htm
http://www.isriya.com/node/2809
/wordcamp-bangkok-2009-pool-party
C:\Documents and Settings\user\My Documents\ไฟล์ที่ได้รับของฉัน\issarachon1101.wma
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=hiansoon

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น